Aug 02
Posted by malinee on Wednesday Aug 2, 2017 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน
ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ
เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ
การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร
หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม
Nov 27
ในยุคก่อน ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คุณปู่ คุณย่าของเด็กในยุคปัจจุบัน หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า คนในรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก แต่เขาเหล่านั้นก็มีอยู่หลายครอบครัวที่สามารถก่ร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยในรุ่นต่อมา
กลับกันในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้กระทั่งชุดนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้แนวโน้มของความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และน่าจะรวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนไม่สอดคล้องกัน (จำนวนเด็กมากเกินกว่าที่ครูจะสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน) ประกอยกับความพร้อมของเด็กแต่ละคน ร่วมกับปัจจัยหลักนั่นคือ ความเอาใจใส่ ดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กบางส่วน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือบทเรียนในแต่ละเรื่อง หากจะให้พ่อแม่ช่วยอธิบาย พวกท่านก็ไม่มีเวลา หรือพ่อแม่บางกลุ่มก็จะปฏิเสธที่จะสอนลูก เพียงเพราะว่าตนเองมีพื้นฐานทางวิชาการไม่ดี ครั้นจะไปถามครู ครูก็ดูน่ากลัวเกินกว่าที่จะเข้าใกล้ประชิดตัว
ปัญหาในกลุ่มเด็กดังกล่าวมักเกิดกับคนในสังคมที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน ส่วยในกลุ่มที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ตนเองจะพยายามทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่ตนเองได้ผ่านมาแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมจะถ่างออกไปเรื่อย ๆ โอกาสทางสังคมที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ก็เปรียบเสมือนอากาศที่ลองลอยไปโดยไม่มีใครใส่ใจ และมองเห็นมันอย่างไร้ค่า เช่นเดียวกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้ตนเอง เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต
Apr 16
Posted by malinee on Saturday Apr 16, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากการเปิดสอนคณิตศาสตร์ของทางสถาบันมาหลายปี พบว่าเด็กในแต่ละยุคเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่มีแนวโน้มที่ค่อนข้างแย่ลง อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่มีการซ้ำชั้น ไม่มีการตีนักเรียน หรือแม้กระทั่งเกรดในและระดับนั้นจะมีการรวบรวมจากคะแนนเก็บประมาณ 70 -80 % ที่เหลือเป็นคะแนนสอบ ซึ่งทำให้ผลการเรียนไม่ใช่ผลการเรียนหรือความเข้าใจที่แท้จริงของเด็ก ซึ่งเราพบว่าเด็กหลาย ๆ คนอ่านหนังสือไม่คล่องหรือแม้กระทั่งการสะกดคำที่ไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เด็กกำลังจะขึ้นฃั้นป. 4 โดยที่เด็กไม่เคยมีประวัติการสอบตกเลย ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ดูแลเด็กเพียงแค่ผลการสอบ หรือสมุดพกในแต่ละเทอม ก็อาจจะไม่ทราบว่าลูกนั้นมีปัญหาเรื่องการอ่าน กว่าจะรู้อีกทีก็เมื่อลูกเติบโตจนเค้ามีความรู้สึกที่ตนเองด้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้เขาไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน หรือคิดว่าการเรียนนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากน่าเบื่อ เนื่องจากการอ่านเป็นพื้นฐานการเรียนในทุก ๆ วิชา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกในช่วงปฐมวัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เขาเหล่านั้นเติบโตพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อเขาโตขึ้น
Jan 19
Posted by malinee on Wednesday Jan 19, 2011 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันการเรียนการสอนคณิตศาสตร์บ้านเราเมื่อเทียบกับประเทศไต้หวัน หรือ สิงคโปร์ เราจะพบว่าความเข้มข้นของเนื้อหาในการเรียนในช่วงประถมต้นนั้นค่อนข้างเบา ซึ่งมีแนวคิดหรือทัศนคติจากหลายฝากฝั่ง บ้างก็ว่าเด็กควรจะมีอิสระในความเป็นเด็ก นั่นคือปล่อยให้เขาได้เล่นในวัยของเขา บ้างก็ว่าเด็กควรจะมีการเรียนผ่านการเล่น (ซึ่งมีโรงเรียนในแนวของการเรียนผ่านการเล่นมากมาย แต่ก็มีปัญหาบ้างว่าโรงเรียนเหล่านั้นส่วนใหญ่เปิดสอนเพียงระดับชั้นประถมเท่านั้น แล้วเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบดังกล่าวอาจต้องมีการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เมื่อเข้าสู่มัธยม) ซึ่งในแนวคิดแต่ละแนวไม่มีแนวใดผิดแนวใดถูก แต่สิ่งที่สำคัญคือ ในช่วง 10 ปีแรกเป็นวัยทองของเด็กในการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีวิธีการสอนที่ดีควบคู่กันไปด้วย ตามแนวการเรียนการสอนของทางสิงคโปร์ เนื้อหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์จะค่อนข้างเข้มข้นตั้งแต่ประถมต้น หรืออาจเรียกได้ว่ามีความสม่ำเสมอจนกระทั่งเข้าสู่วัยมัธยม ส่วนในบ้านเราการวางแนวทางการสอนคณิตศาสตร์นั้น เพื่อให้เด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งค่าเฉลี่ย IQ ต่ำกว่ามาตรฐาน) ได้มีความเข้าใจในเนื้อหา จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่จะทำคะแนนได้ดีเมื่ออยู่ในประถมต้น แต่เมื่อเข้าสู่ประถมปลายจะมีเนื้อหาใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามามากมาย ทำให้คะแนนในตอนประถมปลายของเด็กแตกต่างจากตอนประถมต้นอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถ้าเราไม่ได้มีการเสริมการเรียนรู้ในแนวอื่น ๆ จะทำให้เด็กถูกจำกัดความสามารถ แต่เมื่อถึงประถมปลาย เนื่องจากต้องเร่งเนื้อหาให้ทันกับการเรียนในชั้นมัธยมต่อไป ทำให้เด็กถูกเร่งให้รับข้อมูล หรือสิ่งต่าง ๆ ในเวลาที่น้อยลง จึงดูเหมือนกับว่าพัฒนาการทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของเด็กจะถดถอยลง