Apr 25
Posted by malinee on Thursday Apr 25, 2019 Under เกร็ดความรู้
ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย
ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก
แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง
การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ
จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ
ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว
ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย
แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค) , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต)
และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน
มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน
ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน
ซึ่งต้องใช้เวลา 1
ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น
จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่
เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ
สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา
หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง
จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ
เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่
ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ
ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ
หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ
อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล
เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้
แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนไม่สามารถแก้ไขได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง
ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า
โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า
หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น
Jan 21
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน
โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ
ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ
ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง
Jul 14
Posted by malinee on Thursday Jul 14, 2016 Under เกร็ดความรู้
จากข่าว น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ นักแบตมินตันมือหนึ่งของชาวไทย ที่มีกระแสข่าวว่า ตรวจพบยาโด๊ปหรือสารกระตุ้น ซึ่งส่งผลกระทบในการส่งตัวนักกีฬาเข้าแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 โดยเลขาธิการสมาคมแบตมินตันไทย ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อโต้แย้งและอุทธรณ์ แต่หากพบสารกระตุ้นจริงจะขอลดโทษหนักให้เป็นเบา ซึ่งการลงโทษนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณและ สารกระตุ้นที่ใช้ จะมีโทษงดเข้าแข่งเป็นเวลา 2 – 4 ปี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร… คงไม่มีใครเชื่อว่าน้องเมย์ใช้สารกระตุ้น เพราะหากทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการตัดอนาคตของตัวเอง แต่เหตุการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การได้รับยาสเตยรอยส์ในการรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า จากแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ทางการกีฬา (ผิดกฏทางการกีฬา เนื่องจากสเตยรอยส์เป็นสารที่นอกจากจะระงับความเจ็บปวดแล้ว ยังสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและร่างกาย นอกจากนี้ยังทำให้มีพละกำลังมากขึ้นอีกด้วย)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพียงเพื่อต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคน ๆ หนึ่ง จะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของอีกคนอย่างมาก เช่นเดียวกับที่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย หรือ พี่เลี้ยง ที่มีหน้าที่ในการดูแลเจ้าตัวน้อย ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งเกมส์ หรือ ปล่อยให้เค้าอยู่กับทีวี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ซึ่งผลที่เห็นได้ชัด คือเด็กอยู่นิ่งๆ ไม่กวน ไม่ซน แต่หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ เขาจะไม่สามารถอยู่เฉยได้ และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลในอนาคตต่อการเรียนของเขาเหล่านั้น เมื่อเขาเรียนไม่ได้ แล้วอนาคตของเขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไร
Jul 10
วันนี้ครูมีเรื่องเล่าอีกแล้ว เรื่องมีอยู่ว่ามีเด็กแฝดคู่หนึ่งที่ถูกเลี้ยงด้วยพี่เลี้ยงคนละคนกัน แฝดผู้พี่ไม่มีปัญหาการเรียนใดๆ เลย ในขณะที่แฝดผู้น้องไม่ว่าจะมีการประเมินผลอย่างไร ไม่เคยได้คะแนนไล่เลี่ยกันซักที ซ้ำร้ายล่าสุด แฝดผู้น้องไม่สามารถผ่านเกณฑ์การประเมิน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เป็นลูกฝาแฝดจากพ่อแม่เดียวกัน
คราวนี้เรามาวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ผลการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เราสามารถตัดปัจจัยหลักเรื่องพันธุกรรมได้อย่างแน่นอน คราวนี้เรามาพิจารณาที่สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เนื่องจากการดูแลเด็กทั้งสองคนที่แตกต่างกันของพี่เลี้ยงแต่ละคน กลายเป็นปัจจัยหลักของการเรียนรู้ (ณ ที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์) ที่แตกต่างกันของทั้งคู่
ก่อนอื่น จะกล่าวถึงเนื้อหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ใน ประถม 1 ก่อน การเรียนยังไม่มีการคิดวิเคราห์โจทย์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เตรียมความพร้อมทางด้านภาษาก่อน เด็ก ๆ ทุกคนจะต้องเรียนรู้เรื่องการนับเพิ่ม นับลด แบบรูป ความสัมพันธ์ ซึ่งมีเพียงแต่เรื่องของการคำนวณเท่านัน ซึ่งเด็กๆ ที่ถูกปูพื้นฐานทางด้านจำนวน หรือการคำนวณ จะไม่มีปัญหาในการเรียนในชั้น ป.1 แต่เมื่อขึ้น ป.2 การเรียนคณิตศาสตร์จะต้องมีการคิด วิเคราะห์ โจทย์มากขึ้น ให้เด็กๆ วิเคราะห์ว่าต้องใช้วิธีใดในการแก้ไขโจทย์ปัญหาดังกล่าว และการวิเคราะห์โจทย์ก็จะซับซ้อนมากขึ้นๆ เมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น
หลังจากที่เรามองเห็นภาพรวมของการเรียนคณิตศาสตร์แล้ว เราย้อนกลับมาดูสิ่งที่แตกต่างของพี่น้องฝาแฝดคู่ดังกล่าว แฝดผู้พี่ มีพี่เลี้ยงที่เมื่อมีปัญหาในการแก้โจทย์ จะมีการติดต่อกับครูที่สถาบัน เพื่อขอคำชี้แนะ หรือวิธีการสอน โดยทางสถาบันย้ำว่าต้องให้ตัวเด็กเป็นผู้คิด วิเคราะห์ด้วยตนเอง ส่วนแฝดผู้น้อง เนื่องจากถูกเลี้ยงอยู่กับคุณยาย ซึ่งมีทีวีเป็นเพื่อน เมื่อน้องกลับจากโรงเรียน กิจกรรมทุกอย่างรวมไปถึงการบ้านก็อยู่หน้าทีวี เมื่อทำการบ้านช้า หรือคำที่เด็กๆ มักอ้างนั่นคือ “หนูทำไม่ได้” พี่เลี้ยงกลัวว่าจะไม่มีการบ้านส่งในวันที่กำหนด จึงคิดและวิเคราะห์โจทย์ หรือบางครั้งก็บอกคำตอบให้กับตัวน้องเลย สิ่งที่เกิดขึ้น แทนที่น้องจะค่อยๆ มีกระบวนการในการฝึกประสบการณ์ในการคิด และวิเคราะห์โจทย์จากการบ้าน (ซึ่งถือเป็นการทบทวนเนื้อหาที่เรียนในแต่ละวัน) ก็ขาดไป เมื่อสอบวัดความรู้ ก็ไม่มีทางที่เค้าจะสามารถคิด วิเคราะห์โจทย์ได้เลย และเมื่อนานวันเข้า สิ่งที่เค้าต้องฝึกมันยากขึ้นเรื่อยๆ การประเมินผลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะกลายเป็นปมที่ส่งผลให้เกิดทรรศนะคติที่ในเชิงลบต่อการเรียนในที่สุด
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็น่าจะพอสรุปได้แล้วว่า พันธุกรรม ส่งผลต่อการเรียนรู้ก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรจะมีการดูแล เอาใจใส่ในเรื่องการเรียนของบุตรหลานอย่างสมเหตุสมผล และมีขอบเขต เพื่อประโยชน์ของตัวบุตรหลานของท่านเอง
ครูจา