Jan 21
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน
โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ
ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ
ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง
Nov 12
ปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมากมาย ทำให้เกิดเครื่องมือที่ทันสมัยมากมาย ยิ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองในยุคใหม่ยิ่งได้รับความสนใจกันอย่างมาก
คงมีหลายๆ ครอบครัวที่รู้จักเครื่องที่ใช้สแกนลายนิ้วมือของเด็ก เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้รู้ว่าบุตรหลานมีความถนัด หรือต้องส่งเสริมด้านใด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงสถิติที่เก็บข้อมูลเพื่ออ้างอิงให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแนวทาง หลายๆ ครอบครัวใช้ผลของการสแกนลายนิ้วมือนี้ เป็นตัวชี้นำว่าจะต้องส่งเสริมบุตรหลานด้านใด ในความเป็นจริงแล้ว หากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ ให้เวลากับบุตรหลานมากพอ ก็ไม่ยากเลยที่จะรู้ว่าบุตรหลานของตน มีความถนัดด้านใดเพื่อให้ความสามารถด้านนั้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในการดำเนินชีวิตของคนแต่ละคน ไม่สามารถที่จะใช้ทักษะเพียงด้านเดียวได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเพิ่มทักษะให้กับบุตรหลานในทุกๆ ด้าน โดยไม่มุ่งเน้นไปด้านใดเพียงด้านเดียว วัยเด็กนั้นสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ทุกๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยการจัดกิจกรรมในวันหยุดภายในครอบครัว เพื่อให้เขาได้พัฒนาศํกยภาพของตนเองในแต่ละด้านได้อย่างสมดุล
Aug 28
Posted by malinee on Tuesday Aug 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ครอบครัวแต่ละครอบครัวมีบุตรน้อย เมื่อบุตรหลานเข้าสู่วัยเรียน ก็เฟ้นหาโรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุดให้กับเขา แต่หลายๆ ครอบครัวก็หลงลืมไปว่าช่วงก่อนวัยเรียน เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่จะพ่อแม่จะสามารถสร้างนิสัยให้กับบุตรหลานได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการสร้างนิสัยในเรื่องของความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ การสังเกต การรู้จักกฎระเบียบ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้กับบุตรหลาน รวมถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญของพัฒนาการในวัยเตาะแตะ (Toddlers) ร่วมกับสมาธิ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน
การเสริมสร้างลักษณะนิสัยต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานเพื่อให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากปัจจุบันด้วยสภาพสังคมในยุคดิจิตอลที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้เวลาที่ควรเป็นของครอบครัวถูกเบียดบังด้วยสื่อต่างๆ มากมาย หลายๆ ครอบครัวถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยี และติดกับไปกับสีสัน สังคมในหน้าจอ เข้าใจผิดคิดว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการพัฒนาบุตรหลาน ทำให้การทำกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ หรือเพียงแค่การตบมือ การเล่นจ๊ะเอ๋นั้น เป็นการสร้างการเชื่อมโยงของปลายประสาทของสมองที่กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดดผ่านกิจกรรมทางด้านร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในช่วง 7 ขวบปีแรก ถดถอยลง เมื่อเด็กไม่มีการใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ นอกจากตาและนิ้วเพียงนิ้วเดียว
เมื่อถึงวัยเรียนกล้ามเนื้อมือที่ควรจะแข็งแรงและพร้อมจะขีดเขียน ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน กลายเป็นเด็กรู้สึกว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องที่เขาอยากทำ สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือสมาธิที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ไม่ว่าพ่อแม่จะเลือกโรงเรียนหรือครูที่ดีเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ได้ เปรียบเหมือนกับน้ำที่เต็มแก้ว ไม่สามารถรับน้ำได้เพิ่มอีกแล้ว ไม่ว่าจะรินน้ำดี หรือสะอาดเพียงใด ก็ไม่สามารถรับเข้าไปได้เพิ่มอีกแล้ว ในเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ที่รู้ว่าสิ่งใดดีกับการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับบุตรหลาน ควรเลือกเติมเต็มสิ่งที่ดีให้กับบุตรหลาน เพื่อให้เขาได้เติบโตและเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
Apr 22
มีกระแสของการศึกษาที่มีอยู่เนืองๆ ว่าควรจะมีการยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพดีทั่วประเทศเสียที หลายๆ คนอาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนควรจะมีการบูรณาการตามความสามารถของเด็ก หรือตามความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมและ ความสนใจที่แตกต่างกัน จึงควรมีการจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความถนัดของเด็ก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงการคัดเลือกข้าราชการครูเข้ามารับหน้าที่ในการสอน ยังไม่ตรงกับความถนัด หรือสาขาวิชาที่เรียนมาเลยด้วยซ้ำ อย่าพูดถึงคุณภาพของเด็กที่จะได้รับการเรียนการสอนที่ดีเลย นอกจากในส่วนของผู้สอนแล้ว ตัวผู้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพในการเรียนด้วย เราต้องยอมรับก่อนว่าเด็กก่อนวัยเรียนในแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างกันแล้ว ครูไม่ได้กล่าวถึงความพร้อมด้านเศรษฐกิจ แต่ ณ ที่นี้จะกล่าวถึงหน้าที่ในการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ก่อนวัยเรียน เด็กหลายๆ คนถูกปล่อยปละ หรือขาดทักษะทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่ส่งผลต่อทักษะในการเรียนรู้ในวัยเรียน ที่จะต้องใช้ทักษะพื้นฐานในช่วงก่อนวัยเรียน หลายๆ ครอบครัวที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การเล่นเกมส์เป็นการฝึกทักษะและภาษาให้กับเด็กโดยที่เด็กจะใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวในการเล่นเกมส์ ซึ่งต่างจากการเล่นของเล่นที่เป็นชิ้น ที่สามารถเสริมสร้างทั้งกล้ามเนื้อ ความสัมพันธ์ของการทำงานระหว่างมือกับตา อีกทั้งยังได้เรื่องของจิตนาการอีกด้วย
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ก็ไม่มีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่พร้อม สมาธิไม่ดี หรือแม้กระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเรื่องพื้นฐานที่ควรจะถูกฝึกจากบ้าน คิดเพียงแต่ว่าโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะสอนให้บุตรหลานอ่านออกเขียนได้ โดยขาดการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
มันจะเป็นธรรมกว่าหรือไม่ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างโยนความรับผิดชอบให้พ้นๆ ตนเองไป พ่อแม่ผู้ปกครองก็โยนความรับผิดชอบไปให้โรงเรียน ครูชั้นอนุบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะในที่สุดเด็กก็จะต้องขึ้นไปเรียนชั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ นี่เป็นเพียงความรับผิดชอบในงานเล็กๆ ของตนเอง เราก็ไม่ต้องหันไปพึ่งใครที่มีหน้าที่เพียงไม่กี่ปี หรือไม่กี่วาระที่จะมาแก้ปัญหาการศึกษาของไทยเลย เพราะต่างก็คิดว่า ปีหน้าเราก็หมดวาระ หรือหมดหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นสถาบันเล็กๆ ที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้แข็งแกร่งที่สุด อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งมันไม่มีจริงเลย มันเป็นเพียงภาพลวงตา
Mar 04
ในอาทิตย์หน้าจะมีการสอบ NT ของเด็กชั้น ป.3 เรามาดูกันว่าตารางประจำปีของการวัดผลในแต่ละระดับมีอะไรบ้าง เริ่มจาก NT ซึ่งจะสอบกันในชั้น ป.3 ต่อมาชั้น ป.6 ,ม.3 และ ม.6 สอบโอเน็ต นอกจากนี้ยังมีการสอบกลางของกระทรวงในทุกช่วงชั้นจนสิ้นสุดที่ ม.2 จากการประเมินวัดผลที่จัดขึ้นเกือบทุกปีในเด็กแต่ละคน ทำให้เราคาดหวังว่าการเรียนการสอน ในบ้านเราน่าจะมีประสิทธิภาพ
แต่จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ พบว่าผลการทดสอบคณิตศาสตร์ผลประเมินออกมาว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายของประเทศในเอเชีย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อมีการทุ่มเงินไปในอัตราส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณในกระทรวงอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการทุ่มงบประมาณจำนวนมากไม่ได้ช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมาหาต้นเหตุ เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไม่มีความแข็งแรงอย่างอดีต การดำเนินชีวิตต่างคนต่างมีเวลาจำกัด ไม่มีเวลาที่จะใส่พูดคุยถึงปัญหาของแต่ละคน พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน จนเขาถูกเลี้ยงมาให้อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้ถูกอบรมให้รู้จักอดทน การรอคอย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ส่วนอีกหลายๆ ครอบครัวก็มีความพร้อมจนส่งเสริมด้านทักษะและวิชาการอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเด็กได้เรียนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผลการประเมินของประเทศไทยสูงขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกันต่อไป
May 08
หลายๆ ครั้งที่ผู้ปกครองมักมีคำถามในใจ ว่า ทำไมลูกเราเรียนได้ดีไม่เท่าลูกเพื่อน ทั้งที่การเรียนตั้งแต่ในวัยอนุบาล เป็นที่เดียวกันหรือแม้กระทั่งการเรียนพิเศษ ก็เรียนที่เดียวกันมาตลอด แต่ทำไมลูกเราจึงเรียนสู้ลูกเพื่อนไม่ได้ หากลองตัดปัจจัยต่างๆ ที่เหมือนกันออกไปให้หมด เราจะพบตัวแปรต้นที่ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องของพันธุกรรม (เนื่องจากในงานวิจัยต่างๆ พบว่าความฉลาดของมนุษย์นั้นจำเป็นต้องมีการทำงานของยีนหลายๆ ยีนและจำเป็นต้องมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลมากกว่าร่วมด้วย) ในเมื่อเรื่องพันธุกรรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาดแล้ว ทำไมลูกเรายังเรียนสู้ลูกเพื่อนไม่ได้ ทั้งที่ลูกเราเรียนเหมือนลูกเค้าทุกอย่าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวกัน
จริงหรือที่เด็กสองคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน อาจจะจริงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการเข้าเรียนเหมือนกัน แต่สิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยเด็กเป็นการเสริมสร้างความฉลาดในการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างกัน เช่น เด็กที่ได้ฝึกจับช้อน แก้วน้ำ ระบายสี หรือสิ่งต่างๆ ในการลองผิดลองถูก เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ต้องใช้เวลาในการรับประทานอาหารหน้าทีวี หรือเล่นเกมส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมการปล่อยให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (ตามวัย) ไปจนกระทั่งการฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก จะเป็นการสร้างและเชื่อมโยงเส้นใยของสมองให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้ลองแก้ปัญหา หรือลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จะเป็นการกระตุ้น และสร้างนิสัยให้เขาเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหลงติดกับ กับการใช้เกมส์ที่มีแสง สีสัน สวยงามและภาษาอังกฤษ ที่หลอกล่อเด็กให้เด็กอยู่กับที่ได้นาน ร่วมกับความเข้าใจในคำสั่งของเกมส์ ก็หลงคิดไปว่า ลูกสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้ลูกมีสมาธิได้นาน แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสั่งในเกมส์จะเป็นคำสั่งซ้ำๆ หรือเด็กใช้ความจำว่าขั้นนี้ต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องที่เด็กนั่งอยู่ได้นานเนื่องจากเกมส์ในยุคปัจจุบันมีสีสันสวยงาม เป็นแอนิเมชั่นที่เหมือนจริง มันเป็นการยากที่เด็กๆ จะละสายตาจากมันได้ แต่เมื่อเขาต้องอ่านหนังสือ ที่มีแต่ตัวอักษรสีดำบนกระดาษสีขาวของตำราเรียน แล้วยังต้องนั่งในห้องเรียนคาบละชั่วโมง เขาจะไม่กระตือรือร้นต่อการเรียน นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัว แยกหน้าที่ของตนเองกับโรงเรียนอย่างชัดเจน นั่นคือตนเองมีหน้าที่ทำให้ลูกมีความสุข โดยการตามใจ ส่วนเรื่องของการให้ความรู้ , กฎระเบียบ และคุณธรรมจริยธรรมเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว
เด็กส่วนใหญ่จึงไม่รู้จักเคารพในกฎกติกา ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไปโรงเรียนเพราะพ่อแม่ไปส่ง รอแต่เวลาที่จะได้เล่นเกมส์ไปวันๆ เท่านั้น เแต่ครูไม่ได้หมายความว่าสื่ออิเล็คโทรนิกส์ไม่ดีเสมอไป ข้อมูลหลายๆ ข้อมูล หรือ e-book หลายๆ เล่ม ครูก็ได้จากอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เพียงแต่สื่อต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้ควบคู่กับวุฒิภาวะที่เหมาะสมควบคู่กันไป
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.quora.com/Is-intelligence-determined-by-alleles-and-if-so-would-it-be-dominant-or-recessive
Oct 13
Posted by malinee on Saturday Oct 13, 2012 Under เกร็ดความรู้
สืบเนื่องมาจากในทุก ๆ ช่วงปิดเทอมจะมีเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองต้องการพาบุตรหลานของตนหาคอร์สเรียนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จินตคณิตก็เป็นอีกหลักสูตรหนึ่งที่ผู้ปกครองมักเลือกให้ลูกหลานของตนเองเรียน แต่เด็กหลาย ๆ คนไปไม่ถึงฝั่งที่ทั้งผู้ปกครองและครูผู้สอนตั้งใจไว้ สาเหตุอาจเกิดจาก
– หลักสูตรจินตคณิต เป็นหลักสูตรที่จะต้องฝ่าด่านของการฝึกฝน (การใช้ลูกคิด) โดยการเลือกใช้คู่ (ซี่ใหญ่ กับ ซี้เล็ก) ต้องให้มีความถูกต้อง หากเลือกใช้คู่ผิด นั่นหมายความว่ากระบวนการคิดในข้อดังกล่าวก็ผิดตามไปด้วย ไม่ใช่ว่าในการคิดเลขแต่ละครั้งจะสามารถใช้สูตรจากลูกคิดได้หลายสูตร แต่เด็กหลาย ๆ คนที่ไม่มีความรอบคอบ ใจร้อน หรือไม่มีสมาธิเพียงพอ การเลือกใช้สูตรก็ผิดพลาดได้ การฝึกฝนให้เกิดทักษะที่คล่องแคล่วแม่นยำ ก็ต้องใช้เวลาบ้าง
– ความคาดหวังของผู้ปกครอง แน่นอนเมื่อส่งให้บุตรหลานเรียนอะไร ย่อมต้องคาดหวังที่จะเห็นผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันนี้สินค้าและบริการหลาย ๆ ชิ้น มักเน้นชูการตลาดเรื่องความเร็ว ซึ่ง
เป็นสินค้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่การเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนที่ผู้เรียนจะต้องพัฒนาตนเอง
– ผู้รับ (ผู้เรียน) และผู้ส่ง (ครูผู้สอน) เป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุดในการเรียน นั่นคือหากผู้เรียนมีความเอาใจใส่ก็ทำให้มีความก้าวหน้าในการเรียน หรือในทางกลับกัน หากผู้เรียนไม่เปิดเครื่องรับสัญญาณ การเรียนก็จะไม่ก้าวหน้า หรือถดทอยลง ในแง่ของผู้ส่ง (ครูผู้สอน) ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีผลทางด้านความรู้สึกของผู้เรียนมากกว่าด้านอื่น เนื่องจากครูผู้สอนต้องได้รับการอบรมด้านการสอน มาแล้วทุกคน
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้หมายความว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนจินตคณิต เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของเด็กแต่ละคน จะต้องประกอบด้วยผ่ายต่าง ๆ 3 ฝ่ายดังกล่าวเสมอ หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องการเห็นลูกหลานประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ก็ต้องแลกกับความทุ่มเท เอาใจใส่ในตัวเค้าเหล่านั้นตั้งแต่ยังเล็กนั่นเอง
ครูจา
May 07
จากตอนที่ 2 ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีการเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับวัยทารก แต่เด็กแต่ละคนก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเขา แต่มีงานวิจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนว่า หากเด็ก ที่เข้าโรงเรียนโดยมีทัศนคติในเชิงบวก และมีการฝึกทักษะ (นั่นคือการเคลื่อนไหวในวัยทารก) แล้ว เขาจะมีทักษะในการเรียนรู้ที่ดี และมีความก้าวหน้าในการเรียนที่ดี ซึ่งเด็กทุกคนจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ หรือความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีหน้าที่ที่จะต้องกระตุ่นหรือสร้างบรรยากาศให้เหมาะสม
เด็กวัยอนุบาล มักมีการเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน การเข้าสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ซึ่งเราสามารถให้ความช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ดังนี้
– กระตุ้นให้ทำสิ่งใหม่ให้สำเร็จ โดยให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ แต่ความช่วยเหลือที่ให้ต้องไม่เกินขอบเขต สิ่งที่เด็กจะได้รับ คือประสบการณ์ที่จะคิดและทำในสิ่งใหม่ให้สำเร็จ
– สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้น่าสนใจ เพื่อเพิ่มหรือเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้
– การฝึกให้เด็กหัดสังเกต สิ่งแวดล้อม อาจทำได้ง่าย ๆ โดยการถามถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วในวันนั้น ๆ เช่นการถามว่าวันนี้คุณครูใส่เสื้อสีอะไร เพื่อกระตุ้นให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต
– ให้ความสนใจกับสิ่งที่เขาทำ หรือยินดีเมื่อเขาทำสำเร็จ เด็ก ๆ ทุกคนมักจะภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองเริ่มทำ และทำสำเร็จ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในเชิงบวก และนอกจากนี้ ยังทำให้เขาเกิดความมั่นใจ กล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ แต่หากเขาทำไม่สำเร็จ ต้องให้กำลังใจ ถึงแม้สิ่งที่เด็กได้รับจะไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เขาก็จะได้กระบวนการเรียนรู้ และ ความพยายามที่จะติดตัวเขาไป
– พูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้มีทักษะในการลำดับเหตุการณ์ และการใช้ภาษา โดยปล่อยให้เขาได้คิดอย่างอิสระ แก้ข้อบกพร่องให้น้อยที่สุด เพื่อให้เขาได้กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ต้องการ
– สร้างสถานการณ์ผ่านกิจกรรม ให้เขาได้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
– หากิจกรรมประเภท การแยกประเภท สี ขนาด เพื่อฝึกการพิจารณาสิ่งของในแบบรูปต่าง ๆ ให้เขาสามารถแยกความแตกต่างของรูปทรงต่าง ๆ
หากเราสามารถสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ หรือเสริมทักษะ เขาก็จะยังคงมีธรรมชาติของการอยากเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น แต่หากเด็กไม่ได้พัฒนาการเรียนรู้ให้สนุก สิ่งที่ติดตัวเด็กมา (ความอยากรู้อยากเห็น การชอบการเรียนรู้) ก็จะหายไปในที่สุด
ครูจา
Apr 23
เด็กทุก ๆ คนเมื่อเกิดมา นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก เขาจะใช้อวัยวะของร่างกายในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเป็นที่มาของนักจิตวิทยาเด็ก ที่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวมาวิจัยเกี่ยวกับเด็กทารก แล้วก็พบว่าประสบการณ์ทางด้านความรู้สึกทางอารมณ์และการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดและการเจริญเติบโตของเด็กทารกจนกระทั่งอายุ 2 ปี หากเด็กมีการเรียนรู้ทั้งสองด้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะสะท้อนออกมาเป็นลักษณะทางกายภาพ (ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย) , วุฒิภาวะทางอารมณ์ และการเข้าสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น (เรามักจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถม)
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เรากล่าวถึงประสบการณ์ในวัยทารกอยู่ 2 ด้าน ซึ่งได้แก่
- ประสบการณ์ด้านอารมณ์และความรู้สึก เมื่อมองย้อนกลับไปในวัยทารก เด็กส่วนใหญ่จะได้รับความรักความอบอุ่นจากแม่ ภาษากายที่แม่ส่งผ่านความรักให้กับลูกผ่านการอุ้ม การสัมผัสของแม่นั้น เป็นประสบการณ์ในเชิงบวกที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าตนเองจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอด หากแต่เมื่อใดที่ต้องการความช่วยเหลือ แค่เพียงร้องไห้ เขาก็จะได้สัมผัสที่เขาต้องการอีกครั้ง ซึ่งประสบการณ์ในเชิงบวกนี้มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในวัยทารกมาก เมื่อเขารู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เขาก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างผ่อนคลาย แต่ในทางกลับกัน หากครอบครัวใดไม่มีความพร้อม หรือยังไม่ได้เตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะมีสมาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ ที่ค่อนข้างเอาแต่ใจมาเพิ่ม การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นประสบการณ์ในเชิงลบ เนื่องจากในสถานการณ์ที่ยังไม่พร้อมนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมงนั้น หมดความอดทนลงได้ในเสี้ยววินาที หากเป็นเช่นนั้น เด็กเองจะมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาให้พัฒนาช้าลง จนอาจกลายเป็นกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้เมื่อโตชึ้น
- การเคลื่อนไหว เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า ในวัยทารกนั้น เด็กในช่วง 7 เดือนแรกไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ทำให้การเรียนรู้ในช่วงนั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้จากแขนขาที่ขยับได้เต็มที่ แล้วขยับไปเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ในช่วงของวัยที่ต้องอยู่ในเปล คนโบราณจึงนำโมบายมาห้อยไว้ที่หัวเตียง เพื่อเป็นอุบายให้เด็กขยับแข้งขา ให้เขามองแล้วไขว่ขว้า และก็เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของเด็ก ทั้งในเรื่องกล้ามเนื้อ ความจำ และบุคลิกภาพ
หลาย ๆ ครอบครัวมักจำกัดกรอบการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ไม่ให้ปีนป่าย เนื่องจากกลัวการลาดเจ็บ การจำกัดกรอบต่าง ๆ ดังกล่าว เท่ากับการปฏิเสธที่จะให้เขามีประสบการณ์ในการใช้กล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ หรือในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บ เขาก็ยังได้ประสบการณ์ว่าในการปีนป่ายต้องมีความระมัดระวังในจุดไหนมากกว่าปกติ (จริง ๆ ผู้ใหญ่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้ หรือลดความเสี่ยงได้ โดยไม่ไปจำกัดกรอบการเล่น การเรียนรู้ของเด็ก) ซึ่งประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวนี่เอง เป็นพื้นฐานที่ทำให้เขามีสุขภาพดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
จากบทความข้างต้น ชี้ให้เห็นแล้วว่าวัยทารกนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก หากเราต้องการให้ลูกหลานเป็นเด็กฉลาด สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การยื่นความรัก ความอบอุ่น และการเล่นโดยใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วน ที่จำกัดกรอบการเล่นให้น้อยที่สุด
ครูจา
Apr 17
Posted by malinee on Tuesday Apr 17, 2012 Under เกร็ดความรู้
ด้วยยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สังคม การสื่อสาร โทรคมนาคม ใช้เวลาสั้นลง ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับกลไกหรือกระบวนการคิดของคนในสังคม ให้มีแนวทางที่แตกฉาน รอบรู้มากขึ้น แต่น่าเสียดาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเสมือนดาบสองคม ที่ส่งผลให้กระบวนการในการเรียนรู้แบบลัดขั้นตอน ไม่ผ่านกระบวนการคิด การลองผิดลองถูก ของเด็ก ,เยาวชน หรือแม้แต่คนในวัยทำงาน ซึ่งเป็นเหตุให้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่ควรได้รับการพัฒนา หายไปโดยสิ้นเชิง
หากลองพิจารณาแล้ว จะพบว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่เราพบกันอยู่บ่อย ๆ เป็นปัญหาของคน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ และกลุ่มคนทำงาน ถ้าสาวปัญหากันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและกระบวนการคิด ทั้งสิ้น
หากท่านเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกขับข้องใจ กับปัญหาดังกล่าว มาช่วยกันคิดดีกว่าว่า “ทำไมแนวโน้มของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนทำงาน จึงขาดทักษะในเรื่องกระบวนการคิดเหมือน ๆ กันไปหมด ”
จากแนวโน้มดังกล่าวมันทำให้เราพอจะจับแนวทางของการเลี้ยงดูกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิต กระบวนการการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมองย้อนมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นภาพชัดขึ้นก็คือ
เด็กรุ่นใหม่ เรียนกัน จันทร์ ถึง ศุกร์
พ่อแม่สุข ทุกอย่างครบ จบทุกงาน
พอถึงบ้าน สุขี มี IPad
บางที chat บางที face อัพเดทข้อมูล
ได้เพิ่มพูน เพื่อนใหม่ ใน profile
น่าสงสัย คนอยู่ใกล้ ไม่ทักกัน
เล่นข้ามวัน ข้ามคืน ไม่หลับนอน
แต่ตอนเช้า หาวหวอด ไม่ปลอดโปร่ง
โคลงเคลงหัว ตัวหนัก ๆ ชักไม่สบาย
พอตกบ่าย คลายง่วง ก็ห่วงหา
นับเวลา ถอยหลัง นั่งหน้าจอ
ใจจดจ่อ ไม่เพียร เขียนอ่านเลย
ครูจา