จากหนังสือพิมพ์เมเนเจอร์ออนไลน์
myfristbrain.com
วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554
โรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติของพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ พบได้ร้อยละ 2-7 และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6 เท่า อาการจะเกิดก่อนอายุ 7 ขวบ และแสดงออกอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน

อาการของเด็กสมาธิสั้น แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วย ได้แก่
1. สมาธิสั้น เด็กมักไม่สามารถสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน เบื่อง่าย ขาดความตั้งใจ ไม่ใส่ใจเรียน
2. พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง เด็กจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซุกซนมากกว่าปกติ ติดเล่น วิ่งวุ่นไปมา หรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม พูดมากเกินไป
3. หุนหันพลันแล่น มักทำตามใจตนเอง ขาดการยั้งคิด ทำไปด้วยอารมณ์ สะเพร่า ประมาทเลินเล่อ ทำงานบกพร่องผิดพลาด ดื้อ ก้าวร้าวเกเร มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
สาเหตุของสมาธิสั้น ได้แก่

พันธุกรรม ผลการศึกษาส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กอื่นถึง 4 เท่า การที่พ่อแม่ติดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด หรือมีโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ก็เชื่อว่าเป็นสาเหตุเช่นกัน

ความผิดปกติของสมอง เช่น สมองส่วนที่ควบคุมสมาธิทำงานผิดปกติ สมองถูกกระทบกระเทือน คลื่นสมองผิดปกติ หรือสารเคมีบางอย่างในสมองไม่สมดุล เช่น โดปามีน เซโรโทนิน ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แม้เด็กจะพยายามควบคุมตนเองแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กสมาธิสั้น อีก 3 ประการ คือ
อาการสมาธิสั้นจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม คือ ภาวะที่เด็กได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จากการสำรวจพบว่าเด็กในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นจะมีอาการสมาธิสั้น ขณะที่เด็กในชนบทจะไม่ค่อยเป็น ทั้งนี้เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งอายุ 7 ขวบ จะไม่มีระบบป้องกันสารตะกั่วขึ้นสู่สมองเหมือนกับผู้ใหญ่ที่สมองเติบโตเต็มที่แล้ว สารตะกั่วนี้สามารถส่งผ่านทางสายรกสู่สมองเด็กได้ เด็กที่มีระดับตะกั่วสูงตั้งแต่แรกเกิดจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการสมาธิสั้นและมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

มีการวิจัยโดยนำเอาสารตะกั่วที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันไปผสมอาหารให้แม่หมูที่ตั้งท้องกิน พบว่าเมื่อลูกหมูคลอดออกมา เซลล์สมองหลายๆ ส่วนถูกตะกั่วทำลายหมด โดยเฉพาะในส่วนที่ควบคุมสมาธิ เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอันเนื่องมาจากได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จะเป็นกลุ่มที่มีสมาธิสั้นแท้ คือนอกจากจะมีสมาธิสั้นแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ถ้าพบว่าเด็กมีอาการแบบนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะอาการแบบนี้เกิดจากความบกพร่องบางอย่างในสมอง

อาการสมาธิสั้นจากการแพ้สารอาหาร เด็กสมาธิสั้นกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายๆ กับกลุ่มสมาธิสั้นแท้ เพียงแต่ไม่มีอาการลุกลี้ลุกลน ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน และผลการเรียนออกมาไม่ดี มีงานวิจัยในเด็กกลุ่มนี้ พบว่าในเด็ก 100 คน มีเกือบ 20 คน ที่มีอาการเนื่องมาจากการแพ้สารอาหาร คือแพ้สีผสมอาหาร และเมื่อทดลองให้รับประทานอาหารที่ไม่มีสีผสมอาหาร ปรากฏว่าอาการดีขึ้น

สีผสมอาหารที่เด็กได้รับส่วนใหญ่จะมาจากหวานเย็นสีสดใสต่างๆ ของเล่นที่เด็กเอาเข้าปากได้ และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แพ้น้ำตาลทรายขาวซึ่งถูกฟอกสี รวมทั้งช็อกโกแลต เพราะในช็อกโกแลตจะมีสารกระตุ้นบางอย่าง

อาการสมาธิสั้นจากการนอนไม่หลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เด็กควรนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง การที่เด็กนอนไม่เต็มอิ่ม เมื่อตื่นขึ้นมาจะมีอาการงัวเงีย ปวดศีรษะ เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจน ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และเส้นเลือดที่ขยายออกก็จะไปดันเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เมื่อไปโรงเรียนก็จะนั่งสัปหงก ไม่มีสมาธิในการเรียน

โดยมากจะพบในเด็กที่นอนกรนเนื่องจากทอนซิลโตหรือทอนซิลอักเสบ ทางเดินหายใจไม่ดี ซึ่งจะทำให้ตื่นบ่อย เนื่องจากหายใจได้ไม่เต็มปอด หรือพบในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป

เมื่อพ่อแม่สงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเด็กสมาธิสั้น ก่อนอื่นควรพาเด็กไปรับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมเสียก่อน หากไม่ใช่โรคสมาธิสั้น ก็อาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น เลี้ยงดูอย่างตามใจ ไม่มีขอบเขต และไม่มีการฝึกให้ควบคุมตนเองเท่าที่ควร

คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามจัดการกับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น อย่าตามใจจนเกินไป อย่าให้เด็กเล่นสนุกสุดเหวี่ยง หมั่นฝึกระเบียบวินัยให้ลูกเสมอ ลูกของคุณอาจจะเป็นเพียงเด็กซุกซนว่องไวมากเท่านั้นก็ได้ เวลาที่ต้องมีสมาธิจริงๆ เขาก็อาจจะทำได้ดี

แต่หากตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจริงๆ โรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายได้ เด็กสามารถปรับเปลี่ยนกลับมามีพฤติกรรมเท่าหรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ ซึ่งรักษาได้โดยการใช้ยาร่วมกับการฝึกทักษะ ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องเข้าใจ ไม่อายที่จะนำลูกมารักษา และช่วยเหลือฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

Tags : , , , , | add comments