Jan 21
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน
โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ
ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ
ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง
Nov 12
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งผลการประเมินการเรียนรู้ของเด็กๆ จากทางโรงเรียน เด็กหลายๆ คนผ่านการทุ่มเทในการอ่านหนังสือ และทบทวนบทเรียน เป็นผลให้ผลการเรียนออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ อดไม่ได้ที่จะต้องให้รางวัลแก่ความเพียงพยายาม และความตั้งใจ
รางวัลที่เด็กๆ อยากได้ในปัจจุบัน หรือพ่อแม่เลือกให้เป็นของรางวัลมักเป็นโทรศัพท์มือถือ แทปเลต หรือ เงินในเกมส์ การให้รางวัลของพ่อแม่ มักคิดว่าเพื่อเป็นกำลังใจ และตอบแทนในความตั้งใจ นอกจากนี้แล้วยังเป็นสิ่งที่บุตรหลาน ต้องการอีกด้วย จึงไม่ลังเลที่จะให้ แต่เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเด็กที่มีเครื่องมือสื่อสารแบบไร้พรมแดน สามารถท่องโลกออนไลน์อย่างอิสระ เมื่อใดก็ได้นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งเร้ามีผลกับสมาธิ และการเรียนรู้ของบุตรหลานอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการปิดกั้นให้บุตรหลานมีโลกส่วนตัวที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่สามารถรู้ความคิดที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีที่สุด คือ การประเมินผลการเรียนรู้จากทางโรงเรียน การรายงานพฤติกรรมทั้งด้านการเรียนรู้ ที่ไม่มีสมาธิ และพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากสะสมนานเข้า ปัญหาก็จะยิ่งสะสมตามเวลาที่ถูกปล่อยผ่าน จนในที่สุดไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย
ดังนั้นในเมื่อการให้รางวัลกับบุตรหลาน เป็นสิ่งที่อยากตอบแทนในความตั้งใจ พ่อแม่ควรจะเป็นผู้กำหนดรางวัลที่มีคุณค่า ควรพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ที่จะส่งผลต่อตัวเด็กเป็นหลัก เพราะต่อไป เพราะเมื่อเขาเติบโตจนสามารถเป็นผู้เลือกด้วยตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีหน้าที่ชี้แนะให้เขาต่อไป
Jun 12
แนวโน้มเด็กไทยในยุคสังคมก้มหน้า เนื่องจากหลายๆ ครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยาย เด็กกลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัว อยู่กับลุง ป้า น้า อา ทุกคนจะแห่แหนกันดูแล เอาใจเด็กอยากได้อะไรก็ต้องได้ อยากทำอะไรก็ได้ในบ้าน ซึ่งเกินความพอดี จนบ่มเพาะนิสัยที่เฉื่อย เหม่อลอย เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีความพยายามหรือกระตือรือร้นในการทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง เขาจะไม่มีการลองผิดลองถูก ไม่มีประสบการณ์ของความล้มเหลว รวมไปถึงไม่มีประสบการณ์ของความสำเร็จด้วยเช่นกัน เนื่องจากการทำอะไรก็ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่ดาบสองคม แต่เป็นดาบเพียงด้านเดียวที่ทำร้ายเด็กโดยตรง เนื่องจากเด็กๆ จะไม่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกอย่างที่รู้เกิดจากการป้อนข้อมูลที่สำเร็จแล้วทั้งสิ้น ไม่มีการคิดวิเคราะห์เหตุผล ไม่มีการฝึกทักษะทางด้านการควบคุมอารมณ์ เนื่องจากทุกอย่างที่ได้มา ได้มาอย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอย ขาดการฝึกทักษะด้านการเข้าสังคม เด็กกลุ่มนี้จะมีเพื่อนช้า หรืออาจไม่มีเลย ไม่ถูกฝึกให้รู้จักความผิดหวัง และสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ข้างต้นจะส่งผลแย่ลงอย่างรวดเร็วถ้ามีตัวกระตุ้นจากการส่งเทคโนโลยีให้กับเขาเหล่านั้น หากไม่ต้องการทำร้ายบุตรหลานที่เรารัก เราจำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้เค้ามีความทักษะรอบด้าน ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้รู้จักการรอคอย รู้จักความผิดหวัง รู้จักใช้เหตุและผล ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านจออย่างแท๊ปเล็ค มือถือ หรือทีวี ที่ได้แต่ความพึงพอใจของเด็กเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ครูจา
Oct 18
หลังจากมีการเชื่อมโยงเครือข่ายประเทศอาเซียน หรือการเปิด AEC ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 หลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษากระตุ้นให้มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น
ตอนนี้เรามาพิจารณาการเปิด AEC ว่ามีจุดประสงค์เพื่ออะไรก่อน การรวมกลุ่มประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ AEC นั้น เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งกลุ่มอาเซียนจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน สามารถที่จะเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรี
โดยที่ประเด็นในเรื่องของทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างอิสระนั่นเอง ที่ส่งผลให้สถาบันการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา เน้นให้มีการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่บางครั้งการส่งเสริมถูกเน้นไปด้านเดียวจนลืมภาษาไทยซึ่งนอกจากจะเป็นภาษาแรกที่เราใช้ในการสื่อสารแล้ว การเรียนการสอนวิชาพื้นฐานในโรงเรียนภาษาไทยก็ยังเป็นภาษาที่เป็นสื่อกลางการเรียนในทุกวิชา ดังนั้นในเด็กปฐมวัย เรายังต้องให้ความสำคัญกับภาษาไทยไม่ให้น้อยกว่าภาษาที่สอง หากเด็กๆ ไม่สามารถที่จะอ่านออก เขียนได้ (ภาษาไทย) ก็จะส่งผลให้กับการเรียนในทุกๆ วิชาของเขามีปัญหาแน่นอน ดังนั้น การส่งเสริมให้บุตรหลานมีการเรียนภาษาที่สอง แต่เราต้องไม่ลืมภาษาของเราเอง
ครูจา