Mar 25
คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นยาขม
อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ปกครองเองในวัยที่ตนเองเป็นเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
หากมาพิจารณาคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงวัย
เราก็สามารถจะแก้ปัญหาให้กับบุตรหลานได้อย่างถูกจุดได้อย่างไม่ยากนัก เรามาดูวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยจะได้ส่งเสริมทักษะและพัฒนาการได้อย่างถูกต้องดังนี้
-เด็กในวัยอนุบาล
เป็นช่วงที่เรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เชื่อมโยงหน้าตา (ภาษาๆ ใหม่ของเด็กๆ) กับจำนวน และต่อยอดไปในเรื่องของค่าที่มากกว่า น้อยกว่า
การนับเพิ่ม นับลด ซึ่งใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ
กับการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้
คือทัศนคติกับการเรียน ครูผู้สอนมีผลที่สุดกับทัศนคติในการเรียนของเด็ก
-เด็กในวัยประถมต้น
สิ่งที่จำเป็นในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร
เด็กๆ จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องค่าประจำหลัก เพื่อให้เข้าใจการทดเลขเมื่อบวกเกิน
หรือการลบเลขแบบขอยืม ฝึกทักษะของการบวก ลบ จนคล่อง
ต่อจากนั้นควรเข้าใจถึงทฤษฏีพื้นฐานของการคูณ การหาร ซึ่งการท่องสูตรคูณ
ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงนี้ (ทางบ้านต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลักดันให้เด็กท่องสูตรคูณให้ได้)
-เด็กในวัยประถมปลาย
จะมีการเรียนรู้ลำดับขั้นปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ เรขาคณิต และการแก้สมการ
(ในชั้น ป.6) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความจำ(สูตร)ต่างๆ
รวมไปถึงการประยุกต์การแก้ไขปัญหาโจทย์ปัญหาที่มีการรวมเนื้อหาหลายๆ เรื่องให้เด็กๆ
ได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่สำคัญในวัยนี้
จะเป็นเรื่องของความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการตีความโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง
-เด็กในวัยมัธยม
การเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้จะเรียนในแบบที่ใช้ความรู้เดิมไม่เกิน 30% และจะเป็นความรู้ในแนวศาสตร์จริงๆ (Pure Mate) เด็กหลายๆ คนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มักเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้เสมอ
เนื่องจากการเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเลย แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ระดับนี้เป็นการเรียนที่ต้องใช้ในการต่อยอดเพื่อใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อด้วย
ดังนั้น
ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในแต่ละวัยของเด็กๆ นั้น
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตามติดการเรียนของบุตรหลาน
ก็จะได้แก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที และถูกจุด
เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานอยู่ในประถมปลายซึ่งมีปัญหาทางคณิตศาสตร์
มักคิดว่าปัญหาเกิดจากการคิดคำนวณ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปัญหาของเด็กประถมปลายเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์
โดยที่การวิเคราะห์โจทย์ผิดพลาด ส่งผลให้การคำนวณพลาดไปด้วย
ซึ่งการคำนวณพลาดเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น
ดังนั้นปัญหาคณิตศาสตร์แต่ละช่วงวัยควรแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้เด็กได้เรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีเข้าใจ
Mar 04
ในอาทิตย์หน้าจะมีการสอบ NT ของเด็กชั้น ป.3 เรามาดูกันว่าตารางประจำปีของการวัดผลในแต่ละระดับมีอะไรบ้าง เริ่มจาก NT ซึ่งจะสอบกันในชั้น ป.3 ต่อมาชั้น ป.6 ,ม.3 และ ม.6 สอบโอเน็ต นอกจากนี้ยังมีการสอบกลางของกระทรวงในทุกช่วงชั้นจนสิ้นสุดที่ ม.2 จากการประเมินวัดผลที่จัดขึ้นเกือบทุกปีในเด็กแต่ละคน ทำให้เราคาดหวังว่าการเรียนการสอน ในบ้านเราน่าจะมีประสิทธิภาพ
แต่จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ พบว่าผลการทดสอบคณิตศาสตร์ผลประเมินออกมาว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายของประเทศในเอเชีย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อมีการทุ่มเงินไปในอัตราส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณในกระทรวงอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการทุ่มงบประมาณจำนวนมากไม่ได้ช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมาหาต้นเหตุ เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไม่มีความแข็งแรงอย่างอดีต การดำเนินชีวิตต่างคนต่างมีเวลาจำกัด ไม่มีเวลาที่จะใส่พูดคุยถึงปัญหาของแต่ละคน พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน จนเขาถูกเลี้ยงมาให้อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้ถูกอบรมให้รู้จักอดทน การรอคอย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ส่วนอีกหลายๆ ครอบครัวก็มีความพร้อมจนส่งเสริมด้านทักษะและวิชาการอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเด็กได้เรียนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผลการประเมินของประเทศไทยสูงขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกันต่อไป
Feb 19
ข่าวการศึกษาในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ซึ่งมีนโยบายการรับนักเรียนในระดับต่าง ๆ โดยกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้มีการขยายห้องเพิ่ม ได้แก่ในระดับก่อนประถม ให้มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง ส่วนในระดับประถมและมัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะต้องมีการสอบคัดเลือก (การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น) และการเลื่อนชั้นของนักเรียนในโรงเรียนเดิมจาก ม.3 ขึ้น ม.4 ของเด็กหลายๆ คนที่เกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนก็มีกำแพงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การออกนโยบายดังกล่าวจะให้โรงเรียนในสังกัดถือเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการผ่อนผันในปีการศึกษา 2561 นี้ เนื่องจาก สพฐ. มีความเข้าใจว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนการสอน
เมื่อได้รับข่าวสารดังกล่าว ครูเกิดคำถามขึ้นมากมาย จริงหรือที่จำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ สพฐ. สามารถแก้ไขในเรื่องของคุณภาพของการเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปีของการสอบคัดเลือก คือการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ใช้ปัจจัย ตำแหน่งหน้าที่การงาน พร้อมกับการส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างหนักในสถาบันกวดวิชาต่างๆ ไหนว่าลุงตู่มีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กลายเป็นลดเวลาเรียนในโรงเรียน แต่เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ (วันเสาร์-อาทิตย์) นี่เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเรียนพิเศษลดลง วัยเด็กที่หายไป เป็นความหวังดีของพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงจุดประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในที่มีการแข่งขันสูง ไม่ใช่เพียงเพราะอยากมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพของครู อาจารย์ ผู้สอน จึงได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้บุตรหลานได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนนั้นหรอกหรือ ส่วนในอีกมุม โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของการแข่งขัน จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน กลายเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในแผนของการส่งบุตรหลานเลย ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ติดบ้านก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แน่ใจหรือว่าคุณภาพที่ได้นอกจากจะได้มาจากจำนวนนักเรียนเพียงอย่างเดียว หากเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องมีการควบคุมตัวแปรต้นทุกตัวที่ส่งผลกับการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงเลือกศึกษาปัจจัยทีละตัว เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สพฐ. ไม่ได้ควบคุมตัวแปรต้นเลย (คุณภาพของครู อุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนนักเรียนเลย) หากคุณภาพของครูหรือโรงเรียนอยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศ คงไม่มีแรงกระเพื่อมจากนโยบายในครั้งนี้รุนแรงนัก แล้ว สพฐ. มีแผนรองรับที่จะแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ผ่านการคัดเลือกแล้วหรือยัง
Feb 08
บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่เข้าใจ หรือค่อนข้างอ่อน หลังจากที่ส่งไปเรียนตามสถาบันต่างๆ หลายสถาบันก็ยังไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของบุตรหลาน มักจะมีความคิดที่จะหาครูเพื่อสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัว ก่อนที่จะคิดแก้ปัญหาโดยการหาครูเพื่อมาสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัวนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีไหมว่าบุตรหลานของเรามีความจำเป็นในการเรียนแบบตัวต่อตัวเหมือนเด็กพิเศษหรือ เนื่องจากการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัวนั้น มักเหมาะกับการที่เด็กไม่สามารถเรียนรวมกับกลุ่มได้ มีสมาธิอยู่ในช่วงสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เหมาะกับเด็กที่เป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบในการเรียนอยู่ค่อนข้างตลอดเวลา
หากบุตรหลานไม่ได้เป็นเด็กพิเศษ การเรียนแบบตัวต่อตัวในมุมมองของครู แทบไม่ได้ส่งผลดีเลยในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูเคยเขียนบทความเรื่องที่ว่าทำไมเด็กบางคนไม่สามารถเรียนในกลุ่มใหญ่ได้ (ลองย้อนกลับไปดูได้นะคะ) การที่เด็กบางคนเรียนตามกลุ่มเพื่อนไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่าเขาจำเป็นต้องเรียนตัวต่อตัว เพียงแต่ว่าพื้นฐานและทักษะทางคณิตศาสตร์ของเขาไม่ทันกับกลุ่ม เนื่องจากความเข้าใจยังไม่สามารถเข้ากลุ่มที่เรียนไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งการเรียนคณิตศาสตร์ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้คือการเรียนที่ไม่ได้ไปพร้อมกันการเรียนเป็นการแบ่งกลุ่มเล็กๆ ที่มีเนื้อหาขึ้นอยู่กับเด็กและทักษะความเข้าใจของเด็กแต่ละคน ครูจะต้องทำความเข้าใจหรืออธิบายเนื้อหาให้กับเด็กก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ต้องปล่อยให้เขาทำแบบฝึกหัดในการแก้ไขปัญหา นอกจากเด็กจะเกิดทักษะ และมีกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แล้วยังเป็นการวัดความเข้าใจในบทเรียนที่ครูสอน ว่าเขามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แล้วการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ จะทำให้เด็กมีสังคม มีเพื่อน คอยกระตุ้นกันเองด้วย การเรียนแบบตัวต่อตัว ผู้ปกครองมักคิดว่าบุตรหลานจะได้รับความรู้ความเข้าใจเต็มชั่วโมง แต่ในทางกลับกันการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัว เป็นความจริงที่ครูจะต้องเป็นคนประกบเด็กตลอดเวลา ถ้าเด็กเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ก็จะไม่กล้าที่จะเริ่มคิดวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง ครูก็จะเป็นฝ่ายที่จะเริ่มชี้นำวิธีคิดให้เขา เช่นเดียวกับเด็กที่เฉื่อย เนื่องจากเป็นเด็กที่เฉื่อยจะไม่พยายามทำอะไรด้วยตนเองอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีความพยายามที่จะคิดเมื่อมีคนคอยช่วย กระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก็ไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเกิดปัญหาการเข้าสังคมด้วย เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นลูกคนเดียว โดยปกติก็มีปัญหาการเข้าสังคมอยู่แล้ว หากยิ่งจัดสรรการเรียนให้เป็นแบบตัวต่อตัว นอกจากปัญหายังแก้ไม่ถูกจุดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาด้านสังคมเพิ่มขึ้นอีกปัญหาด้วย
ครูจา
Dec 01
หลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด มักคาดหวังว่าการเรียนของบุตรหลานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่คาดหวังอาจเป็นจริงไม่ได้หากขาดการเอาใจใส่ดูแล กวดขันตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานมีปัญหา
คราวนี้เราลองมาพิจารณากันดูว่า การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดปัญหาด้านใดได้บ้าง เราต้องมาเริ่มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีปัญหาคณิตศาสตร์หากเขาไม่สามารถแปลงภาษาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยได้ คือการให้จับต้องสิ่งของที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับเชื่อมโยงกับตัวเลข ซึ่งถือเป็นภาษาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ วัยต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงปฐมวัย คือประถมต้น การเรียนคณิตศาสตร์เริ่มมีปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ต่างๆ นั่นคือการบวก ลบ คูณ หาร เข้ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ คือความไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ความไม่แม่นยำ เนื่องจากการขาดการฝึกฝน หากเด็กไม่สามารถเข้าใจการเพิ่ม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เด็กไม่เข้าใจการบวกซ้ำ ๆ ซึ่งหมายถึงการคูณ และนอกจากนี้ หากการบวกมีปัญหา การลบก็ย่อมมีปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเด็กก็จะหยุดเดินเพราะต้องสะดุดกับปมมากมาย ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติด้านการเรียนเป็นลบไป
การเรียนคณิตศาสตร์หากเกิดปมตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการเรียน มักส่งผลให้การต่อยอดมีปัญหา เหมือนเชือกที่สั้นลงเนื่องจากการมัดปมไปเรื่อยๆ หากปัญหาได้รับการแก้ไข ก็เปรียบเหมือนการคลายปมให้เชือกได้ยาวขึ้น และต่อยอดได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ สามารถต่อยอดทางคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลการเรียนของเด็กๆ เผื่อว่าปมที่เพิ่งเกิดจะได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการแกะปมที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นย่อมใช้เวลาน้อยกว่า ปมที่ถูกสะสมมานาน แต่ก็ยังดีกว่าที่มันจะกลายเป็นเงื่อนจนไม่สามารถแกะมันออกในที่สุด
ครูจา
Oct 20
หลายครั้งที่เขียนเกี่ยวกับแนวการเรียนการสอนจินตคณิตไปแล้ว คราวนี้จะเป็นเรื่องของวัยที่เหมาะสมกับการเรียนจินตคณิต
อันที่จริงแล้วการเรียนจินตคณิตไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องว่าเด็กโตแล้วเรียนไม่ได้ แต่สำหรับเด็กที่เล็กเกินไป เป็นข้อจำกัดเรื่องกล้ามเนื้อมือเป็นหลัก
คราวนี้มาดูที่รายละเอียดกันว่าการเรียนจินตคณิตสำหรับวัยไหนที่เหมาะสมที่สุด เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย หรืออนุบาลก่อน เนื่องจากเด็กอนุบาลการเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มตั้งแต่จำนวนและตัวเลข แล้วจึงค่อยพัฒนาเข้าสู่การเรียนการบวก-ลบ การเรียนจินตคณิตจะเป็นการแนะนำตัวเลขให้กับเด็กได้จับต้องได้เป็นรูปธรรม และยังเป็นการนำการบวกเพิ่ม หรือการลด ให้เด็กได้มีความเข้าใจถึงการบวก-ลบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงถือว่าการเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อนำให้เขาเข้าใจในการเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างดี วัยประถม(ต้น) เป็นวัยที่การเรียนจินตคณิตจะเป็นการจัดระบบความคิด ทั้งเรื่องของค่าประจำหลัก และการบวก-ลบ คูณ หาร ซึ่งเด็กบางคนที่มีปัญหากับคณิตศาสตร์อาจมีผลเนื่องจากความไม่เข้าใจเรื่องค่าประจำหลัก การบวก-ลบ เลขขอยืม ซึ่งในการเรียนลูกคิดจะเห็นเป็นภาพที่ชัดเจน และเด็กๆ จะสามารถปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แต่ในเด็กประถม(ปลาย) ส่วนใหญ่จะมีกระบวนการคิดคำนวณคณิตศาสตร์ที่คล่องแล้ว การใช้ลูกคิดจะถือว่าตามหลังสิ่งที่เขารู้มาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองเรียนรู้จนชำนาญแล้ว จึงไม่แนะนำให้เด็กประถม(ปลาย) เรียนจินตคณิตสักเท่าใด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะเรียนไม่ได้ เพียงแต่ผลสัมฤทธิ์ที่จะนำไปใช้ ช้ากว่าบทเรียนคณิตศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียน แต่เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักเข้าใจว่าเด็กประถม(ปลาย)ที่มีปัญหาทางคณิตศาสตร์เกิดจากการคิดคำนวณผิดพลาด ควรได้รับการแก้ไข แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่มีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ อาจไม่มีปัญหาการคำนวณเลยก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของเด็กโตจะอยู่ที่ความเข้าใจเป็นหลัก หากจะแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงกันก่อนจะเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ในการเรียนที่ไม่ได้แก้ปัญหาผิดทาง
ครูจา
Jul 07
พอกล่าวถึงการเรียนจินตคณิต ร้อยละ 90 มักมีความเข้าใจว่า การเรียนจินตคณิต เปรียบเหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ช่วยในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักส่งบุตรหลานให้เรียนจินตคณิต เมื่อพบว่าบุตรหลานมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
ก่อนอื่นต้องมอง ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ การอ่าน , การคำนวณ และการตีความ ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นแรก (ป.1 – 2) ปัจจัยในการเรียนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในเรื่องจำนวน หรือเรื่องค่าประจำหลัก เท่านั้น เนื่องจากในช่วงวัยนี้ยังไม่มีการแก้ไขโจทย์ปัญหาเท่าใดนัก เป็นการเรียนรู้เพื่อปูความรู้พื้นฐานเข้าสู่การแก้ไขโจทย์ปัญหาในระดับที่โตขึ้น ซึ่งหากเด็กมีปัญหาในข่วงวัยนี้ การเรียนจินตคณิต เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแน่นอน แต่หากเด็ก อยู่ในวัยที่โตขึ้น (ตั้งแต่ ป.3 ขึ้นไป) การเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มมาจากปัจจัย เรื่องการอ่าน หรือ เป็นเพียงปัญหาการตีความ แต่ในเด็กบางคน ที่มีปัญหาเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่ยอมท่องสูตรคูณ หรือความไม่เข้าใจเรื่องการคูณ หรือการหาร หากบุตรหลานประสบปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และแก้ไข
เราจะทราบได้อย่างไรว่าสาเหตุของปัญหา อยู่ตรงไหน หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน เด็กจะมีปัญหากับทุกๆ วิชา ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว แต่หากเด็กมีปัญหาเพียงวิชาคณิตศาสตร์ ก็ต้องมาดูว่าปัญหาเกิดเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการตีความ หรือมีปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งการตีความและการคำนวณ หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการคำนวณ ในความเป็นจริงการแก้ไขในเรื่องของการคำนวณทำได้ไม่ยาก นั่นคือให้เด็กมีการฝึกทักษะ หรือทำแบบฝึกหัดให้มากขึ้น ส่วนการตีความนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการวาดเป็นภาพในช่วงแรกเด็กยังต้องมีการชี้นำ แต่เมื่อเขามีความเข้าใจ เขาจะสามารถตีความเป็นภาพออกมาได้ชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาโจทย์ได้อย่างเป็นระบบดังนั้นหากบุตรหลานมีปัญหาในเรื่องของการเรียน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นทัศนคติที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ครูจา
Mar 07
Posted by malinee on Thursday Mar 7, 2013 Under เกร็ดความรู้
หลาย ๆ คน มักสงสัยว่าถ้าลูกหลานเราเป็นเด็กปกติ แต่ทำไมไปเรียนแบบกลุ่มจึงไม่ได้ผล ถ้าน้อง ๆ ไม่มีปัญหาด้านการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่เราพบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนแบบกลุ่มใหญ่ได้ เนื่องจากเนื้อหาที่ถูกสะสมความไม่เข้าใจน่าจะเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากการเรียนในกลุ่มใหญ่ จะใช้ระดับชั้นเป็นเกณฑ์ในการเข้ากลุ่ม แต่เมื่อเด็กหลาย ๆ คนเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจบทเรียนในช่วงปีแรก และไม่ได้รับความกระจ่าง ก็จะเกิดการสะสมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในเนื้อหาที่ลึกขึ้น ทำให้เมื่อเวลาเข้ากลุ่มใหญ่ เกิดความไม่กล้าที่จะถาม ไม่อยากตอบคำถาม และความไม่เข้าใจก็ยังไม่ได้ถูกสะสางให้ดีขึ้น หากความไม่เข้าใจสะสมนานวันเข้า การที่เราส่งบุตรหลานเรียนในกลุ่ม หากเด็กสะสมความไม่เข้าใจ 2 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งเด็ก ป.2 เข้าเรียนกับคนที่มีความรู้ในชั้น ป.4 ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าจะมีความเข้าใจที่ใกล้เคียงกัน
Dec 17
จากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุชายวัยรุ่นอายุ 20 ปี ยิงแม่ของตนเองในบ้าน ก่อนที่จะบุกกราดยิงเด็กนักเรียน ในชั้นเรียน ซึ่งมีอายุ 5 – 10 ปีในโรงเรียนประถมชื่อ “Sandy HooK” ก่อนที่จะดับชีวิตตนเองด้วยอาวุธเดียวกัน โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังหาเหตุปัจจัยที่ทำให้ชายคนนี้ก่อเหตุ จากแหล่งข่าวกล่าวว่าผู้ก่อเหตุมีประวัติการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม แต่เป็นเด็กเก็บตัว ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ ไม่สุงสิงกับใคร จนมีฉายาว่า หนุ่มร็อคผู้โดดเดี่ยว เขาอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง เนื่องจากพ่อแม่หย่าร้างกันตั้งแต่ปี 2008
จากเหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่ย้ำให้เห็นว่า “IQ” ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งสามารถแก้ไขปัญหา หรือพาตนเองออกมาจากวังวนแห่งปัญหาหรือสภาวะของการกดดันได้เสมอไป ยังมีทักษะต่าง ๆ อีกมากมายที่ต้องให้เด็กฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
Nov 16
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า IQ และ EQ มาแล้ว เนื่องจากในข่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มักมีข่าวมากมายเกี่ยวกับนักศึกษา หรือแม้แต่นักบริหาร ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีประวิติผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ต้องจบชีวิตลงด้วยเรื่องของความผิดหวังเพียงเล็กน้อย (ในสายตาของคนอื่น) ทิ้งไว้แต่ความฉงนของคนที่ได้ข่าวว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหา ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้ในยุคนั้นมักถูกเรียกว่า “คนที่มี IQ สูง” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีงานวิจัย นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นประวัติการเลี้ยงดูในวัยเด็ก แลการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงดู หรือสังเกตพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต
หลังจากนั้น คำว่า “EQ” จึงเกิดขึ้น และนักจิตวิทยาจะให้ความสำคัญของ EQ ใกล้เคียงกับ IQ แต่ในการศึกษาทางด้านจิตวิทยาแล้ว ยังมี Qs อื่น ๆ ที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดี เหมาะสมกับวัย และการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเมื่อเติบโตขึ้น
ครู จา