ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว

            ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค)  , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต) และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน  การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้ แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแก้ไขได้             เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

โรงเรียนไหนดี?

Posted by malinee on Tuesday Nov 27, 2018 Under เกร็ดความรู้

ในปัจจุบัน ทางเลือกของการศึกษามีอยู่หลากหลายแบบ ครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ก็จะส่งเสริมบุตรหลานให้ได้การศึกษาที่ดีที่สุด  หากตามข่าวการศึกษาบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ก็จะเบื่อหน่ายกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่ผู้ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งของผู้ดูแลกระทรวงศึกษา ก็ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับความทุ่มเทเอาใจใส่ของครูที่มีน้อยลง หวังแต่จะรับสอนพิเศษเพื่อให้ได้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมันในระบบการศึกษาไทยถูกบันทอนลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีความมั่นใจกับการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงส่งบุตรหลานเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง แทนที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อออกกำลังกาย หรือเพื่อเล่นซน ก็หมดไปกับการเรียน เป็นเหตุให้เด็กในยุคนี้ไม่มีประสบการณ์หรือทักษะด้านอื่น นอกจากการเรียน

การส่งบุตรหลาน เรียนพิเศษไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย เช่นในวัยอนุบาล พ่อแม่สามารถจะหากิจกรรมเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งทำได้ในบ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และคอยดูการเรียนในโรงเรียน แล้วเสริมหรือทบทวนเพื่อให้บุตรหลานมีความมั่นใจ และรักการเรียนรู้ ส่วนของประถมต้น เด็กๆ จะเริ่มมีการเรียนเรื่องความยาว น้ำหนัก ความจุ ทางบ้านก็ส่งเสริมให้เห็นของจริง เช่นการเลือกซื้อนม ให้ดูปริมาตรข้างกล่อง เปรียบเทียบขนาดกล่อง น้ำหนักของพ่อ แม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเอง แล้วเมื่อถึงบทเรียนที่เราเริ่มจะรู้สึกว่าไม่สามารถอธิบายได้ ค่อยหาตัวช่วยอื่น

สิ่งที่สำคัญของการเรียน คือทัศนคติของการเรียนไม่ว่าจะเรียนอะไร และครูคนแรกของลูกก็คือพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานมีทัศนคติอย่างไรกับการเรียน และยังทำให้ความเป็นครอบครัวแน่นแฟ้นมากขึ้น อย่าให้เครื่องมือทางเทคโนโลยีมาแทรกแซงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เพราะ ณ วันนึง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเติบโตอย่างมั่นใจว่าถึงอย่างไรเขาก็มีครอบครัวที่คอยสนับสนุน หรือเป็นกำลังใจเมื่อเขาเกิดท้อแท้ และอย่าให้ครูคนแรกของลูกเป็นคนอื่น เพราะไม่มีใครปรารถนาดีกับบุตรหลานเท่าพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว และอย่าคาดหวังว่าระบบการศึกษาของบ้านราจะได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนา เพื่อให้คนทุกคนมีการศึกษาที่ดีเทียบเท่ากันทั้งประเทศ …. คงไม่มีวันนั้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ในช่วงปลายภาคเรียนภาคแรก โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนจะมีการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายๆ คนก็มีการวางแผนการเรียนของบุตรหลานไว้แล้ว

พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายๆ คน จะถือว่าการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานนั้น ต้องเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งระยะทาง สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงของโรงเรียนนั้นๆ แต่สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเกือบทุกคนลืมไปก็คือ ธรรมชาติของลูกหลาน ว่าเหมาะสมกับโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเด็กแต่ละคนมีธรรมชาติของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และแนวการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

การส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ซึ่งต้องใช้เวลาเกิน 80% ในโรงเรียน เราถือได้ว่าโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ จะดีกว่าหรือไมที่จะเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเขา เช่น เด็กที่ไม่ชอบการแข่งขัน ควรส่งเสริมโดยการส่งเข้าโรงเรียนในแนวของการเร่งเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของเขา ในทางกลับกัน หากเด็กที่ไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ควรจัดให้เขาไปอยู่ในโรงเรียนที่มีการแข่งขัน นอกจากจะไม่เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้แล้ว ยังทำให้เขาไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ใดๆ เลย ผู้ปกครองหลายๆ คนมักคิดว่าสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยกระตุ้นให้บุตรหลานเรียนรู้ได้ เด็กบางคนสามารถใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่เด็กหลายๆ คนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมการเรียนให้กับบุตรหลาน ควรพิจารณาลักษณะนิสัยพื้นฐานของบุตรหลานว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับบ้านหลังใหม่ได้หรือไม่เพื่อความสุขของพวกเขาในช่วงวัยเรียนตลอดไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

4cs จากในบทความที่เคยกล่าวมาแล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมนั้นเป็นการเรียนที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้ จากการเรียนผ่านประสบการณ์รอบๆ ตัว เช่น การเรียนเรื่องเงิน การชั่ง ตวง วัด เป็นต้น ซึ่งการเรียนในระดับประถมนั้น จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนในระดับมัธยมต่อไป

การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมจะเริ่มเป็นการเรียนในลักษณะที่เป็นศาสตร์มากขึ้น เช่น พหุนาม เลขยกกำลัง กรณฑ์ เป็นต้น แต่การเรียนในระดับมัธยมนั้นจะต้องอาศัยพื้นฐานที่ดีในระดับประถม เปรียบเสมือนโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง หากมีฐานที่ไม่แข็งแรง สิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมไม่สามารถสร้างให้สูงได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการเรียนคณิตศาสตร์ หากมีพื้นฐานไม่ดีตั้งแต่ประถม เขาไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติที่ดีกับการเรียน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เด็กๆ ต่อต้านการเรียนคณิตศาสตร์เกิดเนื่องมาจาก การปิดสัญญาณในการเรียน นั่นหมายความถึงการปิดโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาของความไม่เข้าใจ เมื่อบวกรวมกับสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเอง ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับคะแนนหรือเกรดที่ออกมา ทำให้เมื่อเข้าสู่มัธยมปลาย โอกาสหรือทางเลือกในการเรียนก็จะแคบลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีนั้น มักจะเรียนดีในเกือบทุกวิชา นั่นเราอาจหมายรวมได้ว่า การเรียนคณิตศาสตร์เป็นการจัดลำดับกระบวนการของความคิดให้กับเขาเหล่านั้น และสามารถพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

        ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

     มักมีข้อสงสัยในใจผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านที่ให้ลูกเรียนจินตคณิตว่า “ทำไมลูกยังมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หรือ ทำไมลูกเรียนแล้วไม่เห็นได้ผลเลย!”  ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า การเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดนั้นเป็นการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณเปรียบเสมือนกับเครื่องคิดเลขชนิดหนึ่ง ดังนั้นก่อนที่เด็กจะสามารถคำนวณเลขได้โดยผ่านลูกคิดนั้น เด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้และฝึกการใช้ลูกคิดให้มีประสิทธิภาพก่อน ซึ่งในการเรียนนั้นจะต้องผ่านลำดับขั้นของการเรียนรู้ตั้งแต่การดีดลูกคิดอย่างง่าย ๆ ไปจนถึงลำดับขั้นการดีดที่ความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเด็กจะต้องเป็นผู้เลือกใช้สำหรับการคำนวณโดยใช้ลูกคิดในแต่ละครั้งว่าจะใช้สูตรใด หรือคู่ใด (คู่ซี้เล็ก หรือคู่ซี้ใหญ่) เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความชำนาญ และความรวดเร็วในการดีดลูกคิด โดยที่เด็กส่วนใหญ่มักจะขาดการฝึกฝนการใช้ ทำให้เด็กเลือกใช้ได้ไม่ถูกต้อง หรือขาดความชำนาญ ทำให้ดีดลูกคิดได้ช้าหรือผิดพลาด ซึ่งเมื่อกลับเข้าชั้นเรียนและไม่ได้รับการฝึกฝนในระหว่างสัปดาห์ เด็กก็จะขึ้นเนื้อหาใหม่ได้ช้าลงเนื่องจากต้องเน้นย้ำเนื้อหาเก่าให้แม่นยำก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะจำเร็วและลืมเร็วเช่นกัน ดังนั้น การฝึกฝนการใช้ลูกคิดก็เหมือนกับการฝึกฝนการใช้เครื่องมืออื่นๆ นั้นคือ เด็กที่ผ่านการฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถคำนวณโดยใช้ลูกคิดได้คล่องกว่า ไปได้เร็วกว่า และมีความแม่นยำมากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้ฝึกฝน และส่วนหนึ่งคือผู้ปกครองบางท่านใจร้อน คืออยากเห็นพัฒนาการของลูกอย่างรวดเร็ว หรืออยากเห็นประโยชน์จากการเรียน จึงมักจะมองว่าทำไมลูกเรียนมาตั้งนานแล้วลูกยังเรียนไม่ทันตามเนื้อหาที่โรงเรียนเลย หรือ ไม่เห็นว่าลูกจะนำลูกคิดไปใช้ประโยชน์ในการเรียนที่โรงเรียนได้เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เนื้อหาที่เด็กเรียนในโรงเรียนมีความก้าวหน้าขึ้นทุกๆวัน ส่วนการเรียนจินตคณิตเป็นวิชาเสริมวิชาหนึ่งซึ่งเด็กทุกๆ คน ไม่ว่าจะเรียนอยู่ในระดับชั้นใดจำเป็นจะต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานการดีดลูกคิดแล้วค่อย ๆ เพิ่มความยากขึ้นจนนำไปสู่การจินตนาการ ซึ่งการจินตนาการนี้เอง ก็จะทำให้ผู้ปกครองค่อยๆ เริ่มเห็นพัฒนาการของลูก นั่นคือเด็กที่เริ่มเรียนจินตคณิตในระดับอนุบาล หรือ ในระดับประถม 1 หรือ 2 ผู้ปกครองก็จะสามารถเห็นการนำจินตคณิตไปใช้ในโรงเรียนได้เร็วกว่า เด็กในระดับประถมปลาย หรือ ป.5 ป.6 ซึ่งมีเนื้อหาในการเรียนที่ซับซ้อนกว่าละยากกว่า ทำให้เด็กโต หลาย ๆ คนที่เข้ามาเรียน ไม่ยอมฝึกใช้และหันไปใช้วิธีเดิม ๆ เพราะคิดว่าการใช้ลูกคิดมันยุ่งยาก

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำว่าจินตคณิตคืออะไร

คำว่าจินตคณิตเป็นการรวมคำระหว่าง “ จินต”(จินตะ) คือ การนึก +

 “คณิต” คือ การนับหรือการคำนวณ โดยรวมหมายถึง

การนึกถึงตัวเลขหลังจากผ่านปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ 

ซึ่งแนวการเรียนการสอนจินตคณิตนั้นจะมีอยู่ 2 แนวหลัก ๆ ได้แก่

          – จินตคณิตในแนวของการทำซ้ำ ซึ่งเป็นการทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน โดยในการทำแบบฝึกหัดแต่ละครั้งจะมีเรื่องของการจับเวลาเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้เด็กเพิ่มศักยภาพในเรื่องความเร็วและการจดจำ (เป็นการใช้สมองซีกซ้าย) จนเกิดความคุ้นชิน

          – การเรียนจินตคณิตในแนวของการใช้ลูกคิด เป็นแนวการเรียนการสอนที่สอนให้เด็กฝึกการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณในระดับต้นจนทำให้เกิดความคุ้นชิน และหลังจากนั้นจึงฝึกให้เด็กเกิดจินตภาพขึ้น (เป็นส่วนของการใช้สมองซีกขวาร่วมกับสมองซีกซ้ายในการคำนวณ) แต่ในการเรียนการสอนจะต้องค่อย ๆ เพิ่มหลักหรือจำนวนตัวเลขร่วมกับการจับเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของหน่วยความจำ ความแม่นยำ และความเร็วควบคู่กัน 

     จากแนวการเรียนการสอนจินตคณิตทั้ง 2 แนวนี้ต่างก็ให้ผลหรือจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การเพิ่มความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ หรือการปรับทัศนคติทางคณิตศาสตร์ให้แก่เด็ก เนื่องจากในการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมต้นจะเน้นเนื้อหาของค่าประจำหลัก และจำนวน  โดยเด็กที่ผ่านการเรียนจินตคณิตจึงมักไม่พบปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์กับกลุ่มดังกล่าว

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

       การปูพื้นฐานที่มั่นคงในการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเด็กขาดทักษะทางคณิตศาสตร์อาจทำให้เขามีปัญหาในการเรียน หรือขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ เด็กที่ขาดทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์จะเพิ่มความรู้สึกยุ่งยากและความสับสนในการเรียนคณิตศาสตร์เรื่อย ๆ แต่เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เราจะพบว่าความกดดันที่เด็กได้รับจากทักษะทางคณิตศาสตร์ก็หมดไปเช่นกัน จนเราอาจจะได้ยินว่าลูกชอบคณิตศาสตร์ในที่สุด
        การสร้างทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นจะมีวิธีการอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนในการสร้างความมั่นใจและความเข้าใจเชิงลึกให้กับเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักสับสนกับการเป็นผู้สอนเด็กมีดังนี้
-อาจเกิดจากการมุ่งเน้นในบางเรื่องเท่านั้น เช่นการมุ่งเน้นในเรื่องของจำนวนจนลืมหัวข้ออื่น ๆ ที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับต้น การทบทวนแบบไม่มีลำดับขั้น

        การมุ่นเน้นคณิตศาสตร์ให้กับชั้นประถมปีที่นั้นจะมีหัวข้อสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
–  ระบบจำนวน ซึ่งหมายรวมลำดับขั้นของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และค่าประจำหลักด้วย
–  ความสัมพันธ์ ในชั้นประถมต้นจะเรียนแบบรูปที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ซับซ้อน หรืออาจเป็นการหาตัวแปรแบบง่าย ๆ
–  เรขาคณิต และมิติสัมพันธ์ เด็กจะเรียนรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน แล้วจึงเพิ่มในเรื่องของมิติสัมพันธ์ การอ่านแผนที่ และการแก้ปัญหาเรขาคณิต
–  การวัด และการเปรียบเทียบเชิงปริมาณทั้งในเรื่องความยาว น้ำหนัก อุณหภูมิ ความจุ เวลา และเรื่องเงิน
–  การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น การใช้ตาราง แผนภูมิ กราฟ เพื่อจัดรูปแบบข้อมูล
      คณิตศาสตร์สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 – 3
     ชั้นประถมปีที่ 1 มุ่งเน้นการเรียนเรื่องจำนวนและระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะเรียนเรื่องการบวก-ลบ จำนวนจาก 1 – 100 นอกจากนี้ยังมีการเรียนเรื่องรูปทรงเรขาคณิต การวัด เงิน แผนภูมิ กราฟ การวิเคราะห์ข้อมูล และแบบรูปทางคณิตศาสตร์
     ชั้นประถมปีที่ 2 เรียนเรื่องการจับกลุ่ม 10 , 100 และลำดับของระบบปฏิบัติการจำนวนไม่เกิน 1,000   ค่าประจำหลัก การคูณและการหาร
     ชั้นประถมปีที่ 3 จะยังคงเรียนเรื่องเดิมแต่เน้นในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหา การเรียนเรื่องเศษส่วน และทศนิยม เด็กในวัยนี้จะเพิ่มความเข้าใจในเรื่องของการวัด รูปทรงเรขาคณิต และความสัมพันธ์
     ชั้นประถมปีที่ 4 เรียนในเรื่องเดิมแต่มีความลึกมากขึ้น เช่นในเรื่องของเศษส่วน จะมีการเปรียบเทียบเศษส่วน การบวกลบ เศษส่วน มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของปริมาตร พื้นที่ เส้นรอบรูป และเรื่องของการวัดมุม
     ชั้นประถมปีที่ 5 มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของตัวประกอบ ตัวประกอบเฉพาะ 
     ชั้นประถมปีที่ 6 มีการแปลงทศนิยมเป็นเศษส่วน และการบวกลบคูณหารเศษส่วนและทศนิยม การเรียนเรื่องเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ อัตราส่วน การสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางคณิตศาสตร์
      จากแนวทางการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นจะเห็นได้ว่า โดยหลักสูตรไม่ได้เน้นหนักในเรื่องของจำนวนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมเนื้อหาในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาต่าง ๆ อีกหลายวิชาในอนาคต

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

Singapore Math

Posted by malinee on Thursday Nov 4, 2010 Under เกร็ดความรู้

           ในปัจจุบันนี้การเรียน การสอนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษามีแนวการสอนหลาย

รูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือเพื่อให้เด็กเกิดทักษะในการเรียนรู้คณิตศาสตร์

ซึ่ง Singapore Math ก็เป็นอีกรูปแบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

              Singapore Math เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพิจารณาว่ามีประสิทธิภาพในการสอนคณิตศาสตร์แก่เด็ก 

Singapore Math เป็นการสอนคณิตศาสตร์พื้นฐานในการแก้โจทย์ปัญหาในระดับ

ประถมศึกษา โดยการวาดเป็นแผนภาพ (model drawing)

เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจในเชิงลึกและแก่นแท้ของวิชาคณิตศาสตร์

ข้อดีของการใช้ Singapore Math มีหลายประการ คือ

1.เด็ก ๆ สามารถวิเคราะห์โจทย์และตีความโจทย์ที่เป็นนามธรรมให้เป็นแผนภาพที่เป็นรูปธรรม

 

2.เด็กๆ มีความเข้าใจโจทย์ในเชิงลึกได้มากขึ้น โดยไม่ขาดใจความสำคัญที่ให้ไว้ในโจทย์

 

3.เด็ก ๆ สามารถวิเคราะห์โจทย์และแก้โจทย์ได้อย่างเป็นระบบโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

4.เด็ก ๆ มีสมาธิดีขึ้น เนื่องจากเป็นการใช้สมองซีกขวา (ส่วนจินตนาการ) ในการแก้โจทย์

 

5.เด็กๆ มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

โดย : Smantha Watson

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่   5 ต.ค. 53 ถึงวันที่  15 ต.ค. 53   รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่  11 ต.ค. 53 ถึงวันที่  21 ต.ค. 53 รอบที่ 3ตั้งแต่วันที่  18ต.ค. 53 ถึงวันที่  29 ต.ค. 53 หลักสูตรที่เปิดสอน คือ หลักสูตรลูกคิด สำหรับน้อง ๆ ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมองทั้งสองซีก  และหลักสูตรโจทย์คณิตคิดง่าย สำหรับน้อง ๆ ระดับ ประถมศึกษา เพื่อปรับพื้นฐาน และ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมรอบใหม่ที่กำลังจะมาถึง พิเศษ สำหรับน้อง ๆ ที่สมัครเรียนในช่วงคอร์สปิดเทอมนี้ สามารถเข้าร่วม กิจกรรมนอกสถานที่ กับทางสถาบันฯ ฟรี 1 วันเต็ม ซึ่งน้อง ๆ จะได้พบกับกิจกรรมที่สนุกสนานมากมายพร้อมสอดแทรกทักษะทางคณิตศาสตร์และทักษะด้านการใช้เหตุผล ผ่านกิจกรรม

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments