ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว

            ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค)  , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต) และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน  การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้ แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแก้ไขได้             เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

        ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments