Apr 07

ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Jan 27

จากที่เคยกล่าวถึงโรงเรียนในแนวต่างๆ มาแล้ว คราวนี้เราลองมาสอดส่องโรงเรียนไทยที่มีทางเลือกหลากหลายให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ค่าเทอมของโรงเรียนอินเตอร์มีอัตราที่สูงลิ่ว ซึ่งมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่สามารถส่งเสริมบุตรหลานให้เรียนได้ ประกอบกับโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนมีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบ Gifted ,EP และภาคปกติ เรามาดูรายละเอียดของการเรียน EP ว่าแตกต่างจากภาคเรียนปกติอย่างไร
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็หวังว่าการส่งบุตรหลานเรียน EP จะทำให้บุตรหลานได้มีความเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยอาจรู้เท่าไม่ถึงว่าแนวการเรียนการสอนเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ EP จะมีการเพิ่มการเรียนการสอนวิชา Math , Science , Social Study ซึ่ง ผู้ปกครองหลายๆ คนที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กก่อนที่จะเข้าเรียนในแนว EP ส่งบุตรหลานเรียนอนุบาลในแนวไทย เข้าใจว่าเด็กๆ จะสามารถปรับตัวได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่สามารถปรับตัวได้เลย เพราะหนังสือที่ใช้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ หลายๆ โรงเรียนเลือกใช้หนังสือจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งหนังสือที่ใช้เป็นหนังสือที่ดีมาก แต่เราต้องอย่าลืมว่าภาษาอังกฤษของประเทศสิงคโปร์เป็นภาษาแม่ก็ว่าได้ ดังนั้นภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นแบบ EFL (English First Language) ซึ่งเด็กไทยภาษาอังกฤษไม่ใช่ทั้งภาษาแม่และภาษาทางราชการ ทำให้เด็กเกิดปัญหา เพราะไม่ได้ถูกปูพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น พ่อแม่ ผู้ปกครองเองบางคนที่ไม่ติดเรื่องภาษา ก็ต้องติดกับเรื่องของการอธิบาย เพราะเค้าใช้วิธี Singapore Math ทำให้เกิดปัญหากับการเรียนคณิตศาสตร์
หลายๆ ครอบครัวช่วยบุตรหลานโดยการส่งให้เรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่ม แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้ทำให้บุตรหลานเข้าใจการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย มุ่งเน้นให้เด็กเรียนไวยากรณ์ ท่องศัพท์เพื่อให้รู้หน้าที่ของคำ แต่การเรียนคณิตศาสตร์จะมีศัพท์เฉพาะทาง เช่น perpendicular, denominator, parallel, numerator, reciprocal เป็นต้น กลายเป็นปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ดังนั้นการเลือกโรงเรียนนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาให้กับบุตรหลาน แต่หากเด็กเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว ควรช่วยเค้าให้ถูกทาง เลือกเรียน Singapore Math เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้แล้วเพื่อไม่ให้ปัญหาค่อยๆ พอกพูนจนไม่สามารถแก้ไขได้ ร่วมกับการที่เวลาที่สอนในโรงเรียนปกติ 8 วิชา เพิ่มอีก 3 วิชาโดยมีเวลาเรียนเท่าเดิม กลายเป็นว่าภาษาไทยก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ วิชาการอะไรก็ไม่ได้สักด้านเดียว……
Jun 19
สัปดาห์นี้เรามาคุยกันเรื่องการวางแผนการศึกษาของบุตรหลานกันดีกว่า การศึกษาของบ้านเรา (ไม่รวมถึงการศึกษาในแนวของโรงเรียนนานาชาติ) จะมีการแบ่งช่วงชั้นที่ชัดเจน ได้แก่ อนุบาล , ประถมศึกษา , มัธยมศึกษา และ อุดมศึกษา
หากแยกกันตามลักษณะการเรียนรู้ ก็มีทั้งแนวบูรณาการ แนวเร่งเรียน แต่ถ้าแยกตามความเข้มข้นทางด้านภาษาก็จะมี 2 แนวหลักๆ คือ แนวที่ยังเป็นแบบปกติ และแนวที่มีการเรียนเน้นภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยการเพิ่มวิชาเรียนได้แก่ Math , Social และ Science ซึ่งหลักๆ จะกล่าวถึงการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานจะเลือกแนวทางของภาษาเป็นหลัก
ในการปรับตัวของบุตรหลานที่เปลี่ยนแนวทางการศึกษาจะส่งผลกระทบกับตัวเด็กไม่มากนั้ก หากช่วงเวลาในการเปลี่ยนแนวการศึกษาไม่เกินประถมต้น แต่หากบุตรหลานต้องเปลี่ยนแนวในช่วงตั้งแต่ประถมปลายขึ้นไป การสอบแข่งขันจะยากขึ้น รวมถึงหากบุตรหลานได้รับคัดเลือกในการสอบ การปรับตัวในเรื่องการเรียนก็ยากไม่แพ้กัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากหากเด็กเรียนในแนวของการเรียนแบบสองภาษา เวลาที่จะเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะถูกแบ่งไปเรียน Math และ Science ทำให้ความเข้มข้นในเนื้อหาของ 2 วิชาดังกล่าวก็จะน้อยลงไปด้วย ส่วนเด็กที่ถูกเปลี่ยนแนวจากการเรียนในแบบปกติ มาเป็นแบบสองภาษา ก็ต้องปรับตัวในการเรียนเนื่องจากต้องมีการจำคำศํพท์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่นอกเหนือจากความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
หากเด็กๆ สามารถปรับตัวได้ การเรียนรู้ก็จะไม่มี่ปัญหาเกิดขึ้น แต่หากเด็กไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เขาไม่มีความสุขกับการเรียน จนถึงวันที่ต้องเข้าสู่สนามการสอบคัดเลือก อาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว หรือเสียค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติใน
ดังนั้น การศึกษาของบุตรหลานของท่าน ควรมีการวางแผนกันเป็นช่วงยาวๆ จะดีกว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึก เพราะเขาอาจจะแพ้สงครามเนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับม้าที่นำมาเปลี่ยน เมื่อเทียบกับม้าที่กรำศึกมาด้วยกันมานาน
ครูจา
Oct 28
Posted by malinee on Tuesday Oct 28, 2014 Under เกร็ดความรู้
หลังจากปิดภาคเรียนที่ 1 มา 3 สัปดาห์แล้ว ก็เข้าสู่ช่วงของการประกาศผลการสอบของภาคเรียนที่ผ่านมา อาจมีเด็กหลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวจากเด็กเล็ก (อนุบาล) ที่มีการเรียนไม่เข้มข้นนัก สู่การเรียนในชั้นประถม 1 ที่ต้องมีการเขียนอ่านกันอย่างขะมักเขม้น ต้องยอมรับว่าเด็กๆ ยังต้องการเวลาในการปรับตัวบ้าง แต่เด็กบางคนที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งให้กับสถาบันกวดวิชาต่างๆ ย่อมจะต้องคาดหวังว่าคะแนนสอบน่าจะดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ แต่บางครั้งผลสอบที่ออกมาก็ยังไม่น่าพอใจนัก มักมีคำถามว่าทำไมเราส่งบุตรหลานเรียนแล้วคะแนนยังไม่ดีขึ้น
ก่อนที่จะดูถึงผล เราลองมาย้อนดูที่ต้นเหตุของคะแนนที่ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก อาจเกิดจากความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาเรียนมีมากจนต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจำเป็นต้องให้เวลากับเด็กในการเรียนรู้วิธีการหรือเทคนิคที่จะได้จากสถาบันต่างๆ ให้เวลากับครูเพื่อที่จะถ่ายทอดเทคนิค หรือวิธีการต่างๆ ให้กับเด็ก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องให้เวลากับตัวเด็กและ ครูผู้มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้เวลากับบุตรหลานในการเรียนรู้ เด็กถูกย้ายที่เรียนบ่อยๆ กลายเป็นว่าต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้สิ่งที่ควรจะได้กลับกลายเป็นคว้าน้ำเหลวไป การส่งบุตรหลานเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนในแนววิชาการหรือกิจกรรม ควรให้เวลากับทั้งครูผู้สอน เพื่อถ่ายทอดความรู้ และเด็กๆ ที่จะต้องฝึกฝนวิธีการให้ชำนาญด้วยตัวของเขาเอง
ครูจา
Jul 20
หลังจากเปิดภาคเรียนกันมาระยะหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงของการเข้าสู่ฤดูสอบกลางภาค หลายๆ ครอบครัวจะเตรียมตัวบุตรหลานอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้เด็กๆ ได้ทบทวนบทเรียน ซึ่งในแต่ละครอบครัวก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน บางครอบครัว ก็จะปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้หรืออ่านหนังสือด้วยตนเอง แต่หลายๆ ครอบครัว พ่อแม่จะเป็นผู้ย่อยและคัดกรองเนื้อหาต่างๆ ให้กับบุตรหลาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนที่ดี
แนวทางแบบใดที่ดีกว่า หากมองกันจริงๆ การเรียนในบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ก็เหมือนกับการฝึกให้เด็กมีความมุมานะ พยายาม ในการแก้ปัญหา หากเพียงเรื่องเรียนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเด็กๆ ยังไม่สามารถที่จะทำได้ เราก็ต้องตั้งคำถามก่อนว่าเราจะสามารถช่วยเขาได้ถึงเมื่อไร และหลังจากที่เราไม่ช่วยเขาแล้ว เขาจะสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองเมื่อใด หากเป็นเช่นนี้ ทำไมเราไม่ใช้วิธีที่ค่อยๆ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ลองผิดลองถูก เหมือนกับการเดิน ก่อนการเดินเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะคืบ คลานและตั้งไข่ตามลำดับ คงไม่มีใครที่ไม่ผ่านกระบวนการดังกล่าวหรือข้ามขั้นใดขั้นหนึ่งไปได้ การเรียนก็เช่นกัน หากเราทำหน้าที่เป็นโค้ชที่คอยแนะนำ ให้กำลังใจ อยู่ข้างสนามเพื่อคอยชี้นำหรือแนะวิธีการที่ถูกต้องก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เขาได้มุมานะ พยายามด้วยความสามารถของตนเอง ไม่เคยมีโค้ชคนไหนเข้าไปเล่นแทนนักกีฬาเลย โค้ชมีหน้าที่เพียงชี้แนะและฝึกหัดให้มีข้อด้อย น้อยที่สุดเท่านั้น เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่คอบชี้แนะ ให้เขาได้ลองผิดลองถูกและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ซักวันเขาก็จะกลายเป็นนักเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดในที่สุด
ครูจา
Nov 27
Posted by malinee on Wednesday Nov 27, 2013 Under เกร็ดความรู้
ผู้ปกครองหลาย ๆ คน มีความเข้าใจว่าการเรียนจินตคณิตมีจุดประสงค์หลักคือการทำให้เด็กคิดเลขเร็ว
ใ
นความเป็นจริงนั้น การเรียนจินตคณิตนั้น เปรียบเหมือนเด็กที่กำลังหัดว่ายน้ำ หากเขามีโอกาสในการฝึกฝนให้มีการว่ายน้ำในท่าที่ถูกต้อง ส่วนเด็กที่ไม่ได้ฝึกฝนให้ถูกท่า จะต้องใช้แรงในการว่ายที่มากกว่า ซึ่งทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มสามารถว่ายน้ำได้ แต่เด็กที่ถูกฝึกให้ถูกท่าจะใช้แรงในการว่ายน้ำน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับจินตคณิต เปรียบได้กับเด็กที่ถูกฝึกว่ายน้ำให้ถูกท่า โดยเด็กจะสามารถมีความเข้าใจจำนวน คิดเลขเป็นระบบมากขึ้น และสร้างศักยภาพของสมองโดยการคิดเลขให้เป็นภาพอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
แต่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน มักคาดหวังว่าการเรียนจินตคณิตในระยะเวลาสั้น ๆ จะสามารถทำให้เด็กคิดเลขได้เร็วขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มักลืมไปว่าการทำงานในแต่ละอย่างให้สัมฤทธิ์ผลได้ดี ไม่ว่าจะอยู่วัยใดก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการฝึกให้เกิดทักษะก่อน ซึ่งการเรียนจินตคณิตก็เช่นกัน ในการจะทำให้ภาพเกิดในสมองซีกขวาได้นั้น ก็ต้องอาศัยเวลาและทักษะในการใช้ลูกคิดจนชำนาญเช่นกัน
จะเห็นว่าการเรียนจินตคณิตเป็นเรื่องเดียวกับการคิดเลขเร็วหากมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง แต่อาจเป็นหนังคนละม้วนสำหรับเด็กที่ไม่ใส่ใจในการฝึกฝนเลย ดังนั้นหากพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานเรียนจินตคณิต หรือการเรียนใด ๆ ก็ตาม ให้ประสบความสำเร็จ จะต้องให้บุตรหลานได้มีการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะ จนเป็นความชำนาญจึงจะสามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ได้
ครูจา
Apr 26
ในช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะปรับพื้นฐานในการเรียนให้แก่บุตรหลาน หลายครั้งที่ทางสถาบันได้รับสายจากทางผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานของตนมา หลาย ๆ คนที่กำลังจะขึ้นชั้น ป.2 แต่เมื่อถามความเป็นไปของตัวน้อง กลับพบว่า ปัญหาจริง ๆ ของเด็กในการเรียน คือการอ่าน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมุ่งแก้ไขปัญหาของน้องในแต่ละวิชา ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มักเป็นวิชาแรก ๆ ที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญ โดยลืมไปว่า การเรียนในทุก ๆ วิชาของบุตรหลาน ต้องเริ่มที่การอ่าน (ภาษาไทย) เป็นหลัก หากไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของการอ่าน ไม่ว่าจะส่งบุตรหลานเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย หรือนานเพียงใด ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์ ครูสามารถอ่านโจทย์ให้เด็กได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การที่ครูเป็นผู้อ่านให้เด็กฟัง เด็กจะมีความเข้าใจได้ แต่เมื่อเด็กต้องอ่านโจทย์เอง การเว้นวรรคตอนที่ผิด ทำให้การตีความผิดเช่นกัน ดังนั้นการที่ส่งเด็ก ๆ เรียนในวิชาต่าง ๆ โดยที่ตัวเด็กนั้นขาดทักษะด้านการอ่าน ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่บุตรหลานได้ เปรียบเสมือนการเกาไม่ถูกที่คันนั่นเอง
Mar 12
ในช่วงปิดภาคเรียน มักจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้ปกครอง ที่พาน้องเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่มักพูดกันเป็นแนวเดียวกันว่า ลูกหลานลืมง่าย ช่วงสอบที่มีการทบทวนให้ก็ทำคะแนนออกมาได้ดี แต่เมื่อผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ให้ลองย้อนกลับมาทำแบบฝึกหัดอีกครั้ง กลับพบว่าเสมือนไม่เคยเจอแบบฝึกหัดดังกล่าวมาเลย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากในช่วงของการสอบไม่ว่าจะเป็นกลางภาค หรือปลายภาค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้อ่านหนังสือ เพื่อย่อยหรือย่นย่อความรู้ต่าง ๆ แล้วป้อนเข้าสู่การท่องจำของเด็ก สิ่งที่เค้าได้จึงเป็นเพียงตัวเลขในสมุดพกที่เป็นที่น่าพอใจของผู้ปกครอง แต่เมื่อทดสอบความรู้ที่ผ่านมา มันเปรียบเหมือนน้ำซัดหาดทรายที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ซักเท่าไร หากเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันที่เขาต้องสอบแข่งขัน ซึ่งงจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานในหลายวิชาที่ได้เรียนมา จะมีความรู้สึกว่าทำไมสิ่งที่บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลา มันได้อัตรธานหายไปหมดหลังจากที่เขาเดินออกจากห้องสอบนั้นเอง หากเรายังคงเป็นผู้ย่อยความรู้ และให้เขารับผิดชอบเพียงแค่ท่องจำในสิ่งที่ครูมีหัวข้อมาให้ ก็คงจะต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาตอนสอบแข่งขันแน่นอน
Jan 17
Posted by malinee on Thursday Jan 17, 2013 Under เกร็ดความรู้
ในช่วงปลายของแต่ละปีการศึกษา ก็จะมีการสอบเข้า หรือสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้า ป.1 หรือ การสอบเข้า ม. 1 แต่การที่คุณพ่อ คุณแม่จะสมัครสอบในโรงเรียนใด ก็ควรจะศึกษา ทำความเข้าใจกับการเลือกโรงเรียนในแต่ละแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับเจ้าตัวน้อยที่พร้อมที่จะเติบโตในสังคมของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
จากวิวัฒนาการของโลกไร้พรมแดน ซึ่งมีผลทำให้การติดต่อสื่อสาร การคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการโอนถ่ายทั้งสินค้า และบริการกันอย่างกว้างขวาง การศึกษาจึงมีทางเลือก หรือมีความหลายหลายมากขึ้นกว่าอดีตมาก ด้วยเหตุนี้เองทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะให้ความสำคัญกับการเลือกโรงเรียนในข่วงปฐมวัยให้มีความเหมาะสมกับบุตรหลาน เพื่อความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย และเวลาให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีใครสามารถบอกเราได้ว่า แนวการเรียนนี้เหมาะกับใครได้เท่ากับ การสังเกตดูพฤติกรรมการเล่นของลูกตั้งแต่อยู่ที่บ้าน หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการเลือกโรงเรียนให้กับลูกไม่ได้มีผลอะไรกับการเรียนรู้ของเด็ก แต่ในความเป็นจริงนั้น เด็กแต่ละคนจะมีวิธีการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่นเด็กบางคนเหมาะกับการเรียนผ่านการเล่น ซึ่งเค้ามักเรียนรู้ช้าหากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับ แต่เด็กหลายคนก็สามารถทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำได้ โดยไม่รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ หรือเครียด ด้วยเหตุนี้อาจทำให้เด็กหลาย ๆ คน เรียนในโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องการให้เรียน มากกว่าความเหมาะสมของการเรียนรู้ของเขา จึงทำให้เมื่อโตขึ้นอาจเกิดการสะสมปัญหาของการเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย
ครูจา
Nov 27
ในยุคก่อน ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คุณปู่ คุณย่าของเด็กในยุคปัจจุบัน หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า คนในรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก แต่เขาเหล่านั้นก็มีอยู่หลายครอบครัวที่สามารถก่ร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยในรุ่นต่อมา
กลับกันในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้กระทั่งชุดนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้แนวโน้มของความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และน่าจะรวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนไม่สอดคล้องกัน (จำนวนเด็กมากเกินกว่าที่ครูจะสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน) ประกอยกับความพร้อมของเด็กแต่ละคน ร่วมกับปัจจัยหลักนั่นคือ ความเอาใจใส่ ดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กบางส่วน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือบทเรียนในแต่ละเรื่อง หากจะให้พ่อแม่ช่วยอธิบาย พวกท่านก็ไม่มีเวลา หรือพ่อแม่บางกลุ่มก็จะปฏิเสธที่จะสอนลูก เพียงเพราะว่าตนเองมีพื้นฐานทางวิชาการไม่ดี ครั้นจะไปถามครู ครูก็ดูน่ากลัวเกินกว่าที่จะเข้าใกล้ประชิดตัว
ปัญหาในกลุ่มเด็กดังกล่าวมักเกิดกับคนในสังคมที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน ส่วยในกลุ่มที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ตนเองจะพยายามทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่ตนเองได้ผ่านมาแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมจะถ่างออกไปเรื่อย ๆ โอกาสทางสังคมที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ก็เปรียบเสมือนอากาศที่ลองลอยไปโดยไม่มีใครใส่ใจ และมองเห็นมันอย่างไร้ค่า เช่นเดียวกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้ตนเอง เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต