จากประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย เรามักพบว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้นมักได้รับการชื่นชมว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่คิดนอกกรอบ ซึ่งหากเราสืบค้นกันจริงจังแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จโดยการคิดนอกกรอบเหล่านั้น ต้องตรากตรำ ค้นคว้า หาข้อมูล จนกระทั่งทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการเปลี่ยนสมมติฐานจากสิ่งที่คิดเดิมแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้บทสรุป หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้ากันเป็นเวลานาน

หลาย ๆ คนจึงคิดว่า การเลี้ยงดูเด็ก ไม่ควรจำกัดกรอบ หรือวิธีคิด หรือการคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดในสมัยเก่า ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีการศึกษาอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เด็กในรุ่นใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีวิธีคิดที่น่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง หากใครได้สัมผัสกับวิวัฒนาการของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักเห็นผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกระตือรือร้น ซึ่งนั่นหมายถึงความไม่พยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง  ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากทดลองที่มีความสลับซับซ้อน ต้องการสิ่งที่ได้มาง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือความพยายามใด ๆ  ………… น่าคิดว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

นักวิชาการหลาย ๆ คนกล่าวว่า การคิดนอกกรอบนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอ่านมาก ฟังมาก และรู้มาก  ซึ่งกว่าจะรู้มากก็ต้องฝึกให้ทักษะต่าง ๆ ทั้งการอ่านมาก คิดมาก ฟังให้มาก นั้นจะต้องผ่านกรอบของการฝึกฝนก่อน กระบวนการในการคิดนอกกรอบจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่คิดจากมุมที่ต่างไปจากเดิม (นั่นคือเราต้องมีความคิดเดิมของเราอยู่) , การคิดให้มีความหลายหลาย เหมือนการคิดแบบหมวก 6 ใบ (ซึ่งก็ต้องศึกษาก่อนและฝึกคิดเมื่อใส่หมวกแต่ละใบว่ามีแนวคิดอย่างไร) หรือประเด็นสุดท้ายคือคิดตรงข้ามกับความคิดเดิม (ยังไงก็ยังคงต้องมิความคิดเดิมอยู่ก่อน)

จะเห็นได้ว่า การคิดนอกกรอบนั้น เราสามารถที่จะฝึกให้เด็กคิดได้ ด้วยการที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการศึกษาข้อมูล อย่างถ่องแท้ หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือวิธีการอย่างจริงจัง อาจตกหลุมพรางของคำว่า “นอกกรอบ” กลายเป็น “การไร้วินัย”  ซึ่งมีหลายครอบครัวไม่สามารถแยกคำทั้งสองออกจากันได้

ครู จา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments