Jun 12
แนวโน้มเด็กไทยในยุคสังคมก้มหน้า เนื่องจากหลายๆ ครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยาย เด็กกลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัว อยู่กับลุง ป้า น้า อา ทุกคนจะแห่แหนกันดูแล เอาใจเด็กอยากได้อะไรก็ต้องได้ อยากทำอะไรก็ได้ในบ้าน ซึ่งเกินความพอดี จนบ่มเพาะนิสัยที่เฉื่อย เหม่อลอย เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีความพยายามหรือกระตือรือร้นในการทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง เขาจะไม่มีการลองผิดลองถูก ไม่มีประสบการณ์ของความล้มเหลว รวมไปถึงไม่มีประสบการณ์ของความสำเร็จด้วยเช่นกัน เนื่องจากการทำอะไรก็ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่ดาบสองคม แต่เป็นดาบเพียงด้านเดียวที่ทำร้ายเด็กโดยตรง เนื่องจากเด็กๆ จะไม่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกอย่างที่รู้เกิดจากการป้อนข้อมูลที่สำเร็จแล้วทั้งสิ้น ไม่มีการคิดวิเคราะห์เหตุผล ไม่มีการฝึกทักษะทางด้านการควบคุมอารมณ์ เนื่องจากทุกอย่างที่ได้มา ได้มาอย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอย ขาดการฝึกทักษะด้านการเข้าสังคม เด็กกลุ่มนี้จะมีเพื่อนช้า หรืออาจไม่มีเลย ไม่ถูกฝึกให้รู้จักความผิดหวัง และสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ข้างต้นจะส่งผลแย่ลงอย่างรวดเร็วถ้ามีตัวกระตุ้นจากการส่งเทคโนโลยีให้กับเขาเหล่านั้น หากไม่ต้องการทำร้ายบุตรหลานที่เรารัก เราจำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้เค้ามีความทักษะรอบด้าน ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้รู้จักการรอคอย รู้จักความผิดหวัง รู้จักใช้เหตุและผล ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านจออย่างแท๊ปเล็ค มือถือ หรือทีวี ที่ได้แต่ความพึงพอใจของเด็กเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ครูจา
Jul 26
ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ๆ หลายๆคนจะสังเกตเห็นแนวโน้มพฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ว่า เด็กส่วนใหญ่จะต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ ต้องให้มีผู้ดูแลคอยจี้ หรือกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งที่ตนเองทำได้นานนัก ซึ่งเราสามารถแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เด็กบางกลุ่มจะไม่สามารถนั่งนิ่งได้นานๆ กับอีกประเภทคือเด็กที่นั่งอยู่นิ่งนานจนผิดปกติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขามีสมาธิอยู่กับงานที่ทำ แต่เป็นอาการลอย ไม่มีสมาธิกับอะไรเลย เด็กทั้งสองกลุ่มดังกล่าวหากต้องทำงานที่ต้องใช้สมาธิ จะต้องมีคนคอยช่วยจี้ เพื่อกระตุ้นสมาธิให้อยู่กับงานที่ทำตลอดเวลา
เราลองมาย้อนดูสาเหตุของการต้องการการประกบดูแล หรือต้องคอยจี้อยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักเกิดจากในวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ควรพาออกไปสู่การกระตุ้นให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ร่วมกับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ให้มีความแข็งแรง แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เด็กๆ มักถูกละเลย โดยการให้ทีวี เกมส์ หรือแท็บเล็ต เป็นผู้ช่วย หรือพี่เลี้ยง แทนที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็เหลือเพียง ตา กับ นิ้วเล็กๆ เพียงนิ้วเดียวเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้การฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสอีก 4 ด้านก็ไม่พัฒนา อีกทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็ไม่แข็งแรง นอกจากนี้แล้ว เด็กๆ มักใจจดใจจ่อกับเกมส์ จนกลายเป็นเด็กที่ขาดสมาธิ ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า ได้ง่าย เป็นเหตุให้การเรียนในโรงเรียนที่กลุ่มใหญ่ขึ้นเมื่อโตขึ้น โดยที่ครูผู้สอนเริ่มประกบ หรือจี้น้อยลง จะทำให้ผลการเรียนไม่ค่อยดีนัก
ด้วยสาเหตุดังกล่าว การเลี้ยงดูบุตรหลานควรจะต้องมีกรอบ เช่นการมีกติกาในเรื่องของเวลา เพื่อไม่ให้เด็กๆ หลุดไปอยู่ในโลกจินตนาการที่ดึงเขาเหล่านั้นออกมายาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ในที่สุด
ครูจา
Jan 04
สังเกตไหม ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมที่ทดถอย ในช่วงวันหยุดยาวๆ เคยสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือไม่ว่าในช่วงที่เป็นช่วงวันหยุดยาวเช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือ สงกรานต์ หรือรวมถึงช่วงปิดเทอม ว่าพฤติกรรมการเรียน หรือพฤติกรรมโดยรวมทดถอยลง จากเด็กที่เคยมีสมาธิดี ร่าเริ่ง กลับกลายเป็นเด็กที่มีสมาธิน้อยลงเรื่อยๆ หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักโดยทั่วไปที่ส่งผลให้เด็กๆ มีพฤติกรรมดังกล่าวคือการที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ถือว่าเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนทั้งของตนเองและบุตรหลาน จึงปล่อยเวลาให้เด็กๆ อยู่กับกรอบสี่เหลี่ยมประเภท จอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์มาก จนเด็กๆ ไม่สนใจกับการทำกิจกรรมอื่นๆ การเสพจอสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้มีการจำกัดเวลา หรือมีกรอบของเวลาไว้ เด็กหลายๆ คนสมาธิก็เสียไปกับมันเลยทีเดียว จากเด็กที่เคยมีสมาธิ อยู่กับอะไรได้นานๆ สมาธิก็จะลดลงจนในที่สุด ก็อาจส่งผลให้เกิดสมาธิสั้นเนื่องจากการเลี้ยงดูในที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตพฤติกรรมที่ทดถอยของบุตรหลานได้ตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ก็ยังพอสามารถที่จะหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ในยุคของเทคโนโลยี ที่ทุกคนต่างเร่งรีบในทุกกิจกรรม ยากนักที่จะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ในช่วงต้นๆ และเด็กๆ จะถูกละเลย จนปัญหาเรื่องสมาธิแก้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นปัญหาใหญ่จนแก้ไม่ได้ เพียงแต่ยิ่งปล่อยให้เวลานานเท่าไร ปัญหายิ่งทับถมทวีคูณ จนไม่ใช่เป็นปัญหาเพียงปัญหาเดียว อาจมีปัญหาอื่นซ้อนขึ้นมาได้ การแก้ปัญหาทำได้โดยการมีกรอบเรื่องเงื่อนของเวลามาเป็นเกณฑ์ ไม่ควรปล่อยให้เขามีกิจกรรมอยู่กับจอสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว ควรมีกิจกรรมที่เสิรมทักษะที่เหมาะกับวัย เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มากกกว่าการนั่งจ้องเจ้าจอสี่เหลี่ยมไปตลอดวัน มาช่วยกันใส่กรอบให้กับเด็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เรื่องวินัยไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ครูจา
Jun 29
เคยลองนึกภาพไหม ว่าเราจะสารถทำงานท่ามกลางผับหรือสถานบันเทิงที่มีสิ่งเร้ามากมาย หลายๆ คนคงคิดว่าใครจะไปเพี้ยนนั่งทำงานในสถานที่แบบนั้น หากลองนึกกันดูดีๆ การดูแลเด็กในปัจจุบันก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน หลายๆ ครั้งที่เด็กต้องนั่งทำการบ้านท่ามกลางสิ่งเร้า เช่น ทีวี หรือเกมส์ อย่าว่าแต่เด็กๆ จะไม่สามารถจัดการกับสมาธิของตนเองเลย ถึงเป็นผู้ใหญ่เองที่มีวุฒิภาวะ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมสมาธิของตนให้อยู่กับงานได้ตลอดเวลาการทำงาน ท่ามกลางสิ่งเร้าต่างๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน
ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีความเอาใจใส่บุตรหลาน เราควรสร้างวินัยเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับตัวผู้ปกครองเองก่อน ไม่ให้สิ่งเร้าต่างๆ อยู่ใกล้ หรืออยู่ในระยะสายตาของเขาที่เขาจะวอกแวกมาได้ และการสร้างวินัยในบ้าน ควรจะเป็นวินัยของทั้งครอบครัว ไม่ใช่ว่าเพียงแค่พ่อ หรือแม่เท่านั้น เมื่อคุณสร้างวินัยกับตัวเองแล้ว นอกจากประโยชน์ในเรื่องของสมาธิจะเกิดกับตัวเด็กๆ แล้ว ยังส่งผลให้เด็กในด้านวินัยอีกด้วย นั่นคือเมื่อเขาเห็นวินัยในบ้าน (ที่มีการจัดระเบียบเรื่องของการสันทนาการในบ้านให้เป็นเวลา) ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่เขาจะจัดเวลาสันทนาการได้อย่างมีระบบระเบียบเช่นกัน
หากเรามัวแต่ห่วงกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพียงชั่วขณะ มันอาจเป็นสัญญาณอันตรายทั้งในแง่ของการเรียนรู้ สมาธิ และ ระเบียบวินัยของเด็กให้เสียไปในที่สุด
ครูจา
Apr 01
ในช่วงของการปิดภาคเรียนแต่ละครั้งนั้น หลายๆ ครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว มักส่งบุตรหลานเรียนภาคฤดูร้อนกับทางโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้มีการทบทวนบทเรียนเก่า พร้อมกับการเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้า ในขณะที่บางครอบครัวที่มีญาติผู้ใหญ่อยู่บ้าน อาจเลือกให้เด็กอยู่บ้าน เพื่อให้เด็กได้พักในช่วงปิดภาคเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นนี้ที่แตกต่างจากรุ่นที่เมื่อพ่อแม่ยังเด็กคือ ในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ยังเด็กนั้น มักมีคุณยาย ซึ่งเป็นแม่บ้านสามารถดูแลบุตรหลานที่บ้านได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานเข้าเรียน ทำให้เด็กๆ มีกลุ่มการเล่นในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้จากประสบการณ์จากรุ่นพี่ รุ่นน้อง เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่รู้ตัว
แต่เด็กรุ่นใหม่ ครอบครัวส่วนใหญ่ทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านจึงให้บุตรหลานอยู่กับผู้ใหญ่ (คุณตา คุณยาย หรือ คุณปู่ คุณย่า) พร้อมกับเกมส์หรือทีวีที่บ้าน ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า ความแตกต่างของวัยที่ต่างกันถึง 2 รุ่นนั้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยอย่างชัดเจน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ที่น้อยลงเนื่องจากความไม่เข้าใจ และความต้องการลดความขัดแย้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร ก็คือ เด็กๆ ถูกปล่อยให้อยู่กับเกมส์หรือทีวี ตลอดช่วงเช้าจรดเย็น ตลอดระยะเวลาช่วงปิดภาคเรียน ผลที่ตามมาคือ การบ่มเพาะนิสัย ที่เกิดขึ้น 2 แบบคือ เด็กไม่มีสมาธิในการทำงานใด ๆ เนื่องจากสมาธิที่เสียไปกับการจดจ่อกับเกมส์หรือทีวีมากจนเกินไป อีกกรณืคือ เด็กอาจเป็นเด็กที่ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่สามารถจดจ่อทำอะไรให้สำเร็จลุล่วง ปัญหาดังกล่าวนี้ พ่อแม่มักหาวิธีแก้ไข โดยการหากิจกรรมให้บุตรหลานเรียน เพื่อเพิ่มสมาธิ ต้องการให้เด็กนิ่งขึ้น สำหรับกรณีแรก ส่วนกรณีที่เด็กไม่มีความกระตือรือร้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจสังเกตได้ช้ากว่า เนื่องจากเด็กจะดูนิ่ง (ไปเลย)
สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หากถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัยของเด็กแล้ว เป็นสิ่งที่แก้ยาก หากแต่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับพฤติกรรมได้บ้าง จากการแยกสื่อ และเกมส์ออกจากเด็กให้ได้มากที่สุด แล้วจึงหากิจกรรมเพื่อเสริม เมื่อเด็กทำกิจกรรม ก็จะมีสมาธิ หรือจดจ่อ ในการทำกิจกรรมอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ และจะเพิ่มสมาธิมากขึ้น เมื่อกิจกรรมดังกล่าวนั้นยากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ครูจา
Jun 04
จากกระแสที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูตอนนี้ นั่นก็คือ รายการไทยแลนด์ ก๊อต ทาเลนท์ 2013 ที่มีการออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการสัญญาณหลาย ๆ อย่างมายังสังคม หากกรณีนี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช่เจตนาของผู้จัดรายการ ก็สามารถสื่อให้เห็นได้ว่า สังคมไทยมันอยู่ในช่วงขาลงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มันเป็นสัญญาณของบ่งบอกถึงทัศนคติการดูแล เอาใจใส่ หรือ การเลี้ยงดู แต่สิ่งที่บ่งบอกชัดเจนคือ ผู้จัดรายการใช้สื่อโดยไม่นึกถึงผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากรายการนี้เป็นรายการที่สามารถตัดต่อเทปได้ แต่ทางผู้จัดก็ไม่คิดจะตัดตอนนี้ออกไป อีกทั้งรายการนี้เป็นรายการในช่วงเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักอยู่หน้าจอทีวี แต่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ในการสร้างกระแสเพื่อให้รายการเป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ปกครองหลาย ๆ คนที่ปล่อยเด็ก ๆ ไว้หน้าทีวี โดยการเลือกช่วงเวลาของเด็ก ๆ ควรจะอยู่หน้าจอทีวี (ที่ผู้จัดรายการขาดสำนึกผู้รับผิดชอบต่อสังคม) ผู้ปกครองควรจะอยู่กับบุตรหลานเพื่อคอยชี้แนะ ทั้งในสิ่งที่ดี และสิ่งที่ไม่ดี เนื่องจากเด็ก ๆ ยังไม่สามารถเลือกเสพแต่รายการดี ๆ ได้ด้วยตนเอง
Apr 05
สมัยก่อนมักมีคำพูดดังกล่าวเสมอว่า หลังจากดูละครแล้ว ให้ลองย้อนกลับมาดูตัวเรา เพื่อให้เราได้พิจารณาว่าเราเป็นเสมือนหนึ่งตัวแสดงในละครหรือไม่ แต่ในปัจจุบันนี้กลุ่มของผู้ดูละคร อายุเฉลี่ยลดลงเรื่อย ๆ นั่นหมายความถึงความสามารถในการกลั่นกรอง พิจารณาข้อมูลก็น้อยลง ในขณะที่ละครไทยในปัจจุบันมีความรุนแรง ก้าวร้าว และการแต่งตัวที่แสดงออกในเรื่องเพศมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มักมีผลในเชิงลบกับกลุ่มเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เมื่อเทียบกับการดูละครในเรื่องเดียวกัน อาจเป็นเพราะในละครไทยส่วนใหญ่ปัจจุบัน นักแสดงนำที่สวมบทนางร้ายมีมากกว่า หรือแม้กระทั่งตัวนางเอกเอง บุคลิกในปัจจุบันมักเป็นผู้หญิงเปรี้ยว มีความมั่นใจในตัวเอง มีบุคลิกในแนวตาต่อตา ฟันต่อฟัน มากกว่านางเอกที่เป็นผู้หญิงเรียบร้อยเหมือนในอดีต ซึ่งส่งผลให้เด็กที่ขาดวิจารณญาณ หรือการดูละครร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่คอยชี้แนะในสิ่งที่ดี และไม่ดี แต่เป็นการดูละครเพียงลำพัง ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ทันตั้งตัว หรือแม้กระทั่งตัวประกอบที่มีบุคลิกก้ำกึ่งมีอยู่ในละครทุก ๆ เรื่อง จุดประสงค์เพื่อให้ละครมีสีสัน ความสนุกมากขึ้น เด็กผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มเสียงที่มีความต้องการได้รับความสนใจ ก็อาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเมื่อโตขึ้นได้
จากบทความข้างต้น ไม่ใช่ว่าละครจะมีเพียงแต่ผลกระทบเชิงลบ พ่อแมผู้ปกครองสามารถใช้ละครในเชิงสร้างสรรค์ได้ โดยการมีส่วนร่วมในการดูหนัง หรือละคร แล้วให้คำแนะนำ หรือชี้แนะให้เห็นถึงสาระของเน้อเรื่องว่า ละครดังกล่าวต้องการสื่ออะไรให้กับผู้ชม เช่น การสอนในเรื่องของการทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว หรือหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการอยู่ร่วมกับเขาในช่วงเวลาของทีวี ก็ควรหลีกเลี่ยงละครเสียจะดีกว่า
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
May 25
Posted by malinee on Wednesday May 25, 2011 Under เกร็ดความรู้
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือยุคที่เราเรียกกันว่า Globalization ซึ่งมันทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ชีวิตในแบบที่เป็นคนไทยก็เปลี่ยนแปลงไป ร้อยละ 70 – 80 ของครอบครัวในยุคปัจจุบัน พ่อและแม่จะต้องทำงานนอกบ้าน แล้วปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยง ในช่วงก่อนวัยเรียน แต่เมื่อโตขึ้น บทบาทของพี่เลี้ยงก็จะน้อยลง ตัวเด่นในวัยเรียนในยุคปัจจุบันมักเป็นทีวี อินเตอร์เน็ท และ เกมส์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมีการเลือกใช้หรือกำหนดเวลาก็จะเป็นประโยชน์ แต่หลาย ๆ ครอบครัวที่ให้สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นมักไม่มีเวลาในการเลือก ถือว่ามันเป็นตัวฆ่าเวลาให้อยู่เป็นเพื่อนลูก ซึ่งแฝงไว้ด้วยความก้าวร้าว จึงทำให้มีงานวิจัยหรือผลสำรวจมากมายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวว่า เด็กไทยไอคิวต่ำ และทำให้แนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ เป็นเด็กที่ไม่มีความอดทนกับการรอคอย ไม่พยายามทำในสิ่งที่ยาก หรือต้องใช้ความสามารถ รวมถึงขาดสมาธิในการเรียน เป็นเหตุให้เด็กไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่พยายามฝึกฝนในการฝ่าฝันอุปสรรค ไม่มีทักษะในการแก้ปัญหา
ถ้าเด็กในวัยเรียนยังไม่มีความพยายามในการเรียน แล้วเมื่อไหร่เขาเหล่านั้นจะพร้อมที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมที่จะดูแลรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัวและสังคม ดังนั้นหยุดทำร้ายเขาด้วยการหยิบยื่นสิ่งมอมเมาหรือ สิ่งเร้าในวัยที่เขายังไร้เดียงสา ยังไม่รู้จักเลือกสิ่งที่ควรและไม่ควร ก่อนที่จะทำลายอนาคตของเขาไปชั่วนิรันดร์
Feb 17
Posted by malinee on Thursday Feb 17, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากหนังสือเรื่อง ‘Don’t Give Me That Attitude’ โดย Dr. Michele Borba เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของ พฤติกรรมเด็กในปัจจุบัน โดยมีการจำแนกประเภทของทัศนคติที่แย่ลงของเด็กตามกลุ่ม คือ หยาบคาย , ขี้เกียจ , ไม่ใส่ใจในเรื่องการเรียน
ก่อนอื่นมาดูสาเหตุก่อนว่า ทำไมในปัจจุบันเราจึงพบพฤติกรรมดังกล่าวมากขึ้น ประการแรก ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้นมากมายที่มีผลต่อพฤติกรรม คือ สื่อ ซึ่งสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน มักจะแฝงความก้าวร้าว หยาบคาย การแก่งแย่ง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม ประการที่สอง คือ เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนในปัจจุบันได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่กลับทำให้เกิดขีดจำกัดในเรื่องของความอดทน การรอคอย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเร่งรีบในทุก ๆ เรื่อง อย่างในบางเรื่องที่ควรฝึกฝนเด็กเพื่อให้เกิดนิสัย หรือวินัย ก็ถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะทำให้เด็กเองโดยคิดว่าจะได้ไม่เสียเวลาเพราะผู้ใหญ่สามารถทำให้เด็กแล้วใช้เวลาน้อยกว่า จนเด็กไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรด้วยตนเอง แม้แต่เรื่องง่าย ๆ เช่น การวางเสื้อผ้าในตะกร้าที่จะซัก
จากสาเหตุหรืออิทธิพลต่าง ๆ จึงกลายเป็นการสร้างนิสัย หรือ พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เมื่อเขาโตขึ้น ดังนั้นหากเราคิดจะแก้ปัญหาต่าง ๆ เราควรเริ่มที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันฝึกหรือปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก
จาก Ezine.com