Apr 25
Posted by malinee on Thursday Apr 25, 2019 Under เกร็ดความรู้
ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย
ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก
แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง
การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ
จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ
ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว
ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย
แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค) , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต)
และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน
มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน
ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน
ซึ่งต้องใช้เวลา 1
ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น
จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่
เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ
สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา
หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง
จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ
เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่
ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ
ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ
หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ
อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล
เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้
แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนไม่สามารถแก้ไขได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง
ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า
โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า
หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น
Apr 18
Posted by malinee on Thursday Apr 18, 2019 Under เกร็ดความรู้
พูดถึงวิชาคณิตศาสตร์แล้ว เด็กๆ หลายคนไม่ชอบเท่าไรนัก แต่มันเป็นหนึ่งในวิชาหลักที่พวกเค้าจะต้องเรียนไปจนกว่าจะจบมัธยมต้น แต่กลับกลุ่มเด็กอีกหลายๆ คนที่เป็นกลุ่มของเด็กที่เรียกว่ามี sense ทางคณิตศาสตร์จะวิ่งเข้าใส่ ไม่ว่าโจทย์จะพลิกแพลงยังไง รูปแบบไหน เขาเหล่านี้ไม่เคยถอย คณิตศาสตร์เป็นอาหารสมองอันโอชะของเขาเหล่านั้น จากสถิติหลายๆ สำนักมักพบว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์ดี จะมีคะแนนวิทยาศาสตร์ดีด้วยเช่นกัน เด็กในกลุ่มนี้จะมีความโดดเด่นในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน มากกว่าเด็กปกติ โดยปกติเราจะพบเด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่มากนัก
สอนเด็กที่ไม่มี sense คณิตศาสตร์ให้มี sense ได้หรือไม่ ต้องบอกก่อนว่าการที่บุตรหลานของเราไม่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ทำให้เค้าเกิดทัศนคติทางด้านลบกับคณิตศาสตร์ ค่อยๆ
ให้เค้าได้เรียนรู้คณิตศาสตร์รอบตัวผ่านประสบการณ์จริง ถึงแม้เด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์หากเจอครูที่ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เสียไป
ก็อาจจะทำให้เขาเสียเวลาอยู่นานกว่าจะค้นพบตัวตนของตัวเอง
การฝึกฝนเป็นวิธีหนึ่งที่เพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ ทุกคน
ยิ่งฝึกมากความถนัดหรือทักษะก็มากขึ้นตามไปด้วย อาจจะจริงที่คนที่ไม่มี sense อาจต้องใช้เวลามากกว่า หรือแบบฝึกหัดที่มากกว่า
แต่เราก็สามารถฝึกให้เด็กทุกคนมีกระบวนการคิดให้เป็นระบบ
อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่ากังวลว่าบุตรหลานจะสู้กับเด็กคนอื่นไม่ได้
ความถนัดของคนแต่ละคนแตกต่างกัน คนทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน
หรือเก่งเท่ากัน สิ่งที่สำคัญคือ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่เปรียบเทียบบุตรหลานของตนเองกับเพื่อนคนอื่นๆ
มันเป็นเหมือนดาบ 2 คม ถ้าเค้าอยู่แนวหน้าของห้อง
เขาจะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่หากเค้าอยู่แนวกลางค่อนหลัง
เค้าจะรู้สึกว่าเขาสู้ใครไม่ได้ และไม่มีความภูมิใจในตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ
สร้างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก) หากเขาถูกทำลายด้วยคะแนน หรือวิชาที่เขาไม่ชอบ
เขาจะไม่มีทางค้นหาตัวเองเจอ ว่าเขาทำอะไรได้ดี ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำได้คือ
การให้กำลังใจในสิ่งที่เค้าทำเต็มที่ โดยไม่ควรคำนึงถึงผลว่ามันจะออกมาอย่างไร
และคอยสังเกตในสิ่งที่เขาทำได้ดี และส่งเสริมทางด้านนั้นๆ (ไม่ใช่เกมส์ online) เพราะในกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
เช่น เสื้อจะต้องมีทั้ง designer
, ช่างตัด , ช่างปัก
ซึ่งในแต่ละทีมไม่ได้ใช้พนักงานคนเดียวกันทำเลยแม้แต่อย่างเดียว
เพราะฉนั้นความถนัดหรือความชอบ ของเด็กแต่ละคน มันคือ sense ในแต่ละด้านที่เค้ามีแตกต่างกันไปเพียงเท่านั้นเอง…..
Mar 25
free math clipart image 520 best math book clipart free for math books clipart Top 30 math books clipart High Quality – PNG photo images free clipart download
คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นยาขม
อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ปกครองเองในวัยที่ตนเองเป็นเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
หากมาพิจารณาคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงวัย
เราก็สามารถจะแก้ปัญหาให้กับบุตรหลานได้อย่างถูกจุดได้อย่างไม่ยากนัก เรามาดูวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยจะได้ส่งเสริมทักษะและพัฒนาการได้อย่างถูกต้องดังนี้
-เด็กในวัยอนุบาล
เป็นช่วงที่เรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เชื่อมโยงหน้าตา (ภาษาๆ ใหม่ของเด็กๆ) กับจำนวน และต่อยอดไปในเรื่องของค่าที่มากกว่า น้อยกว่า
การนับเพิ่ม นับลด ซึ่งใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ
กับการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้
คือทัศนคติกับการเรียน ครูผู้สอนมีผลที่สุดกับทัศนคติในการเรียนของเด็ก
-เด็กในวัยประถมต้น
สิ่งที่จำเป็นในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร
เด็กๆ จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องค่าประจำหลัก เพื่อให้เข้าใจการทดเลขเมื่อบวกเกิน
หรือการลบเลขแบบขอยืม ฝึกทักษะของการบวก ลบ จนคล่อง
ต่อจากนั้นควรเข้าใจถึงทฤษฏีพื้นฐานของการคูณ การหาร ซึ่งการท่องสูตรคูณ
ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงนี้ (ทางบ้านต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลักดันให้เด็กท่องสูตรคูณให้ได้)
-เด็กในวัยประถมปลาย
จะมีการเรียนรู้ลำดับขั้นปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ เรขาคณิต และการแก้สมการ
(ในชั้น ป.6) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความจำ(สูตร)ต่างๆ
รวมไปถึงการประยุกต์การแก้ไขปัญหาโจทย์ปัญหาที่มีการรวมเนื้อหาหลายๆ เรื่องให้เด็กๆ
ได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่สำคัญในวัยนี้
จะเป็นเรื่องของความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการตีความโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง
-เด็กในวัยมัธยม
การเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้จะเรียนในแบบที่ใช้ความรู้เดิมไม่เกิน 30% และจะเป็นความรู้ในแนวศาสตร์จริงๆ (Pure Mate) เด็กหลายๆ คนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มักเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้เสมอ
เนื่องจากการเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเลย แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ระดับนี้เป็นการเรียนที่ต้องใช้ในการต่อยอดเพื่อใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อด้วย
ดังนั้น
ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในแต่ละวัยของเด็กๆ นั้น
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตามติดการเรียนของบุตรหลาน
ก็จะได้แก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที และถูกจุด
เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานอยู่ในประถมปลายซึ่งมีปัญหาทางคณิตศาสตร์
มักคิดว่าปัญหาเกิดจากการคิดคำนวณ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปัญหาของเด็กประถมปลายเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์
โดยที่การวิเคราะห์โจทย์ผิดพลาด ส่งผลให้การคำนวณพลาดไปด้วย
ซึ่งการคำนวณพลาดเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น
ดังนั้นปัญหาคณิตศาสตร์แต่ละช่วงวัยควรแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้เด็กได้เรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีเข้าใจ
Jan 08
จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย
หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย
จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป
อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป
Apr 23
จากในบทความที่เคยกล่าวมาแล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมนั้นเป็นการเรียนที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้ จากการเรียนผ่านประสบการณ์รอบๆ ตัว เช่น การเรียนเรื่องเงิน การชั่ง ตวง วัด เป็นต้น ซึ่งการเรียนในระดับประถมนั้น จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนในระดับมัธยมต่อไป
การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมจะเริ่มเป็นการเรียนในลักษณะที่เป็นศาสตร์มากขึ้น เช่น พหุนาม เลขยกกำลัง กรณฑ์ เป็นต้น แต่การเรียนในระดับมัธยมนั้นจะต้องอาศัยพื้นฐานที่ดีในระดับประถม เปรียบเสมือนโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง หากมีฐานที่ไม่แข็งแรง สิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมไม่สามารถสร้างให้สูงได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการเรียนคณิตศาสตร์ หากมีพื้นฐานไม่ดีตั้งแต่ประถม เขาไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติที่ดีกับการเรียน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เด็กๆ ต่อต้านการเรียนคณิตศาสตร์เกิดเนื่องมาจาก การปิดสัญญาณในการเรียน นั่นหมายความถึงการปิดโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาของความไม่เข้าใจ เมื่อบวกรวมกับสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเอง ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับคะแนนหรือเกรดที่ออกมา ทำให้เมื่อเข้าสู่มัธยมปลาย โอกาสหรือทางเลือกในการเรียนก็จะแคบลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีนั้น มักจะเรียนดีในเกือบทุกวิชา นั่นเราอาจหมายรวมได้ว่า การเรียนคณิตศาสตร์เป็นการจัดลำดับกระบวนการของความคิดให้กับเขาเหล่านั้น และสามารถพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า
Feb 22
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับการเรียนจินตคณิตก่อน การเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนที่พัฒนาสมองผ่านการบวกลบคูณหารทางคณิตศาสตร์ โดยการใช้ลูกคิดเป็นสื่อก่อนในช่วงแรก หลังจากที่มีการฝึกฝนจนในที่สุดสามารถถอดลูกคิดออก และคิดคำนวณได้ด้วยการคิดเป็นภาพได้จากสมองซีกขวา
หลังจากทราบแล้วการเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาสมอง แต่กว่าที่จะสามารถคิดคำนวณเป็นภาพ จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างมีวินัยอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกันระหว่างเด็ก 2 คน ที่มีหัวปานกลางแต่มีวินัยด้านการฝึกฝน กับเด็กเก่งๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะสามารถพัฒนาตนเองไปในแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมา คือเด็กจะมีความมั่นใจในเรื่องจำนวน มีสมาธิและความแม่นยำในการคิดคำนวณ ในแต่ละข้อ หลังจากที่มีความมั่นใจ ร่วมกับความแม่นยำในการคำนวณ ก็ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เป็นบวกแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่ดีในการเรียน เมื่อเขาโตขึ้นการเรียนคณิตศาสตร์ที่จะมีเรื่องของการแก้ไขปัญหาโจทย์ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนมาเกี่ยวข้องอีก ถือว่าเป็นทางเลือกในการปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งให้กับบุตรหลานด้วย
ครูจา
Dec 01
หลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด มักคาดหวังว่าการเรียนของบุตรหลานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่คาดหวังอาจเป็นจริงไม่ได้หากขาดการเอาใจใส่ดูแล กวดขันตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานมีปัญหา
คราวนี้เราลองมาพิจารณากันดูว่า การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดปัญหาด้านใดได้บ้าง เราต้องมาเริ่มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีปัญหาคณิตศาสตร์หากเขาไม่สามารถแปลงภาษาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยได้ คือการให้จับต้องสิ่งของที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับเชื่อมโยงกับตัวเลข ซึ่งถือเป็นภาษาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ วัยต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงปฐมวัย คือประถมต้น การเรียนคณิตศาสตร์เริ่มมีปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ต่างๆ นั่นคือการบวก ลบ คูณ หาร เข้ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ คือความไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ความไม่แม่นยำ เนื่องจากการขาดการฝึกฝน หากเด็กไม่สามารถเข้าใจการเพิ่ม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เด็กไม่เข้าใจการบวกซ้ำ ๆ ซึ่งหมายถึงการคูณ และนอกจากนี้ หากการบวกมีปัญหา การลบก็ย่อมมีปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเด็กก็จะหยุดเดินเพราะต้องสะดุดกับปมมากมาย ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติด้านการเรียนเป็นลบไป
การเรียนคณิตศาสตร์หากเกิดปมตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการเรียน มักส่งผลให้การต่อยอดมีปัญหา เหมือนเชือกที่สั้นลงเนื่องจากการมัดปมไปเรื่อยๆ หากปัญหาได้รับการแก้ไข ก็เปรียบเหมือนการคลายปมให้เชือกได้ยาวขึ้น และต่อยอดได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ สามารถต่อยอดทางคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลการเรียนของเด็กๆ เผื่อว่าปมที่เพิ่งเกิดจะได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการแกะปมที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นย่อมใช้เวลาน้อยกว่า ปมที่ถูกสะสมมานาน แต่ก็ยังดีกว่าที่มันจะกลายเป็นเงื่อนจนไม่สามารถแกะมันออกในที่สุด
ครูจา
Jul 07
พอกล่าวถึงการเรียนจินตคณิต ร้อยละ 90 มักมีความเข้าใจว่า การเรียนจินตคณิต เปรียบเหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ช่วยในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักส่งบุตรหลานให้เรียนจินตคณิต เมื่อพบว่าบุตรหลานมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
ก่อนอื่นต้องมอง ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ การอ่าน , การคำนวณ และการตีความ ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นแรก (ป.1 – 2) ปัจจัยในการเรียนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในเรื่องจำนวน หรือเรื่องค่าประจำหลัก เท่านั้น เนื่องจากในช่วงวัยนี้ยังไม่มีการแก้ไขโจทย์ปัญหาเท่าใดนัก เป็นการเรียนรู้เพื่อปูความรู้พื้นฐานเข้าสู่การแก้ไขโจทย์ปัญหาในระดับที่โตขึ้น ซึ่งหากเด็กมีปัญหาในข่วงวัยนี้ การเรียนจินตคณิต เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแน่นอน แต่หากเด็ก อยู่ในวัยที่โตขึ้น (ตั้งแต่ ป.3 ขึ้นไป) การเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มมาจากปัจจัย เรื่องการอ่าน หรือ เป็นเพียงปัญหาการตีความ แต่ในเด็กบางคน ที่มีปัญหาเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่ยอมท่องสูตรคูณ หรือความไม่เข้าใจเรื่องการคูณ หรือการหาร หากบุตรหลานประสบปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และแก้ไข
เราจะทราบได้อย่างไรว่าสาเหตุของปัญหา อยู่ตรงไหน หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน เด็กจะมีปัญหากับทุกๆ วิชา ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว แต่หากเด็กมีปัญหาเพียงวิชาคณิตศาสตร์ ก็ต้องมาดูว่าปัญหาเกิดเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการตีความ หรือมีปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งการตีความและการคำนวณ หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการคำนวณ ในความเป็นจริงการแก้ไขในเรื่องของการคำนวณทำได้ไม่ยาก นั่นคือให้เด็กมีการฝึกทักษะ หรือทำแบบฝึกหัดให้มากขึ้น ส่วนการตีความนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการวาดเป็นภาพในช่วงแรกเด็กยังต้องมีการชี้นำ แต่เมื่อเขามีความเข้าใจ เขาจะสามารถตีความเป็นภาพออกมาได้ชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาโจทย์ได้อย่างเป็นระบบดังนั้นหากบุตรหลานมีปัญหาในเรื่องของการเรียน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นทัศนคติที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ครูจา
Feb 25
หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ยังเป็นเด็กนักเรียน เราไม่เห็นความแตกต่างของการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของเราพัฒนาไปจากเดิมเลย ซ้ำร้ายบุคลากร (ครูผู้สอน) ในปัจจุบันเป็นเพียงลูกจ้างของทางโรงเรียน ที่หาจิตวิญญาณในการสอนเหมือนแต่เก่าก่อนยากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันอาจเกิดจากระบบของเรื่องค่าตอบแทนที่บุคลากรควรได้รับ เพื่อให้มีการทุ่มเทแรงกายแรงใจ พัฒนาเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป ให้มีคุณภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับตรงกันข้าม เนื่องด้วยค่าตอบแทนที่ส่งผลต่อขวัญ กำลังใจ หรือทัศนคติที่ดีกับการสอน ซึ่งส่งผลให้ครูในปัจจุบัน มีความรับผิดชอบต่อการเรียนการสอน และมาตรฐานการสอนที่ต่ำลง
ปัจจัยหลักของการเรียนในวัยเด็กว่าจะมีทัศนคติในเชิงบวกหรือลบนั้น ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ หรือสื่อการสอนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถเข้าใจบทเรียน หรือการแปลงจากข้อความ ที่เป็นนามธรรม ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเพิ่งเริ่มเรียนเรื่องเศษส่วน จะเกิดความสับสนทุกครั้งในเรื่องของการเปรียบเทียบเศษส่วนว่าตัวไหนมีค่ามากกว่าตัวไหน ซึ่งถ้าเรามีสื่อการสอนที่ดี จะทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าการเปรียบเทียบเศษส่วนจะมีหลักอย่างไร
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการเรียนของเด็ก คือความเข้าใจโดยให้เห็นเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด
Nov 10
การปูพื้นฐานที่มั่นคงในการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเด็กขาดทักษะทางคณิตศาสตร์อาจทำให้เขามีปัญหาในการเรียน หรือขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ เด็กที่ขาดทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์จะเพิ่มความรู้สึกยุ่งยากและความสับสนในการเรียนคณิตศาสตร์เรื่อย ๆ แต่เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เราจะพบว่าความกดดันที่เด็กได้รับจากทักษะทางคณิตศาสตร์ก็หมดไปเช่นกัน จนเราอาจจะได้ยินว่าลูกชอบคณิตศาสตร์ในที่สุด
การสร้างทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นจะมีวิธีการอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนในการสร้างความมั่นใจและความเข้าใจเชิงลึกให้กับเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักสับสนกับการเป็นผู้สอนเด็กมีดังนี้
-อาจเกิดจากการมุ่งเน้นในบางเรื่องเท่านั้น เช่นการมุ่งเน้นในเรื่องของจำนวนจนลืมหัวข้ออื่น ๆ ที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับต้น การทบทวนแบบไม่มีลำดับขั้น
การมุ่นเน้นคณิตศาสตร์ให้กับชั้นประถมปีที่นั้นจะมีหัวข้อสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
– ระบบจำนวน ซึ่งหมายรวมลำดับขั้นของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และค่าประจำหลักด้วย
– ความสัมพันธ์ ในชั้นประถมต้นจะเรียนแบบรูปที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ซับซ้อน หรืออาจเป็นการหาตัวแปรแบบง่าย ๆ
– เรขาคณิต และมิติสัมพันธ์ เด็กจะเรียนรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน แล้วจึงเพิ่มในเรื่องของมิติสัมพันธ์ การอ่านแผนที่ และการแก้ปัญหาเรขาคณิต
– การวัด และการเปรียบเทียบเชิงปริมาณทั้งในเรื่องความยาว น้ำหนัก อุณหภูมิ ความจุ เวลา และเรื่องเงิน
– การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น การใช้ตาราง แผนภูมิ กราฟ เพื่อจัดรูปแบบข้อมูล
คณิตศาสตร์สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 – 3
ชั้นประถมปีที่ 1 มุ่งเน้นการเรียนเรื่องจำนวนและระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะเรียนเรื่องการบวก-ลบ จำนวนจาก 1 – 100 นอกจากนี้ยังมีการเรียนเรื่องรูปทรงเรขาคณิต การวัด เงิน แผนภูมิ กราฟ การวิเคราะห์ข้อมูล และแบบรูปทางคณิตศาสตร์
ชั้นประถมปีที่ 2 เรียนเรื่องการจับกลุ่ม 10 , 100 และลำดับของระบบปฏิบัติการจำนวนไม่เกิน 1,000 ค่าประจำหลัก การคูณและการหาร
ชั้นประถมปีที่ 3 จะยังคงเรียนเรื่องเดิมแต่เน้นในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหา การเรียนเรื่องเศษส่วน และทศนิยม เด็กในวัยนี้จะเพิ่มความเข้าใจในเรื่องของการวัด รูปทรงเรขาคณิต และความสัมพันธ์
ชั้นประถมปีที่ 4 เรียนในเรื่องเดิมแต่มีความลึกมากขึ้น เช่นในเรื่องของเศษส่วน จะมีการเปรียบเทียบเศษส่วน การบวกลบ เศษส่วน มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของปริมาตร พื้นที่ เส้นรอบรูป และเรื่องของการวัดมุม
ชั้นประถมปีที่ 5 มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของตัวประกอบ ตัวประกอบเฉพาะ
ชั้นประถมปีที่ 6 มีการแปลงทศนิยมเป็นเศษส่วน และการบวกลบคูณหารเศษส่วนและทศนิยม การเรียนเรื่องเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ อัตราส่วน การสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางคณิตศาสตร์
จากแนวทางการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นจะเห็นได้ว่า โดยหลักสูตรไม่ได้เน้นหนักในเรื่องของจำนวนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมเนื้อหาในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาต่าง ๆ อีกหลายวิชาในอนาคต