Apr 07

ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Dec 02

ในปัจจุบันที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีลูกคนเดียว จึงทำให้ความทุ่มเทและคาดหวังตกอยู่กับลูกโทน เป็นเหตุให้เมื่อบุตรหลานเข้าสู่วัยเรียน จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิถีพิถันในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน
หลายๆ ครอบครัวที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ก็จะรับรู้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องบุคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแบบ(ติวข้อสอบข้าราชการ ครูผู้ช่วย) ซึ่งหลังจากที่ได้รับราชการแล้ว ทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้ทันกับยุคสมัย แนวการเรียนการสอนที่เด็กนักเรียนจะต้องปรับเข้าหาครู (แทนที่ครูจะหาวิธีสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจ) ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นที่มักได้ยินกันเป็นประจำคือ ในชั้นเรียนครูไม่สอน แต่ให้เด็กไปเรียนพิเศษกับครูข้างนอก เมื่อใกล้สอบจะมีการบอกข้อสอบเพื่อให้ได้คะแนนดีๆนอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีการปรับปรุงทุกๆ ทศวรรษ ซึ่งในปัจจุบันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีแต่หลักสูตรแนวแกนกลางกระทรวงยังคงอยู่ที่ปี 2551 อยู่เลย
หลายๆ ครอบครัวจึงหันเหไปหาโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่หลายๆ ครอบครัวที่มีกำลังพอจะส่งเสริม เพราะหวังว่าเด็กได้ภาษาแน่ๆ และเข้าใจว่าโรงเรียนในแนวดังกล่าวจะสอนให้เด็กๆ สามารถคิด วิเคราะห์ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนไทย โดยลืมไปว่าการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมของคนไทยกับต่างชาติแตกต่างกัน เด็กทุกคนจะมีลักษณะนิสัยส่วนตัวซึ่งถูกบ่มเพาะจากทางบ้าน จริงอยู่ที่เด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน (ในวัยเรียน) แต่ครอบครัวได้หล่อหลอมเขาตั้งแต่แรกเกิดจนก่อนเข้าวัยเรียน หากเด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน ลักษณะนิสัยดังกล่าวก็ยังคงเป็นตัวเขา หากพ่อแม่ผู้ปกครองบ่มเพาะให้เขาหัดเป็นคนช่างสังเกต หรือมีระเบียบวินัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะติดตัวเค้าไปทุกที่ แต่อย่างไรก็ดีโรงเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ครูมีผลต่อทัศนคติของเด็กในวิชาที่ครูผู้นั้นสอน ดังนั้นทางที่ดี ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่ให้บุตรหลานเหมือนไม้ผลัด ที่เรื่องของการเรียนส่งต่อให้โรงเรียนรับผิดชอบเพียงไม้เดียว ส่วนผู้บิรหารโรงเรียนนอกจากจะมีการประเมินการเรียนการสอน ซึ่งคือการประเมินการเรียนของเด็กเพียงด้านเดียว แต่ควรประเมินการสอนของครูผู้สอนด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาไปทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งของทางบ้าน และฝั่งของโรงเรียนไปพร้อมๆ กัน…
Nov 06

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าไม่ว่าจะเป็นม.1 หรือ ม.4 ซึ่งอัตราการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแบ่งสัดส่วนของเด็กในพื้นที่และเด็กนอกพื้นที่ ร่วมกับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ถูกกำหนดให้ลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในเขตโรงเรียนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าช่วงชั้นที่สูงขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันติวที่มีผลงานการันตีเป็นรายชื่อนักเรียนที่สอบติดตามโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอถึงตอนเย็นก็หมดแรงที่จะทำอะไร เด็กๆ ก็จะเรียกร้องขอเวลาพักเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาพักของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยส่วนใหญ่ การติวสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถใช้ข้อสอบแบบปกติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกข้อสอบที่ยากเกินระดับ ดังนั้นการติวเพื่อสอบเข้าตามสถาบันต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว แต่การที่เด็กเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นนั้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด จึงทำให้ขาดการทำแบบฝึกหัด หรือการทบทวน หลังจากกลับถึงบ้านก็ใช้เวลาที่เหลือเล่นเกมส์ หรือผ่อนคลายในแบบที่ตนเองต้องการ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กเข้าห้องสอบ กลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนก่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเรียนกวดวิชานั้น เขาจะให้สูตรและวิธีลัดมากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการและนำไปใช้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทบทวน และฝึกฝนทักษะของการทำโจทย์เพื่อให้รู้ขั้นตอน กระบวนการ และคิดอย่างเป็นระบบ หากเขาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกทำด้วยตนเอง เขาจะไม่เกิดทักษะของการวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เริ่มต้นไม่ถูกได้แต่นึกคุ้นๆ
ดังนั้นการที่ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตามดูว่าเขามีการทบทวน หรือได้ฝึกทำโจทย์ เพื่อให้เม็ดเงินและเวลาที่เสียไปเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
Jun 04

เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการหลายๆ ท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปติวหนักเป็นปี เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี การส่งให้เด็กติวเข้านั้น ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดหวังว่าเม็ดเงินที่เสียไป จะต้องทำให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีในสายตาของตนเอง
การติวเข้าโรงเรียนแนวสาธิต จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กในเรื่องของเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสถาบันต่างๆ มักสร้างสถานการณ์ในช่วงของการใกล้สอบจนบางครั้งมีเด็กบางคนเกิดอาการเครียด โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองยังส่งผลต่อเด็ก เมื่อเขาไม่ได้มีชื่อที่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งการไม่ได้รับเลือกเป็นนักเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มีผลต่อตัวเขา หรือความรู้สึกใดๆ เลย แต่ผู้ที่มีผลกับเขาคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนพู่กันที่แต้มสีสันลงบนความรู้สึกนึกคิดของเขามากกว่า หากส่งผ่านความผิดหวังไปที่เด็ก ก็เปรียบกับการแต้มสีดำ หรือเทา ทำให้ผ้าขาวเกิดจุด หรือรอยด่างดำ ซึ่งมันจะติดตัวเขาไปตลอด ความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของเขาไปเลย ซึ่งเด็กในวัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่จะต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบจอหงวน เขาควรได้เล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม เล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นเป็นกลุ่มยังส่งผลให้เขาได้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยในการเล่นอีกด้วย มันเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วการเล่นยังเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็ควรจะเป็นจิตรกรผู้แต่งแต้มสีสันอันสดใสให้กับเขา ชีวิตในวัยเด็กที่สดใส สนุกสนาน ให้ได้อยู่กับเขาได้นานที่สุด
แต่เมื่อโตขึ้น ในวัยที่เขามีความต้องการที่จะเลือกโรงเรียน แนวการเรียนของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เลือกทุกอย่าง รวมถึงปกป้อง จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกใดๆ เลย จริงๆ แล้วหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงมีหน้าที่รักเค้าเหมือนเดิม แต่เมื่อเค้าโตขึ้น ต้องฝึกให้เค้าได้มีทักษะด้านอารมณ์ ให้มากขึ้น ให้รู้จักอดทนอดกลั้นมากขึ้น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ แล้วให้เขาเป็นผู้เลือกชีวิตและทางเดินของเขาด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่ยอมรับในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาผิดหวัง เขาต้องยอมรับข้อผิดพลาด รู้จักความผิดหวัง ต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเรียน การเลือก และสุดท้ายคือจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกที่อาจผิดหวัง โดยมีพ่อแม่ เป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ หรือผิดหวัง ชื่นชมในความสำเร็จแม้เพียงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
Mar 12
ในช่วงปิดภาคเรียน มักจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้ปกครอง ที่พาน้องเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่มักพูดกันเป็นแนวเดียวกันว่า ลูกหลานลืมง่าย ช่วงสอบที่มีการทบทวนให้ก็ทำคะแนนออกมาได้ดี แต่เมื่อผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ให้ลองย้อนกลับมาทำแบบฝึกหัดอีกครั้ง กลับพบว่าเสมือนไม่เคยเจอแบบฝึกหัดดังกล่าวมาเลย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากในช่วงของการสอบไม่ว่าจะเป็นกลางภาค หรือปลายภาค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้อ่านหนังสือ เพื่อย่อยหรือย่นย่อความรู้ต่าง ๆ แล้วป้อนเข้าสู่การท่องจำของเด็ก สิ่งที่เค้าได้จึงเป็นเพียงตัวเลขในสมุดพกที่เป็นที่น่าพอใจของผู้ปกครอง แต่เมื่อทดสอบความรู้ที่ผ่านมา มันเปรียบเหมือนน้ำซัดหาดทรายที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ซักเท่าไร หากเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันที่เขาต้องสอบแข่งขัน ซึ่งงจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานในหลายวิชาที่ได้เรียนมา จะมีความรู้สึกว่าทำไมสิ่งที่บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลา มันได้อัตรธานหายไปหมดหลังจากที่เขาเดินออกจากห้องสอบนั้นเอง หากเรายังคงเป็นผู้ย่อยความรู้ และให้เขารับผิดชอบเพียงแค่ท่องจำในสิ่งที่ครูมีหัวข้อมาให้ ก็คงจะต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาตอนสอบแข่งขันแน่นอน