โจทย์คณิตคิดง่าย (3)
Posted by malinee on Thursday Dec 8, 2011 Under เกร็ดความรู้จากเมื่อตอนที่แล้วได้กล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการเรียนคณิตศาสตร์ไปบ้างแล้ว ต่อมาก็จะเป็นแนวทางในการดูแลบุตรหลาน และสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเหล่านั้นมีทัศนคติในเชิงบวกกับการเรียน
ในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เรื่องของการคำนวณเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งในช่วงวัยอนุบาลการเรียนคณิตศาสตร์เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถแปลตัวเลขจาก 1 – 9 จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หลาย ๆ ครอบครัวมักมีความคิดว่า การส่งเด็กเข้าโรงเรียนก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตน เพราะโรงเรียนต้องมีหน้าที่สอนให้เด็กเกิดความเข้าใจได้ ความจริงแล้ว ในที่สุดเด็กก็จะสามารถเข้าใจจำนวนได้ แต่ถ้าทางบ้านมีส่วนช่วย (โดยการเล่นเกมส์ หรือหากิจกรรมโดยเชื่อมตัวเลขเข้าไป) จะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากตั้งแต่เริ่มต้น
ในช่วงวัยอนุบาล เราอาจยังไม่เน้นให้เด็กสามารถเขียนตัวเลขได้ถูกต้อง บางครั้งเด็กในวัยนี้ยังเขียนกลับด้านอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในวัยนี้ แต่สิ่งที่ควรเอาใจใส่คือสร้างกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของตัวเลขให้เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีทางคณิตศาสตร์แล้วยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในในครอบครัวอีกด้วย
กิจกรรมที่ทำสำหรับน้อง ๆ อนุบาล คือ การทำแผ่นป้ายตัวเลขที่มีขนาดใหญ่ (เนื่องจากเด็กเล็กจะไม่เหมาะกับการใช้ตัวอักษรขนาดเล็ก) ในช่วงแรก อาจทำตัวเลขเพียง 1 – 5 คู่กับแผ่นป้ายที่มีภาพในจำนวนเดียวกัน เพื่อให้เด็ก ๆ จับคู่ภาพกับจำนวน ในตอนแรกเราอาจต้องนับไปกับเขา เมื่อเห็นว่าเขาสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ให้เขาลองนับและจับคู่ด้วยตนเอง (เพิ่มความเชื่อมั่นในการทำอะไรด้วยตัวเอง) หลังจากที่เริ่มคุ้นเคยกับจำนวน 1 – 5 ก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนถึง 9 และรวมเลขศูนย์เข้าไปด้วยในภายหลัง
หลังจากที่ลูกน้อยเกิดความคุ้นเคยกับจำนวนต่าง ๆ แล้ว เราก็ค่อย ๆ เพิ่มเรื่องการบวก โดยให้เค้ารู้ว่าการเพิ่มต้องทำอย่างไร (การสร้างกิจกรรมดังกล่าวต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน หากเด็กเกิดความเบื่อหน่าย ให้เปลี่ยนแบบของกิจกรรมไปเรื่อย ๆ) การบวกและลบเราสามารถจัดกิจกรรมได้ในคราวเดียวกัน
แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ควรเกิน 10
กิจกรรมการบวก-การลบ เช่น การเล่นขายของ โดยการนำเส้นสปาเกตตีดิบมาแทนเงิน ให้เขาเป็นแม่ค้าเพื่อเล่นการบวก และเป็นคนซื้อเมื่อเป็นการลบ
เมื่อเขาเริ่มเพิ่ม – ลด จนคล่องแคล่วแล้วก็นำเข้าสู่การเขียนประโยคสัญลักษณ์ สอนการนับเพิ่ม และนับถอยหลัง ในช่วงนี้ถ้าเด็กมีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงพอ คุณพ่อคุณแม่อาจทำตารางให้ลูกเขียนตัวเลขที่หายไป
จนในท้ายที่สุดให้เป็นตารางว่าง ๆ ให้เขาเติมตัวเลขเอง เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วในการนับ จนเป็นการเติมตัวเลขลงตาราง 100 ช่อง ในที่สุด
จากกิจกรรมข้างต้นดังกล่าว จะพบว่าการเสริมพัฒนาการทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์นั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่ต้องการอุปกรณ์ใด ๆ ที่ซับซ้อน สิ่งที่ต้องการคือเวลาที่เจียดให้กับลูกน้อย และความคิดที่จะพัฒนาลูกหลานของตนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันเพื่อก้าวไปสู่สังคมต่อไปในอนาคต
ลองดูตัวอย่างที่ทางครูทำเอาไว้ให้เด็ก ๆ เล่นจาก file ด้านบน (1-10) กันนะคะ
ครูจา