Apr 19
เป็นเรื่องที่ดีที่ ผู้ปกครองคอยดูแลเอาใจใส่ในเรื่องเรียนของบุตรหลาน บ่อยครั้งที่หากิจกรรมการเรียนเสริมให้กับบุตรหลานเพื่อเป็นการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ปีการศึกษาที่สูงขึ้น การส่งเสริมเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่มีความสำคัญคือ ช่วงเวลานั่น หมายถึงวัย และพื้นฐานความรู้ที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนในแต่ละช่วงอายุของบุตรหลาน เช่นการเรียนคณิตศาสตร์ ในวัยอนุบาลควรส่งเสริมให้มีทักษะด้านจำนวน (เช่นมากกว่า น้อยกว่า การปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น) การเรียนการสอนในโรงเรียนของเด็กในวัยดังกล่าว จะเน้นเรื่องจำนวนเป็นหลัก ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเรียนการคิดวิเคราะห์หรือการแก้ไขโจทย์ปัญหา ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะด้านการอ่านและการคิดวิเคราะห์ว่าจะต้องใช้ปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์แบบใด การเรียนในวัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการเรียนที่ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา เนื่องจากการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์โจทย์ หากการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้จากการอ่านของผู้สอน เมื่อถึงเวลาที่เขาจำเป็นจะต้องแก้โจทย์ปัญหาด้วยตนเอง เขาจะไม่สามารถอ่านจับใจความ ที่ถูกต้อง ส่งผลให้การวิเคราะห์ก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
แต่ในหลายๆ ครอบครัวที่เด็กโตจนถึงประถมปลาย เมื่อเด็กมีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ มักจะกลับมาเน้นการเรียนคณิตศาสตร์แบบการแก้ไขเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่มักหันกลับมาหาการเรียนจินตคณิต ซึ่งเราเคยมีการนำเสนอบทความเก่าๆ ไปแล้วว่า การเรียนจินตคณิตในช่วงของเด็กประถมปลายนั้น การเรียนจะตามหลังการเรียนในโรงเรียน ทำให้เด็กอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการคำนวณตัวเลขแบบง่าย และเลิกไปในที่สุด การเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กประถมปลาย จะเป็นการเรียนที่เน้นการแก้ไขปัญหาโจทย์เป็นสำคัญ
เด็กวัยอนุบาลจนถึงประถมต้น ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์โดยการแก้ไขเรื่องจำนวนควบคู่กับการเรียนภาษาไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนทุกๆ วิชา ส่วนนักเรียนประถมปลาย ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ในแนวของการแก้ไขโจทย์ปัญหาเป็นหลัก
ดังนั้นหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการส่งเสริมการเรียนของบุตรหลาน ควรจะมีการดูเนื้อหาการเรียน และวัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ครูจา
Dec 01
หลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด มักคาดหวังว่าการเรียนของบุตรหลานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่คาดหวังอาจเป็นจริงไม่ได้หากขาดการเอาใจใส่ดูแล กวดขันตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานมีปัญหา
คราวนี้เราลองมาพิจารณากันดูว่า การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดปัญหาด้านใดได้บ้าง เราต้องมาเริ่มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีปัญหาคณิตศาสตร์หากเขาไม่สามารถแปลงภาษาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยได้ คือการให้จับต้องสิ่งของที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับเชื่อมโยงกับตัวเลข ซึ่งถือเป็นภาษาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ วัยต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงปฐมวัย คือประถมต้น การเรียนคณิตศาสตร์เริ่มมีปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ต่างๆ นั่นคือการบวก ลบ คูณ หาร เข้ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ คือความไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ความไม่แม่นยำ เนื่องจากการขาดการฝึกฝน หากเด็กไม่สามารถเข้าใจการเพิ่ม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เด็กไม่เข้าใจการบวกซ้ำ ๆ ซึ่งหมายถึงการคูณ และนอกจากนี้ หากการบวกมีปัญหา การลบก็ย่อมมีปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเด็กก็จะหยุดเดินเพราะต้องสะดุดกับปมมากมาย ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติด้านการเรียนเป็นลบไป
การเรียนคณิตศาสตร์หากเกิดปมตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการเรียน มักส่งผลให้การต่อยอดมีปัญหา เหมือนเชือกที่สั้นลงเนื่องจากการมัดปมไปเรื่อยๆ หากปัญหาได้รับการแก้ไข ก็เปรียบเหมือนการคลายปมให้เชือกได้ยาวขึ้น และต่อยอดได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ สามารถต่อยอดทางคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลการเรียนของเด็กๆ เผื่อว่าปมที่เพิ่งเกิดจะได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการแกะปมที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นย่อมใช้เวลาน้อยกว่า ปมที่ถูกสะสมมานาน แต่ก็ยังดีกว่าที่มันจะกลายเป็นเงื่อนจนไม่สามารถแกะมันออกในที่สุด
ครูจา
Jun 16
ผู้ปกครองหลายๆคน ยังคงมีข้อสงสัยว่าจินตคณิตกับการคิดในใจเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่เหมือนกันของการคิดในใจกับจินตคณิตก็คือ ผลลัพธ์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ วิธีการที่แตกต่ากัน มาดูการคิดในใจกันก่อน การคิดในใจคือการคิดคำนวณด้วยจำนวน โดยที่เด็กที่จะคิดในใจได้จะต้องมีทักษะ หรือครูชี้แนะวิธี เช่น 27 + 9 การ +9 ทำได้โดยการ + 10 ก่อน แล้วค่อย -1 ซึ่ง 27 + 1สิบ (การบวก 1 ในหลักสิบ) ก็จะได้ 37 แล้วลดลง 1 (เนื่องจากบวกเกินไป 1) ก็จะได้ผลลัพธ์คือ 36 หรือการคิดในใจแบบการลบ ก็ทำได้เช่นกัน เช่น 22 – 8 การ -8 ทำได้โดยการ – 1 สิบ แล้ว +2 นั่นคือ 22 – 1สิบ จะได้ 12 แล้ว + 2 (การลบ 10 เป็นการลบเกินไป 2 ก็ต้องบวกกลับเข้ามา 2)ผลลัพธ์ก็คือ 14 นั่นเอง ซึ่งในการฝึกคิดเลขในใจ จะเห็นว่าเด็กจะต้องมีความเข้าใจอย่างแม่นยำในเรื่องของค่าประจำหลัก จึงจะทำให้เด็กมีการคำนวณที่ไม่ผิดพลาด
ส่วนจินตคณิตนั้น เป็นการคิดคำนวณเป็นภาพลูกคิด มีการเคลื่อนเม็ดลูกคิดขึ้นลง 4 มิติ การเห็นภาพเคลื่อนไหวของเม็ดลูกคิด (เราเรียกกันว่าการจินตนาการ) นั้น ทำให้เด็กสามารถจดจำคำตอบได้อย่างแม่นยำ หากเปรียบเทียบการคิดเลขในใจ กับการจินของจินตคณิต การคิดในใจเหมือนการอ่านวิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจมาวิเคราะห์เป็นตัวหนังสือที่เป็นความเข้าใจของตัวเองอีกครั้ง ส่วนจินตคณิตเปรียบเหมือนกับการดูการ์ตูนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวของเด็ก เด็กจะสามารถจำภาพเคลื่อนไหวได้ดีกว่า (ในเด็กเล็ก) การคิดเป็นจำนวน
ครูจา
May 11
จากการเปิดคอร์สในแต่ละปี เราพบว่า แนวโน้มของจำนวนเด็กที่มีปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนที่จะนำเด็กเข้าเรียนนั้น เราพบว่าเด็กร้อยละ 80 – 90 มีทักษะในการคิดคำนวณอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับในการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เราต้องแยกประเด็นก่อนว่าเด็กมีปัญหาเรื่องจำนวน หรือการตีความ แต่ในปัจจุบันเราพบปัญหาเพิ่มว่าจะมีเด็กประมาณ 20 % ที่มีปัญหาการอ่าน ความรุนแรงของปัญหาจะมีมากขึ้นเมื่อเด็กอยู่ในชั้นที่โตขึ้น แต่ไม่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการอ่าน ทำให้การอ่านประโยค กลายเป็นการสะกดทีละคำ และไม่สามารถรวบเป็นประโยคหรือตีความได้ โดยการอ่านเป็นช่วง ๆ นั้นทำให้ยากกับการแปลความโดยรวม ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีความมั่นใจในการเรียน จึงส่งผลกระทบต่อผลการเรียนในหลายๆ รายวิชา รวมทั้งวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยการอ่านเพื่อที่จะตีความ และ วิเคราะห์โจทย์ปัญหาต่อไป
Dec 01
Posted by malinee on Wednesday Dec 1, 2010 Under เกร็ดความรู้
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำว่าจินตคณิตคืออะไร
คำว่าจินตคณิตเป็นการรวมคำระหว่าง “ จินต”(จินตะ) คือ การนึก +
“คณิต” คือ การนับหรือการคำนวณ โดยรวมหมายถึง
การนึกถึงตัวเลขหลังจากผ่านปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์
ซึ่งแนวการเรียนการสอนจินตคณิตนั้นจะมีอยู่ 2 แนวหลัก ๆ ได้แก่
– จินตคณิตในแนวของการทำซ้ำ ซึ่งเป็นการทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน โดยในการทำแบบฝึกหัดแต่ละครั้งจะมีเรื่องของการจับเวลาเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้เด็กเพิ่มศักยภาพในเรื่องความเร็วและการจดจำ (เป็นการใช้สมองซีกซ้าย) จนเกิดความคุ้นชิน
– การเรียนจินตคณิตในแนวของการใช้ลูกคิด เป็นแนวการเรียนการสอนที่สอนให้เด็กฝึกการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณในระดับต้นจนทำให้เกิดความคุ้นชิน และหลังจากนั้นจึงฝึกให้เด็กเกิดจินตภาพขึ้น (เป็นส่วนของการใช้สมองซีกขวาร่วมกับสมองซีกซ้ายในการคำนวณ) แต่ในการเรียนการสอนจะต้องค่อย ๆ เพิ่มหลักหรือจำนวนตัวเลขร่วมกับการจับเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของหน่วยความจำ ความแม่นยำ และความเร็วควบคู่กัน
จากแนวการเรียนการสอนจินตคณิตทั้ง 2 แนวนี้ต่างก็ให้ผลหรือจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การเพิ่มความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ หรือการปรับทัศนคติทางคณิตศาสตร์ให้แก่เด็ก เนื่องจากในการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมต้นจะเน้นเนื้อหาของค่าประจำหลัก และจำนวน โดยเด็กที่ผ่านการเรียนจินตคณิตจึงมักไม่พบปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์กับกลุ่มดังกล่าว