Jan 02
Posted by malinee on Wednesday Jan 2, 2013 Under เกร็ดความรู้
คราวนี้เราก็พอมองภาพกว้าง ๆ ออกแล้วว่า เราไม่ควรให้ความสนใจ หรือพัฒนาทักษะ หรืออัจฉริยภาพในด้านเดียว แต่ควรให้เด็กมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกาน คราวนี้มาดูว่าอีก 2 Q ที่เหลือจะหมายถึงอะไร และมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร
ความฉลาดทางสังคม (SQ) ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านให้คำจำกัดความว่า เป็นการที่บุคคลสามารถเจรจา ต่อรอง ในสภาวะต่าง ๆ หรือความเข้าใจในภาวะต่าง ๆ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทดสอบด้าน SQ ที่ได้คะแนนมากกว่าจะมีความฉลาดทางสังคมมากกว่า เพียงแต่คนแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความสนใจ ความหวังและทัศนคติที่แตกต่างกันเท่านั้น
แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะในการเข้าสังคม เมื่อเขาต้องเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกอึดอัด ขัดข้องได้ หากเขารู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากเขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ (นั่นก็คือ ทัศนคติที่แตกต่างกันนั่นเอง) เขาก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ MQ คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น การรู้จักแยกแยะดีชั่ว สิ่งเหล่านี้หลาย ๆ คนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างที่พ่อแม่เป็นผู้กระทำ และเด็ก ๆ จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้ ได้สัมผัส เป็นสิ่งที่เขาแสดงออกมา MQ เป็นสิ่งที่มีผลต่อสังคมมากที่สุด นั่นคือ หากเด็กถูกปลูกฝัง ให้รู้จักความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ และโทษ สังคมก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักแต่เอาชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ หรือไม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ไม่น่าอยู่เสียแล้ว
สุดท้ายเราคงต้องฝากอนาคตของชาติ สังคมไทย ที่อยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าจะทำให้สังคมผันแปรไปในทิศทางใด หรือ อยากให้ลูกหลานเติบโตในสังคมแบบใด
ครูจา
Feb 13
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
Sep 20
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศตึงเครียด จะมีเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นที่ไม่ต้องกังวล แต่สังคมโดยรวม หรือประชากรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ กับความฝืดเคือง ภาวะเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดภาวะที่จะต้องดิ้นรนเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งอาจทำได้โดยการทุ่มเทกับงานให้มากขึ้น เพื่อโอกาสก้าวหน้าทางด้านการงาน ทำงานพิเศษ นอกเวลา ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวส่งผล 2 ด้าน นั่นคือ การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และ ผลทางด้านครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว เนื่องจาก เมื่อพ่อแม่ให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานมาก ก็จะทำให้เห็นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูลูกน้อยลง เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม จริยธรรม ที่เราได้ยินได้ฟังจนกลายเป็นความเคยชิน จนไม่มีใครมีสำนึกที่จะช่วยแก้ปัญหา
ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมเมื่อสืบสาวกันลึก ๆ มักเกิดจากปัญหาพื้นฐานทางครอบครัวเป็นหลัก ความรุนแรงของปัญหานั้น ๆ ขึ้นอยู่กับว่า คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองนั้นตระหนักหรือรับทราบถึงปัญหาหรือไม่ มีสำนึกถึงหน้าที่ของความเป็นบุพการีมากน้อยเพียงใด ภาพรวมของผู้เป็นพ่อแม่ปัจจุบัน นิยมผลักเด็กออกจากตัวเองโดยไม่รู้ตัว แล้วมีคำพูดที่เป็นข้อแก้ต่างตลอดเวลาว่า ไม่มีเวลา ต้องทำงาน ไม่แม้กระทั่งหาข้อมูล (ที่แสนจะง่ายดาย และสะดวกสบาย) เกี่ยวกับพฤติกรรมในแต่ละวัย บางครอบครัวไม่มีเวลาถึงขนาดไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกหลานของตนมีพฤติกรรมอย่างไร มีการเรียนย่ำแย่ หรือดีแค่ไหน ปล่อยให้หน้าที่ดังกล่าวเป็นของทางโรงเรียน และโรงเรียนกวดวิชา ส่วนตนเองมีหน้าที่หาปัจจัยต่าง ๆ มาบำรุง บำเรอ ความสุข ความสะดวกสบาย หรือหน้าตาทางสังคม โดยไม่เหลียวแลหน้าที่ในการอบรมบ่มนิสัย การขัดเกลาจิตใจ จึงทำให้เด็กมีความเชื่อ และค่านิยมผิด ๆ โดยขาดการชื้ทางที่ถูกที่ดี
ครอบครัวที่มีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น เมื่อดูภายนอกแล้ว เป็นครอบครัวที่มีความสุข สมบูรณ์ ก็เหมือนกับผลไม้ที่เน่าข้างใน โดยที่ผิวด้านนอกยังดูดีอยู่ เราจะไม่รู้เลยจนกว่าเราจะไปสัมผัส จับต้องมัน แล้วเจ้าหนอนตัวเล็ก ๆ ก็จะชอนไชออกมาพร้อมกลิ่นเหม็น เช่นเดียวกับปัญหาเล็ก ๆ ภายในครอบครัว หากเกิดในช่วงสั้น ๆ หากรู้แล้วสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ก็สามารถกำจัดหนอนน้อยเพียงไม่กี่ตัวไปได้จากเนื้อทั้งชิ้น แต่ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่รับรู้ และไม่พยายามที่จะหาสาเหตุของปัญหา ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ ผูกจากปมหนึ่งไปอีกปมโดยไม่สิ้นสุด จนสุดท้ายปัญหาต่าง ๆ ไม่สามารถคลี่คลายได้ ก็ปล่อยไปตามยถากรรม เมื่อครอบครัวซึ่งถือเป็นฐานของบ้านเมือง หากฐานเองยังไม่มีความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ไหนเลยจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตึกทั้งหลังได้เล่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวต่าง ๆ เหล่านี้จะเบาบางลงถ้า พ่อแม่ให้ความสำคํญกับหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่อย่างแท้จริง มิฉะนั้นก็รอวันที่ประเทศชาติจะล้มลงด้วยมือของทุกคนที่ไม่สำนึกในหน้าที่ของตนเอง
Sep 08
Posted by malinee on Thursday Sep 8, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากบทความต่าง ๆ ที่ผ่านมา เราจะพบว่าครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญที่สุดกับเด็ก ทั้งในด้านการเรียน การเข้าสังคม ความมีระเบียบวินัย และ คุณธรรม จริยธรรมในตัวเด็ก ซึ่งจะเกิดการบ่มเพาะทีละเล็กละน้อยตั้งแต่เขาลืมตาวันแรก ครอบครัวจะเป็นกลไกหลักในการผลักดัน หรือ ขับเคลื่อน ให้เด็กแต่ละคนเติบโตไปในทิศทางใด ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวเป็นแหล่งพลังงานที่คอยประคองให้เขาได้ก้าวไปเผชิญกับโลกภายนอกในภายภาคหน้า
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่นในวัยที่เขาต้องการแล้ว เขาก็จะคอยไขว่ขว้าความรักจากคนที่ผ่านเข้ามา ซึ่งปัจจุบันนี้เรามักพบว่าทั้งพ่อและแม่ต่างพากันออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ส่วนใหญ่แล้วออกจากบ้านก่อนหน้าลูกตื่น และกลับเข้าบ้านเพื่อพาตัวเองมาให้ถึงที่นอนเท่านั้น เด็กไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นการพูดคุย เล่าประสบการณ์ การกอด โดยที่พ่อแม่ไม่เคยรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกต้องการ รู้เพียงสิ่งที่ตนเองต้องการโดยมีลูกเป็นข้ออ้างว่าทำเพื่อเขา สุดท้ายเด็กก็เกิดความเคยชิน จนกลายเป็นความชินชาต่อความรู้สึกต้องการ ไม่มีความกระตือรือร้น เก็บตัว ไม่เข้าสังคม เป็นคนไม่มีความพยายาม เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป เขาก็เรียนรู้ที่จะไปหาสิ่งที่คิดว่าตนเองต้องการ จึงทำให้ติดเพื่อน หรือเสียคนในที่สุด เปรียบไปก็เหมือนแม๊กมาที่อยู่ใต้ภูเขาไฟ รอจนกว่าพลังงานจะเพียงพอที่จะประทุระเบิดออกมา จนเกิดความเสียหายไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง
Feb 17
Posted by malinee on Thursday Feb 17, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากหนังสือเรื่อง ‘Don’t Give Me That Attitude’ โดย Dr. Michele Borba เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของ พฤติกรรมเด็กในปัจจุบัน โดยมีการจำแนกประเภทของทัศนคติที่แย่ลงของเด็กตามกลุ่ม คือ หยาบคาย , ขี้เกียจ , ไม่ใส่ใจในเรื่องการเรียน
ก่อนอื่นมาดูสาเหตุก่อนว่า ทำไมในปัจจุบันเราจึงพบพฤติกรรมดังกล่าวมากขึ้น ประการแรก ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้นมากมายที่มีผลต่อพฤติกรรม คือ สื่อ ซึ่งสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน มักจะแฝงความก้าวร้าว หยาบคาย การแก่งแย่ง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม ประการที่สอง คือ เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนในปัจจุบันได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่กลับทำให้เกิดขีดจำกัดในเรื่องของความอดทน การรอคอย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเร่งรีบในทุก ๆ เรื่อง อย่างในบางเรื่องที่ควรฝึกฝนเด็กเพื่อให้เกิดนิสัย หรือวินัย ก็ถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะทำให้เด็กเองโดยคิดว่าจะได้ไม่เสียเวลาเพราะผู้ใหญ่สามารถทำให้เด็กแล้วใช้เวลาน้อยกว่า จนเด็กไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรด้วยตนเอง แม้แต่เรื่องง่าย ๆ เช่น การวางเสื้อผ้าในตะกร้าที่จะซัก
จากสาเหตุหรืออิทธิพลต่าง ๆ จึงกลายเป็นการสร้างนิสัย หรือ พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เมื่อเขาโตขึ้น ดังนั้นหากเราคิดจะแก้ปัญหาต่าง ๆ เราควรเริ่มที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันฝึกหรือปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก
จาก Ezine.com