คัดเลือกครู ?

Posted by malinee on Monday May 1, 2017 Under เกร็ดความรู้

images          จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็จัดกิจกรรมการเรียนในวิชาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เด็กหลายๆ คนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสู่ระดับมัธยม ก็จะต้องมีการเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนที่โตขึ้น

หลังจากที่กล่าวถึงการสอบคัดเลือกเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แล้ว ครั้งนี้เรามาศึกษาวิธีการสอบคัดเลือกของข้าราชการครูกันบ้าง การสอบคัดเลือกข้าราชการครูนั้น ครูทุกๆ คนจะต้องผ่านการสอบข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งคะแนนรวมคือ 400 คะแนน หลายๆ คนคงสงสัยว่า ครูจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร

การสอบภาค ก เป็นข้อสอบกลางในการคัดเลือกบรรจุข้าราชการทุกอัตรา (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการครู) ข้อสอบจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติ มาตราต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ โดยมีคะแนนเต็ม 200 คะแนน ส่วนภาค ข เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการศึกษา (100 คะแนน) ส่วนความรู้ในวิชาที่จะเข้าสอน (วิชาเอก) อีก 100 คะแนน ซึ่งข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อสอบปรนัย จากสัดส่วนของคะแนนที่รับข้าราชการครูเฉพาะสาขาวิชา เราจะเห็นว่า ความรู้ความสามารถในวิชาชีพคิดเป็นเพียง 25% เท่านั้น

ในความคิดเห็นของครู เห็นว่า แนวทางการคัดเลือกข้าราชการครู ควรจะมีมาตรฐานในการคัดเลือกให้มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แล้วกระจายครูไปยังภูมิภาคต่างๆ การสอบคัดเลือกควรมีการแยกข้อสอบการคัดความรู้เฉพาะทางให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้แบ่งส่วนของการสอบออกเป็นภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ข้าราชการครูที่มีคุณภาพ แต่หลังจากที่เราได้ครูที่มีคุณภาพแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่ลงมายังกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะส่งตรงไปยังผลตอบแทนของครูมากกว่าการทุ่มงบให้ tablet ที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างเสียเปล่า โดยให้แต่โทษไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นครูที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ ต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เลือกโรงเรียนให้ลูก (ตอนจบ) บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงโรงเรียนทางเลือกในแบบสุดท้ายที่เราเรียกกันว่า “Project based learning” (PBL) เป็นแนวที่มีความคิดพื้นฐานว่าการเพิ่มทักษะด้านวิชาการ (การอ่าน การเขียน) ควบคู่กับการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเพิ่มความสนใจในการเรียนของเด็กมากกว่าการท่องจำบทเรียน นอกจากนี้ยังฝึกให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์ภายใต้สภาวะวิกฤติ คิดอย่างมีระบบ มีการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม และมีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิชาการโดยไม่ใช่การท่องจำข้อมูลต่าง ๆ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น มีการระดมสมอง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีม มีการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นข้อโต้แย้ง หรือข้อสนับสนุนความคิดของตนเอง การเรียนในแนวนี้ทำให้เด็กต้องมีการค้นคว้า การอ่านเพิ่มเติมจากเนื้อหาในห้องเรียน และสุดท้ายคือการนำเสนอข้อมูลให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ การเรียนแบบ PBL ที่ดีจะต้องมีการตั้งหัวข้อที่น่าสนใจ (ครูต้องทำให้หัวข้อน่าสนใจ ในการค้นคว้าหาข้อมูล) มีการตั้งคำถามที่เป็นปลายเปิดเพื่อให้เด็กสืบหาข้อมูลในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และความท้าทายในการหาคำตอบ การเรียนในแนว PBL ก็น่าสนใจมิใช่น้อย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนในแนวนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ครูผู้สอนว่าจะสามารถคิดคำถามเพื่อก่อให้เกิดโครงงานเพื่อกระตุ้นให้เด็กต้องการหาความรู้ได้มากน้อยเพียงใด และการตั้งคำถามที่เป็นคำถามปลายเปิดนั้น ครูผู้สอนเองก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล หรือแหล่งความรู้ที่มากขึ้นและทันสมัยตลอดเวลา เพื่อที่ว่าเวลาเกิดการระดมสมอง หรือมีข้อโต้แย้งก็มีข้อมูลเพียงพอ สุดท้ายก็อยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เลือกโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ ได้ศึกษาข้อมูลของโรงเรียนในแต่ละแบบให้มากขึ้น และจะได้เลือกโรงเรียนในแบบที่ตนเองต้องการให้มากที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments