ระบบและกลไกกรองคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานชำรุด โดย…สมหวัง พิธิยานุวัฒน์

มหาอุทกภัยที่ประเทศไทยประสบคราวนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องคิดว่าจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นกัลยาณมิตรได้อย่างไร เราคงต้องเปลี่ยนความคิดว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมิใช่ธรรมชาติเป็นสมบัติของมนุษย์เสียแล้ว ในขณะนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสชมทีวีมากเป็นพิเศษ ได้ยินคำพูดติดหูหลายคำ คำหนึ่ง คือ “พนังหรือกั้นน้ำ” แล้วตามมาด้วย คำว่า “ชั่วคราว” “พังหรือชำรุดต้องแก้ไขด่วน” เห็นมหาอุทกภัยแล้วทำให้นึกถึงปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นรากฐานของการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา
เป็นที่ทราบกันดีว่าผลการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา ความสามารถในการอ่านของเด็กไทย โดยสมาคมนานาชาติว่าด้วยการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (International Association for the Evaluation of Educational Achievement : IEA) หรือ NT ของสำนักทดสอบทางการศึกษา หรือโอเน็ต ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ให้ผลตรงกันว่าคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับน่ากังวล สู้ประเทศอื่นไม่ได้

ก่อนปี พ.ศ.2521 กลไกสำคัญ หรือคันกรองคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การทดสอบระดับชาติทั่วไป ผู้ที่จะสอบผ่านตัวประโยคระดับมัธยมศึกษาต้องได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 สถิติที่น่าสนใจ ในปี พ.ศ.2507 มีนักเรียนทั้งประเทศสอบผ่านเพียง ร้อยละ 18 จากร้อยละ 18 ถ้าใครต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาต้องผ่านการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา เรียกได้ว่าใช้แบบทดสอบระดับชาติเป็นเครื่องมือคัดกรองคุณภาพของนักเรียนอย่างจริงจังมาก ทำให้เกิดปัญหาเด็กตกซ้ำชั้นกลายเป็นปัญหาอันดับ 1 ของกระทรวงศึกษาธิการและการศึกษาไทยในขณะนั้น

ต่อมา ได้มีความพยายามปรับปรุงการศึกษาโดยเฉพาะมีข้อเสนอให้ปรับปรุงการจัดการประถมศึกษา และการผลิต และการพัฒนาครูใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2517 รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจให้จัดระบบการจัดการศึกษาประถมศึกษาใหม่ แล้วทดเรื่องการปรับปรุงการผลิตและการพัฒนาครูไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ในวงวิชาการเราทราบกันดีว่าคุณภาพครูมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของผู้เรียน

การปฏิรูปการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาใหม่ นำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตร นับตั้งแต่ประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น (2521) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (2524) กระทรวงศึกษาธิการได้กระจายอำนาจการวัดและประเมินผลการเรียน การตัดสินได้/ตก และการจบหลักสูตรไปสู่ระดับสถานศึกษา (ซึ่งทราบดีว่า สถานศึกษาไม่พร้อมและมีมาตรฐานแตกต่างกันมาก เบื้องหลังต้องการแก้ปัญหาเด็กสอบตกซ้ำชั้นโดยให้มีการเลื่อนชั้นอัตโนมัติในการศึกษาขั้นพื้นฐาน) โดยต้องมีระบบและกลไกการสอนซ่อมเสริม และการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษาของชาติโดยการวัดผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มตัวอย่างผู้เรียนในวิชาสำคัญตามหลักสูตรในระดับชั้นที่เป็นตัวประโยค คือ ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่เป็นการสอบแบบไม่มีผลต่อนักเรียนและสถานศึกษาโดยตรง

ในปี พ.ศ.2545 มีการเสวนาทางวิชาการเรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ข้อสรุปว่า 1.ในการประเมินผลคุณภาพการศึกษาระดับชาติให้มีประเมินสาระพื้นฐาน รวมทั้ง วุฒิทางอารมณ์ (EQ : Emotional Quotient) ด้านความอดทน ฝ่าฟันอุปสรรค (AQ : Adversity Quotient) ตลอดจนการทดสอบภาคปฏิบัติและให้ทดสอบนักเรียนทุกคน ทุกชั้นปี สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นักเรียนชั้น ม.3, ม.6 ให้ทดสอบความถนัดทางการเรียน (SAT) และให้นำผลไปใช้เข้ามหาวิทยาลัยโดยพิจารณาร่วมกับผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรของสถานศึกษาและผลการสอบเข้า (ถ้ามี) 2.ในอนาคตควรจัดตั้งองค์กรประเมินระดับชาติ ให้เป็นหน่วยงานอิสระรับผิดชอบการประเมินระดับชาติซึ่งอาจดำเนินการเป็นศูนย์ดำเนินการสอบระดับชาติเป็นองค์กรเดียว หรือเป็นหน่วยบริการการทดสอบระดับชาติที่จัดโดยภาคเอกชนโดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้กำกับดูแลตรวจสอบ 3.ประเทศไทยควรกำหนดมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ขั้นต่ำของผู้เรียนไม่ให้ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย 4.ควรดำเนินการสอนซ่อมเสริมอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานก่อนมีการเลื่อนชั้นของนักเรียนโดยไม่มีการสอบตกในแต่ละรายวิชา (เป็นการประกันคุณภาพระบบการเลื่อนชั้นอัตโนมัติ) 5.การส่งเสริมการประเมินผลระหว่างการเรียนการสอนโดยใช้การประเมินสภาพจริง การประเมินจากประจักษ์พยานการเรียนรู้ หรือแฟ้มสะสมงานการเรียนรู้ รวมทั้งการประเมินให้รอบด้าน 6.การพัฒนาผู้บริหาร พัฒนาครูให้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและการช่วยเหลือแนะนำครูของศึกษานิเทศก์

จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการสรุปว่า การทดสอบระดับชาติที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ ขาดทรัพยากรที่จะดำเนินการตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น อีกทั้งการทดสอบระดับชาติแบบไม่มีผลโดยตรงต่อผู้เรียนและสถานศึกษา ทำให้ผู้เรียน สถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ความสนใจในการทดสอบระดับชาติ นั่นหมายความว่า การทดสอบระดับชาติที่ไม่มีผลต่อผู้เรียนและสถานศึกษาโดยตรงไม่สามารถนำไปสู่การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของชาติได้ คือ ไม่บรรลุเป้าประสงค์แห่งเจตนารมณ์ของการทดสอบระดับชาตินั่นเอง

แม้ต่อมาจะแก้ไขปัญหาโดยให้มีองค์กรระดับชาติ คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติแล้วก็ตาม 6 ปีผ่านมา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติก็ยังติดกับดักเดิม คือ เป็นการจัดการทดสอบระดับชาติที่ไม่มีผลโดยตรงต่อผู้เรียนและสถานศึกษา ถึงมีความพยายามแก้ปัญหานี้เมื่อปี 2551 แต่ก็ยังไม่สำเร็จแม้ในปัจจุบัน สงสัยต้องคอยนารีขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือแล้ว หรืออย่างไร

จากสภาพความเป็นจริงที่พบว่า การประเมินผลระหว่างเรียนของครูยังไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามแนวคิดที่เห็นพ้องร่วมกัน ครูมีความรู้ความสามารถจำกัดในการประเมินผลการเรียนรู้ สถาบันผลิตครูยังไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ การพัฒนาครูในเรื่องความสามารถทางการประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรา 26 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ยังไม่เป็นจริง

บทเรียนประการต่อมา กลไกในการกรองคุณภาพของผู้เรียนในระบบการเลื่อนชั้นอัตโนมัติไม่มีการปฏิบัติอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน จึงทำให้เกิดนักเรียนจบ ม.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เกิดขึ้น ถ้าปล่อยไปเช่นนี้ ประเทศไทยจะมีบัณฑิตพออ่านออกเขียนได้เป็นแน่

บทเรียนอีกประการหนึ่ง การพัฒนาผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ มิได้มุ่งไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ เป็นเรื่องที่ต้องจัดระบบและกลไกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิใช่ดำเนินการตาม “โครงการ” เมื่อสิ้นสุดโครงการก็จบสิ้นกันไป

บทเรียนที่สำคัญยิ่ง ไม่มีใครเอาใจใส่ เรื่องการกำหนดมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ขั้นต่ำของผู้เรียนไม่ให้ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้การศึกษาไทยไม่สามารถแข่งขันได้แม้ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ฐานจำเป็นต้องซ่อมแซมทั้งระดับความคิดและการปฏิบัติอย่างจริงจังอย่าให้การศึกษาที่ไร้คุณภาพอยู่กับวงการศึกษาไทยอย่างถาวรเลย

—————-

(ระบบและกลไกกรองคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานชำรุด โดย…สมหวัง พิธิยานุวัฒน์)

Tags : , , | add comments