May 11
ในช่วงของสถานการณ์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆคนมีโอกาสได้อยู่บ้านแบบยาวๆ เด็กๆ เองก็หยุดแบบยาวๆ กัน การมีเวลาว่างๆ ของเด็ก ถ้าเป็นครอบครัวที่สรรหากิจกรรมต่างๆ ได้ทำร่วมกัน ก็จะทำให้เด็กๆ อาจมีเวลาค้นหาตัวตนของตนเองว่าชอบอะไร แต่ในปัจจุบันน่าเสียดายที่เวลาของครอบครัวถูกเบียดด้วยจอสี่เหลี่ยมที่เราเป็นคนพามันเข้าสู่ครอบครัว แล้วทำให้เวลาในการปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัวหายไป ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน
จากสถานการณ์ของการระแพร่ระบาด ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ใหม่ๆ หรืออาจเรียกว่าวิวัฒนาการที่ทำให้การดำรงชีวิตของเราเปลี่ยนแบบไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆ คือเด็กในรุ่นนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมาก คงไม่มีพ่อแม่ คนไหนคิิดจะให้บุตรหลานอยู่ภายใต้ปีกที่อบอุ่นของตนเองจนเค้าจากไป เรามีเพียงหน้าที่ที่จะดูแลชี้นำในสิ่งที่ถูกต้องหรือ เลือก#โรงเรียน สังคมให้เขาในวัยเด็กเท่านั้น สิ่งที่เราต้องคิดคือ เราได้เตรียมความพร้อมให้กับเขาสำหรับยุคของการใช AI (Artificial Intelligence) แล้วหรือยัง
ยุคของ AI คืออะไร คือยุคที่มีการเปลี่ยนจากแรงงานคนเป็นคอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด คำว่าแรงงานไม่ได้หมายความแค่ผู้ใช้แรงงาน แต่หมายรวมถึงพนักงานทั่วไป ที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบที่มีฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ด้วยความที่เกิดมาในยุคดิจิทัล ทำให้ทุกอย่างต้องรวดเร็ว จึงขาดทักษะของการรอคอย ไม่เห็นคุณค่าของการสิ่งของที่ได้มาเพราะไม่เคยต้องแลกกับการรอคอย หรือการต้องทำบางอย่างเพื่่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ประกอบกับทางเลือกของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กทุกคนกลายเป็นลูกเทวดาในโรงเรียน เพราะโรงเรียนมีการแข่งขันกันสูงจึงถือว่าเด็กนักเรียนเป็นลูกค้า ความพึงพอใจของลูกค้าต้องมาก่อน เมื่อหันไปหาโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งในช่วงของปฐมวัยจนจบระดับประถมศึกษา เน้นการเรียนแบบ child center นั่นคือแบบบูรณาการที่เราคุ้นเคย การเรียนขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก บางโรงเรียนการบ้านเป็นแบบ optional คือส่งหรือไม่ส่งก็ได้ กลับกลายเป็นทำให้เด็กขาดวินัยอย่างรุนแรง สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เด็กในยุค 4.0 กลับกลายเป็นการบ่มเพาะความเปราะบางทางด้านอารมณ์ ขาดวินัย ไร้ความพยายาม ไม่มีความอดทน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถทำให้เขาเติบโตในยุคของการแข่งขันกับเทคโนโลยีได้เลย
ดังนั้น อย่าให้เขาต้องเผชิญปัญหาในขณะที่เขาไม่สามารถแก้ไขนิสัยได้ เราซึ่งเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นผู้ที่วางกรอบให้ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการตีกรอบ วางให้เขาอยู่ในระเบียบวินัย ใส่ทักษะของการรอคอย ปล่อยให้เรียนรู้ที่จะผิดหวัง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม สร้างภูมิต้านทานให้เขาได้ก้าวเดินอย่างมั่นคงในเวลาที่เขาต้องเดินโดยไม่มีไหล่คุณให้เกาะ..
#เรามีสิทธิเลือกเส้นมางให้ลูก
#เลือกผิด= เหนื่อยเพิ่มขึ้น
#เลือกถูก= อนาคตที่ดีของลูกเรา
#สถาบันคิดสแควร์
Jan 04
สังเกตไหม ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมที่ทดถอย ในช่วงวันหยุดยาวๆ เคยสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือไม่ว่าในช่วงที่เป็นช่วงวันหยุดยาวเช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือ สงกรานต์ หรือรวมถึงช่วงปิดเทอม ว่าพฤติกรรมการเรียน หรือพฤติกรรมโดยรวมทดถอยลง จากเด็กที่เคยมีสมาธิดี ร่าเริ่ง กลับกลายเป็นเด็กที่มีสมาธิน้อยลงเรื่อยๆ หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักโดยทั่วไปที่ส่งผลให้เด็กๆ มีพฤติกรรมดังกล่าวคือการที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ถือว่าเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนทั้งของตนเองและบุตรหลาน จึงปล่อยเวลาให้เด็กๆ อยู่กับกรอบสี่เหลี่ยมประเภท จอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์มาก จนเด็กๆ ไม่สนใจกับการทำกิจกรรมอื่นๆ การเสพจอสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้มีการจำกัดเวลา หรือมีกรอบของเวลาไว้ เด็กหลายๆ คนสมาธิก็เสียไปกับมันเลยทีเดียว จากเด็กที่เคยมีสมาธิ อยู่กับอะไรได้นานๆ สมาธิก็จะลดลงจนในที่สุด ก็อาจส่งผลให้เกิดสมาธิสั้นเนื่องจากการเลี้ยงดูในที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตพฤติกรรมที่ทดถอยของบุตรหลานได้ตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ก็ยังพอสามารถที่จะหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ในยุคของเทคโนโลยี ที่ทุกคนต่างเร่งรีบในทุกกิจกรรม ยากนักที่จะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ในช่วงต้นๆ และเด็กๆ จะถูกละเลย จนปัญหาเรื่องสมาธิแก้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นปัญหาใหญ่จนแก้ไม่ได้ เพียงแต่ยิ่งปล่อยให้เวลานานเท่าไร ปัญหายิ่งทับถมทวีคูณ จนไม่ใช่เป็นปัญหาเพียงปัญหาเดียว อาจมีปัญหาอื่นซ้อนขึ้นมาได้ การแก้ปัญหาทำได้โดยการมีกรอบเรื่องเงื่อนของเวลามาเป็นเกณฑ์ ไม่ควรปล่อยให้เขามีกิจกรรมอยู่กับจอสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว ควรมีกิจกรรมที่เสิรมทักษะที่เหมาะกับวัย เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มากกกว่าการนั่งจ้องเจ้าจอสี่เหลี่ยมไปตลอดวัน มาช่วยกันใส่กรอบให้กับเด็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เรื่องวินัยไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ครูจา
Mar 18
ปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน ในช่วงปิดภาคเรียน คือการที่ไม่มีใครคอยดูแลบุตรหลาน จึงทำให้ต้องฝากบุตรหลานไว้กับญาติ หรือคุณปู่คุณย่าให้อยู่กับบ้าน โดยมีเครื่องทุ่นแรงอย่างเกมส์ หรือคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเวลาในการทำงานของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นจะอยู่ระหว่าง 8 – 10 ชั่วโมง ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครเป็นคนกำหนดเวลาในการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเกมส์ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับเกมส์เป็นเวลานาน ปัญหานี้จะมีความรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต เนื่องจากเด็กเล็กต้องการการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องการอ่าน ซึ่งต้องมีประสบการณ์คือการอ่านให้มาก การเขียน ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ยากกว่าการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการฝึกให้เด็กมีความอดทน หรือสมาธิกับการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ในขณะที่เด็กโตผ่านการเขียน การอ่าน จึงไม่ต้องการการฝึกฝนในทักษะดังกล่าว ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักถือว่าช่วงเวลาปิดภาคเรียน ต้องการให้เด็ก ได้หยุดพักกับการคร่ำเคร่ง ร่ำเรียนวิชามากมาย แต่หากเราปล่อยให้เขาหยุดพักกับเกมส์ โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนเวลา สิ่งที่ได้กลับมา ก็คือเวลาที่หายไป
Jun 03
หากคุณพ่อ คุณแม่สมัยใหม่นึกย้อนกลับไปดี ๆ เมื่อสมัยที่คุณยังเป็นเด็กอยู่นั้น จะพบว่าเด็กในสมัยก่อน กับสมัยนี้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ ขนาดของครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว การดูแลเอาใจใส่ การเลือกโรงเรียน หรือแม้แต่การอบรมเลี้ยงดู
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของวิถีชีวิตในแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของคนไทย ทุกสิ่งทุกอย่างสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารใช้เวลาสั้นลง จนเกิดเป็นความเคยชินจนลืมนึกถึงบางอย่างที่ไม่สามารถเร่งหรือย่นระยะเวลาได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น เราไม่สามารถเร่งให้เด็กเดินได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก ซึ่งการที่เด็กแต่ละคนจะสามารถเดินได้นั้น ก็ต้องเริ่มมีการพัฒนาเรื่องการทรงตัวจากการนั่ง และการคลานก่อน นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างทางด้านร่างกายก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน หากเด็กยังมีกระดูกหรือกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง การเดินก็ถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อตัวเขาเช่นกัน
การยกตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เปรียบเสมือนกับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน หรือเด็กหลาย ๆ คนอาจต้องการวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นไม่ได้แปลว่าเขามีปัญหาในการเรียนรู้ แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งหมายถึงพ่อแม่ ครู อาจารย์ มักใช้ข้อสอบหรือแบบทดสอบในการวัดผลออกมาในรูปของคะแนน เนื่องจากเป็นผลที่ออกมาเป็นตัวเลขได้แน่นอน สิ่งต่าง ๆ ที่วัดออกมา บางคนอาจเรียกว่าความฉลาด ความเข้าใจ หรือความรู้ แต่โดยรวมเข้าใจได้ว่าคือ “IQ” นั่นเอง
นอกจาก IQ แล้ว งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็ยังสนับสนุนว่ายังมีความฉลาดด้านอื่น ๆ อีกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็ก ซึ่งพอสรุปได้อีก 2 ประเด็นก็คือ EQ , SQ
เราจะมาพูดถึงทีละประเด็น ซึ่ง Q ต่อมาคือ EQ หลาย ๆ คนทราบดีว่า EQ คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมายความว่าเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ หลาย ๆ ครอบครัวที่ปล่อยปละละเลยกับการส่งเสริมการมี EQ ของเด็ก มักทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การส่งเสริมนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เกมส์ต่าง ๆ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ ให้รู้จักแพ้ชนะ (เกมส์ที่แนะนำควรเล่นกันในครอบครัว เช่น เกมส์เศรษฐี บันไดงู) ในช่วงแรกของการเล่น เด็กจะไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ แต่เมื่อสร้างสถานการณ์ขึ้นบ่อย ๆ แล้วมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ เด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่มีผู้ใหญ่ที่คอยชี้แนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม การที่เด็กถูกปล่อยให้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ IPad โดยเล่นอยู่คนเดียว จึงมีโอกาสที่เด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างง่ายดาย
Q ต่อมาคือ SQ (Spiritual intelligence) ความหมายของ SQ ไม่มีบทเฉพาะตัว แต่พอจะกล่าวกว้าง ๆ ได้ว่าคือความฉลาดในความอดทน การประเมินตนเอง การรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าความรู้หลายเท่ามาก หากเด็กคนใดที่มีการฝึกในเรื่องของ AQ, SQ, MQ มาเป็นอย่างดี ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขทั้งในหน้าที่การงานและชีวิต เนื่องจากเขาสามารถเปลี่ยนทัศนคติในเชิงลบให้เป็นบวกได้ หรือปล่อยวางสิ่งที่ตนเองไม่สามารถแก้ไขได้ คนที่มี SQ ที่ดีมักเป็นคนที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี (ซึ่งไม่ได้หมายถึงฐานะทางการเงิน แต่เป็นความรักความอบอุ่น)นั่นเอง
ครูจา
Apr 17
Posted by malinee on Tuesday Apr 17, 2012 Under เกร็ดความรู้
ด้วยยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สังคม การสื่อสาร โทรคมนาคม ใช้เวลาสั้นลง ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับกลไกหรือกระบวนการคิดของคนในสังคม ให้มีแนวทางที่แตกฉาน รอบรู้มากขึ้น แต่น่าเสียดาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเสมือนดาบสองคม ที่ส่งผลให้กระบวนการในการเรียนรู้แบบลัดขั้นตอน ไม่ผ่านกระบวนการคิด การลองผิดลองถูก ของเด็ก ,เยาวชน หรือแม้แต่คนในวัยทำงาน ซึ่งเป็นเหตุให้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่ควรได้รับการพัฒนา หายไปโดยสิ้นเชิง
หากลองพิจารณาแล้ว จะพบว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่เราพบกันอยู่บ่อย ๆ เป็นปัญหาของคน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ และกลุ่มคนทำงาน ถ้าสาวปัญหากันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและกระบวนการคิด ทั้งสิ้น
หากท่านเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกขับข้องใจ กับปัญหาดังกล่าว มาช่วยกันคิดดีกว่าว่า “ทำไมแนวโน้มของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนทำงาน จึงขาดทักษะในเรื่องกระบวนการคิดเหมือน ๆ กันไปหมด ”
จากแนวโน้มดังกล่าวมันทำให้เราพอจะจับแนวทางของการเลี้ยงดูกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิต กระบวนการการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมองย้อนมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นภาพชัดขึ้นก็คือ
เด็กรุ่นใหม่ เรียนกัน จันทร์ ถึง ศุกร์
พ่อแม่สุข ทุกอย่างครบ จบทุกงาน
พอถึงบ้าน สุขี มี IPad
บางที chat บางที face อัพเดทข้อมูล
ได้เพิ่มพูน เพื่อนใหม่ ใน profile
น่าสงสัย คนอยู่ใกล้ ไม่ทักกัน
เล่นข้ามวัน ข้ามคืน ไม่หลับนอน
แต่ตอนเช้า หาวหวอด ไม่ปลอดโปร่ง
โคลงเคลงหัว ตัวหนัก ๆ ชักไม่สบาย
พอตกบ่าย คลายง่วง ก็ห่วงหา
นับเวลา ถอยหลัง นั่งหน้าจอ
ใจจดจ่อ ไม่เพียร เขียนอ่านเลย
ครูจา
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
May 25
Posted by malinee on Wednesday May 25, 2011 Under เกร็ดความรู้
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือยุคที่เราเรียกกันว่า Globalization ซึ่งมันทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ชีวิตในแบบที่เป็นคนไทยก็เปลี่ยนแปลงไป ร้อยละ 70 – 80 ของครอบครัวในยุคปัจจุบัน พ่อและแม่จะต้องทำงานนอกบ้าน แล้วปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยง ในช่วงก่อนวัยเรียน แต่เมื่อโตขึ้น บทบาทของพี่เลี้ยงก็จะน้อยลง ตัวเด่นในวัยเรียนในยุคปัจจุบันมักเป็นทีวี อินเตอร์เน็ท และ เกมส์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมีการเลือกใช้หรือกำหนดเวลาก็จะเป็นประโยชน์ แต่หลาย ๆ ครอบครัวที่ให้สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นมักไม่มีเวลาในการเลือก ถือว่ามันเป็นตัวฆ่าเวลาให้อยู่เป็นเพื่อนลูก ซึ่งแฝงไว้ด้วยความก้าวร้าว จึงทำให้มีงานวิจัยหรือผลสำรวจมากมายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวว่า เด็กไทยไอคิวต่ำ และทำให้แนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ เป็นเด็กที่ไม่มีความอดทนกับการรอคอย ไม่พยายามทำในสิ่งที่ยาก หรือต้องใช้ความสามารถ รวมถึงขาดสมาธิในการเรียน เป็นเหตุให้เด็กไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่พยายามฝึกฝนในการฝ่าฝันอุปสรรค ไม่มีทักษะในการแก้ปัญหา
ถ้าเด็กในวัยเรียนยังไม่มีความพยายามในการเรียน แล้วเมื่อไหร่เขาเหล่านั้นจะพร้อมที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมที่จะดูแลรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัวและสังคม ดังนั้นหยุดทำร้ายเขาด้วยการหยิบยื่นสิ่งมอมเมาหรือ สิ่งเร้าในวัยที่เขายังไร้เดียงสา ยังไม่รู้จักเลือกสิ่งที่ควรและไม่ควร ก่อนที่จะทำลายอนาคตของเขาไปชั่วนิรันดร์