ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว

            ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค)  , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต) และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน  การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้ แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแก้ไขได้             เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า IQ คือวัตถุดิบที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียน  ส่วน EQ นั้น จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของทักษะการเข้าสังคม และทักษะทางอารมณ์ ที่แสดงออกมา นักวิจัยหลาย ๆ ท่านมักกล่าวว่า EQ จะทำให้คนประสบความสำเร็จได้มากกว่า IQ ทั้ง ๆ ที่IQ เป็นตัวชี้วัดความฉลาด นั่นเป็นเพราะการที่คนเราเมื่ออยู่ในองค์กรใด ๆ จะทำสิ่งใดก็ตามให้สำเร็จด้วยนั้น จะต้องมีการทำงานแบบเป็นทีม ต้องมีการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแม้แต่การต่อรองทางธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ EQ มากกว่า IQ

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง IQ กับ EQ คือ EQ เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรมเลย ดังนั้นพ่อแม่ หรือ ครู สามารถส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ได้

EQ คืออะไร?

เมื่อพูดถึง EQ หลาย ๆ คนมักคิดแต่เพียงเรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว EQ กล่าวโดยรวมว่า เป็นการเห็นคุณค่าของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  การแสดงออกในเชิงบวก (การรู้จักควบคุมอารมณ์) และการมีทักษะทางด้านสังคมที่ดี  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การเรียนรู้ทางด้านสังคมและอารมณ์ นอกจากส่งผลให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว  ยังช่วยลดความรุนแรงทางอารมณ์ลงอีกด้วย

วิธีการส่งเสริมให้เด็กมี EQ ที่ดี

ในช่วงที่เด็กอยู่ในวันก่อนวัยเรียน พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็ก เนื่องจากเด็กในวัยดังกล่าวจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ เราควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก รับฟังเมื่อเขาต้องการจะบอกบางอย่างกับเรา การหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท มีระเบียบวินัยที่ขัดเจน ลงโทษเมื่อเด็กทำผิด และกล่าวชื่นชมเมื่อเขาทำดี สร้างบรรยากาศให้มีความรู้สึกปลอดภัย ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ต้องคอยปกป้องทุกอย่างให้กับเขา ในบางเรื่องต้องให้เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดเป็นอันตราย หรือไม่ควรเข้าใกล้ ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง   และสิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการที่พ่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง การมีระเบียบวินัย และการเห็นคุณต่าของตนเอง

จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วเราจะพบว่าการสร้าง หรือ พัฒนา EQ ให้กับเด็กเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยดูแลเอาใจใส่ให้เขาเหล่านั้นเติบโตตามวัย และเขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุขต่อไป

ครู จา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments