Feb 10
#นี่เราอยู่ระหว่างสงครามรึปล่าวเนี่ จากเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เราคงต้องย้อนกลับมาดูกันหน่อยมั้ยว่า โครงสร้างทางสังคมของเรามันผิดเพี้ยนไป ลักษณะเด่นของความเป็นคนไทยเป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน รู้จักผิดชอบชั่วดี มีน้ำใจ เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่หลังจากเหตุการณ์ข่าวต่างๆที่ได้ยินอย่างต่อเนื่อง ทั้งฆาตกรต่อเนื่อง นายสมคิด , ผ.อ. กอล์ฟ คดีปล้นทอง, ไอซํืหีบเหล็ก และล่าสุดนายทหารคลั่งที่โคราช
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นแนวโน้มของสังคมที่ใช้ความรุนแรงโดยขาดความยั้งคิด ในแต่ละคดีที่เกิดขึ้น เกิดจากความโลภ ใช้เงินเกินรายได้ที่มี อยากได้รับการยอมรับนับหน้าถือตา ประกาศให้ทุกคนรู้เรื่องความสุขของตนในการใช้ชีวิตหรูหราบนสังคมออนไลน์ โดยการกู้หนี้ยืมสิน เมื่อถูกทวงหนักเข้าก็หาทางออกโดยการก่อคดีปล้น เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น
คดีของไอซ์หีบเหล็ก เป็นอีกคดีสะเทือนใจ จากข่าวที่มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องถุูกฆ่า แล้วศพก็ถูกอำพรางโดยการใส่หีบเหล็กทิ้งไว้ในบ่อน้ำในบ้านที่ตนเองอยู่ โดยที่ไม่รู้สึกถึงสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป แต่กลับก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากคำให้การของคนที่ทำงานกับทางครอบครัวของไอซ์ อาจวิเคราะห์ได้ใว่าเค้าขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ ไม่มีใครคอยอบรมบ่มนิสัย ประกอบกับการติดยาเสพติด ทำให้สมองในส่วนของความรู้จักยั้งคิดหายไป ใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียว
คดีสุดท้าย คือคดีของนายทหารคลั่ง เป็นคดีที่สะเทือนใจที่สุดเพราะผู้ก่อคดีเป็นคนในเครื่องแบบ ซึ่งหน้าที่ของทหารคือป้องกันอริราษฎร์ศัครู แต่ในครั้งนี้ ทหารเองเป็นผู้หันปลายกระบอกปืนเข้าหาประชาชนที่ไม่ได้รู้เรื่อง เพียงเพราะคุณคิดว่าคุณอยู่ในโลกของเกมส์ออนไลน์ โดยที่คุณปล้นอาวุธครบมือ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันตัว แล้วลงใน fb ประกาศตนว่ามีใครจะกล้าลุยกับคุณมั้ย นี่คือผลของจินตนาการจากเกมส์ออนไลน์ที่ออกมาบนโลกของความเป็นจริงกับคนอายุ 32 ที่มีวุฒิภาวะ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ที่เกิดขึ้นมันชี้ชัดแล้วว่า จินตนาการในเกมส์ออนไลน์ การฆ่าเป็นการเก็บแต้ม การขโมยอาวุธ เพื่อให้การเก็บแต้มมีประสิทธิภาพ คงเห็นแล้วนะว่าเกมส์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆอีกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น.มันเกิดขึ้นกับคนที่มีวุฒิภาวะแล้ว แต่ถ้าคุณจะยังคงส่งเกมส์ลักษณะนะให้กับบุตรหลานที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ ก็คงจะมีข่าวอาชญากรรมเกิดขึ้นไม่ใช่แค่รายวันแล้ว คงต้องตามกันเป็นรายชั่วโมง
… ใส่ใจบุตรหลานของตนเองเถอะคะ ให้เวลากับเค้า อย่าให้เครื่องมือสื่อสารมาแทนทีี่เวลาของครอบครัว ที่เหลือจากหลังเวลาเลิกงานที่เหลือไม่ถึง 10 ชัวโมง มานั่งพูดคุยสารทุกข์สุกดิบ เล่าประสบการณ์ของแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ สิ่งที่ลูกทำผิดก็อบรม สอนเค้า เรื่องการใช้ความรุนแรงต้องสอนลูก หรือให้เค้าได้แสดงความคิดเห็นหากจะมีการเปลี่ยนแปลง บางอย่าเล็กๆ น้อยๆ ให้เค้าได้รู้ว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งและมีความสำคัญในครอบครัว แล้วเค้าจะไม่ไปพยายามเป็นคนสำคัญนอกบ้าน ไม่ไปแสวงหาความรักจากที่อื่น ถ้าที่บ้านมีให้เค้าจนเต็ม….
#ในนามสถาบันคิดสแควร์ขอแสดงความเสียใจกับครอบผู้เสียชีวิตในทุกๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
#ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานทุกท่านที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องทุกชีวิต
#อยากให้เกิดขึ้นอีกเลย
#เคารพด้วยหัวใจ
#สถาบันคิดสแควร์
Jun 03
หากคุณพ่อ คุณแม่สมัยใหม่นึกย้อนกลับไปดี ๆ เมื่อสมัยที่คุณยังเป็นเด็กอยู่นั้น จะพบว่าเด็กในสมัยก่อน กับสมัยนี้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ ขนาดของครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว การดูแลเอาใจใส่ การเลือกโรงเรียน หรือแม้แต่การอบรมเลี้ยงดู
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของวิถีชีวิตในแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของคนไทย ทุกสิ่งทุกอย่างสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารใช้เวลาสั้นลง จนเกิดเป็นความเคยชินจนลืมนึกถึงบางอย่างที่ไม่สามารถเร่งหรือย่นระยะเวลาได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น เราไม่สามารถเร่งให้เด็กเดินได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก ซึ่งการที่เด็กแต่ละคนจะสามารถเดินได้นั้น ก็ต้องเริ่มมีการพัฒนาเรื่องการทรงตัวจากการนั่ง และการคลานก่อน นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างทางด้านร่างกายก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน หากเด็กยังมีกระดูกหรือกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง การเดินก็ถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อตัวเขาเช่นกัน
การยกตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เปรียบเสมือนกับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน หรือเด็กหลาย ๆ คนอาจต้องการวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นไม่ได้แปลว่าเขามีปัญหาในการเรียนรู้ แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งหมายถึงพ่อแม่ ครู อาจารย์ มักใช้ข้อสอบหรือแบบทดสอบในการวัดผลออกมาในรูปของคะแนน เนื่องจากเป็นผลที่ออกมาเป็นตัวเลขได้แน่นอน สิ่งต่าง ๆ ที่วัดออกมา บางคนอาจเรียกว่าความฉลาด ความเข้าใจ หรือความรู้ แต่โดยรวมเข้าใจได้ว่าคือ “IQ” นั่นเอง
นอกจาก IQ แล้ว งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็ยังสนับสนุนว่ายังมีความฉลาดด้านอื่น ๆ อีกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็ก ซึ่งพอสรุปได้อีก 2 ประเด็นก็คือ EQ , SQ
เราจะมาพูดถึงทีละประเด็น ซึ่ง Q ต่อมาคือ EQ หลาย ๆ คนทราบดีว่า EQ คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมายความว่าเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ หลาย ๆ ครอบครัวที่ปล่อยปละละเลยกับการส่งเสริมการมี EQ ของเด็ก มักทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การส่งเสริมนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เกมส์ต่าง ๆ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ ให้รู้จักแพ้ชนะ (เกมส์ที่แนะนำควรเล่นกันในครอบครัว เช่น เกมส์เศรษฐี บันไดงู) ในช่วงแรกของการเล่น เด็กจะไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ แต่เมื่อสร้างสถานการณ์ขึ้นบ่อย ๆ แล้วมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ เด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่มีผู้ใหญ่ที่คอยชี้แนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม การที่เด็กถูกปล่อยให้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ IPad โดยเล่นอยู่คนเดียว จึงมีโอกาสที่เด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างง่ายดาย
Q ต่อมาคือ SQ (Spiritual intelligence) ความหมายของ SQ ไม่มีบทเฉพาะตัว แต่พอจะกล่าวกว้าง ๆ ได้ว่าคือความฉลาดในความอดทน การประเมินตนเอง การรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าความรู้หลายเท่ามาก หากเด็กคนใดที่มีการฝึกในเรื่องของ AQ, SQ, MQ มาเป็นอย่างดี ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขทั้งในหน้าที่การงานและชีวิต เนื่องจากเขาสามารถเปลี่ยนทัศนคติในเชิงลบให้เป็นบวกได้ หรือปล่อยวางสิ่งที่ตนเองไม่สามารถแก้ไขได้ คนที่มี SQ ที่ดีมักเป็นคนที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี (ซึ่งไม่ได้หมายถึงฐานะทางการเงิน แต่เป็นความรักความอบอุ่น)นั่นเอง
ครูจา
Feb 13
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
Sep 08
Posted by malinee on Thursday Sep 8, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากบทความต่าง ๆ ที่ผ่านมา เราจะพบว่าครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญที่สุดกับเด็ก ทั้งในด้านการเรียน การเข้าสังคม ความมีระเบียบวินัย และ คุณธรรม จริยธรรมในตัวเด็ก ซึ่งจะเกิดการบ่มเพาะทีละเล็กละน้อยตั้งแต่เขาลืมตาวันแรก ครอบครัวจะเป็นกลไกหลักในการผลักดัน หรือ ขับเคลื่อน ให้เด็กแต่ละคนเติบโตไปในทิศทางใด ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวเป็นแหล่งพลังงานที่คอยประคองให้เขาได้ก้าวไปเผชิญกับโลกภายนอกในภายภาคหน้า
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่นในวัยที่เขาต้องการแล้ว เขาก็จะคอยไขว่ขว้าความรักจากคนที่ผ่านเข้ามา ซึ่งปัจจุบันนี้เรามักพบว่าทั้งพ่อและแม่ต่างพากันออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ส่วนใหญ่แล้วออกจากบ้านก่อนหน้าลูกตื่น และกลับเข้าบ้านเพื่อพาตัวเองมาให้ถึงที่นอนเท่านั้น เด็กไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นการพูดคุย เล่าประสบการณ์ การกอด โดยที่พ่อแม่ไม่เคยรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกต้องการ รู้เพียงสิ่งที่ตนเองต้องการโดยมีลูกเป็นข้ออ้างว่าทำเพื่อเขา สุดท้ายเด็กก็เกิดความเคยชิน จนกลายเป็นความชินชาต่อความรู้สึกต้องการ ไม่มีความกระตือรือร้น เก็บตัว ไม่เข้าสังคม เป็นคนไม่มีความพยายาม เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป เขาก็เรียนรู้ที่จะไปหาสิ่งที่คิดว่าตนเองต้องการ จึงทำให้ติดเพื่อน หรือเสียคนในที่สุด เปรียบไปก็เหมือนแม๊กมาที่อยู่ใต้ภูเขาไฟ รอจนกว่าพลังงานจะเพียงพอที่จะประทุระเบิดออกมา จนเกิดความเสียหายไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง