Nov 13

ปัจจุบันมีหลายๆ คนที่ต้องคลุกคลีกับการดูแลเด็กเป็นกลุ่ม จะพบว่า แนวโน้มจะพบเด็กที่เป็นเด็กพิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กพิเศษในที่นี้ จะไม่รวมถึงเด็กที่เฉื่อย หลายๆ ครอบครัวอาจรู้เท่าทัน ก็พาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการลดการกระตุ้นหรือสิ่งเร้าต่างๆ ในบางรายอาจเลือกวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม หรือในบางหลายๆ ครอบครัวอาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาร่วมเพื่อบำบัด หรือควบคุมอาการให้อยู่ในขอบเขต
หลายๆ คนอาจเคยอ่านบทความเกี่ยวกับเด็กพิเศษมาบ้างแล้ว หากมีการสืบประวัติการเลี้ยงดู มักพบว่าเด็กพิเศษแนวโน้มเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูมากกว่าพันธุกรรม นั่นหมายความว่า เด็กพิเศษนั้น จะแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่เป็นหลัก หากการดูแลบุตรหลาน โดยให้เครื่องมืออิเล็คโทรนิคส์เป็นผู้ช่วย หากเค้ายังมีอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ในมือ ก็สามารถนั่งนิ่งติดได้นาน แต่เมื่อถอดอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นออก พลังงานที่ควรใช้ จะถูกนำออกมาใช้ในช่วงนี้ ทำให้เค้าไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานเลย ซึ่งในช่วงเวลาที่ต้องนั่ง คือช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ที่ต้องมีการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ กลับกลายเป็นช่วงที่ลุกลี้ลุกลนอยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา
ทางเลือกที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่นิยมเลือกคือ การใช้ยาเข้าช่วย เพื่อกดอาการสมาธิสั้น ให้เด็กได้อยู่นิ่งในช่วงของการเรียน เพื่อให้เค้านั่ง ตั้งใจในสิ่งที่ครูกำลังสอน แต่การใช้ยาจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หลายๆ ครั้งเมื่อใช้ยาไปนานๆ อาจเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น้อยลง จนทำให้ต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้น ในช่วงของการปรับยา นั่นหมายความว่า เด็กถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้ผลการเรียนแย่ลง เหตุการณ์แบบนี้ จะย้อนกลับมาทุกครั้ง หากทางบ้านยังไม่ปรับวิธีการเลี้ยงดู ไม่ลดสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ และในที่สุดสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเกิดความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ก็ดุ ด่าว่ากล่าว หรือบางรายอาจใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีใดๆ เลย
หากเป็นเช่นนั้น เราควรทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ที่จะดูแลบุตรหลานของตน ต้องเรียนรู้จากบุตรหลาน และคอยสังเกตว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้นให้ได้ เรียนรู้ที่จะให้อภัย เพราะหลายๆ ครั้งที่บางสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากความไม่ทันได้ยั้งคิด ทำโดยไม่ได้เจตนา แต่ต้องมีการพูดคุย โดยจัดบรรยากาศให้สงบ เพื่อให้เค้าได้มีสมาธิ ได้ฟัง (ไม่ใช่แค่ได้ยิน) ได้คิดตรึกตรองในสิ่งที่เราพูด เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นกับเค้าในเวลาที่เค้าไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เราต้องการ และสุดท้ายคือยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดเกินครึ่งที่เกิดจากการเลี้ยงดูของเราเอง ที่เลี้ยงเค้าในวัยเด็ก ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปรับพฤติกรรมให้เป็นปกติได้มากที่สุด และทำให้เค้าได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
Jun 02
เปิดเทอมใหม่แล้ว นอกจากเด็กๆ จะเลื่อนชั้นขึ้น และโตขึ้นอีกหนึ่งปีแล้ว ยังต้องมีการเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาเดิมที่ยากและมีความซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจเจอเนื้อหาการเรียนใหม่ๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้นในช่วงของการเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องดูแลเอาใจใส่ หรือช่วยในเรื่องการกระตุ้นให้เด็กมีกำลังใจในการเรียนสิ่งใหม่ๆ ที่ยากขึ้น
การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่พอเหมาะพอดีนั้น จะมีส่วนช่วยเหลือ หรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความรับผิดชอบ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ยากขึ้น
การดูแลเอาใจใส่ที่น้อยเกินไป อาจส่งผลให้เด็กมีการเรียนที่ตกต่ำลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในบทเรียน ไม่ทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย หรือเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบมากพอ ต้องได้รับการกระตุ้นเตือนจากผู้ปกครอง
ในทางตรงกันข้ามครอบครัวที่มี พ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลเอาใจใส่เกินพอดี กลับเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมีการเรียนที่แย่ลงได้เช่นกัน เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ที่ทำ (งาน) แทนไปทุกอย่าง หรือการชี้นำในทุกๆ เรื่องนั้น ทำให้เด็กกลัวการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะถือว่าเป็นเรื่องยาก
เด็กจะไม่มีความพยายามในการฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง รอคอยแต่ความช่วยเหลือตลอดเวลา กลัวความผิดพลาด เพราะไม่อยากกลับมาแก้ไขอีกครั้ง เปรียบเหมือนกับหนอนผีเสื้อที่มีคนช่วยมันออกจากรังดักแด้ อยู่ได้เพียง 1 – 2 ชั่วโมงก็ต้องตาย เนื่องจากปีกที่ไม่แข็งแรง เช่นเดียวกับธรรมชาติสร้างรังดักแก้ที่มีเอนไซม์ที่ทำให้ปีกของมันแข็งแรงตอนที่มันพยายามจะขยับออกจากรังของมัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรอดทนรอคอยให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์ทั้งทางบวก และทางลบในทุกๆ เรื่อง เพื่อให้ปีกของเขาได้แข็งแรงเหมือนผีเสื้อที่จะโบยบินไป
ครูจา
Nov 20
เด็กสมาธิสั้นกับจินตคณิต
จากบทความเรื่องเด็กสมาธิสั้น พอจะมองเห็นภาพหรือคำจัดความของเด็กสมาธิสั้นกันบ้างแล้ว หลาย ๆ ครอบครัวมักคิดว่า เด็กสมาธิสั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และหลาย ๆ ครอบครัวก็ไม่เปิดใจยอมรับกับการเป็นเด็กสมาธิสั้นของบุตรหลานของตน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากพ่อ แม่ ผู้ปกครองเปิดใจยอมรับ และพาเด็กไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้บรรเทาอาการที่เป็นอยู่ให้ทุเลาลง และเพื่อส่งเสริมให้เด็กสามารถจดจ่อมีสมาธิอยู่กับกิจกรรมที่ทำได้มากขึ้นต่อไป
จินตคณิตก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ปกครองหลาย ๆ คน ซึ่งจินตคณิตเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ฝึกให้เด็กได้มีวินัยในการทำงาน (การบ้านนอกเวลา) ดังนั้นการเรียนจินตคณิตจึงเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กสมาธิสั้นในกลุ่มที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้น ที่มีอาการไม่รุนแรงนักได้ เนื่องจากเด็กยังมีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่บ้าง แต่จะไม่เหมาะกับเด็กที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา เนื่องจากในการใช้ลูกคิดนั้น เด็กจะต้องจดจ่ออยู่กับโจทย์และแกน (หลักหน่วย) ในการหาคำตอบแต่ละข้อ แต่เด็กในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกจะมีสมาธิไม่ครบข้อ ในขณะที่เด็กในกลุ่มที่ได้รับการฝึกมาบ้าง จะเป็นการกระตุ้นให้จดจ่ออยู่กับโจทย์ในแต่ละข้อ จนกลายเป็นแต่ละแถว และในที่สุดก็เป็นหน้า ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดังนั้นสิ่งแรกที่จำเป็นต่อครอบครัวของเด็กสมาธิสั้น คือ การเปิดใจยอมรับ และเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อรักษา และเพิ่มกิจกรรมเสริมสมาธิต่าง ๆ เช่นการเล่นกีฬา โยคะ หรือศิลปะ เป็นต้น เพื่อพัฒนาสมาธิให้ยาวนานต่อเนื่องพอที่จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากโรงเรียนที่มีมากขึ้นเมื่อเขาโตขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่ได้เป็นสมาธิสั้น แต่ด้วยวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่กระตุ้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง หรือการเลี้ยงดูที่ปล่อยปละละเลย ทำให้เด็กขาดระเบียบวินัย วิธีการเลี้ยงดูดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบในด้านลบมากกับเด็กในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้เด็กปกติ กลายเป็นเด็กที่ขาดความสนใจในการเรียนรู้ เฉื่อย ไม่พยายามคิด หรือ ทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้ความพยายามเลย ส่งผลให้ไม่ว่าจะมีการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างไร เด็กไทยก็ยังคงเป็นเด็กที่อยู่ในแนวหลัง เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ต่อไป
Dec 12
จากที่กล่าวมาแล้ว ก็จะพบว่าไม่ว่าจะเป็น IQ (ความฉลาด สติปัญญา) หรือ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ต่างก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ดังนั้นเพื่อพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านอารมณ์และสติปัญญา เด็ก ๆ ควรจะได้รับการส่งเสริมทั้งสิ้น
นอกจาก 2Qs ดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สำคัญลำดับต่อไป นักวิชาการมักเรียกว่า “AQ “ (Adversity quotient) ซึ่งหลาย ๆ คนเข้าใจว่า AQ เป็นเพียงความมุ่งมั่นในการทำให้สำเร็จ ความพยายามที่จะทำสิ่งที่ท้าทาย แต่ AQ หมายรวมถึง การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส หรือ แม้กระทั่งการรู้จักยอมรับความผิดหวัง
จากคำจำกัดความต่าง ๆ ข้างต้น เราสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม AQ ได้ ตัวอย่าง การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงก่อนวัยเรียน เราสามารถหากิจกรรมที่ท้าทายความสามารถให้เหมาะกับอายุได้ เช่นการให้เด็กร้อยเชือกผ่านชิ้นงานในแบบต่าง ๆ โดยมีต้นแบบให้ และเพิ่มความยากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความสนุก เมื่อได้ทำกิจกรรมที่ยากขึ้น ก็เป็นการส่งเสริมความพยายามที่จะทำให้สำเร็จได้ หรือเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็ก ๆ ก็จะต้องเข้าเล่น หรือทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งในการเล่นย่อมจะมีผู้แพ้ และผู้ชนะ ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงความผิดหวังบ้าง และเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็สามารถยอมรับ และเผชิญกับปัญหาได้มากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน หากครอบครัวใดไม่เคยส่งเสริมพัฒนาการทาง AQ อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าการตามใจ หรือให้ความช่วยเหลือจนเกินขอบเขตเป็นการบ่อนทำลายภูมิต้านทานเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ถึงความลำบาก ความพยายาม ความผิดหวัง หรือแม้กะทั่งการยอมรับในความพ่ายแพ้ เมื่อเขาเหล่านั้นโตขึ้น เข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้น โดยไม่มีใครสามารถปกป้องเขาได้อีก เขาจะรู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง จนมีโอกาสที่จะทำอะไรโดยขาดสติยั้งคิดได้ หากวันนี้เรายังคงพอมีเวลา เราควรหันกลับมาส่งเสิรมพัฒนาการทางด้านนี้ เพื่อให้เขาเติบโตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ครูจา
Oct 06
เด็กยุคใหม่หัวใจอินเตอร์ ร้อยละ 70 – 80 ของครอบครัวยุคนี้ เปิดโอกาสให้ลูกหลานของตัวเองได้ใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูงกันอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอนุบาล ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งของนอกกายมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้รู้เท่าทันและรู้จักเลือกใช้ไปในทางสร้างสรรค์ เช่นเพื่อการหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือดังกล่าว แต่เท่าที่เห็นในสังคมไทยเรานั้น การมีเทคโนโลยีดังกล่าว ก็เพียงเพื่อให้ตนเองได้ใช้มันเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาตนเองว่า “เราก็มีเหมือนกับคนอื่น ๆ” ซึ่งแท้จริงแล้วถามว่าได้นำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์นั้น ๆ ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ากับราคาแล้วหรือยัง? หรือเพียงแต่ถือพกให้ดูโก้เก๋เท่านั้น ซึ่งค่านิยมดังกล่าวนี้เป็นเพียงเปลือกให้กับคนที่ไม่มีหลักยึดใดๆ จำเป็นต้องอาศัยทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้ตนเองมีความรู้สึกว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปก็จะต้องพยายามที่เกาะติดสถานการณ์ไม่ให้หลุดกระแสนิยม ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา และไทยก็เสียดุลการค้าตลอดเวลาเช่นกัน
ค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ก็เช่นกัน เด็กรุ่นใหม่เกิดอยู่บนสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ หนำซ้ำบางบ้านยังมีพี่เลี้ยงคอยประเคนทำทุกอย่างให้ เวลาที่เด็กอยากได้อะไรก็ได้มาโดยง่าย ทำให้เด็กในปัจจุบันส่วนใหญ่ขาดความพยายาม และความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ขาดความอยากรู้อยากเห็น เพราะมุ่งความสนใจของตนเองไปอยู่กับเฟอร์นิเจอร์ที่มาประดับตกแต่งตนเองให้ดูดี สิ่งเหล่านี้เกิดเพียงเพราะผู้ใหญ่ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ให้กับเค้าตั้งแต่ในวัยเด็กโดยไม่รู้ตัว หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ครั้นเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการเรียนที่ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบอย่างเป็นเหตุเป็นผล เด็กก็ไม่ยอมคิดและมองไม่เห็นประโยชน์ในการเรียน เด็กเห็นแต่สิ่งของมีค่านอกกายให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมภายนอก เด็กจึงเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ในการเรียน ปัญหาที่ตามคือปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และทวีความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่ใครจะมาแก้ไขทันเพราะมันกลายเป็นปมขนาดใหญ่ที่ถูกมัดติดกันหลายๆ ครั้งจนยากที่จะแก้ไข
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถร่วมมือกันแก้ไขได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ โดยผู้ใหญ่จะต้องตระหนักว่าลูกหลานของเราจะต้องเติบโตขึ้นเพื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต และหากพวกเขาเหล่านั้นติดอยู่กับเทคโนโลยีที่เราจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศตลอดเวลาเช่นนั้น แล้วประเทศจะเหลืออะไร อนาคตลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ในฐานะของผู้ใหญ่ คือ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลับมาเป็นแบบพึ่งตนเองและพอเพียง
……………….อนาคตของประเทศชาติและลูกหลานของเราอยู่ในมือของเราทุกคน…………………….