จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย

หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน  นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย

จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป

อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย เรามักพบว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้นมักได้รับการชื่นชมว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่คิดนอกกรอบ ซึ่งหากเราสืบค้นกันจริงจังแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จโดยการคิดนอกกรอบเหล่านั้น ต้องตรากตรำ ค้นคว้า หาข้อมูล จนกระทั่งทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการเปลี่ยนสมมติฐานจากสิ่งที่คิดเดิมแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้บทสรุป หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้ากันเป็นเวลานาน

หลาย ๆ คนจึงคิดว่า การเลี้ยงดูเด็ก ไม่ควรจำกัดกรอบ หรือวิธีคิด หรือการคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดในสมัยเก่า ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีการศึกษาอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เด็กในรุ่นใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีวิธีคิดที่น่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง หากใครได้สัมผัสกับวิวัฒนาการของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักเห็นผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกระตือรือร้น ซึ่งนั่นหมายถึงความไม่พยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง  ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากทดลองที่มีความสลับซับซ้อน ต้องการสิ่งที่ได้มาง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือความพยายามใด ๆ  ………… น่าคิดว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

นักวิชาการหลาย ๆ คนกล่าวว่า การคิดนอกกรอบนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอ่านมาก ฟังมาก และรู้มาก  ซึ่งกว่าจะรู้มากก็ต้องฝึกให้ทักษะต่าง ๆ ทั้งการอ่านมาก คิดมาก ฟังให้มาก นั้นจะต้องผ่านกรอบของการฝึกฝนก่อน กระบวนการในการคิดนอกกรอบจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่คิดจากมุมที่ต่างไปจากเดิม (นั่นคือเราต้องมีความคิดเดิมของเราอยู่) , การคิดให้มีความหลายหลาย เหมือนการคิดแบบหมวก 6 ใบ (ซึ่งก็ต้องศึกษาก่อนและฝึกคิดเมื่อใส่หมวกแต่ละใบว่ามีแนวคิดอย่างไร) หรือประเด็นสุดท้ายคือคิดตรงข้ามกับความคิดเดิม (ยังไงก็ยังคงต้องมิความคิดเดิมอยู่ก่อน)

จะเห็นได้ว่า การคิดนอกกรอบนั้น เราสามารถที่จะฝึกให้เด็กคิดได้ ด้วยการที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการศึกษาข้อมูล อย่างถ่องแท้ หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือวิธีการอย่างจริงจัง อาจตกหลุมพรางของคำว่า “นอกกรอบ” กลายเป็น “การไร้วินัย”  ซึ่งมีหลายครอบครัวไม่สามารถแยกคำทั้งสองออกจากันได้

ครู จา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ด้วยยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สังคม การสื่อสาร โทรคมนาคม ใช้เวลาสั้นลง ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับกลไกหรือกระบวนการคิดของคนในสังคม ให้มีแนวทางที่แตกฉาน รอบรู้มากขึ้น  แต่น่าเสียดาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเสมือนดาบสองคม ที่ส่งผลให้กระบวนการในการเรียนรู้แบบลัดขั้นตอน ไม่ผ่านกระบวนการคิด การลองผิดลองถูก ของเด็ก ,เยาวชน หรือแม้แต่คนในวัยทำงาน  ซึ่งเป็นเหตุให้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่ควรได้รับการพัฒนา หายไปโดยสิ้นเชิง

หากลองพิจารณาแล้ว จะพบว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่เราพบกันอยู่บ่อย ๆ เป็นปัญหาของคน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ และกลุ่มคนทำงาน ถ้าสาวปัญหากันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและกระบวนการคิด ทั้งสิ้น

หากท่านเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกขับข้องใจ กับปัญหาดังกล่าว มาช่วยกันคิดดีกว่าว่า “ทำไมแนวโน้มของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนทำงาน จึงขาดทักษะในเรื่องกระบวนการคิดเหมือน ๆ กันไปหมด     ”

จากแนวโน้มดังกล่าวมันทำให้เราพอจะจับแนวทางของการเลี้ยงดูกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิต กระบวนการการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมองย้อนมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นภาพชัดขึ้นก็คือ

เด็กรุ่นใหม่                เรียนกัน                    จันทร์ ถึง ศุกร์

พ่อแม่สุข                   ทุกอย่างครบ             จบทุกงาน

พอถึงบ้าน                 สุขี                              มี IPad

บางที chat                บางที face                 อัพเดทข้อมูล

ได้เพิ่มพูน                 เพื่อนใหม่                  ใน profile

น่าสงสัย                    คนอยู่ใกล้                 ไม่ทักกัน

เล่นข้ามวัน                 ข้ามคืน                     ไม่หลับนอน

แต่ตอนเช้า                 หาวหวอด                ไม่ปลอดโปร่ง

โคลงเคลงหัว            ตัวหนัก ๆ                  ชักไม่สบาย

พอตกบ่าย                 คลายง่วง                  ก็ห่วงหา

นับเวลา                      ถอยหลัง                     นั่งหน้าจอ

ใจจดจ่อ                      ไม่เพียร                       เขียนอ่านเลย

ครูจา

 

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments