เด็กยุคใหม่หัวใจอินเตอร์ ร้อยละ 70 – 80 ของครอบครัวยุคนี้ เปิดโอกาสให้ลูกหลานของตัวเองได้ใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูงกันอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอนุบาล ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งของนอกกายมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้รู้เท่าทันและรู้จักเลือกใช้ไปในทางสร้างสรรค์ เช่นเพื่อการหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือดังกล่าว แต่เท่าที่เห็นในสังคมไทยเรานั้น การมีเทคโนโลยีดังกล่าว ก็เพียงเพื่อให้ตนเองได้ใช้มันเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาตนเองว่า “เราก็มีเหมือนกับคนอื่น ๆ” ซึ่งแท้จริงแล้วถามว่าได้นำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์นั้น ๆ ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ากับราคาแล้วหรือยัง? หรือเพียงแต่ถือพกให้ดูโก้เก๋เท่านั้น ซึ่งค่านิยมดังกล่าวนี้เป็นเพียงเปลือกให้กับคนที่ไม่มีหลักยึดใดๆ จำเป็นต้องอาศัยทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้ตนเองมีความรู้สึกว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปก็จะต้องพยายามที่เกาะติดสถานการณ์ไม่ให้หลุดกระแสนิยม ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา และไทยก็เสียดุลการค้าตลอดเวลาเช่นกัน
ค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ก็เช่นกัน เด็กรุ่นใหม่เกิดอยู่บนสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ หนำซ้ำบางบ้านยังมีพี่เลี้ยงคอยประเคนทำทุกอย่างให้ เวลาที่เด็กอยากได้อะไรก็ได้มาโดยง่าย ทำให้เด็กในปัจจุบันส่วนใหญ่ขาดความพยายาม และความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ขาดความอยากรู้อยากเห็น เพราะมุ่งความสนใจของตนเองไปอยู่กับเฟอร์นิเจอร์ที่มาประดับตกแต่งตนเองให้ดูดี สิ่งเหล่านี้เกิดเพียงเพราะผู้ใหญ่ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ให้กับเค้าตั้งแต่ในวัยเด็กโดยไม่รู้ตัว หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ครั้นเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการเรียนที่ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบอย่างเป็นเหตุเป็นผล เด็กก็ไม่ยอมคิดและมองไม่เห็นประโยชน์ในการเรียน เด็กเห็นแต่สิ่งของมีค่านอกกายให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมภายนอก เด็กจึงเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ในการเรียน ปัญหาที่ตามคือปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และทวีความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่ใครจะมาแก้ไขทันเพราะมันกลายเป็นปมขนาดใหญ่ที่ถูกมัดติดกันหลายๆ ครั้งจนยากที่จะแก้ไข
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถร่วมมือกันแก้ไขได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ โดยผู้ใหญ่จะต้องตระหนักว่าลูกหลานของเราจะต้องเติบโตขึ้นเพื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต และหากพวกเขาเหล่านั้นติดอยู่กับเทคโนโลยีที่เราจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศตลอดเวลาเช่นนั้น แล้วประเทศจะเหลืออะไร อนาคตลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ในฐานะของผู้ใหญ่ คือ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลับมาเป็นแบบพึ่งตนเองและพอเพียง
……………….อนาคตของประเทศชาติและลูกหลานของเราอยู่ในมือของเราทุกคน…………………….

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

จากเมเนเจอร์ออนไลน์
วันพฤหัสที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554
ธรรมชาติของ เด็กนั้นจะให้นั่งนิ่งๆ หรือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก ดังนั้นครูจึงต้องใช้เทคนิควิธีที่จะช่วยดึงสมาธิของเด็กให้กลับมาสนใจอยู่ กับสิ่งที่ครูต้องการให้เด็กเรียน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับตัว ของเด็ก

ข้อแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยให้ครูเรียกสมาธิและความตั้งใจเรียนของเด็กให้กลับคืนมาได้ใน สถานการณ์ต่างๆ

* ครูต้องแสดงออกถึงพลังและความกระตือรือร้น อยู่เสมอในเวลาที่อยู่กับเด็ก อาทิเช่น อย่าเอาแต่ยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ ให้เดินไปเดินมาบ้างและคอยพูดคุยสื่อสารกับเด็กอยู่เสมอ ครูควรปฏิบัติทั้งสองเรื่องนี้ควบคู่กันไป พร้อมกับหากิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กทำ

* การเรียนการสอนควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมด้วย ไม่ควรยืนพูดหน้าชั้นอย่างเดียว และครูควรตั้งคำถามบ่อยๆ ทั้งคำถามที่ต้องการคำตอบและไม่ต้องการคำตอบ ในการสาธิตอะไรต่างๆ ให้เด็กดู ครูอาจเป็นคนเริ่มต้นคำถามโดยให้เด็กเป็นคนต่อจนจบ ครูอาจจะทำอะไรบางอย่างให้เด็กดู แล้วถามว่า “ทำไม ครูถึงทำอย่างนั้น?” มากกว่าการอธิบายเองทั้งหมด

* ครูควรทำสิ่งต่อไปนี้บ่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ คือให้เด็กๆ เขยิบมานั่งใกล้ๆ ครูในขณะที่ครูกำลังจัดการเรียนการสอนหรือแสดงอะไรบางอย่างให้เด็กดู อาจให้เด็กนั่งขัดสมาธิบนพื้นก็ได้

* เมื่อเด็กตั้งคำถาม ให้ครูโยนลูกไปให้เพื่อนนักเรียนด้วยกันเป็นคนตอบ โดยครูควรแน่ใจว่าเด็กคนแรกที่ครูเรียกเป็นคนที่รู้คำตอบนั้นๆ ดี เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการเรียนรู้จากกันและกัน

* ให้ครูชี้ตัวเด็กเมื่อต้องการให้เด็กตอบคำถาม แทนที่จะใช้วิธีเรียกชื่อ เนื่องจากเด็กจะไม่สนใจเรียนจนกว่าจะได้ยินครูเรียกชื่อตนเอง การใช้วิธีชี้ตัวจะทำให้เด็กๆ ทุกคนในห้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องที่กำลังเรียน

* ในกิจกรรมที่ครูเคยเรียกเด็กให้ร่วมแสดงความเห็น ให้ครูเรียกเด็กคนนั้นซ้ำอีก มิเช่นนั้นเด็กที่ถูกเรียกให้ตอบหรือครูขอความเห็นแล้ว จะหมดความสนใจในการเรียนทันที การเรียกซ้ำจะช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนต่อไป

* หากเด็กคนใดแสดงท่าทีกระตือรือร้นอยากแสดงออก ครูควรมอบหมายให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบงานบางอย่าง อาทิ การเล่นเกมในห้อง หรือการทำกิจกรรมบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดเด็กคนดังกล่าวจะเรียนรู้ทักษะความรับผิดชอบ

* ในขณะที่ครูกำลังสาธิตหรือแสดงบางสิ่งให้เด็กกลุ่มหนึ่งดู ให้ครูตั้งคำถามหรือดึงเด็กจากกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยโดยไม่ให้รู้ตัวล่วงหน้า เพื่อที่เด็กทุกกลุ่มจะได้ตั้งใจเรียนแม้ว่าครูจะไม่ได้สื่อสารกับกลุ่ม เหล่านั้นโดยตรงก็ตาม

* เมื่อถึงเวลาที่ครูต้องเรียกเด็กๆ กลับมาประจำที่หลังจากที่ทำงานกลุ่มแล้ว วิธีที่ดีคือ ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ให้ใช้สัญญาณดีดนิ้วให้จังหวะแทน เด็กบางคนจะเริ่มสังเกตสัญญาณดังกล่าวและปฏิบัติตาม ในไม่ช้าเด็กๆ ทั้งชั้นก็เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ครูไม่ควรใช้วิธีปรบมือให้สัญญาณ เพราะเสียงจะดังเกินไปและอาจทำให้เด็กตกใจได้

* ครูไม่ควรผูกขาดการเรียกชื่อเด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นผู้เลือกเพื่อนในชั้นเรียนเองบ้างด้วย

* พยายามใช้ประโยชน์จากความรู้ที่เด็กมี เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กหมดความสนใจในการเรียนคือ ครูมักคิดว่าเด็กอายุยังน้อยหรือมาจากครอบครัว/ชุมชนที่มีพื้นความรู้และ ประสบการณ์แตกต่างไปจากของครู หากครูรู้จักเลือกใช้ตัวอย่างจากโลกที่เด็กรู้จัก เด็กๆ จะเกิดความตื่นตัวที่จะเรียนรู้

* พยายามสื่อสารกับเด็กด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย อย่าทำให้เด็กเกิดความสับสนกับการใช้ศัพท์วิชาการยากๆ โดยครูควรเลือกใช้คำง่ายๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันแทน

* เวลาที่ครูต้องพาเด็กออกไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน หมั่นเปลี่ยนวิธีเดินเรียงแถวทุกครั้ง เช่น อาจให้เด็กเดินตามลำดับความสูง ตามวันเกิด หรืออาจให้เด็กหญิงเดินสลับกับเด็กชาย เป็นต้น ในขณะที่เดิน ให้เด็กนับสิ่งต่างๆ ที่พบเจอรอบตัว เช่น รถยนต์ อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ฯลฯ เพื่อฝึกทักษะด้านการสังเกตและด้านคณิตศาสตร์ไปในตัว

* บางครั้งครูไม่ควรให้ความสนใจจนเกินไปกับเด็กที่สร้างปัญหาในห้อง เช่น เด็กที่ชอบพูดคุย ยั่วแหย่เพื่อน ฯลฯ โดยเฉพาะหากการสนใจนั้นทำให้บรรยากาศของห้องเรียนทั้งหมดสะดุดลง หรือในกรณีที่ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมากกว่า 20 คนขึ้นไป วิธีที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือพยายามให้เด็กทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการ เรียน บางครั้งเด็กอาจจะสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นมาอีก แต่พฤติกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่นาน ถ้าเด็กเห็นว่าเพื่อนๆ กำลังเรียนสนุกและไม่สนใจตน

ทั้งหมด นี้เป็นเพียงตัวอย่างและแนวทางที่ครูสามารถเลือกนำไปปฏิบัติเพื่อให้เด็กๆ ในห้องตั้งใจเรียนและเกิดสมาธิในการเล่าเรียนมากขึ้น ผลดีที่เกิดขึ้นคือนอกจากจะทำให้ครูเหนื่อยน้อยลงแล้ว ยังจะช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : http://www.newschool.in.th

Tags : , , , | add comments