ช่องว่างที่กว้างขึ้น
Posted by malinee on Sunday Nov 27, 2011 Under เกร็ดความรู้ ในยุคก่อน ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คุณปู่ คุณย่าของเด็กในยุคปัจจุบัน หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า คนในรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก แต่เขาเหล่านั้นก็มีอยู่หลายครอบครัวที่สามารถก่ร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยในรุ่นต่อมา
กลับกันในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้กระทั่งชุดนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้แนวโน้มของความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และน่าจะรวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนไม่สอดคล้องกัน (จำนวนเด็กมากเกินกว่าที่ครูจะสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน) ประกอยกับความพร้อมของเด็กแต่ละคน ร่วมกับปัจจัยหลักนั่นคือ ความเอาใจใส่ ดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กบางส่วน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือบทเรียนในแต่ละเรื่อง หากจะให้พ่อแม่ช่วยอธิบาย พวกท่านก็ไม่มีเวลา หรือพ่อแม่บางกลุ่มก็จะปฏิเสธที่จะสอนลูก เพียงเพราะว่าตนเองมีพื้นฐานทางวิชาการไม่ดี ครั้นจะไปถามครู ครูก็ดูน่ากลัวเกินกว่าที่จะเข้าใกล้ประชิดตัว
ปัญหาในกลุ่มเด็กดังกล่าวมักเกิดกับคนในสังคมที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน ส่วยในกลุ่มที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ตนเองจะพยายามทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่ตนเองได้ผ่านมาแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมจะถ่างออกไปเรื่อย ๆ โอกาสทางสังคมที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ก็เปรียบเสมือนอากาศที่ลองลอยไปโดยไม่มีใครใส่ใจ และมองเห็นมันอย่างไร้ค่า เช่นเดียวกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้ตนเอง เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต