เราติดรึยัง?

Posted by malinee on Wednesday Jan 12, 2022 Under Uncategorized

          สถานการณ์ที่ยังคลุมเคลือ หลายๆ คนที่ยังต้องทำงานนอกบ้าน ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ก็มักจะมีคำถามในใจขึ้นทุกวัน ว่าเราจะติดโควิดมั้ย ครูมีข้อมูลมาฝากให้ เผื่อคลายความกังวลได้บ้าง

          ช่วงนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าสายพันธุ์ของไวรัส ได้เปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์โอมิครอน มาดูความแตกต่างของสายพันธุ์กัน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรากับ 2 สายพันธุ์นี้หลักๆ อยู่ที่เรื่องของระยะฟักตัว

          ระยะฟักตัว คือระยะที่เราได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นระยะที่จะทำให้เกิดอาการ (ถ้ากรณีที่ติดเชื้อ) และเป็นระยะที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ถ้าพ้นระยะฟักตัวแล้วผลตรวจเป็นลบ แสดงว่าไม่ติดเชื้อ

          ระยะฟักตัวของโควิดสายพันธุ์ต่างๆ

อู่ฮั่น  5 – 6 วัน อาการ 10 วันหลังรับเชื้อ

เดลต้า มีระยะฟักตัว 4 วัน อาการ 7 วันหลังรับเชื้อ

โอมิครอน มีระยะฟักตัว 3 วัน อาการ 5 วันหลังรับเชื้อ

    แต่ก่อนจะมีอาการผู้ที่รับเชื้อมาแล้วสามารถกระจายเชื้อได้ 1 – 2 วันก่อนเกิดอาการ หรือบางรายอาจไม่เกิดอาการก็ได้

          สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามคือ ข่าวสารของการเกิดการรวมตัวของสายพันธุ์เดิม เช่น ที่ไซปรัสที่เกิดเคสผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ร่วมระหว่างเดลต้าและโอมิครอน ที่เรียกว่า “Deltacron” แต่อยู่ในช่วงของการศึกษาว่าจะสามารถแพร่กระจายได้หรือไม่ และอีกเคสที่พบในอิสราเอล 1 เคสในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้รับวัคซีน เป็นสายพันธุ์ “Flurona” ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่างไข้หวัด (ประจำฤดู)กับโควิด หากมีการแปรผันของสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ วัคซีนน่าจะไม่ใช่คำตอบของโจทย์ข้อนี้ แต่เป็นการตั้งการ์ดของเราทุกๆ คน เพื่อให้เราอยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย

          สุดท้ายขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยนะคะ

ครูจา

แหล่งที่มา

https://www.webmd.com/lung/coronavirus-incubation-period#3
https://www.cnbc.com/2022/01/08/cyprus-reportedly-discovers-a-covid-variant-that-combines-omicron-and-delta.html
https://www.timesofisrael.com/flurona-israel-records-its-first-case-of-patient-with-covid-and-flu-at-same-time/
Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

คราวนี้เราก็พอมองภาพกว้าง ๆ ออกแล้วว่า เราไม่ควรให้ความสนใจ หรือพัฒนาทักษะ หรืออัจฉริยภาพในด้านเดียว แต่ควรให้เด็กมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกาน คราวนี้มาดูว่าอีก 2 Q ที่เหลือจะหมายถึงอะไร และมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร

ความฉลาดทางสังคม (SQ) ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านให้คำจำกัดความว่า เป็นการที่บุคคลสามารถเจรจา ต่อรอง ในสภาวะต่าง ๆ หรือความเข้าใจในภาวะต่าง ๆ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทดสอบด้าน SQ ที่ได้คะแนนมากกว่าจะมีความฉลาดทางสังคมมากกว่า เพียงแต่คนแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความสนใจ ความหวังและทัศนคติที่แตกต่างกันเท่านั้น

แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะในการเข้าสังคม เมื่อเขาต้องเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกอึดอัด ขัดข้องได้ หากเขารู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากเขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ (นั่นก็คือ ทัศนคติที่แตกต่างกันนั่นเอง) เขาก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ MQ คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น การรู้จักแยกแยะดีชั่ว สิ่งเหล่านี้หลาย ๆ คนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างที่พ่อแม่เป็นผู้กระทำ และเด็ก ๆ จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้ ได้สัมผัส เป็นสิ่งที่เขาแสดงออกมา  MQ  เป็นสิ่งที่มีผลต่อสังคมมากที่สุด นั่นคือ หากเด็กถูกปลูกฝัง ให้รู้จักความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ และโทษ สังคมก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักแต่เอาชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ หรือไม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ไม่น่าอยู่เสียแล้ว

สุดท้ายเราคงต้องฝากอนาคตของชาติ สังคมไทย ที่อยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าจะทำให้สังคมผันแปรไปในทิศทางใด หรือ อยากให้ลูกหลานเติบโตในสังคมแบบใด

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย เรามักพบว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้นมักได้รับการชื่นชมว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่คิดนอกกรอบ ซึ่งหากเราสืบค้นกันจริงจังแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จโดยการคิดนอกกรอบเหล่านั้น ต้องตรากตรำ ค้นคว้า หาข้อมูล จนกระทั่งทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการเปลี่ยนสมมติฐานจากสิ่งที่คิดเดิมแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้บทสรุป หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้ากันเป็นเวลานาน

หลาย ๆ คนจึงคิดว่า การเลี้ยงดูเด็ก ไม่ควรจำกัดกรอบ หรือวิธีคิด หรือการคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดในสมัยเก่า ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีการศึกษาอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เด็กในรุ่นใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีวิธีคิดที่น่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง หากใครได้สัมผัสกับวิวัฒนาการของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักเห็นผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกระตือรือร้น ซึ่งนั่นหมายถึงความไม่พยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง  ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากทดลองที่มีความสลับซับซ้อน ต้องการสิ่งที่ได้มาง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือความพยายามใด ๆ  ………… น่าคิดว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

นักวิชาการหลาย ๆ คนกล่าวว่า การคิดนอกกรอบนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอ่านมาก ฟังมาก และรู้มาก  ซึ่งกว่าจะรู้มากก็ต้องฝึกให้ทักษะต่าง ๆ ทั้งการอ่านมาก คิดมาก ฟังให้มาก นั้นจะต้องผ่านกรอบของการฝึกฝนก่อน กระบวนการในการคิดนอกกรอบจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่คิดจากมุมที่ต่างไปจากเดิม (นั่นคือเราต้องมีความคิดเดิมของเราอยู่) , การคิดให้มีความหลายหลาย เหมือนการคิดแบบหมวก 6 ใบ (ซึ่งก็ต้องศึกษาก่อนและฝึกคิดเมื่อใส่หมวกแต่ละใบว่ามีแนวคิดอย่างไร) หรือประเด็นสุดท้ายคือคิดตรงข้ามกับความคิดเดิม (ยังไงก็ยังคงต้องมิความคิดเดิมอยู่ก่อน)

จะเห็นได้ว่า การคิดนอกกรอบนั้น เราสามารถที่จะฝึกให้เด็กคิดได้ ด้วยการที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการศึกษาข้อมูล อย่างถ่องแท้ หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือวิธีการอย่างจริงจัง อาจตกหลุมพรางของคำว่า “นอกกรอบ” กลายเป็น “การไร้วินัย”  ซึ่งมีหลายครอบครัวไม่สามารถแยกคำทั้งสองออกจากันได้

ครู จา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากที่ได้กล่าวเมื่อตอนที่แล้วว่า การรวมเป็นประชาคมอาเซียนนั้นมีความมุ่งหมายเพื่ออะไร คราวนี้เราลองมาดูในแต่ละประเด็นกันดีกว่า

การเป็นฐานการผลิตที่มีฐานการผลิตร่วมกัน สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งมองในแง่ทฤษฏีก็ดูดี แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นฐานการผลิตสินค้าหลาย ๆ ชนิด เช่น การเกษตร ไม่สามารถผลิตได้ในทุก ๆ ภาคส่วนของอาเซียน ซึ่งก็จะมีพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ก็มีประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในนั้น นั่นหมายความว่าการเช่า ซื้อพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะเป็นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าของพื้นที่ในผืนแผ่นดินไทย อาจมีคนไทยถือครองไม่ถึงครึ่ง  นอกจากพื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นที่หมายตาแล้ว มามองดูอุตสาหกรรมการท่องเทียว ที่เป็นแหล่งธรรมชาติ ก็ยังพบว่า ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งฤดูร้อน (คนมักนิยมเที่ยวทะเล ทั้งทางทิศตะวันออก และทิศใต้) และฤดูหนาว ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวก็เบนไปที่ทิศเหนือของประเทศ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เราจะเห็นได้ว่าประเทศของเราก็เป็นชิ้นปลามันชิ้นโตของนักลงทุน ที่มักหาประโยชน์กับผู้ถือครองที่ดินที่พร้อมที่จะขายทรัพย์สมบัติเพื่อให้ได้เงินมาซื้อความสะดวกสบายให้กับตนเองและครอบครัว

แต่เมื่อมาพูดถึงบริการ ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่ามี 7 อาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี นั่นคือ วิศวกร  พยาบาล นักสำรวจ  สถาปนิก  แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี ซึ่งหากมาตรฐานการศึกษาไทยยังคงไม่ปรับตัว เราจะได้ผู้ที่ทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ ในบ้านเราที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับคัดเลือกผ่านระบบเอ็นทรานซ์ โดยที่มีแต่คู่แข่งที่ไม่กระตือรือร้นในการเรียน เรียนเพื่อให้ได้วุฒิ แต่ไม่มีความรู้ ความสามารถติดตัว พอที่จะทำงานใด ๆ ได้เลย   เหล่านักวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพเหล่านั้น ก็คงย้ายตนเองไปอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อม และค่าครองชีพที่ดีขึ้น ซึ่งมันอาจส่งผลให้คุณภาพการรักษาพยาบาล หรือการให้บริการด้านเฉพาะทางต่ำลง

สุดท้ายมากล่าวถึงเรื่องการศึกษา  หลาย ๆ ท่านก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการศึกษาในอาเซียนนั้น เรามีสิงคโปร์เป็นผู้นำอยู่  หากแต่เราดูนโยบายด้านการศึกษาของทางสิงคโปร์ จะพบว่าเขาทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในเรื่องของการศึกษา เพื่อให้คนในประเทศเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ และนอกจากนี้การศึกษาของประเทศสิงคโปร์ยังเป็นอีกหนึ่งบริการที่เขาเปิดขายด้วย ในทางกลับกันประเทศไทยเราทุ่มงบประมาณต่าง ๆ มากมายไปกับภาคอุตสาหกรรมโดยที่เราไม่มีความรู้ หรือไม่มีแม้นักคิดที่เป็นของเราเอง ไม่ได้มุ่งพัฒนาบุคลากร หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์

จากบทความที่สรุปมา คงพอมองเห็นภาพกว้าง ๆ ว่าของประชาคมอาเซียน 2558 และจะได้เตรียมตัวให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้เขามีความรู้ ความสามารถเพื่อที่จะอยู่ในสังคมที่กว้างขึ้น และอยู่ภายใต้สภาวะของการแข่งขันที่สูงขึ้น

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments