May 24
ตอนนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมคงหนีไม่พ้นเรื่องของการเรียนออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้การเปิดเทอมของเด็กต้องยืดเยื้อออกไป จริงที่ว่าการเรียนของเด็กๆ ไม่ควรหยุดชะงัก แต่การเรียนออนไลน์ของเด็ก ต้องพิจารณาถึงวัยของเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ที่ไหนๆ จะเป็นการเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น หากเป็นในระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมจะเป็นการเรียนแบบ home school ซึ่งเป็นการนำหลักสูตรจากประเทศต่างๆ มาเป็นแนวการเรียนการสอน โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นเสมือนครูผู้สอน
การเรียนการสอนออนไลน์ ยิ่งเด็กยิ่งเล็ก ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องด้วยวัย ที่ทำให้เรื่องของสมาธิที่ที่จดจ่ออยู่กับเรื่องบางเรื่องนานๆ เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้แล้ววิชาบางวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะขึ้นเรื่องใหม่ๆ ให้กับเด็ก เช่นถ้าเด็กกำลังเริ่มที่จะเรียนการคูณเลขสองหลักคูณสองหลัก การทำความเข้าใจกับเด็กให้มีความเข้าใจ ต้องมีการ recheck กันหลายครั้งเพื่อความมั่นใจว่าเด็กมีความเข้าใจจริงๆ ถึงจะให้การบ้านได้ แล้วลองนึกภาพของการสอนเรื่องการวัดมุมกันนะคะ ขนาดสอนกันแบบเห็นกันเป็นตัวเป็นตนยังต้องใช้เวลาเลยแล้วนึกสภาพการเรียนออนไลน์ ถ้าเป็นการเรียนแบบกลุ่ม ไม่มีทาง ที่ทักษะเด็กแต่่ละคนจะเท่ากันได้ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยเดียวกันก็ตามเพราะฉะนั้นการเรียนออนไลน์ไม่ใช่จะเหมาะกับทุกคนและไม่ใช่ทุกวิชาที่จะสามารถสอนออนไลน์ได้
ดังนั้นการเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ของเด็กเล็กเป็นเพียงช่วงเวลาที่รอสถานการณ์ของการแพร่ระบาดให้คลี่คลายเท่านั้น แต่การที่การศึกษาในช่วงของปฐมวัยจนถึงประถมน้ัินคงไม่อาจถูก disruption ด้วยระบบออนไลน์ได้ด้วยวัยและความพร้อมของเขา นอกจากนี้แล้วเด็กในวัยดังกล่าวไม่ควรถูกปล่อยให้อยู่กับการสื่อสารทางเดียว เค้าควรได้มีการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัสให้ครบทั้ง 5 และมีการฝึกทักษะต่างๆผ่านระบบประสาทสัมผัสดังกล่าว เพื่อก่อให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ และเพื่อค้นหาความสามารถ และความถนัดต่อไป…
#เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
#สถาบันคิดสแควร์
Jun 03
จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเป็นยุค Globalization ซึ่งทั่วโลกสามารถสื่อสารและมีวิวัฒนาการส่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย
จึงทำให้ทุกๆ
วงการรวมไปถึงวงการการศึกษาที่มีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนจากประเทศต่างๆ
มาช่วยในการสอน หรือบางโรงเรียนในต่างประเทศก็มาเปิดเป็นโรงเรียนทางเลือกในบ้านเรามากมาย
ผู้ปกครองหลายๆ
คนที่มีบุตรหลานที่กำลังจะต้องเข้าโรงเรียน ก็มีโรงเรียนทางเลือกอยู่ มากมาย
แต่หากแยกกันจริงๆ แล้วมีเพียง 2 แนว คือ โรงเรียนในแนวเร่งเรียน
และโรงเรียนในแนวบูรณาการ ซึ่งความแตกต่างกันอยู่ตรงที่นโยบายของโรงเรียนในแนวบูรณาการคือ
การเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เร่งให้เด็กได้ขีดเขียน แต่ใช้กิจกรรมในการสอน
ส่วนในแนวของโรงเรียนที่เร่งเรียน ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเร่ง นั่นคือ
เด็กจะต้องเริ่มจับดินสอ ขีดเขียนหนังสือตั้งแต่ในวัยอนุบาล ซึ่งนโยบายแต่ละโรงเรียนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
โรงเรียนในแนวบูรณาการที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนในแนวอินเตอร์นั้น ซึ่งหลักๆ
แนวบูรณาการนี้เกิดจากหลักสูตรอังกฤษ หรืออเมริกัน
ซึ่งครูจะมีการพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วหลักสูตรที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้กับประเทศในแถบยุโรป
ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นจะดูแลบุตรหลานจนถึง 7 ปีแล้วจึงส่งเข้าเรียน
และจะสร้างกฎกติกาภายในบ้านให้เด็กต้องทำตาม ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง
ไม่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งเมื่อเขาเข้าสู่โรงเรียน
เขาจะเรียนรู้ที่จะทำตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และการเรียนการสอนจะเน้น creative thinking คือการให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์
คำถามเป็นคำถามปลายเปิดที่คำตอบไม่มีผิดไม่มีถูก
เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดของตนเอง ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก
ส่วนโรงเรียนในแนวเร่งเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนั่งเรียน
อ่านเขียนไม่วิ่ง ไม่ซน ไม่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น
แต่เน้นการแสดงวิธีทำที่ถูก หรือการหาคำตอบที่ถูกต้อง
โรงเรียนในบ้านเราหลายๆ
โรงเรียนก็นำเอาแนวบูรณาการมาปรับใช้ แล้วนำเป็นนโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียน
แต่ความแตกต่างของบ้านเราคือ ครูผู้สอนของบ้านเรา ตอนที่เขาเป็นเด็ก
เขาถูกสอนให้อยู่ในกรอบ ไม่มีการโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นอกจากนั้นครูในบ้านเราเน้นเรื่องการทำวิทยฐานะเพื่อปรับเลื่อนขั้นเพื่อความมั่นคงในอาชีพ
มากกว่าการทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้แล้วครอบครัวคนไทยค่อนข้างมองข้ามเรื่องกฎระเบียบ
หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ มีข้อแก้ตัวให้กับเด็กว่าเขายังเล็กอยู่ตลอดเวลา
กลายเป็นว่าเด็กถูกละเลยเรื่องการเรียนรู้ เพราะกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกนั้น
เป็นวิธีการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกอย่างได้ผลดี แต่แต่ทักษะการอ่านและการการเขียน
เป็นคนละทักษะ ทางบ้านต้องเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก เพราะการเขียนต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก
ซึ่งหลายๆ ครอบครัวจะมองข้าม ปล่อยเรื่องการเรียน
เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เด็กเขียนไม่ได้หรือใช้เวลามากกว่าปกติ
หรือเด็กบางคนจะไม่ยอมเขียนเลย เพราะไม่เคยชินกับการขีดเขียน
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียนจะรู้สึกเบื่อ หรืออาจถึงขั้นต่อต้าน เพราะมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ
ทำให้เด็กไม่ชอบการเรียน
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
ไม่ใช่ว่าโรงเรียนในแนวบูรณาการไม่ดี
เพียงแต่ว่าหากทางครอบครัวมีการเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็กให้กับบุตรหลาน
จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเขียน จะทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
แต่หลายๆ ครอบครัวที่ทิ้งทุกอย่างให้กับโรงเรียน เด็กก็จะมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป
แต่หากครอบครัวที่นอกจากทิ้งเรื่องเรียนให้กับโรงเรียน และครอบครัวเป็นผู้ส่งความสุข
(เกมส์ , ทีวี) ให้กับบุตรหลาน เขาจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
และจะกลายเป็นปัญหาในที่สุด
ดังนั้นก่อนที่จะเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน
เราควรเลือกให้เหมาะกับตัวเด็กและวิธีการดูแลบุตรหลานของเรา
อย่าทิ้งหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งให้กับใคร เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้
พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของเขาตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก
Mar 17
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ
1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75
ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)
เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ
แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก
และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด
เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง
บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม
และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้
หลายๆ
คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี
ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย
มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ
อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง
หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี
ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ
เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ
ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข
เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข
เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่
1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019
เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น
ป.3,
ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์
นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ
และลดความกดดันในการแข่งขันลง
แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน
โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1
ใน 10 เหมือนสิงคโปร์ รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง
ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ
พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก
โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้
หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา
ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้
Jan 21
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน
โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ
ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ
ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง
Apr 22
มีกระแสของการศึกษาที่มีอยู่เนืองๆ ว่าควรจะมีการยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพดีทั่วประเทศเสียที หลายๆ คนอาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนควรจะมีการบูรณาการตามความสามารถของเด็ก หรือตามความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมและ ความสนใจที่แตกต่างกัน จึงควรมีการจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความถนัดของเด็ก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงการคัดเลือกข้าราชการครูเข้ามารับหน้าที่ในการสอน ยังไม่ตรงกับความถนัด หรือสาขาวิชาที่เรียนมาเลยด้วยซ้ำ อย่าพูดถึงคุณภาพของเด็กที่จะได้รับการเรียนการสอนที่ดีเลย นอกจากในส่วนของผู้สอนแล้ว ตัวผู้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพในการเรียนด้วย เราต้องยอมรับก่อนว่าเด็กก่อนวัยเรียนในแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างกันแล้ว ครูไม่ได้กล่าวถึงความพร้อมด้านเศรษฐกิจ แต่ ณ ที่นี้จะกล่าวถึงหน้าที่ในการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ก่อนวัยเรียน เด็กหลายๆ คนถูกปล่อยปละ หรือขาดทักษะทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่ส่งผลต่อทักษะในการเรียนรู้ในวัยเรียน ที่จะต้องใช้ทักษะพื้นฐานในช่วงก่อนวัยเรียน หลายๆ ครอบครัวที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การเล่นเกมส์เป็นการฝึกทักษะและภาษาให้กับเด็กโดยที่เด็กจะใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวในการเล่นเกมส์ ซึ่งต่างจากการเล่นของเล่นที่เป็นชิ้น ที่สามารถเสริมสร้างทั้งกล้ามเนื้อ ความสัมพันธ์ของการทำงานระหว่างมือกับตา อีกทั้งยังได้เรื่องของจิตนาการอีกด้วย
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ก็ไม่มีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่พร้อม สมาธิไม่ดี หรือแม้กระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเรื่องพื้นฐานที่ควรจะถูกฝึกจากบ้าน คิดเพียงแต่ว่าโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะสอนให้บุตรหลานอ่านออกเขียนได้ โดยขาดการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
มันจะเป็นธรรมกว่าหรือไม่ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างโยนความรับผิดชอบให้พ้นๆ ตนเองไป พ่อแม่ผู้ปกครองก็โยนความรับผิดชอบไปให้โรงเรียน ครูชั้นอนุบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะในที่สุดเด็กก็จะต้องขึ้นไปเรียนชั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ นี่เป็นเพียงความรับผิดชอบในงานเล็กๆ ของตนเอง เราก็ไม่ต้องหันไปพึ่งใครที่มีหน้าที่เพียงไม่กี่ปี หรือไม่กี่วาระที่จะมาแก้ปัญหาการศึกษาของไทยเลย เพราะต่างก็คิดว่า ปีหน้าเราก็หมดวาระ หรือหมดหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นสถาบันเล็กๆ ที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้แข็งแกร่งที่สุด อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งมันไม่มีจริงเลย มันเป็นเพียงภาพลวงตา
Apr 08
ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับชั้นต่างๆ มีหลายๆ ครอบครัวที่ดีใจ และอีกหลายๆ ครอบครัวที่มีน้ำตาเปื้อนใบหน้า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีหน้าที่คอยประคองความรู้สึกและให้กำลังใจบุตรหลาน ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความผิดหวังบ้าง เพราะในชีวิตคนเราไม่มีใครที่จะสมหวังในทุกๆ เรื่อง เพื่อเป็นบทเรียนให้เค้าได้ตั้งความหวังให้สูง และไปถึงจุดนั้นให้ได้ด้วยความเพียรพยายาม
แต่หลายๆ ครอบครัวจะหลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานของตนเองในการสอบคัดเลือก โดยการให้เข้าโรงเรียนที่มีการเรียนยาว โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนโรงเรียน ทุกอย่าง พ่อแม่ ผู้ปกครองจะเป็นผูวางแผน หรือดำเนินการ คิดแทน ทำทุกอย่างแทนให้จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยของความเฉื่อย ไม่มีความคิดที่จะริเริ่มหรือทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อโตขึ้นจะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะไม่เคยถูกฝึกทักษะด้านใดเลย ไม่เคยวางแผนการทำงาน หรือ อนาคตตนเอง เค้าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าชีวิตเค้าขาดผู้อุปถัมภ์ ดูแล
มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครอง อบรมเลี้ยงดูเค้าเหล่านั้นให้ได้รู้จักหน้าที่ของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก แล้วเพิ่มหน้าที่ให้มากขึ้น ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องลดการดูแลในส่วนของตนเองลง ให้เค้าได้เรียนรู้ที่จะคิดวางแผนเป็นระยะๆ เช่น การทำการบ้าน ให้เค้าได้ทำด้วยตนเอง ไม่ใช่ช่วยจนเค้าไม่สามารถทำการบ้านได้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือสอบ ต้องให้เค้าค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสะกดคำ จนคล่อง ไม่ใช่อ่านให้เค้าฟังทุกครั้ง ทักษะที่ต้องใช้เวลา และที่ควรจะได้รับการฝึกฝน ก็จะไม่เกิดขึ้น ให้เค้าได้ดูแลตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง เรียนรู้ที่จะผิดหวัง เรียนรู้ที่จะมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วง หากพ่อแม่ผู้ปกครอง เลี้ยงดูบุตรหลานแบบที่คิดแทนเค้าในทุกๆ อย่าง สักวันที่เค้าไม่มีเรา ชีวิตเค้าจะเดินต่อไปอย่างไร ในเมื่อเค้าไม่เคยได้รับการฝึกฝนใดๆ เลย อย่าทำร้ายเค้าด้วยการดูแลที่เกินความจำเป็นกันอีกเลย ขนาดดักแด้ที่อยู่ในไหม สักวันนึงมันก็ต้องกลายเป็นผีเสื้อที่ต้องกางปีกของตนเองออกมาสู่โลกกว้างในที่สุด
Mar 18
ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ละครบุพเพสันนิวาส ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงคุณปู่ คุณย่าทั่วบ้านทั่วเมือง จนกลายเป็นละครฟีเวอร์ที่มีการจัดกิจกรรม หรือสินค้ามารองรับกับความต้องการของตลาดไปแล้ว
สิ่งหนึ่งที่เราได้จากละครที่แทรกมา ทำให้หลายๆ คนอยากรู้ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น มีทั้งการหาหนังสืออ่าน ไปจนกระทั่งการเรียนประวัติศาสตร์เสริม ทั้งๆ ที่เราเคยเรียนประวัติศาสตร์ไทยกันมาโดยตลอด แต่ชื่อที่พูดมาแต่ละชื่อ ไม่สามารถทำให้เรานึกออกได้ว่าอยู่ในช่วงสมัยไหน สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เราได้เห็นว่า การเรียนประวัติศาสตร์บ้านเรา ไม่ได้ทำให้เราได้รู้ว่า การปกครองของเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันไปสอดคล้องกับคำบ่นของเด็กๆ ที่ไม่ชอบวิชาสังคมประวัติ ในทางกลับกันเค้าก็ต้องเรียน worlf history ซึ่งถ้าไม่ชอบวิชาท่องจำก็จะไม่ชอบวิชานี้ด้วย กลับกลายเป็นว่า เด็กๆ สามารถลำดับเหตุการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องไปจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อยางไร
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ปัจจัยของเด็กไม่มีแล้ว คราวนี้ปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่ชอบเรียนสังคมประวัติเกิดได้ 2 ปัจจัยคือ ครูผู้สอน ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าครูผู้สอนมีผลกับการเรียนในทุกๆ วิชามาก เพราะครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก หากถ่ายทอดให้เด็กโดยการลำดับเหตุการณ์เป็นฉากๆ อย่างที่อาจารย์ของเกศสุรางค์อธิบายลูกศิษย์ ในชั้นฟัง คงมีแต่คนตั้งหน้าตั้งตาฟัง และอีกส่วนที่เป็นปัจจัยที่สำคัญได้แก่ หนังสือเรียนของเรา จะเป็นการกล่าวถึงยุคสมัย พร้อมกับช่วงเวลา และต่อด้วยการจำวิธีการปกครอง การค้าขาย เป็นหัวข้อต่างๆ ตามมาเป็นกระบุงโกย และที่แย่ไปกว่านั้น ข้อสอบจะเป็นข้อสอบที่ถามรายละเอียดว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.ใด ถึง พ.ศ.ใด ซึ่งยากนักที่เด็กจะมานั่งจำทุกๆ หน้า เค้าก็เลือกที่จะเข้าห้องสอบแบบจิ้มข้อที่คุ้นเคย
ครูคิดว่า ออเจ้าทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยงข้องกับหลักสูตรหรือแบบเรียน ควรมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแบบเรียนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ดีกว่าให้เด็กๆ เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากละคร
Mar 04
ในอาทิตย์หน้าจะมีการสอบ NT ของเด็กชั้น ป.3 เรามาดูกันว่าตารางประจำปีของการวัดผลในแต่ละระดับมีอะไรบ้าง เริ่มจาก NT ซึ่งจะสอบกันในชั้น ป.3 ต่อมาชั้น ป.6 ,ม.3 และ ม.6 สอบโอเน็ต นอกจากนี้ยังมีการสอบกลางของกระทรวงในทุกช่วงชั้นจนสิ้นสุดที่ ม.2 จากการประเมินวัดผลที่จัดขึ้นเกือบทุกปีในเด็กแต่ละคน ทำให้เราคาดหวังว่าการเรียนการสอน ในบ้านเราน่าจะมีประสิทธิภาพ
แต่จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ พบว่าผลการทดสอบคณิตศาสตร์ผลประเมินออกมาว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายของประเทศในเอเชีย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อมีการทุ่มเงินไปในอัตราส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณในกระทรวงอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการทุ่มงบประมาณจำนวนมากไม่ได้ช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมาหาต้นเหตุ เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไม่มีความแข็งแรงอย่างอดีต การดำเนินชีวิตต่างคนต่างมีเวลาจำกัด ไม่มีเวลาที่จะใส่พูดคุยถึงปัญหาของแต่ละคน พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน จนเขาถูกเลี้ยงมาให้อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้ถูกอบรมให้รู้จักอดทน การรอคอย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ส่วนอีกหลายๆ ครอบครัวก็มีความพร้อมจนส่งเสริมด้านทักษะและวิชาการอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเด็กได้เรียนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผลการประเมินของประเทศไทยสูงขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกันต่อไป
May 01
จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็จัดกิจกรรมการเรียนในวิชาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เด็กหลายๆ คนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสู่ระดับมัธยม ก็จะต้องมีการเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนที่โตขึ้น
หลังจากที่กล่าวถึงการสอบคัดเลือกเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แล้ว ครั้งนี้เรามาศึกษาวิธีการสอบคัดเลือกของข้าราชการครูกันบ้าง การสอบคัดเลือกข้าราชการครูนั้น ครูทุกๆ คนจะต้องผ่านการสอบข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งคะแนนรวมคือ 400 คะแนน หลายๆ คนคงสงสัยว่า ครูจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร
การสอบภาค ก เป็นข้อสอบกลางในการคัดเลือกบรรจุข้าราชการทุกอัตรา (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการครู) ข้อสอบจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติ มาตราต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ โดยมีคะแนนเต็ม 200 คะแนน ส่วนภาค ข เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการศึกษา (100 คะแนน) ส่วนความรู้ในวิชาที่จะเข้าสอน (วิชาเอก) อีก 100 คะแนน ซึ่งข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อสอบปรนัย จากสัดส่วนของคะแนนที่รับข้าราชการครูเฉพาะสาขาวิชา เราจะเห็นว่า ความรู้ความสามารถในวิชาชีพคิดเป็นเพียง 25% เท่านั้น
ในความคิดเห็นของครู เห็นว่า แนวทางการคัดเลือกข้าราชการครู ควรจะมีมาตรฐานในการคัดเลือกให้มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แล้วกระจายครูไปยังภูมิภาคต่างๆ การสอบคัดเลือกควรมีการแยกข้อสอบการคัดความรู้เฉพาะทางให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้แบ่งส่วนของการสอบออกเป็นภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ข้าราชการครูที่มีคุณภาพ แต่หลังจากที่เราได้ครูที่มีคุณภาพแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่ลงมายังกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะส่งตรงไปยังผลตอบแทนของครูมากกว่าการทุ่มงบให้ tablet ที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างเสียเปล่า โดยให้แต่โทษไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นครูที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ ต่อไป
Nov 27
เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยนี้ ดูเหมือนจะง่ายกว่ายุคก่อนๆ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่สร้างปัญหาภายในบ้านให้เกิดได้เช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ของเด็กๆ มีเพียงหน้าที่เดียวคือเรื่องการเรียน แต่ณ ปัจจุบันเราจะพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องสมาธิกันจำนวนมาก เมื่อเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้เป็นปกติ แต่เด็กหลายๆ คนก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสมาธิ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับการเรียนรู้ของเขาเหล่านั้น
เด็กหลายๆ คนเป็นเด็กปกติ แต่มีปัญหาในการเรียนโดยเฉพาะการเรียนวิชาคณิตศาสตร์นั้น บ่อยครั้งพบว่าเด็กมีปัญหาตั้งแต่ในช่วงแรกของการเรียนคณิตศาสตร์ นั่นคือเรื่องของการคำนวณ เมื่อปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และเด็กในกลุ่มนี้ก็จะมีทัศนคติที่ไม่ดีในการเรียนคณิตศาสตร์ ปัญหาเรื่องการคำนวณเป็นปัญหาเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เมื่อเจอเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องจำสูตรและมีการคำนวณที่ยากขึ้น ก็จะอ้างว่าเค้าพยายามแล้วแต่ไม่เข้าใจ
เด็กในกลุ่มดังกล่าวอาจเป็นเพราะการสะสมความไม่เข้าใจ จนไม่สามารถที่จะเรียนในกลุ่มใหญ่ๆ หรือในชั้นเรียนได้ จึงจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาครูเข้าช่วย แก้ปัญหาอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาจะถูกแก้ไขก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือและตระหนักถึงปัญหาของตนเองด้วยเช่นกัน
ความร่วมมือจากผู้เรียนคือ ความพยายามที่จะเรียนรู้การแก้ปัญหาโจทย์ในบทเรียนที่ผ่านมา การทบทวนบทเรียนในการเรียนแต่ละครั้งอย่างสม่ำเสมอ (การบ้าน) การท่องจำสูตรและคุณสมบัติต่างๆ ที่จำเป็น แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ เด็กไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของตนเอง ไม่ใส่ใจและตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง ถ้าเป็นแบบนี้อย่าว่าแต่ครูเลย เทวดาก็ช่วยไม่ได้…