จากที่ได้นำเสนอในตอนที่แล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างไร เราจะได้พบประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดทัศนคติในเชิงลบกับการเรียนคณิตศาสตร์ได้พอสังเขป (โดยที่กล่าวถึงเฉพาะเด็กที่ความสามารถในการเรียนรู้อยู่ในระดับปกติเท่านั้น) ดังนี้

– ปัญหาด้านการอ่าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนของลูกของเรา
พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกหลานของท่านมีปัญหาในการอ่าน ดัชนีชี้วัดที่ง่ายที่สุดก็คือ บุตรหลานของท่านจะได้คะแนนในแต่ละวิชาอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก นั่นหมายความว่าบุตรหลานของท่านมีปัญหากับการเรียนในทุก ๆ วิชาที่มีเนื้อหาที่จะต้องอ่านทบทวน บ่อยครั้งที่เราพบว่าเกรดที่ได้จากโรงเรียนไม่สามารถชี้ถึงความบกพร่องในการเรียนในโรงเรียนได้ (เนื่องจากแนวการตัดเกรดของกระทรวงไม่ได้มุ่งเน้นที่คะแนนสอบ แต่จะเน้นจากคะแนนเก็บในระหว่างเทอมแทน) พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถสืบทราบการเรียนของลูกหลานตนเองได้โดยการปรึกษา หรือพูดคุยกับครูประจำวิชาในแต่ละวิชาได้ไม่ยากนัก
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ การติดตามบทเรียนในแต่ละระดับชั้น เช่นในเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักจะอ่านออกเขียนได้ อย่างคล่องแคล่วเมื่อสิ้นสุดเทอมต้นในระดับประถมปีที่ 1 แต่อาจจะมีติดขัดบ้างในการผันวรรณยุกต์ หรือในเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสองภาษาก็เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วน่าจะสามารถอ่านภาษาอังกฤษ ในระบบของ phonics คือสระเสียงสั้น (short vowels sound) ได้ทั้งหมด ซึ่งก็พอที่จะทำให้เขาสามารถอ่านโจทย์คณิตศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้
หากพ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะรู้บทเรียนในแต่ละชั้นปีพอสังเขป ก็จะสามารถส่งเสริม สนับสนุน หรือเพิ่มพูน ทักษะในการอ่านของลูกให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เจียดเวลาที่ทุ่มเทให้กับงานบางส่วน มาเพิ่มเวลาคุณภาพที่จะเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการและจริยธรรมของลูก ที่นับวันจะน้อยลงทุกทีเมื่อเขาโตขึ้น

– ปัญหาด้านการตีความ
ในบางครั้งเด็กอาจไม่มีปัญหาด้านการอ่าน แต่เนื่องจากขาดทักษะในการอ่าน (ที่จะได้มาจากการฝึกฝน หรือการอ่านบ่อย ๆ) ทำให้ไม่สามารถจะเว้นวรรคตอน หรือจับใจความในแต่ละประโยคได้อย่างถูกต้อง
ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก เนื่องจากเด็กเพียงขาดทักษะในการอ่าน วิธีแก้คือ คุณพ่อคุณแม่ควรได้มีเวลาอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ หรือการสลับกันอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ถ้าอ่านผิดวรรคตอน ก็ใช้วิธีแนะโดยการอ่านในแบบที่ถูกต้อง และในแบบที่ไม่ถูกต้อง โดยให้ลูกเป็นผู้เลือกเองว่า การอ่านแบบไหนที่ทำให้เขามีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่อ่าน หรือจับใจความได้ดีกว่า
วิธีดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าความผิดพลาดของตนเองเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เขามีความกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเขาในการอ่านมากขึ้นและประการสำคัญที่จะได้จากการอ่านหนังสือด้วยกันก็คือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะแน่นแฟ้นมากขึ้น ลองดูนะคะ ลดกิจกรรมนอกบ้านลง (เช่นการพาลูกไปช็อปปิ้ง) เอาเวลาที่ว่างนั่งคุยเรื่องหนังสือที่อ่านและร่วมกันแสดงความคิดเห็น คุณอาจจะได้พบผู้ใหญ่ตัวน้อย ๆ ในอนาคตที่จะบอกคุณว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะไปในทิศทางใด

– ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังจากทางบ้านจนเป็นนิสัย
บ่อยครั้งที่เราพบว่าพฤติกรรมที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีชีวิตที่เร่งรีบ จนไม่มีเวลาที่ให้เด็กสามารถคิด หรือฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง สุดท้ายจึงเป็นการสร้างนิสัยที่เด็กไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำด้วยตนเอง เมื่อเด็กต้องเรียนในสิ่งที่ยากขึ้น หรือต้องทำงานที่ซับซ้อน ก็จะปฏิเสธ หรือต่อต้าน สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนี้ปฏิบัติกับลูกหลานก็คือ การเลือกทุกสิ่งที่ดีที่สุด ให้ความสะดวกสบาย ส่งลูกเรียนกวดวิชา โดยมีวิธีลัดต่าง ๆ ให้จดจำมากมาย หลังเลิกเรียนก็ผ่อนคลายด้วยเกมส์ ทุกอย่างเป็นตารางที่วางไว้แล้ว เพียงแต่ลูกหลานเอาตัวเองไปในที่ต่าง ๆ ที่พ่อแม่จัดการไว้แล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่มีความพยายามที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ไม่คิดหรือวางแผน เพราะว่าไม่เคยมีโอกาสได้วางแผนอะไรเลย
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะปรับแก้ได้ก็คือ การฝึกให้ลูกหลานได้รับผิดชอบหน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้าน ให้เขาได้จัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนด้วยตัวเอง เมื่อเกิดอุปสรรค หรือปัญหา พยายามดูอยู่ห่าง ๆ ให้กำลังใจว่าเขาต้องทำได้ ไม่ใช่เข้าไปแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง สร้างตารางคร่าว ๆ ว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้างใน 1 วัน แล้วให้เขาเป็นคนเลือกเองว่าจะทำอะไรในเวลาไหน ซึ่งเป็นการฝึกวินัยให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองด้วย

– ปัญหาบุคลากรในโรงเรียนไม่เพียงพอ
ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกับเด็กจำนวนมาก เนื่องจากความเอาใจใส่ไปไม่ถึง และส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กนักเรียนที่ไม่ค่อยมีสมาธิ
ปัญหาเรื่องบุคลากรนี้ เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือเตรียมความพร้อมของลูกหลานให้มีสมาธิกับเรื่องที่ทำ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และการติดตามการเรียนการสอนของแต่ละวิชา ไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ครูพูดเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก หรือท้อแท้ในการเรียน ดังที่กล่าวมาปัญหาส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองเอง โดยการให้เวลาและความสำคัญกับลูกมากขึ้น เพื่อให้เขามีอนาคตที่เขาสามารถเป็นผู้เลือกเอง โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเสมือนลมที่อยู่ใต้ปีกนกอินทรีย์ที่บินไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

ครูจา

Tags : , , , , , , , , | add comments

                การเริ่มต้นการเรียนรู้สำหรับเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวนี้เราผู้เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง จะต้องสรรหาสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งที่ลูกน้อยสนใจ นอกจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว คุณพ่อ คุณแม่ยังต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของพื้นฐานทางการศึกษาด้วย เมื่อกล่าวถึงการศึกษานั้นวิชาคณิตศาสตร์จะเป็นวิชาที่มีความท้าทาย เด็กหลาย ๆ คนจะมีความรู้สึกว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยากที่สุด เราสามารถเปลี่ยนวิชาคณิตศาสตร์ให้เป็นวิชาที่มีความสนุกสำหรับลุกได้ โดยการใช้กิจกรรมหรือเกมส์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจขั้นพื้นฐาน เช่น อาจคิดเกมส์การล่าขุมทรัพย์ ที่ใช้คณิตศาสตร์พื้นฐานเป็นการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักคณิตศาสตร์  หรือคุณอาจพาลูกไปห้างสรรพสินค้า ซึ่งเด็กสามารถมีความเข้าใจเรื่องเงิน เงินทอน หรือแม้แต่การคำนวณราคาเมื่อมีส่วนลด หรือการเรียนเรื่องเศษส่วน เราก็สามารถใช้พิซซ่า เค๊ก หรือพาย สอนการแบ่งส่วนที่เท่ากัน
                 จากตัวอย่างต่าง ๆ ด้านบน พบว่าเราสามารถสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กได้อย่างสร้างสรรค์ เพียงแต่พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องใช้เวลาให้คุ้มค่าในการดูแลปลูกฝังลูกน้อย เพื่อให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

บทความจาก : ezinearticle     โดย    Connor R Sullivan

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

       การปูพื้นฐานที่มั่นคงในการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเด็กขาดทักษะทางคณิตศาสตร์อาจทำให้เขามีปัญหาในการเรียน หรือขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ เด็กที่ขาดทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์จะเพิ่มความรู้สึกยุ่งยากและความสับสนในการเรียนคณิตศาสตร์เรื่อย ๆ แต่เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เราจะพบว่าความกดดันที่เด็กได้รับจากทักษะทางคณิตศาสตร์ก็หมดไปเช่นกัน จนเราอาจจะได้ยินว่าลูกชอบคณิตศาสตร์ในที่สุด
        การสร้างทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนั้นจะมีวิธีการอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนในการสร้างความมั่นใจและความเข้าใจเชิงลึกให้กับเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักสับสนกับการเป็นผู้สอนเด็กมีดังนี้
-อาจเกิดจากการมุ่งเน้นในบางเรื่องเท่านั้น เช่นการมุ่งเน้นในเรื่องของจำนวนจนลืมหัวข้ออื่น ๆ ที่เด็กต้องเรียนรู้ในระดับต้น การทบทวนแบบไม่มีลำดับขั้น

        การมุ่นเน้นคณิตศาสตร์ให้กับชั้นประถมปีที่นั้นจะมีหัวข้อสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
–  ระบบจำนวน ซึ่งหมายรวมลำดับขั้นของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และค่าประจำหลักด้วย
–  ความสัมพันธ์ ในชั้นประถมต้นจะเรียนแบบรูปที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ซับซ้อน หรืออาจเป็นการหาตัวแปรแบบง่าย ๆ
–  เรขาคณิต และมิติสัมพันธ์ เด็กจะเรียนรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน แล้วจึงเพิ่มในเรื่องของมิติสัมพันธ์ การอ่านแผนที่ และการแก้ปัญหาเรขาคณิต
–  การวัด และการเปรียบเทียบเชิงปริมาณทั้งในเรื่องความยาว น้ำหนัก อุณหภูมิ ความจุ เวลา และเรื่องเงิน
–  การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น การใช้ตาราง แผนภูมิ กราฟ เพื่อจัดรูปแบบข้อมูล
      คณิตศาสตร์สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 – 3
     ชั้นประถมปีที่ 1 มุ่งเน้นการเรียนเรื่องจำนวนและระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะเรียนเรื่องการบวก-ลบ จำนวนจาก 1 – 100 นอกจากนี้ยังมีการเรียนเรื่องรูปทรงเรขาคณิต การวัด เงิน แผนภูมิ กราฟ การวิเคราะห์ข้อมูล และแบบรูปทางคณิตศาสตร์
     ชั้นประถมปีที่ 2 เรียนเรื่องการจับกลุ่ม 10 , 100 และลำดับของระบบปฏิบัติการจำนวนไม่เกิน 1,000   ค่าประจำหลัก การคูณและการหาร
     ชั้นประถมปีที่ 3 จะยังคงเรียนเรื่องเดิมแต่เน้นในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหา การเรียนเรื่องเศษส่วน และทศนิยม เด็กในวัยนี้จะเพิ่มความเข้าใจในเรื่องของการวัด รูปทรงเรขาคณิต และความสัมพันธ์
     ชั้นประถมปีที่ 4 เรียนในเรื่องเดิมแต่มีความลึกมากขึ้น เช่นในเรื่องของเศษส่วน จะมีการเปรียบเทียบเศษส่วน การบวกลบ เศษส่วน มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของปริมาตร พื้นที่ เส้นรอบรูป และเรื่องของการวัดมุม
     ชั้นประถมปีที่ 5 มีการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องของตัวประกอบ ตัวประกอบเฉพาะ 
     ชั้นประถมปีที่ 6 มีการแปลงทศนิยมเป็นเศษส่วน และการบวกลบคูณหารเศษส่วนและทศนิยม การเรียนเรื่องเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ อัตราส่วน การสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางคณิตศาสตร์
      จากแนวทางการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นจะเห็นได้ว่า โดยหลักสูตรไม่ได้เน้นหนักในเรื่องของจำนวนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมเนื้อหาในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาต่าง ๆ อีกหลายวิชาในอนาคต

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments