Apr 23
จากในบทความที่เคยกล่าวมาแล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมนั้นเป็นการเรียนที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้ จากการเรียนผ่านประสบการณ์รอบๆ ตัว เช่น การเรียนเรื่องเงิน การชั่ง ตวง วัด เป็นต้น ซึ่งการเรียนในระดับประถมนั้น จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนในระดับมัธยมต่อไป
การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมจะเริ่มเป็นการเรียนในลักษณะที่เป็นศาสตร์มากขึ้น เช่น พหุนาม เลขยกกำลัง กรณฑ์ เป็นต้น แต่การเรียนในระดับมัธยมนั้นจะต้องอาศัยพื้นฐานที่ดีในระดับประถม เปรียบเสมือนโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง หากมีฐานที่ไม่แข็งแรง สิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมไม่สามารถสร้างให้สูงได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการเรียนคณิตศาสตร์ หากมีพื้นฐานไม่ดีตั้งแต่ประถม เขาไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติที่ดีกับการเรียน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เด็กๆ ต่อต้านการเรียนคณิตศาสตร์เกิดเนื่องมาจาก การปิดสัญญาณในการเรียน นั่นหมายความถึงการปิดโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาของความไม่เข้าใจ เมื่อบวกรวมกับสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเอง ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับคะแนนหรือเกรดที่ออกมา ทำให้เมื่อเข้าสู่มัธยมปลาย โอกาสหรือทางเลือกในการเรียนก็จะแคบลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์ได้ดีนั้น มักจะเรียนดีในเกือบทุกวิชา นั่นเราอาจหมายรวมได้ว่า การเรียนคณิตศาสตร์เป็นการจัดลำดับกระบวนการของความคิดให้กับเขาเหล่านั้น และสามารถพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า
Aug 16
Posted by malinee on Tuesday Aug 16, 2016 Under กิจกรรม
การซ้อมของขุนพลตัวน้อยที่เป็นตัวแทนของสถาบัน ไปร่วมแข่งขันคณิตคิดเร็วชิงแชมป์ประเทศไทย..เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะค่ะ..แล้วพบกันที่สนามแข่ง..
Jul 13
Posted by malinee on Sunday Jul 13, 2014 Under กิจกรรม
นับถอยหลังจากนี้ไปอีก 5 สัปดาห์ จะมีการจัดการแข่งขันคณิตคิดเร็ว ของ PAMA Thailand ซึ่งประกาศรับสมัครทั้งบุคคลทั่วไป และสำหรับเด็กตามวัย ในวันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2557 นี้ หากท่านผู้ปกครองมีความสนใจ สามารถส่งบุตรหลานเข้าร่วมการแข่งขันได้
ในการแข่งขันคณิตคิดเร็วนั้น ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องเรียนจินตคณิตมาถึงจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ แต่ในความเป็นจริงคือ แนวการแข่งขันในรูปแบบนี้ เหมาะสำหรับเด็กที่ถูกฝึกมาให้คิดแบบต่อเนื่อง โดยไม่ใช้วิธีการจับคู่คิดในใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีดังกล่าวใช้ไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวทางคณะกรรมการจะใช้ความเร็วและ ความถูกต้องแม่นยำ เป็นตัวตัดสินการแพ้ชนะ แต่หากต้องการเปิดหูเปิดตา พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถพาบุตรหลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันและจะได้พบกับกลุ่มเด็กๆ ที่เรียนจินตคณิตที่มีประสิทธิผล เด็กนับร้อย ที่ใช้วิธีการคิดเลขแบบจินตคณิต เพียงชั่วพริบตาก็สามารถหาคำตอบได้เป็นสิบๆ ข้อ
ทางสถาบันก็มีการจัดการซ้อมเพื่อส่งเด็ก ๆเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เด็กๆ ได้พบกับกลุ่มเพื่อนที่ใช้วิธีการคิดเลขในแบบเดียวกัน ได้มีประสบการณ์ของการแข่งขัน โดยมีความตั้งใจ และ มุ่งมั่นในการฝึกซ้อม ต้องขอขอบพระคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่เสียสละเวลาอันมีค่า เพื่อสร้างความมุมานะให้กับบุตรหลานด้วยคะ
ครูจา
Oct 03
Posted by malinee on Thursday Oct 3, 2013 Under หลักสูตร
ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมีข้อสงสัยว่าการเรียนลูกคิดทำไมจึงมี 2 หลักสูตร หากเรียนยุวคณิตแล้ว ยังต้องเรียนจินตคณิตอีกหรือไม่
ขออธิบายพอสังเขปต่อไปนี้ ยุวคณิตเป็นการเรียนลูกคิดสำหรับเด็กเล็ก (อนุบาลจนถึงประถม 1) ซึ่งเป็นการเรียนแบบค่อย เป็น ค่อยไป เพื่อไม่ให้เด็กที่มีกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง เครียดจนเกินไปกับการดีดลูกคิด และการเขียนคำตอบในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจเรื่องจำนวน ค่าประจำหลัก ให้กับเด็กเล็กเมื่อเรียนคณิตศาสตร์ต่อไป เมื่อผ่านการหลักสูตรยุวคณิตแล้ว ก็จะเข้าสู่หลักสูตรจินตคณิต ซึ่งเหมาะกับเด็กในวัยประถม ซึ่งมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือที่ดีและเรื่องจำนวนที่ดีพอ จะนำเขาเข้าสู่การจินตนาการในเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์นอกจากนี้ยังต้องมีการจับเวลาร่วมด้วยเพื่อกระตุ้นเด็กที่ต้องการการกระตุ้น แต่หากเป็นเด็กที่โดยธรรมชาติเป็นเด็กใจร้อน ทางสถาบันจะไม่กระตุ้นด้วยการจับเวลา เนื่องจากจะเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ทำงานพอให้เสร็จไป โดยไม่มีความรอบคอบ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของเด็กแต่ละคนว่าจะต้องการการกระตุ้นแบบใด
Nov 27
ในยุคก่อน ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คุณปู่ คุณย่าของเด็กในยุคปัจจุบัน หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า คนในรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก แต่เขาเหล่านั้นก็มีอยู่หลายครอบครัวที่สามารถก่ร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยในรุ่นต่อมา
กลับกันในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้กระทั่งชุดนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้แนวโน้มของความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และน่าจะรวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนไม่สอดคล้องกัน (จำนวนเด็กมากเกินกว่าที่ครูจะสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน) ประกอยกับความพร้อมของเด็กแต่ละคน ร่วมกับปัจจัยหลักนั่นคือ ความเอาใจใส่ ดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กบางส่วน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือบทเรียนในแต่ละเรื่อง หากจะให้พ่อแม่ช่วยอธิบาย พวกท่านก็ไม่มีเวลา หรือพ่อแม่บางกลุ่มก็จะปฏิเสธที่จะสอนลูก เพียงเพราะว่าตนเองมีพื้นฐานทางวิชาการไม่ดี ครั้นจะไปถามครู ครูก็ดูน่ากลัวเกินกว่าที่จะเข้าใกล้ประชิดตัว
ปัญหาในกลุ่มเด็กดังกล่าวมักเกิดกับคนในสังคมที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน ส่วยในกลุ่มที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ตนเองจะพยายามทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่ตนเองได้ผ่านมาแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมจะถ่างออกไปเรื่อย ๆ โอกาสทางสังคมที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ก็เปรียบเสมือนอากาศที่ลองลอยไปโดยไม่มีใครใส่ใจ และมองเห็นมันอย่างไร้ค่า เช่นเดียวกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้ตนเอง เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต
Sep 06
Posted by malinee on Tuesday Sep 6, 2011 Under กิจกรรม
ขอแสดงความยินดีกับครูและเด็ก ๆ ทุกคน ที่ได้รับรางวัล การแข่งขันคณิตคิดเร็วและภาษาอังกฤษชิงแชมป็ประเทศไทยครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2554 ณ ม.เอเชียอาคเนย์ ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับรางวัล เราก็ยังได้ประสบการณ์ในการแข่งขัน ได้เรียนรู้ถึงการรู้จักแพ้ชนะ และได้แสดงออกถึงความสามารถที่แต่ละคนได้ฝึกฝนมา เป็นอย่างดี ขอให้เด็ก ๆ มีความมานะ พยายาม ในการฝึกฝนต่อไปนะจ๊ะ
Aug 25
ในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2554 ทางโรงเรียนจัดให้มีการซ้อมใหญ่เพื่อแข่งขันจินตคณิตคิดเร็ซขึ้น ในเวลา 15 : 30 – 16:15 น. หากท่านใดสนใจดูคลิป เข้าชมได้ที่ facebook “จินตคณิต ลูกคิดญี่ปุ่น”
Dec 01
Posted by malinee on Wednesday Dec 1, 2010 Under เกร็ดความรู้
จินตคณิต คืออะไร
วันชัย ตัน / เรื่อง
๑๒ หาร ๓ เป็นเท่าไร เชื่อว่าหลายคนคงคิดในใจหาคำตอบได้
แต่ ๙๙๒.๕๘๗๓๑๘ หาร ๕,๖๔๗.๗๒๓ คำตอบคืออะไร ?
ในการแข่งขันประลองความเป็นหนึ่ง ของเซียนจินตคณิต ในประเทศญี่ปุ่น ฮิโรเอกิ ทะซูชิยา ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หาคำตอบได้เป็นคนแรก โดยไม่ใช้เครื่องคิดเลขใด ๆ คำตอบคือ ๐.๑๗๕๗๕๐๐๐๐๑๓๒๗๙๖๘๘๑๑๕๐๑๕๕๕๕๘๒๖๖๕๘
เปล่าครับ สมองของเด็กชายทะซูชิยา วัย ๑๓ ปี ไม่ได้มีชิปคอมพิวเตอร์ช่วยคิดเลข แต่เขาใช้ลูกคิดช่วยในการคำนวณ เหมือนกับพ่อค้าในอดีต และที่น่าสนใจก็คือ ทะซูชิยาไม่ได้ใช้นิ้วมือดีดลูกคิด คำนวณตัวเลขจริง ๆ แต่คำนวณโดยการสร้างภาพรางลูกคิดขึ้นในใจ ซึ่งวิธีนี้คนในเอเชียหลายชนชาติ ใช้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว
จินตคณิตคือเทคนิคการพัฒนาสติปัญญา เสริมสร้างสมาธิ เพื่อดึงอัจฉริยภาพในตัวเด็กออกมาให้ปรากฏ โดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อสำคัญในการฝึก ซึ่งเมื่อฝึกถึงขั้นสูง เด็กจะมีจินตภาพ สามารถสร้างภาพลูกคิดขึ้นในใจ เพื่อช่วยในการคิดเลขได้เอง ครูสอนจินตคณิตกล่าวว่า คนส่วนใหญ่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญจินตคณิตได้ หากเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเด็ก แต่จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนนาน ทั้งยังต้องควบคุมจิตใจ และทุ่มเทพลังสมาธิอย่างมหาศาล
“ถ้าสติคุณไม่อยู่กับตัวเมื่อไหร่ คุณก็แพ้เมื่อนั้น” ทะซูชิยา ผู้ครองแชมป์การแข่งขันจินตคณิตแห่งเกียวโตรายล่าสุด และมีอายุน้อยที่สุด กล่าว
ลูกคิดเป็นเครื่องคำนวณเลขของจีน แพร่เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๕๐๐ การใช้ลูกคิดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ในการคำนวณตัวเลขจำนวนมาก อุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้นี้ มีลูกกลมขนาดใหญ่หลายตัว ทำหน้าที่เป็นตัวนับ โดยการใช้นิ้วมือเขี่ยให้เลื่อนไปมาบนแกนเหล็ก เพื่อหาคำตอบทั้งบวก ลบ คูณ หาร หรือแม้กระทั่งถอดรากที่สาม แต่ไม่นานนัก ปรมาจารย์ลูกคิดทั้งหลายต่างเห็นพ้องว่า การคำนวณโดยใช้จินตภาพว่ามีลูกคิดนั้น สามารถคิดเลขได้ง่ายกว่ามาก และคนที่เป็นเซียนจินตคณิต ก็สามารถคำนวณได้เร็วกว่าแคชเชียร์ ที่ใช้เครื่องคิดเลขด้วยซ้ำ
โคจิ ซูซูกิ ครูสอนจินตคณิตในโตเกียว แง้มเทคนิคสั้น ๆ ว่า “แทนที่เราจะคิดถึงตัวเลข ๑ ก็ให้จินตนาการถึงผลแอ๊ปเปิ้ลหนึ่งใบในกระเป๋าเสื้อคุณแทน ซึ่งมันมีรูปทรง และจับต้องได้ ในการคำนวณแบบจินตคณิต เราพยายามจะมองให้เห็นภาพลูกคิดเหล่านั้น”
อาการของเด็ก ขณะที่กำลังแก้ปัญหาตัวเลขในการแข่งขันจินตคณิต จะต่างกันไป บางคนทำท่าขยับนิ้วไปมาบนลูกคิดล่องหน ที่อยู่บนโต๊ะ บางคนโยกตัวอยู่บนเก้าอี้ และเคลื่อนไหวเหมือนคนไร้สติ ตามจังหวะการดีดลูกคิดในจินตนาการ ดูไปคล้ายๆ ผีลูกคิดเข้าสิง
บรรดาครูจินตคณิตกล่าวว่า การเล่นกายกรรมสมองแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแค่การประหยัดเงินซื้อแบตเตอรี่เครื่องคิดเลข แต่ยังให้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย
“คุณต้องคำนวณอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ถ้าคุณเอาแต่กดเครื่องคิดเลขอยู่ตลอดเวลา สมองของคุณก็จะเฉื่อยลงเรื่อย ๆ” อาจารย์อีกคนกล่าว
เด็กนักเรียนที่เก่งจินตคณิตยืนยันว่ามันไม่เพียงช่วยให้พวกเขาเก่งวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ช่วยให้พวกเขาเรียนวิชาอื่นได้ดีขึ้นด้วย
คิมิโกะ คาวาโน นักวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์นิปปอน ซึ่งวิเคราะห์การทำงานของสมอง ในหมู่เซียนจินตคณิต ให้ข้อมูลว่าการฝึกฝนทักษะแบบนี้ ไม่มีผลในการเร่งรัด หรือพัฒนาการเจริญเติบโตของสมอง แต่เทคนิคการใช้สมาธิ และจินตภาพซึ่งจำเป็นสำหรับจินตคณิต จะช่วยบริหารสมองส่วนขวา ซึ่งควบคุมด้านจิตใจ อารมณ์ มากกว่าสมองส่วนซ้าย ที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ หรือการคำนวณขึ้นพื้นฐาน การบริหารสมองส่วนขวา จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของคณิตศาสตร์ คือจะช่วยให้คนที่เรียนจินตคณิต สามารถเรียนรู้เรื่องอื่น ๆได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียน
แต่ปัจจุบัน เด็กญี่ปุ่นก็เหมือนเด็กเอเชียส่วนใหญ่ คือเลิกใช้ลูกคิดแล้ว ทั้งยังใช้วิธีคำนวณในหัวสมองน้อยลง เวลาคิดเลขก็จิ้มไปที่เครื่องคิดเลข หรือเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว
มิน่าเล่า สมองของเด็กรุ่นใหม่ จึงเหมือนคอมพิวเตอร์ คิดเองไม่ค่อยเป็น สงสัยเด็กรุ่นใหม่ต้องหันไปหาลูกคิด เพื่อฝึกให้สมองมีจินตนาการมั่งแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารสารคดี
Dec 01
Posted by malinee on Wednesday Dec 1, 2010 Under เกร็ดความรู้
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำว่าจินตคณิตคืออะไร
คำว่าจินตคณิตเป็นการรวมคำระหว่าง “ จินต”(จินตะ) คือ การนึก +
“คณิต” คือ การนับหรือการคำนวณ โดยรวมหมายถึง
การนึกถึงตัวเลขหลังจากผ่านปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์
ซึ่งแนวการเรียนการสอนจินตคณิตนั้นจะมีอยู่ 2 แนวหลัก ๆ ได้แก่
– จินตคณิตในแนวของการทำซ้ำ ซึ่งเป็นการทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน โดยในการทำแบบฝึกหัดแต่ละครั้งจะมีเรื่องของการจับเวลาเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้เด็กเพิ่มศักยภาพในเรื่องความเร็วและการจดจำ (เป็นการใช้สมองซีกซ้าย) จนเกิดความคุ้นชิน
– การเรียนจินตคณิตในแนวของการใช้ลูกคิด เป็นแนวการเรียนการสอนที่สอนให้เด็กฝึกการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณในระดับต้นจนทำให้เกิดความคุ้นชิน และหลังจากนั้นจึงฝึกให้เด็กเกิดจินตภาพขึ้น (เป็นส่วนของการใช้สมองซีกขวาร่วมกับสมองซีกซ้ายในการคำนวณ) แต่ในการเรียนการสอนจะต้องค่อย ๆ เพิ่มหลักหรือจำนวนตัวเลขร่วมกับการจับเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของหน่วยความจำ ความแม่นยำ และความเร็วควบคู่กัน
จากแนวการเรียนการสอนจินตคณิตทั้ง 2 แนวนี้ต่างก็ให้ผลหรือจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การเพิ่มความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ หรือการปรับทัศนคติทางคณิตศาสตร์ให้แก่เด็ก เนื่องจากในการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมต้นจะเน้นเนื้อหาของค่าประจำหลัก และจำนวน โดยเด็กที่ผ่านการเรียนจินตคณิตจึงมักไม่พบปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์กับกลุ่มดังกล่าว
Sep 30
Posted by malinee on Thursday Sep 30, 2010 Under คอร์สปิดเทอม
รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 53 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 53 รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 53 ถึงวันที่ 21 ต.ค. 53 รอบที่ 3ตั้งแต่วันที่ 18ต.ค. 53 ถึงวันที่ 29 ต.ค. 53 หลักสูตรที่เปิดสอน คือ หลักสูตรลูกคิด สำหรับน้อง ๆ ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมองทั้งสองซีก และหลักสูตรโจทย์คณิตคิดง่าย สำหรับน้อง ๆ ระดับ ประถมศึกษา เพื่อปรับพื้นฐาน และ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมรอบใหม่ที่กำลังจะมาถึง พิเศษ สำหรับน้อง ๆ ที่สมัครเรียนในช่วงคอร์สปิดเทอมนี้ สามารถเข้าร่วม กิจกรรมนอกสถานที่ กับทางสถาบันฯ ฟรี 1 วันเต็ม ซึ่งน้อง ๆ จะได้พบกับกิจกรรมที่สนุกสนานมากมายพร้อมสอดแทรกทักษะทางคณิตศาสตร์และทักษะด้านการใช้เหตุผล ผ่านกิจกรรม