Sep 08
มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย จิตแพทย์เด็ก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษในบ้านเรา ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัยแล้ว เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนพิเศษ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น ในช่วงของประถมปลาย ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน การเรียนพิเศษในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย เหตุผลเพียงเพราะ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..
Dec 02
ในปัจจุบันที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีลูกคนเดียว จึงทำให้ความทุ่มเทและคาดหวังตกอยู่กับลูกโทน เป็นเหตุให้เมื่อบุตรหลานเข้าสู่วัยเรียน จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิถีพิถันในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน
หลายๆ ครอบครัวที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ก็จะรับรู้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องบุคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแบบ(ติวข้อสอบข้าราชการ ครูผู้ช่วย) ซึ่งหลังจากที่ได้รับราชการแล้ว ทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้ทันกับยุคสมัย แนวการเรียนการสอนที่เด็กนักเรียนจะต้องปรับเข้าหาครู (แทนที่ครูจะหาวิธีสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจ) ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นที่มักได้ยินกันเป็นประจำคือ ในชั้นเรียนครูไม่สอน แต่ให้เด็กไปเรียนพิเศษกับครูข้างนอก เมื่อใกล้สอบจะมีการบอกข้อสอบเพื่อให้ได้คะแนนดีๆนอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีการปรับปรุงทุกๆ ทศวรรษ ซึ่งในปัจจุบันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีแต่หลักสูตรแนวแกนกลางกระทรวงยังคงอยู่ที่ปี 2551 อยู่เลย
หลายๆ ครอบครัวจึงหันเหไปหาโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่หลายๆ ครอบครัวที่มีกำลังพอจะส่งเสริม เพราะหวังว่าเด็กได้ภาษาแน่ๆ และเข้าใจว่าโรงเรียนในแนวดังกล่าวจะสอนให้เด็กๆ สามารถคิด วิเคราะห์ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนไทย โดยลืมไปว่าการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมของคนไทยกับต่างชาติแตกต่างกัน เด็กทุกคนจะมีลักษณะนิสัยส่วนตัวซึ่งถูกบ่มเพาะจากทางบ้าน จริงอยู่ที่เด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน (ในวัยเรียน) แต่ครอบครัวได้หล่อหลอมเขาตั้งแต่แรกเกิดจนก่อนเข้าวัยเรียน หากเด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน ลักษณะนิสัยดังกล่าวก็ยังคงเป็นตัวเขา หากพ่อแม่ผู้ปกครองบ่มเพาะให้เขาหัดเป็นคนช่างสังเกต หรือมีระเบียบวินัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะติดตัวเค้าไปทุกที่ แต่อย่างไรก็ดีโรงเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ครูมีผลต่อทัศนคติของเด็กในวิชาที่ครูผู้นั้นสอน ดังนั้นทางที่ดี ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่ให้บุตรหลานเหมือนไม้ผลัด ที่เรื่องของการเรียนส่งต่อให้โรงเรียนรับผิดชอบเพียงไม้เดียว ส่วนผู้บิรหารโรงเรียนนอกจากจะมีการประเมินการเรียนการสอน ซึ่งคือการประเมินการเรียนของเด็กเพียงด้านเดียว แต่ควรประเมินการสอนของครูผู้สอนด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาไปทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งของทางบ้าน และฝั่งของโรงเรียนไปพร้อมๆ กัน…
Apr 22
มีกระแสของการศึกษาที่มีอยู่เนืองๆ ว่าควรจะมีการยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพดีทั่วประเทศเสียที หลายๆ คนอาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนควรจะมีการบูรณาการตามความสามารถของเด็ก หรือตามความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมและ ความสนใจที่แตกต่างกัน จึงควรมีการจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความถนัดของเด็ก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงการคัดเลือกข้าราชการครูเข้ามารับหน้าที่ในการสอน ยังไม่ตรงกับความถนัด หรือสาขาวิชาที่เรียนมาเลยด้วยซ้ำ อย่าพูดถึงคุณภาพของเด็กที่จะได้รับการเรียนการสอนที่ดีเลย นอกจากในส่วนของผู้สอนแล้ว ตัวผู้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพในการเรียนด้วย เราต้องยอมรับก่อนว่าเด็กก่อนวัยเรียนในแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างกันแล้ว ครูไม่ได้กล่าวถึงความพร้อมด้านเศรษฐกิจ แต่ ณ ที่นี้จะกล่าวถึงหน้าที่ในการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ก่อนวัยเรียน เด็กหลายๆ คนถูกปล่อยปละ หรือขาดทักษะทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่ส่งผลต่อทักษะในการเรียนรู้ในวัยเรียน ที่จะต้องใช้ทักษะพื้นฐานในช่วงก่อนวัยเรียน หลายๆ ครอบครัวที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การเล่นเกมส์เป็นการฝึกทักษะและภาษาให้กับเด็กโดยที่เด็กจะใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวในการเล่นเกมส์ ซึ่งต่างจากการเล่นของเล่นที่เป็นชิ้น ที่สามารถเสริมสร้างทั้งกล้ามเนื้อ ความสัมพันธ์ของการทำงานระหว่างมือกับตา อีกทั้งยังได้เรื่องของจิตนาการอีกด้วย
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ก็ไม่มีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่พร้อม สมาธิไม่ดี หรือแม้กระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเรื่องพื้นฐานที่ควรจะถูกฝึกจากบ้าน คิดเพียงแต่ว่าโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะสอนให้บุตรหลานอ่านออกเขียนได้ โดยขาดการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
มันจะเป็นธรรมกว่าหรือไม่ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างโยนความรับผิดชอบให้พ้นๆ ตนเองไป พ่อแม่ผู้ปกครองก็โยนความรับผิดชอบไปให้โรงเรียน ครูชั้นอนุบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะในที่สุดเด็กก็จะต้องขึ้นไปเรียนชั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ นี่เป็นเพียงความรับผิดชอบในงานเล็กๆ ของตนเอง เราก็ไม่ต้องหันไปพึ่งใครที่มีหน้าที่เพียงไม่กี่ปี หรือไม่กี่วาระที่จะมาแก้ปัญหาการศึกษาของไทยเลย เพราะต่างก็คิดว่า ปีหน้าเราก็หมดวาระ หรือหมดหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นสถาบันเล็กๆ ที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้แข็งแกร่งที่สุด อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งมันไม่มีจริงเลย มันเป็นเพียงภาพลวงตา
May 01
จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็จัดกิจกรรมการเรียนในวิชาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เด็กหลายๆ คนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสู่ระดับมัธยม ก็จะต้องมีการเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนที่โตขึ้น
หลังจากที่กล่าวถึงการสอบคัดเลือกเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แล้ว ครั้งนี้เรามาศึกษาวิธีการสอบคัดเลือกของข้าราชการครูกันบ้าง การสอบคัดเลือกข้าราชการครูนั้น ครูทุกๆ คนจะต้องผ่านการสอบข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งคะแนนรวมคือ 400 คะแนน หลายๆ คนคงสงสัยว่า ครูจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร
การสอบภาค ก เป็นข้อสอบกลางในการคัดเลือกบรรจุข้าราชการทุกอัตรา (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการครู) ข้อสอบจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติ มาตราต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ โดยมีคะแนนเต็ม 200 คะแนน ส่วนภาค ข เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการศึกษา (100 คะแนน) ส่วนความรู้ในวิชาที่จะเข้าสอน (วิชาเอก) อีก 100 คะแนน ซึ่งข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อสอบปรนัย จากสัดส่วนของคะแนนที่รับข้าราชการครูเฉพาะสาขาวิชา เราจะเห็นว่า ความรู้ความสามารถในวิชาชีพคิดเป็นเพียง 25% เท่านั้น
ในความคิดเห็นของครู เห็นว่า แนวทางการคัดเลือกข้าราชการครู ควรจะมีมาตรฐานในการคัดเลือกให้มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แล้วกระจายครูไปยังภูมิภาคต่างๆ การสอบคัดเลือกควรมีการแยกข้อสอบการคัดความรู้เฉพาะทางให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้แบ่งส่วนของการสอบออกเป็นภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ข้าราชการครูที่มีคุณภาพ แต่หลังจากที่เราได้ครูที่มีคุณภาพแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่ลงมายังกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะส่งตรงไปยังผลตอบแทนของครูมากกว่าการทุ่มงบให้ tablet ที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างเสียเปล่า โดยให้แต่โทษไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นครูที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ ต่อไป