Apr 07
ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Nov 06
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าไม่ว่าจะเป็นม.1 หรือ ม.4 ซึ่งอัตราการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแบ่งสัดส่วนของเด็กในพื้นที่และเด็กนอกพื้นที่ ร่วมกับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ถูกกำหนดให้ลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในเขตโรงเรียนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าช่วงชั้นที่สูงขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันติวที่มีผลงานการันตีเป็นรายชื่อนักเรียนที่สอบติดตามโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอถึงตอนเย็นก็หมดแรงที่จะทำอะไร เด็กๆ ก็จะเรียกร้องขอเวลาพักเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาพักของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยส่วนใหญ่ การติวสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถใช้ข้อสอบแบบปกติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกข้อสอบที่ยากเกินระดับ ดังนั้นการติวเพื่อสอบเข้าตามสถาบันต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว แต่การที่เด็กเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นนั้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด จึงทำให้ขาดการทำแบบฝึกหัด หรือการทบทวน หลังจากกลับถึงบ้านก็ใช้เวลาที่เหลือเล่นเกมส์ หรือผ่อนคลายในแบบที่ตนเองต้องการ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กเข้าห้องสอบ กลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนก่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเรียนกวดวิชานั้น เขาจะให้สูตรและวิธีลัดมากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการและนำไปใช้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทบทวน และฝึกฝนทักษะของการทำโจทย์เพื่อให้รู้ขั้นตอน กระบวนการ และคิดอย่างเป็นระบบ หากเขาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกทำด้วยตนเอง เขาจะไม่เกิดทักษะของการวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เริ่มต้นไม่ถูกได้แต่นึกคุ้นๆ
ดังนั้นการที่ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตามดูว่าเขามีการทบทวน หรือได้ฝึกทำโจทย์ เพื่อให้เม็ดเงินและเวลาที่เสียไปเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
Jun 04
เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการหลายๆ ท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปติวหนักเป็นปี เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี การส่งให้เด็กติวเข้านั้น ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดหวังว่าเม็ดเงินที่เสียไป จะต้องทำให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีในสายตาของตนเอง
การติวเข้าโรงเรียนแนวสาธิต จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กในเรื่องของเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสถาบันต่างๆ มักสร้างสถานการณ์ในช่วงของการใกล้สอบจนบางครั้งมีเด็กบางคนเกิดอาการเครียด โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองยังส่งผลต่อเด็ก เมื่อเขาไม่ได้มีชื่อที่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งการไม่ได้รับเลือกเป็นนักเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มีผลต่อตัวเขา หรือความรู้สึกใดๆ เลย แต่ผู้ที่มีผลกับเขาคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนพู่กันที่แต้มสีสันลงบนความรู้สึกนึกคิดของเขามากกว่า หากส่งผ่านความผิดหวังไปที่เด็ก ก็เปรียบกับการแต้มสีดำ หรือเทา ทำให้ผ้าขาวเกิดจุด หรือรอยด่างดำ ซึ่งมันจะติดตัวเขาไปตลอด ความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของเขาไปเลย ซึ่งเด็กในวัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่จะต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบจอหงวน เขาควรได้เล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม เล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นเป็นกลุ่มยังส่งผลให้เขาได้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยในการเล่นอีกด้วย มันเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วการเล่นยังเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็ควรจะเป็นจิตรกรผู้แต่งแต้มสีสันอันสดใสให้กับเขา ชีวิตในวัยเด็กที่สดใส สนุกสนาน ให้ได้อยู่กับเขาได้นานที่สุด
แต่เมื่อโตขึ้น ในวัยที่เขามีความต้องการที่จะเลือกโรงเรียน แนวการเรียนของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เลือกทุกอย่าง รวมถึงปกป้อง จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกใดๆ เลย จริงๆ แล้วหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงมีหน้าที่รักเค้าเหมือนเดิม แต่เมื่อเค้าโตขึ้น ต้องฝึกให้เค้าได้มีทักษะด้านอารมณ์ ให้มากขึ้น ให้รู้จักอดทนอดกลั้นมากขึ้น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ แล้วให้เขาเป็นผู้เลือกชีวิตและทางเดินของเขาด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่ยอมรับในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาผิดหวัง เขาต้องยอมรับข้อผิดพลาด รู้จักความผิดหวัง ต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเรียน การเลือก และสุดท้ายคือจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกที่อาจผิดหวัง โดยมีพ่อแม่ เป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ หรือผิดหวัง ชื่นชมในความสำเร็จแม้เพียงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
Mar 28
Posted by malinee on Wednesday Mar 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
จากกระแสข่าวเรื่องการสอบแข่งขัน เข้าเรียนในชั้น ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต จนเป็นกระแสทำให้มีข่าวว่าจะไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในชั้น ป.1 เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เราจะพบเห็นกันเป็นประจำในการสอบคัดเลือกในทุกระดับชั้น การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในทุกช่วงชั้นในบ้านเรา
หลายๆ คนก็คงเคยได้ยินว่าในหลายๆ ปะเทศก็มีการแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐเช่นกัน (เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น) แต่หากเราลองมาดูถึงรายละเอียดกันจะพบว่า ในการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกๆ โรงเรียนรัฐ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนบางโรงเรียนเหมือนอย่างบ้านเรา สาเหตุของการแข่งขันดังกล่าวในบ้านเราแตกต่างจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นเพราะมาตรฐานของโรงเรยนในบ้านเราไม่เท่าเทียมกัน ความสามารถในการสอนแตกต่างกัน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานศึกษาเกิดกระจุกอยู่เพียงโรงเรียนไม่กี่แห่ง นอกจากนี้แล้ว การประเมนผลในระดับประเทศของบ้านเรา มักนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละโรงเรียน เทียบกับขนาดของโรงเรียน เทียงระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ และประกาศกันอย่างแพร่หลาย
ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแทนที่จะนำมาช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือเป็นตัวชี้วัดว่าต้องมีการเพิ่มศักยภาพของการเรียนการสอนของครูผู้สอน ให้มีสัมฤทธิผลที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นตัวชี้วัดการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน มาประกอบกับแถลงการณ์ของกระทรวงศึกษา ที่รับจำนวนเด็กต่อห้องไม่เกิน 40 คน ยิ่งเป็นเหตุให้อัตราการแข่งขันเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่แยกกันอย่างชัดเจน คือเด็กในกลุ่มที่ฐานะทางบ้านไม่สามารถแทรกตัวบุตรหลานให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีครูที่(พ่อแม่คาดหวังว่า)ดีได้ ก็จะต้องไปอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเลือกเท่าใดนัก เด็กที่รวมตัวกัน จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียนเท่าใดนัก สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของสังคม
ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีผู้ที่คิดจะลงมือแก้ไขปฏิบัติ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป นั่งในตำแหน่งเพื่อรับเงนเดือน และเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล แต่ไม่ได้คิดที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ เพราะคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานเกินกว่าจะแก้ไข หรืออาจนั่งในตำแหน่งแต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เกิดในสังคมปัจจุบันเกี่ยวกับการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข เพราะรับช่วงต่อจากผู้บริหารคนเก่า เสมือนตำแหน่งที่ได้มาเป็นสมบัติผลัดกันชม ได้แต่ทำตามในสิ่งที่เคยทำ ให้เวลามันผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
Jan 07
ต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงที่เด็กๆ จะต้องเรียนกันหนัก หลังจากการเที่ยวปีใหม่ผ่านไป เนื่องจากเด็กหลายๆ คนต้องมีการย้ายโรงเรียน จากชั้นประถม สู่ชั้นมัธยม และในปีการศึกษาหน้า การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลายๆ โรงเรียน จะเพิ่มอัตราส่วนของเด็กในพื้นที่มากขึ้น นั่นส่งผลให้ เด็กๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ของโรงเรียนดัง ต้องฝ่าด่านกันมากกว่าเดิม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานให้ได้เข้าโรงเรียนที่ได้เลือกไว้ สิ่งที่ทำได้ คือการสมัครลงสอบ Pre Test เพื่อให้ลองสนามจริง กับเวลาในการทำข้อสอบจริง
คราวนี้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับการสมัครสอบ Pre Test เนื่องจากเป็นการสอบ Pre Test จะรับนักเรียนประถมปลาย และผลการสอบก็ออกมาทั้งคะแนนสอบ ค่ากลาง และลำดับของการสอบ การสอบ Pre Test มีข้อดีคือ ทำให้เด็กๆ ได้รู้ข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง และได้เตรียมตัวให้มากขึ้น แต่ผลของลำดับที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า เด็กจะไม่ผ่าน หรือ ผ่านการสอบคัดเลือกดังกล่าว เด็กหลายๆ คนยังมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมได้อีก หนึ่งถึงสองปี นอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ยังเป็นแนวให้ผู้ปกครองอีกว่า บุตรหลานจะเหมาะกับการสอบคัดเลือกในสนามนั้นหรือไม่ หากต้องทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเค้า ทำได้แค่เพียงการเข้าสถาบันกวดวิชาทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ทำให้ทักษะ หรือประสบการณ์ต่างๆ น้อยลง สู้ลดระดับการแข่งขันลง แต่เสริมกิจกรรม สร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ คู่ไปด้วยจะดีกว่า เพราะเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือประสบการณ์ และทักษะต่างหาก ที่ทำให้เค้าดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
Mar 12
ผ่านไปแล้วสำหรับการประกาศผลสอบเข้าเรียนในห้องเรียนพิเศษ (Gifted และ EP) ครูต้องขอแสดงความยินดีกับน้องๆ หลายๆ คนที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งนั่นหมายถึงการเตรียมความพร้อมได้เป็นอย่างดี แต่อีกหลายๆ คนไม่ได้เลือกลงเข้าการคัดเลือกในรอบนี้ หรือน้องๆ บางคนที่พลาดในรอบนี้ นั่นไม่ได้หมายความว่าตนเองจะหมดโอกาส ทุกๆ คนยังมีโอกาสในสนามใหญ่อีกครั้งในวันที่ 1 เมษายน นี้ ซึ่งเป็นการแข่งขันพร้อมกันทุกโรงเรียน ดังนั้นเด็กที่พลาดจากสนามแรก ก็จะต้องเข้าสอบในสนามนี้
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำคือ การพิจารณาโรงเรียนในการให้น้องๆ สอบคัดเลือกของพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรประเมินปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากที่สุด ซึ่งหมายถึง จำนวนคู่แข่ง : จำนวนนักเรียนที่รับ และการเตรียมตัวของตัวบุตรหลาน และตัวเด็กๆ เองก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ต้องอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองให้ได้รับคัดเลือกในที่สุด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มไม่ได้เป็นแบบนั้น เนื่องจากเด็กๆ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่เรียนรู้ว่าการเรียนเป็นสิ่งเดียวที่เป็นหน้าที่ของตนเอง และทำในสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความบกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางที่ตนเองจะไม่มีที่เรียน ในที่สุด พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องคอยวิ่งเต้น เพื่อให้ตนเองได้มีที่เรียนในที่สุด
หากพิจารณากันดีๆ แล้ว ความผิดพลาดในพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากเขาเหล่านั้นไม่เคยถูกสอน หรือฝึกให้อยู่ในระเบียบวินัยในการทำหน้าที่ของตนเอง และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ เด็กไม่เคยได้รับบทลงโทษเมื่อทำผิดกฎ หรือระเบียบใดๆ เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ปกป้องอย่างไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่รู้จักหน้าที่ ของตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบและไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ในที่สุด หากเด็กๆ ได้รับการฝึกระเบียบวินัย และรู้จักหน้าที่ของตนเอง ต่างคนต่างรู้และรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ก็เป็นเหมือนจิกซอรที่ทุกคนในครอบครัวช่วยกันต่อจนเป็นภาพที่สมบูรณ์ในที่สุด
Feb 20
ช่วงนี้เดือนหน้าจะเป็นช่วงของการสอบคัดเลือกประจำทุกปี น้องๆ หลายๆ คนก็ต้องให้เวลาในการเตรียมตัวกับตัวเองในการอ่านหนังสือ ลดเวลาเล่นกันก่อนนะคะ
หลายๆ ครั้งผู้ปกครองมักบ่นว่า บุตรหลานของตนไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง เฉื่อย ไม่มีความกระตือรือร้น สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการเลี้ยงดูบุตรหลานในวัยเด็ก สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เนื่องมาจากในวัยเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองคอยปกป้องดูแลเอาใจใส่จนเกินพอดี ไม่ให้บุตรหลานมีโอกาสที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดๆ พ่อแม่ก็คอยเป็นคนแก้ปัญหาให้ทุกเรื่อง การดำเนินชีวิตก็เป็นไปอย่างเรื่อยๆ ไม่มีความกระตือรือร้นทุกๆ เรื่องจนกลายเป็นนิสัยที่เฉื่อย ไม่สนใจต่อสถานการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างใดๆ เพราะถือว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายด้วยการแก้ปัญหาของพ่อแม่ ผู้ปกครองได้โดยง่าย
นิสัยดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนไปเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะโตขึ้นโดยแบบเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความอดทน หากไม่อยากให้บุตรหลาน ดำเนินชีวิตโดยสามารถดูแลตนเองได้เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ดังนั้นในวัยเด็ก ซึ่งสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดที่เป็นโรงเรียนแรกของเด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองสอนให้เค้ารู้จักกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย หน้าที่ และความรับผิดชอบตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งการปลูกฝังนิสัยดังกล่าวตั้งแต่วัยเด็กจะยากลำบากบ้างในช่วงแรก แต่ผลที่ได้จะคุ้มค่ามากเมื่อเขาโตขึ้น
Aug 29
Pencil and pencil shavings studio isolated on white background
นานมาแล้วที่การเรียนในโรงเรียนของหลายๆ โรงเรียน หรือแม้แต่การสอบคัดเลือกก็ตามจะมีการแบ่งห้องเรียนของเด็กตามศักยภาพที่แสดงเป็นผลของการเรียน แต่ก็ยังมีหลายๆ โรงเรียนที่คละเด็ก ไม่ได้แบ่งตามผลการเรียน หลายๆ คนอาจมองว่าการคละเด็กที่มีการเรียนที่ต่างกันจะทำให้การเรียนในห้องจะต้องรอเด็กที่เรียนรู้ช้ากว่า และจะทำให้ครูผู้สอนมีความยากลำบากในการสอนมากขึ้น
แต่หลายๆ คนอาจคิดว่าการแบ่งเด็กตามศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กจะทำให้ง่ายต่อครูผู้สอน เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนอย่างเต็มที่ เด็กจะแข่งกันเรียน
คราวนี้เรามามองถึงการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในห้องกิฟเต็ท (gifted) ของโรงเรียนต่างๆ เด็กหลายๆ คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนอาจต้องมีการเรียน การติวอย่างหนัก จนได้รับคัดเลือกเข้าเรียน (เด็กที่อยู่ในกลุ่มท้ายๆ ของการคัดเลือก) การเตรียมตัวอย่างหนักก่อนสอบ เป็นการฝึกฝนการทำข้อสอบ เสมือนกับการเหลาดินสอของตนเองให้แหลมขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเทียบเท่ากับของคนอื่นๆ แต่เมื่อเข้าเรียนแล้ว การเรียนในกลุ่มก็จะต้องมีการฝึกฝนตลอดเวลา หากเด็กที่อยู่ในกลุ่มท้ายของห้อง การเรียนจะต้องใช้การฝึกฝนมากกว่าเพื่อนในชั้นเดียวกัน เปรียบเหมือนดินสอแท่งที่ผ่านการเหลาแล้วเหลาอีก จนเหลือปลายดินสอที่สั้นจนไม่สามารถเหลาได้อีก เมื่อเทียบกับเพื่อนในห้องที่ปลายดินสอยังยาวอยู่ ก็อาจส่งผลต่อทรรศนคติในด้านลบของเขา ซึ่งมีผลเสียมากกว่าการที่เด็กที่มีการเรียนรู้ในเกณฑ์ดี แต่ไม่ได้ถูกคัดเลือกให้อยู่ในห้องที่ดีมาก ผลการเรียนอาจอยู่ในเกณฑ์ดีมากในห้องดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อทรรศนคติในเรื่องของการเรียนมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับว่าห้องที่รองลงมา ต้องไม่ใช่ห้องที่เกเร ไม่ตั้งใจเรียน ซึ่งทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะกับการเรียนรู้ด้วย
Aug 16
Posted by malinee on Tuesday Aug 16, 2016 Under กิจกรรม
การซ้อมของขุนพลตัวน้อยที่เป็นตัวแทนของสถาบัน ไปร่วมแข่งขันคณิตคิดเร็วชิงแชมป์ประเทศไทย..เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะค่ะ..แล้วพบกันที่สนามแข่ง..
Aug 23
ควันหลงหลังจากประกาศผลการสอบกลางภาค ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียต่อเด็กในแต่ละกลุ่ม
เรามาพิจารณาถึงผลดีก่อน เด็กในกลุ่มที่ส่งสัญญานการต้องการความช่วยเหลือ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ควรจะไม่ควรจะละเลยสัญญานที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโดยการกำจัดสิ่งที่ยังติดค้าง หรือความไม่เข้าใจให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เขาได้ก้าวเดินต่อไปในระดับที่ยากขึ้น อย่าปล่อยให้เด็กเก็บสะสมความความไม่เข้าใจมากขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้
ส่วนกลุ่มที่ส่งผลเสีย ก็ได้แก่ กลุ่มที่มักนำผลการเรียนของบุตรหลานไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมชั้น การเปรียบเทียบกันในชั้นเรียนไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การเปรียบเทียบในกลุ่มดังกล่าวมักต้องการให้บุตรหลานของตนเองไม่เพียงแต่อยู่ในระดับต้นๆ เท่านั้น แต่ต้องการให้บุตรหลานเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ซึ่งในการสอบแต่ละครั้ง ไม่เพียงแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว ยังรวมถึงความพร้อมในเรื่องของสมาธิในวันนั้น ๆ ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในเด็กกลุ่มนี้คือ การถูกส่งไปเรียนในสถาบันต่างๆ อย่างหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่หนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการ แต่เมื่อใดที่ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง เด็กๆ ก็จะต้องถูกเปลี่ยนที่เรียนหรือเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเขาเหล่านั้นขาดความสดใส ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เนื่องจากถูกป้อนความรู้จนเคยชิน จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่มีความพยายามทำสิ่งต่างๆ ไม่กล้าลองผิดลองถูกในสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การต่อต้านการเรียนอย่างเงียบๆ มีหน้าที่ไปเรียน แต่ไม่ได้ตั้งใจ หรือมีสมาธิอยู่กับการเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนใดๆ
ดังนั้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เราผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองควรเปลี่ยนทรรศนคติที่ต้องการให้บุตรหลานเป็นที่หนึ่ง มาร่วมกันปลูกฝังให้เขาได้ตระหนักและรู้จักทำหน้าที่ในเรื่องการเรียนให้ดีที่สุด น่าจะทำให้เขามีความทรงจำที่มีความสุขในช่วงวัยเรียนของเขาตลอดไป
ครูจา