สวัสดีเช้าวันอังคาร…
ฝึกคิดเลขพร้อมกับเด็กๆกันนะคะ..เริ่มเรียนคณิคเริ่มที่ คิดสแควร์..#เด็กคิดสแควร์
สวัสดีเช้าวันอังคาร…
ฝึกคิดเลขพร้อมกับเด็กๆกันนะคะ..เริ่มเรียนคณิคเริ่มที่ คิดสแควร์..#เด็กคิดสแควร์
ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน
ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ
เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ
การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร
หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม
ในช่วงนี้เรามีข่าวดีของชาวไทยนั่นคือ น้อยเมย์ รัชนก อินทนนท์ ครองตำแหน่งนักแบตมินตันหญิงเดี่ยวอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทยกันทั่วหน้า
นอกจากความภาคภูมิใจในตัวสาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้แล้ว ยังมีข้อคิดดีๆ หรือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราควรนำมาปรับใช้นั่นคือข้อมูลจาก โค้ชเซี๊ยะ จือหัว ซึ่งเป็นชาวจีน และฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านทองหยอดมากว่า 20 ปี เผยว่า กว่าน้องเมย์ จะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่แค่เรื่องพรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวง ด้วยการฝึกฝนอย่างหนัก โดยเธอต้องใช้ชีวิตฝึกซ้อมแบดอยู่ที่โรงยิมตลอด 365 วัน ไม่มีวันหยุด!โดยซ้อมหนักสุดวันละ 7 ชั่วโมงและน้อยสุดวันละ 3 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ เธอทำเช่นนี้ทุกวันๆ นับตั้งแต่อายุ 6 ปี
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า ความสำเร็จของใครก็ตาม มักมีเบื้องหลังที่แลกมาด้วยความเพียรพยายาม การฝึกฝน อย่างจริงจัง เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนในวิชาใดๆ ในช่วงแรกของการเรียนรู้ ไม่มีใครรู้ว่าตนเองมีพรสวรรค์ด้านไหน แต่คนที่มีพรสวรรค์ทางด้านไหน มักชอบทำในสิ่งนั้นเป็นประจำ เช่นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์มักชอบแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนที่มากกว่าทำให้เกิดทักษะและความชำนาญที่มากกว่า การฝึกทักษะในโจทย์ที่หลากหลายจะทำให้เกิดวิธีคิด วิเคราะห์ที่หลากหลายมากขึ้นตามประสบการณ์ที่ได้จากการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ไม่มีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์จะต้องเรียนคณิตศาสตร์แย่ทุกคน แต่เด็กจะต้องใช้พรแสวง ที่ต้องเก็บเกี่ยวทีละเล็กทีละน้อย อย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ได้เช่นกัน
ครูจา
หลายๆ คนคงสงสัยว่าจินตคณิตมีความเกี่ยวข้องอะไรกับการลดความอ้วน หลายๆ ครั้งมีการเปรียบเทียบการเรียนจินตคณิตให้สัมฤทธิ์ผล เพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ครั้งนี้จึงนำมาเปรียบเทียบกับการลดความอ้วนของสาวๆ
การเรียนจินตคณิตเหมือนกับการลดความอ้วนอย่างไร การลดความอ้วนหลายๆ คนใช้วิธีการอดอาหาร วิธีนี้อาจได้ผลกับคนที่มีความมุ่งมั่นอดทน แต่หลายๆ คนมักถอดใจก่อนที่จะไปได้ถึงจุดหมาย ในช่วงแรกของการลดความอ้วน จะไม่ค่อยเห็นผลชัดเจน พอไม่มีคนทักหรือไม่เห็นผลชัดเจนก็มักถอดใจก่อน เช่นเดียวกับการเรียนจินตคณิต เนื่องจากการเรียนจินตคณิตจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่การบวกลบแบบง่าย ซึ่งต้องใช้เวลา หากผู้ปกครองใจร้อนก็จะมีความรู้สึกว่าการเรียนไม่มีประโยชน์อะไร ก็เลิกเรียนก่อนที่จะเห็นผล
การลดความอ้วนอีกแบบหนึ่ง คือการออกกำลังกาย การลดความอ้วนประเภทนี้ ก็จำเป็นต้องมีตารางกำหนดอย่างมีระเบียบ และความสม่ำเสมอ เช่นกันหากการออกกำลังกายไม่มีระเบียบวินัย ผลของการลดความอ้วนก็อาจช้าลง หรือไม่เห็นผลเลย การออกกำลังกายของสาวๆ บางคน ยังจำเป็นต้องมีนักโภชนากรให้คำแนะนำในเรื่องของโภชนาการ เพื่อให้การลดความอ้วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เปรียบได้กับ การพาบุตรหลานเรียนจินตคณิตต้องให้ความสม่ำเสมอ มีระเบียบวินัยในการให้บุตรหลานฝึกทักษะอยู่ที่บ้าน ครูก็เหมือนเทรนเนอร์ในโรงยิม คอยให้คำปรึกษา ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็เปรียบได้กับนักโภชนากรที่คอยให้กำลังใจ และดูแลเอาใจใส่ให้การเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีความร่วมมือกันทั้งสามฝ่ายข้างต้น การเรียนจินตคณิตก็จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างแน่นอน
ครูจา
เป็นเรื่องที่ดีที่ ผู้ปกครองคอยดูแลเอาใจใส่ในเรื่องเรียนของบุตรหลาน บ่อยครั้งที่หากิจกรรมการเรียนเสริมให้กับบุตรหลานเพื่อเป็นการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ปีการศึกษาที่สูงขึ้น การส่งเสริมเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่มีความสำคัญคือ ช่วงเวลานั่น หมายถึงวัย และพื้นฐานความรู้ที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนในแต่ละช่วงอายุของบุตรหลาน เช่นการเรียนคณิตศาสตร์ ในวัยอนุบาลควรส่งเสริมให้มีทักษะด้านจำนวน (เช่นมากกว่า น้อยกว่า การปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น) การเรียนการสอนในโรงเรียนของเด็กในวัยดังกล่าว จะเน้นเรื่องจำนวนเป็นหลัก ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเรียนการคิดวิเคราะห์หรือการแก้ไขโจทย์ปัญหา ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะด้านการอ่านและการคิดวิเคราะห์ว่าจะต้องใช้ปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์แบบใด การเรียนในวัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการเรียนที่ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา เนื่องจากการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์โจทย์ หากการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้จากการอ่านของผู้สอน เมื่อถึงเวลาที่เขาจำเป็นจะต้องแก้โจทย์ปัญหาด้วยตนเอง เขาจะไม่สามารถอ่านจับใจความ ที่ถูกต้อง ส่งผลให้การวิเคราะห์ก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
แต่ในหลายๆ ครอบครัวที่เด็กโตจนถึงประถมปลาย เมื่อเด็กมีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ มักจะกลับมาเน้นการเรียนคณิตศาสตร์แบบการแก้ไขเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่มักหันกลับมาหาการเรียนจินตคณิต ซึ่งเราเคยมีการนำเสนอบทความเก่าๆ ไปแล้วว่า การเรียนจินตคณิตในช่วงของเด็กประถมปลายนั้น การเรียนจะตามหลังการเรียนในโรงเรียน ทำให้เด็กอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการคำนวณตัวเลขแบบง่าย และเลิกไปในที่สุด การเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กประถมปลาย จะเป็นการเรียนที่เน้นการแก้ไขปัญหาโจทย์เป็นสำคัญ
เด็กวัยอนุบาลจนถึงประถมต้น ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์โดยการแก้ไขเรื่องจำนวนควบคู่กับการเรียนภาษาไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนทุกๆ วิชา ส่วนนักเรียนประถมปลาย ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ในแนวของการแก้ไขโจทย์ปัญหาเป็นหลัก
ดังนั้นหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการส่งเสริมการเรียนของบุตรหลาน ควรจะมีการดูเนื้อหาการเรียน และวัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ครูจา
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับการเรียนจินตคณิตก่อน การเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนที่พัฒนาสมองผ่านการบวกลบคูณหารทางคณิตศาสตร์ โดยการใช้ลูกคิดเป็นสื่อก่อนในช่วงแรก หลังจากที่มีการฝึกฝนจนในที่สุดสามารถถอดลูกคิดออก และคิดคำนวณได้ด้วยการคิดเป็นภาพได้จากสมองซีกขวา
หลังจากทราบแล้วการเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาสมอง แต่กว่าที่จะสามารถคิดคำนวณเป็นภาพ จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างมีวินัยอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกันระหว่างเด็ก 2 คน ที่มีหัวปานกลางแต่มีวินัยด้านการฝึกฝน กับเด็กเก่งๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะสามารถพัฒนาตนเองไปในแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมา คือเด็กจะมีความมั่นใจในเรื่องจำนวน มีสมาธิและความแม่นยำในการคิดคำนวณ ในแต่ละข้อ หลังจากที่มีความมั่นใจ ร่วมกับความแม่นยำในการคำนวณ ก็ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เป็นบวกแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่ดีในการเรียน เมื่อเขาโตขึ้นการเรียนคณิตศาสตร์ที่จะมีเรื่องของการแก้ไขปัญหาโจทย์ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนมาเกี่ยวข้องอีก ถือว่าเป็นทางเลือกในการปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งให้กับบุตรหลานด้วย
ครูจา
เคยมีผู้ปกครองหลายๆ คนถามว่า เด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้ว ทำไมยังต้องเรียนเสริมอีก และบางทีอาจเป็นคำถามจากตัวเด็กเอง คำอธิบายมีอยู่ว่า การเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์นั้น ในแต่ละช่วงชั้น หรือแม้กระทั่งในแต่ละปีระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น จะสอดคล้องกับระดับของความยาก ความซับซ้อนของการแก้ไขปัญหาโจทย์ก็จะมากขึ้นตามลำดับ ในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น สิ่งที่จำเป็นในการเรียน เบื้องต้นคือความเข้าใจ สิ่งต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือทักษะ นั่นหมายความว่าเด็กจะต้องมีความเข้าใจในการเรียน และมีการฝึกทักษะโดยการทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ จากโจทย์ปัญหาที่ผ่านการฝึกฝนโจทย์ปัญหาก็จะกลายเป็นแบบฝึกหัดธรรมดาในที่สุด การฝึกทักษะไม่จำเป็นต้องส่งบุตรหลานเรียนเสริมก็ได้ หากที่บ้านสามารถฝึกฝนให้เด็กมีการฝึกทักษะได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แต่ในความเป็นจริงของยุคปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถฝึกทักษะต่างๆ ด้วยตนเองได้ การส่งบุตรหลานไปเรียน เป็นทั้งการฝึกทักษะเดิมให้มีความชำนาญมากขึ้น และนอกจากนี้แล้วยังเป็นการเรียนรู้เนื้อหาที่ลึกซึ้งมากขึ้น หรืออาจเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย
นอกจากนี้การเรียนเพื่อเพิ่มทักษะ และความเข้าใจแล้ว ยังเป็นการเตรียมตัวให้เด็ก ซึ่งต้องมีวันใดวันหนึ่งที่เขาจะต้องเข้าสู่สนามสอบแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเด็กเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือในที่สุดก็เป็นสนามสอบเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง
ครูจา
หลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด มักคาดหวังว่าการเรียนของบุตรหลานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่คาดหวังอาจเป็นจริงไม่ได้หากขาดการเอาใจใส่ดูแล กวดขันตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานมีปัญหา
คราวนี้เราลองมาพิจารณากันดูว่า การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดปัญหาด้านใดได้บ้าง เราต้องมาเริ่มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีปัญหาคณิตศาสตร์หากเขาไม่สามารถแปลงภาษาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยได้ คือการให้จับต้องสิ่งของที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับเชื่อมโยงกับตัวเลข ซึ่งถือเป็นภาษาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ วัยต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงปฐมวัย คือประถมต้น การเรียนคณิตศาสตร์เริ่มมีปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ต่างๆ นั่นคือการบวก ลบ คูณ หาร เข้ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ คือความไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ความไม่แม่นยำ เนื่องจากการขาดการฝึกฝน หากเด็กไม่สามารถเข้าใจการเพิ่ม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เด็กไม่เข้าใจการบวกซ้ำ ๆ ซึ่งหมายถึงการคูณ และนอกจากนี้ หากการบวกมีปัญหา การลบก็ย่อมมีปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเด็กก็จะหยุดเดินเพราะต้องสะดุดกับปมมากมาย ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติด้านการเรียนเป็นลบไป
การเรียนคณิตศาสตร์หากเกิดปมตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการเรียน มักส่งผลให้การต่อยอดมีปัญหา เหมือนเชือกที่สั้นลงเนื่องจากการมัดปมไปเรื่อยๆ หากปัญหาได้รับการแก้ไข ก็เปรียบเหมือนการคลายปมให้เชือกได้ยาวขึ้น และต่อยอดได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ สามารถต่อยอดทางคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลการเรียนของเด็กๆ เผื่อว่าปมที่เพิ่งเกิดจะได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการแกะปมที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นย่อมใช้เวลาน้อยกว่า ปมที่ถูกสะสมมานาน แต่ก็ยังดีกว่าที่มันจะกลายเป็นเงื่อนจนไม่สามารถแกะมันออกในที่สุด
ครูจา
การเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อนั้น ถ้าเด็กสามารถใช้จินตนาการได้ ก็ถือเป็นประโยชน์สูงสุดที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียน ซึ่งในการเรียนในช่วงของการบวก ลบเราจะมีการแทรกการดีดต่อเนื่อง (การบวกซ้ำ ๆ) เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในเรื่องของการคูณ เป็นการเตรียมน้องให้พร้อมกับการเรียนลูกคิดในระดับที่สูงขึ้น เมื่อเด็กได้เข้าใจเรื่องการบวกต่อเนื่อง ก็สามารถต่อยอดไปถึงการคูณ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เด็ก(เล็ก) ยังไปไม่ถึงบทเรียนในโรงเรียน ในขณะที่ทำให้เด็ก(โต) มีความเข้าใจภาพของการคูณที่ชัดขึ้น เมื่อเด็ก ๆ ดีดต่อเนื่อง (ทั้งบวกเพิ่ม = การคูณ หรือ การดีดแบบลด = การหาร) จนเกิดความเคยชิน ก็เสมือนการท่องสูตรคูณ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้สูตรคูณในการดีด หรือการจิน ก็จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กที่ยังไม่เรียนการคูณ การหารในโรงเรียน ได้อย่างสบาย
ในช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะปรับพื้นฐานในการเรียนให้แก่บุตรหลาน หลายครั้งที่ทางสถาบันได้รับสายจากทางผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานของตนมา หลาย ๆ คนที่กำลังจะขึ้นชั้น ป.2 แต่เมื่อถามความเป็นไปของตัวน้อง กลับพบว่า ปัญหาจริง ๆ ของเด็กในการเรียน คือการอ่าน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมุ่งแก้ไขปัญหาของน้องในแต่ละวิชา ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มักเป็นวิชาแรก ๆ ที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญ โดยลืมไปว่า การเรียนในทุก ๆ วิชาของบุตรหลาน ต้องเริ่มที่การอ่าน (ภาษาไทย) เป็นหลัก หากไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของการอ่าน ไม่ว่าจะส่งบุตรหลานเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย หรือนานเพียงใด ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์ ครูสามารถอ่านโจทย์ให้เด็กได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การที่ครูเป็นผู้อ่านให้เด็กฟัง เด็กจะมีความเข้าใจได้ แต่เมื่อเด็กต้องอ่านโจทย์เอง การเว้นวรรคตอนที่ผิด ทำให้การตีความผิดเช่นกัน ดังนั้นการที่ส่งเด็ก ๆ เรียนในวิชาต่าง ๆ โดยที่ตัวเด็กนั้นขาดทักษะด้านการอ่าน ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่บุตรหลานได้ เปรียบเสมือนการเกาไม่ถูกที่คันนั่นเอง