Mar 17
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ
1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75
ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)
เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ
แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก
และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด
เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง
บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม
และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้
หลายๆ
คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี
ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย
มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ
อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง
หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี
ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ
เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ
ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข
เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข
เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่
1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019
เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น
ป.3,
ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์
นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ
และลดความกดดันในการแข่งขันลง
แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน
โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1
ใน 10 เหมือนสิงคโปร์ รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง
ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ
พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก
โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้
หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา
ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้
Apr 08
ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับชั้นต่างๆ มีหลายๆ ครอบครัวที่ดีใจ และอีกหลายๆ ครอบครัวที่มีน้ำตาเปื้อนใบหน้า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีหน้าที่คอยประคองความรู้สึกและให้กำลังใจบุตรหลาน ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความผิดหวังบ้าง เพราะในชีวิตคนเราไม่มีใครที่จะสมหวังในทุกๆ เรื่อง เพื่อเป็นบทเรียนให้เค้าได้ตั้งความหวังให้สูง และไปถึงจุดนั้นให้ได้ด้วยความเพียรพยายาม
แต่หลายๆ ครอบครัวจะหลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานของตนเองในการสอบคัดเลือก โดยการให้เข้าโรงเรียนที่มีการเรียนยาว โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนโรงเรียน ทุกอย่าง พ่อแม่ ผู้ปกครองจะเป็นผูวางแผน หรือดำเนินการ คิดแทน ทำทุกอย่างแทนให้จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยของความเฉื่อย ไม่มีความคิดที่จะริเริ่มหรือทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อโตขึ้นจะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะไม่เคยถูกฝึกทักษะด้านใดเลย ไม่เคยวางแผนการทำงาน หรือ อนาคตตนเอง เค้าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าชีวิตเค้าขาดผู้อุปถัมภ์ ดูแล
มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครอง อบรมเลี้ยงดูเค้าเหล่านั้นให้ได้รู้จักหน้าที่ของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก แล้วเพิ่มหน้าที่ให้มากขึ้น ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องลดการดูแลในส่วนของตนเองลง ให้เค้าได้เรียนรู้ที่จะคิดวางแผนเป็นระยะๆ เช่น การทำการบ้าน ให้เค้าได้ทำด้วยตนเอง ไม่ใช่ช่วยจนเค้าไม่สามารถทำการบ้านได้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือสอบ ต้องให้เค้าค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสะกดคำ จนคล่อง ไม่ใช่อ่านให้เค้าฟังทุกครั้ง ทักษะที่ต้องใช้เวลา และที่ควรจะได้รับการฝึกฝน ก็จะไม่เกิดขึ้น ให้เค้าได้ดูแลตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง เรียนรู้ที่จะผิดหวัง เรียนรู้ที่จะมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วง หากพ่อแม่ผู้ปกครอง เลี้ยงดูบุตรหลานแบบที่คิดแทนเค้าในทุกๆ อย่าง สักวันที่เค้าไม่มีเรา ชีวิตเค้าจะเดินต่อไปอย่างไร ในเมื่อเค้าไม่เคยได้รับการฝึกฝนใดๆ เลย อย่าทำร้ายเค้าด้วยการดูแลที่เกินความจำเป็นกันอีกเลย ขนาดดักแด้ที่อยู่ในไหม สักวันนึงมันก็ต้องกลายเป็นผีเสื้อที่ต้องกางปีกของตนเองออกมาสู่โลกกว้างในที่สุด
Apr 19
เป็นเรื่องที่ดีที่ ผู้ปกครองคอยดูแลเอาใจใส่ในเรื่องเรียนของบุตรหลาน บ่อยครั้งที่หากิจกรรมการเรียนเสริมให้กับบุตรหลานเพื่อเป็นการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ปีการศึกษาที่สูงขึ้น การส่งเสริมเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่มีความสำคัญคือ ช่วงเวลานั่น หมายถึงวัย และพื้นฐานความรู้ที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนในแต่ละช่วงอายุของบุตรหลาน เช่นการเรียนคณิตศาสตร์ ในวัยอนุบาลควรส่งเสริมให้มีทักษะด้านจำนวน (เช่นมากกว่า น้อยกว่า การปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น) การเรียนการสอนในโรงเรียนของเด็กในวัยดังกล่าว จะเน้นเรื่องจำนวนเป็นหลัก ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเรียนการคิดวิเคราะห์หรือการแก้ไขโจทย์ปัญหา ซึ่งต้องใช้ทั้งทักษะด้านการอ่านและการคิดวิเคราะห์ว่าจะต้องใช้ปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์แบบใด การเรียนในวัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการเรียนที่ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา เนื่องจากการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์โจทย์ หากการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้จากการอ่านของผู้สอน เมื่อถึงเวลาที่เขาจำเป็นจะต้องแก้โจทย์ปัญหาด้วยตนเอง เขาจะไม่สามารถอ่านจับใจความ ที่ถูกต้อง ส่งผลให้การวิเคราะห์ก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
แต่ในหลายๆ ครอบครัวที่เด็กโตจนถึงประถมปลาย เมื่อเด็กมีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ มักจะกลับมาเน้นการเรียนคณิตศาสตร์แบบการแก้ไขเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่มักหันกลับมาหาการเรียนจินตคณิต ซึ่งเราเคยมีการนำเสนอบทความเก่าๆ ไปแล้วว่า การเรียนจินตคณิตในช่วงของเด็กประถมปลายนั้น การเรียนจะตามหลังการเรียนในโรงเรียน ทำให้เด็กอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการคำนวณตัวเลขแบบง่าย และเลิกไปในที่สุด การเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กประถมปลาย จะเป็นการเรียนที่เน้นการแก้ไขปัญหาโจทย์เป็นสำคัญ
เด็กวัยอนุบาลจนถึงประถมต้น ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์โดยการแก้ไขเรื่องจำนวนควบคู่กับการเรียนภาษาไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนทุกๆ วิชา ส่วนนักเรียนประถมปลาย ควรมีการส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ในแนวของการแก้ไขโจทย์ปัญหาเป็นหลัก
ดังนั้นหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการส่งเสริมการเรียนของบุตรหลาน ควรจะมีการดูเนื้อหาการเรียน และวัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
ครูจา
Jul 07
พอกล่าวถึงการเรียนจินตคณิต ร้อยละ 90 มักมีความเข้าใจว่า การเรียนจินตคณิต เปรียบเหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ช่วยในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักส่งบุตรหลานให้เรียนจินตคณิต เมื่อพบว่าบุตรหลานมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
ก่อนอื่นต้องมอง ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ การอ่าน , การคำนวณ และการตีความ ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นแรก (ป.1 – 2) ปัจจัยในการเรียนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในเรื่องจำนวน หรือเรื่องค่าประจำหลัก เท่านั้น เนื่องจากในช่วงวัยนี้ยังไม่มีการแก้ไขโจทย์ปัญหาเท่าใดนัก เป็นการเรียนรู้เพื่อปูความรู้พื้นฐานเข้าสู่การแก้ไขโจทย์ปัญหาในระดับที่โตขึ้น ซึ่งหากเด็กมีปัญหาในข่วงวัยนี้ การเรียนจินตคณิต เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแน่นอน แต่หากเด็ก อยู่ในวัยที่โตขึ้น (ตั้งแต่ ป.3 ขึ้นไป) การเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มมาจากปัจจัย เรื่องการอ่าน หรือ เป็นเพียงปัญหาการตีความ แต่ในเด็กบางคน ที่มีปัญหาเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่ยอมท่องสูตรคูณ หรือความไม่เข้าใจเรื่องการคูณ หรือการหาร หากบุตรหลานประสบปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และแก้ไข
เราจะทราบได้อย่างไรว่าสาเหตุของปัญหา อยู่ตรงไหน หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน เด็กจะมีปัญหากับทุกๆ วิชา ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว แต่หากเด็กมีปัญหาเพียงวิชาคณิตศาสตร์ ก็ต้องมาดูว่าปัญหาเกิดเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการตีความ หรือมีปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งการตีความและการคำนวณ หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการคำนวณ ในความเป็นจริงการแก้ไขในเรื่องของการคำนวณทำได้ไม่ยาก นั่นคือให้เด็กมีการฝึกทักษะ หรือทำแบบฝึกหัดให้มากขึ้น ส่วนการตีความนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการวาดเป็นภาพในช่วงแรกเด็กยังต้องมีการชี้นำ แต่เมื่อเขามีความเข้าใจ เขาจะสามารถตีความเป็นภาพออกมาได้ชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาโจทย์ได้อย่างเป็นระบบดังนั้นหากบุตรหลานมีปัญหาในเรื่องของการเรียน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นทัศนคติที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ครูจา
Jul 15
ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลการสอบกลางภาคของเด็ก ๆ เป็นช่วงที่มักจะเห็นหน้าตาที่คร่ำเคร่งของเด็ก ๆ แต่คร่ำเครียดของผู้ปกครอง
เรามักพบว่าหลาย ๆ ครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งอ่านหนังสือกับลูก กับอีกหลาย ๆ ครอบครัวที่คุณพ่อ คุณแม่อ่านจับใจความและทำการขีดเส้นใจความสำคัญให้บุตรหลาน เพื่อเป็นการย่นระยะเวลาในการอ่านเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกไป
การอ่านหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่ อ่านไปพร้อมกับลูก โดยที่ให้เด็กมีหน้าที่หลักในการอ่าน และคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเสริม หรือบรรยาย ให้เด็กมีความเข้าใจมากขึ้น อาจจะเสียเวลามากกว่าแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ การได้ฝึกบุตรหลานทั้งทักษะในการอ่าน การอ่านจับใจความ และเพิ่มสีสันให้กับการอ่านหนังสือสอบที่ไม่น่าเบื่อ เพราะจะมีประสบการณ์หรือเรื่องเล่าจากคุณพ่อคุณแม่เพิ่ม แต่ในทางกลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ลงมืออ่าน และจับใจความให้กับบุตรหลาน สิ่งที่ได้กลับมาคือ การอ่านหนังสือแบบไม่สามารถจับใจความสำคัญของบทเรียน เบื่อหน่ายกับการอ่านหนังสือที่เป็นเพียงตัวหนังสือที่ถูกขึดเป็นช่วงเป็นตอน ที่ไม่น่าสนใจ และเมื่อเขาโตขึ้น บทเรียน และกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีมากขึ้น ทำให้การอ่านเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะเลือก ทั้งการหาความรู้ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง
หากแต่วันนี้คุณพ่อ คุณแม่ต้องอดทน รอคอย ฝึกฝน ให้เขาได้เพิ่มพูนทักษะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่เล็ก และเขาจะสามารถนำมาใช้เมื่อเขาโตขึ้นได้ด้วยตนเอง
Apr 26
ในช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะปรับพื้นฐานในการเรียนให้แก่บุตรหลาน หลายครั้งที่ทางสถาบันได้รับสายจากทางผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานของตนมา หลาย ๆ คนที่กำลังจะขึ้นชั้น ป.2 แต่เมื่อถามความเป็นไปของตัวน้อง กลับพบว่า ปัญหาจริง ๆ ของเด็กในการเรียน คือการอ่าน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมุ่งแก้ไขปัญหาของน้องในแต่ละวิชา ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มักเป็นวิชาแรก ๆ ที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญ โดยลืมไปว่า การเรียนในทุก ๆ วิชาของบุตรหลาน ต้องเริ่มที่การอ่าน (ภาษาไทย) เป็นหลัก หากไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของการอ่าน ไม่ว่าจะส่งบุตรหลานเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย หรือนานเพียงใด ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์ ครูสามารถอ่านโจทย์ให้เด็กได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การที่ครูเป็นผู้อ่านให้เด็กฟัง เด็กจะมีความเข้าใจได้ แต่เมื่อเด็กต้องอ่านโจทย์เอง การเว้นวรรคตอนที่ผิด ทำให้การตีความผิดเช่นกัน ดังนั้นการที่ส่งเด็ก ๆ เรียนในวิชาต่าง ๆ โดยที่ตัวเด็กนั้นขาดทักษะด้านการอ่าน ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่บุตรหลานได้ เปรียบเสมือนการเกาไม่ถูกที่คันนั่นเอง
Mar 18
ปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน ในช่วงปิดภาคเรียน คือการที่ไม่มีใครคอยดูแลบุตรหลาน จึงทำให้ต้องฝากบุตรหลานไว้กับญาติ หรือคุณปู่คุณย่าให้อยู่กับบ้าน โดยมีเครื่องทุ่นแรงอย่างเกมส์ หรือคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเวลาในการทำงานของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นจะอยู่ระหว่าง 8 – 10 ชั่วโมง ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครเป็นคนกำหนดเวลาในการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเกมส์ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับเกมส์เป็นเวลานาน ปัญหานี้จะมีความรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต เนื่องจากเด็กเล็กต้องการการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องการอ่าน ซึ่งต้องมีประสบการณ์คือการอ่านให้มาก การเขียน ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ยากกว่าการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการฝึกให้เด็กมีความอดทน หรือสมาธิกับการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ในขณะที่เด็กโตผ่านการเขียน การอ่าน จึงไม่ต้องการการฝึกฝนในทักษะดังกล่าว ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักถือว่าช่วงเวลาปิดภาคเรียน ต้องการให้เด็ก ได้หยุดพักกับการคร่ำเคร่ง ร่ำเรียนวิชามากมาย แต่หากเราปล่อยให้เขาหยุดพักกับเกมส์ โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนเวลา สิ่งที่ได้กลับมา ก็คือเวลาที่หายไป
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
May 11
จากการเปิดคอร์สในแต่ละปี เราพบว่า แนวโน้มของจำนวนเด็กที่มีปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนที่จะนำเด็กเข้าเรียนนั้น เราพบว่าเด็กร้อยละ 80 – 90 มีทักษะในการคิดคำนวณอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับในการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เราต้องแยกประเด็นก่อนว่าเด็กมีปัญหาเรื่องจำนวน หรือการตีความ แต่ในปัจจุบันเราพบปัญหาเพิ่มว่าจะมีเด็กประมาณ 20 % ที่มีปัญหาการอ่าน ความรุนแรงของปัญหาจะมีมากขึ้นเมื่อเด็กอยู่ในชั้นที่โตขึ้น แต่ไม่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการอ่าน ทำให้การอ่านประโยค กลายเป็นการสะกดทีละคำ และไม่สามารถรวบเป็นประโยคหรือตีความได้ โดยการอ่านเป็นช่วง ๆ นั้นทำให้ยากกับการแปลความโดยรวม ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีความมั่นใจในการเรียน จึงส่งผลกระทบต่อผลการเรียนในหลายๆ รายวิชา รวมทั้งวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยการอ่านเพื่อที่จะตีความ และ วิเคราะห์โจทย์ปัญหาต่อไป
Apr 16
Posted by malinee on Saturday Apr 16, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากการเปิดสอนคณิตศาสตร์ของทางสถาบันมาหลายปี พบว่าเด็กในแต่ละยุคเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่มีแนวโน้มที่ค่อนข้างแย่ลง อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่มีการซ้ำชั้น ไม่มีการตีนักเรียน หรือแม้กระทั่งเกรดในและระดับนั้นจะมีการรวบรวมจากคะแนนเก็บประมาณ 70 -80 % ที่เหลือเป็นคะแนนสอบ ซึ่งทำให้ผลการเรียนไม่ใช่ผลการเรียนหรือความเข้าใจที่แท้จริงของเด็ก ซึ่งเราพบว่าเด็กหลาย ๆ คนอ่านหนังสือไม่คล่องหรือแม้กระทั่งการสะกดคำที่ไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เด็กกำลังจะขึ้นฃั้นป. 4 โดยที่เด็กไม่เคยมีประวัติการสอบตกเลย ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ดูแลเด็กเพียงแค่ผลการสอบ หรือสมุดพกในแต่ละเทอม ก็อาจจะไม่ทราบว่าลูกนั้นมีปัญหาเรื่องการอ่าน กว่าจะรู้อีกทีก็เมื่อลูกเติบโตจนเค้ามีความรู้สึกที่ตนเองด้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้เขาไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน หรือคิดว่าการเรียนนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากน่าเบื่อ เนื่องจากการอ่านเป็นพื้นฐานการเรียนในทุก ๆ วิชา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกในช่วงปฐมวัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เขาเหล่านั้นเติบโตพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เมื่อเขาโตขึ้น