Sep 08
มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย จิตแพทย์เด็ก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษในบ้านเรา ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัยแล้ว เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนพิเศษ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น ในช่วงของประถมปลาย ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน การเรียนพิเศษในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย เหตุผลเพียงเพราะ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..
Apr 07

ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Nov 06

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าไม่ว่าจะเป็นม.1 หรือ ม.4 ซึ่งอัตราการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแบ่งสัดส่วนของเด็กในพื้นที่และเด็กนอกพื้นที่ ร่วมกับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ถูกกำหนดให้ลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในเขตโรงเรียนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าช่วงชั้นที่สูงขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันติวที่มีผลงานการันตีเป็นรายชื่อนักเรียนที่สอบติดตามโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอถึงตอนเย็นก็หมดแรงที่จะทำอะไร เด็กๆ ก็จะเรียกร้องขอเวลาพักเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาพักของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยส่วนใหญ่ การติวสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถใช้ข้อสอบแบบปกติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกข้อสอบที่ยากเกินระดับ ดังนั้นการติวเพื่อสอบเข้าตามสถาบันต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว แต่การที่เด็กเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นนั้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด จึงทำให้ขาดการทำแบบฝึกหัด หรือการทบทวน หลังจากกลับถึงบ้านก็ใช้เวลาที่เหลือเล่นเกมส์ หรือผ่อนคลายในแบบที่ตนเองต้องการ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กเข้าห้องสอบ กลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนก่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเรียนกวดวิชานั้น เขาจะให้สูตรและวิธีลัดมากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการและนำไปใช้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทบทวน และฝึกฝนทักษะของการทำโจทย์เพื่อให้รู้ขั้นตอน กระบวนการ และคิดอย่างเป็นระบบ หากเขาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกทำด้วยตนเอง เขาจะไม่เกิดทักษะของการวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เริ่มต้นไม่ถูกได้แต่นึกคุ้นๆ
ดังนั้นการที่ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตามดูว่าเขามีการทบทวน หรือได้ฝึกทำโจทย์ เพื่อให้เม็ดเงินและเวลาที่เสียไปเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
Apr 08

ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับชั้นต่างๆ มีหลายๆ ครอบครัวที่ดีใจ และอีกหลายๆ ครอบครัวที่มีน้ำตาเปื้อนใบหน้า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีหน้าที่คอยประคองความรู้สึกและให้กำลังใจบุตรหลาน ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความผิดหวังบ้าง เพราะในชีวิตคนเราไม่มีใครที่จะสมหวังในทุกๆ เรื่อง เพื่อเป็นบทเรียนให้เค้าได้ตั้งความหวังให้สูง และไปถึงจุดนั้นให้ได้ด้วยความเพียรพยายาม
แต่หลายๆ ครอบครัวจะหลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานของตนเองในการสอบคัดเลือก โดยการให้เข้าโรงเรียนที่มีการเรียนยาว โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนโรงเรียน ทุกอย่าง พ่อแม่ ผู้ปกครองจะเป็นผูวางแผน หรือดำเนินการ คิดแทน ทำทุกอย่างแทนให้จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยของความเฉื่อย ไม่มีความคิดที่จะริเริ่มหรือทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อโตขึ้นจะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะไม่เคยถูกฝึกทักษะด้านใดเลย ไม่เคยวางแผนการทำงาน หรือ อนาคตตนเอง เค้าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าชีวิตเค้าขาดผู้อุปถัมภ์ ดูแล
มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครอง อบรมเลี้ยงดูเค้าเหล่านั้นให้ได้รู้จักหน้าที่ของตนเองตั้งแต่วัยเด็ก แล้วเพิ่มหน้าที่ให้มากขึ้น ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องลดการดูแลในส่วนของตนเองลง ให้เค้าได้เรียนรู้ที่จะคิดวางแผนเป็นระยะๆ เช่น การทำการบ้าน ให้เค้าได้ทำด้วยตนเอง ไม่ใช่ช่วยจนเค้าไม่สามารถทำการบ้านได้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือสอบ ต้องให้เค้าค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสะกดคำ จนคล่อง ไม่ใช่อ่านให้เค้าฟังทุกครั้ง ทักษะที่ต้องใช้เวลา และที่ควรจะได้รับการฝึกฝน ก็จะไม่เกิดขึ้น ให้เค้าได้ดูแลตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง เรียนรู้ที่จะผิดหวัง เรียนรู้ที่จะมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วง หากพ่อแม่ผู้ปกครอง เลี้ยงดูบุตรหลานแบบที่คิดแทนเค้าในทุกๆ อย่าง สักวันที่เค้าไม่มีเรา ชีวิตเค้าจะเดินต่อไปอย่างไร ในเมื่อเค้าไม่เคยได้รับการฝึกฝนใดๆ เลย อย่าทำร้ายเค้าด้วยการดูแลที่เกินความจำเป็นกันอีกเลย ขนาดดักแด้ที่อยู่ในไหม สักวันนึงมันก็ต้องกลายเป็นผีเสื้อที่ต้องกางปีกของตนเองออกมาสู่โลกกว้างในที่สุด
Jun 22
Posted by malinee on Thursday Jun 22, 2017 Under เกร็ดความรู้
คงได้ยินข่าวกันบ่อยๆ ในเรื่องของการฝากเข้า หรือค่าแรกเข้าในโรงเรียนรัฐบาลหลายๆ แห่ง ทั้งๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝากในที่สูง และยังไม่ได้รับใบเสร็จอีกด้วย มาลองดูเหตุผลที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนยอมจ่ายค่าใช้จ่ายแพงขนาดนั้น
สิ่งที่เราต้องยอมรับเลยว่า มาตรฐานในการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลานของตน ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาดังกล่าว ทั้งการให้เรียนเพิ่ม การติวอย่างหนัก เทียบได้กับการฝ่าด่าน 18 อรหันต์เข้าไปเรียนในวัดเส้าหลิน แต่หากพลาดในรอบของการสอบคัดเลือก ก็จะใช้กำลังภายใน เพื่อดันบุตรหลานเข้าไปเรียนให้จงได้
เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆ ปีที่มีการสอบคัดเลือก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย การที่พ่อแม่ผู้ปกครองยอมเสียค่าใช้จ่าย เพื่อคุณภาพการศึกษาของบุตรหลาน และนอกจากนั้นแล้วเด็กที่ผ่านการคัดเลือกของสถานศึกษาจะเป็นเด็กสายเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็หวังว่ากลุ่มเพื่อนที่ขยันเรียนจะสามารถผลักดัน หรือเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของบุตรหลานได้
หลายๆ คนสามารถถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมได้ แต่เด็กบางคนไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกบีบได้มากนัก ร่วมกับการที่พื้นฐานที่ไม่แน่น ทำให้เค้าติดอยู่กับเนื้อหา และไม่ว่าจะพยายามตั้งใจเท่าไหร่ ก็ตามเพื่อนไม่ทัน ความรู้สึกที่เบื่อการเรียน แล้วเด็กกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้เส้นสายเข้ามา) ก็จะรวมตัวกัน ไปในแนวทางลบ
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องพิจารณาถึงความรู้พื้นฐาน อุปนิสัยในเรื่องของการเรียนรู้ของบุตรหลานของตน ว่าจะสามารถปรับตัว และเหมาะสม กับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังด้วยหรือไม่ หลายๆ ครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยใช้อุปนินัย (ความมุมานะ พยายาม) ความรู้พื้นฐาน เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจทุกครั้ง
May 01
จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็จัดกิจกรรมการเรียนในวิชาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เด็กหลายๆ คนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสู่ระดับมัธยม ก็จะต้องมีการเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนที่โตขึ้น
หลังจากที่กล่าวถึงการสอบคัดเลือกเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แล้ว ครั้งนี้เรามาศึกษาวิธีการสอบคัดเลือกของข้าราชการครูกันบ้าง การสอบคัดเลือกข้าราชการครูนั้น ครูทุกๆ คนจะต้องผ่านการสอบข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งคะแนนรวมคือ 400 คะแนน หลายๆ คนคงสงสัยว่า ครูจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร
การสอบภาค ก เป็นข้อสอบกลางในการคัดเลือกบรรจุข้าราชการทุกอัตรา (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการครู) ข้อสอบจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติ มาตราต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ โดยมีคะแนนเต็ม 200 คะแนน ส่วนภาค ข เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการศึกษา (100 คะแนน) ส่วนความรู้ในวิชาที่จะเข้าสอน (วิชาเอก) อีก 100 คะแนน ซึ่งข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อสอบปรนัย จากสัดส่วนของคะแนนที่รับข้าราชการครูเฉพาะสาขาวิชา เราจะเห็นว่า ความรู้ความสามารถในวิชาชีพคิดเป็นเพียง 25% เท่านั้น
ในความคิดเห็นของครู เห็นว่า แนวทางการคัดเลือกข้าราชการครู ควรจะมีมาตรฐานในการคัดเลือกให้มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แล้วกระจายครูไปยังภูมิภาคต่างๆ การสอบคัดเลือกควรมีการแยกข้อสอบการคัดความรู้เฉพาะทางให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้แบ่งส่วนของการสอบออกเป็นภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ข้าราชการครูที่มีคุณภาพ แต่หลังจากที่เราได้ครูที่มีคุณภาพแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่ลงมายังกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะส่งตรงไปยังผลตอบแทนของครูมากกว่าการทุ่มงบให้ tablet ที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างเสียเปล่า โดยให้แต่โทษไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นครูที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ ต่อไป
Mar 12
ผ่านไปแล้วสำหรับการประกาศผลสอบเข้าเรียนในห้องเรียนพิเศษ (Gifted และ EP) ครูต้องขอแสดงความยินดีกับน้องๆ หลายๆ คนที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งนั่นหมายถึงการเตรียมความพร้อมได้เป็นอย่างดี แต่อีกหลายๆ คนไม่ได้เลือกลงเข้าการคัดเลือกในรอบนี้ หรือน้องๆ บางคนที่พลาดในรอบนี้ นั่นไม่ได้หมายความว่าตนเองจะหมดโอกาส ทุกๆ คนยังมีโอกาสในสนามใหญ่อีกครั้งในวันที่ 1 เมษายน นี้ ซึ่งเป็นการแข่งขันพร้อมกันทุกโรงเรียน ดังนั้นเด็กที่พลาดจากสนามแรก ก็จะต้องเข้าสอบในสนามนี้
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำคือ การพิจารณาโรงเรียนในการให้น้องๆ สอบคัดเลือกของพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรประเมินปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากที่สุด ซึ่งหมายถึง จำนวนคู่แข่ง : จำนวนนักเรียนที่รับ และการเตรียมตัวของตัวบุตรหลาน และตัวเด็กๆ เองก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ต้องอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองให้ได้รับคัดเลือกในที่สุด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มไม่ได้เป็นแบบนั้น เนื่องจากเด็กๆ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่เรียนรู้ว่าการเรียนเป็นสิ่งเดียวที่เป็นหน้าที่ของตนเอง และทำในสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความบกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางที่ตนเองจะไม่มีที่เรียน ในที่สุด พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องคอยวิ่งเต้น เพื่อให้ตนเองได้มีที่เรียนในที่สุด
หากพิจารณากันดีๆ แล้ว ความผิดพลาดในพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากเขาเหล่านั้นไม่เคยถูกสอน หรือฝึกให้อยู่ในระเบียบวินัยในการทำหน้าที่ของตนเอง และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ เด็กไม่เคยได้รับบทลงโทษเมื่อทำผิดกฎ หรือระเบียบใดๆ เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ปกป้องอย่างไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่รู้จักหน้าที่ ของตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบและไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ในที่สุด หากเด็กๆ ได้รับการฝึกระเบียบวินัย และรู้จักหน้าที่ของตนเอง ต่างคนต่างรู้และรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ก็เป็นเหมือนจิกซอรที่ทุกคนในครอบครัวช่วยกันต่อจนเป็นภาพที่สมบูรณ์ในที่สุด
May 16
หลายๆ ท่านน่าจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตการสอบคัดเลือกคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ และเภสัชศาตร์ ในวันที่ 7 – 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีการใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ นั่นคือการติดกล้องไว้กับแว่นตาเพื่อถ่ายภาพข้อสอบ และมีการส่งคำตอบกลับไปยังนาฬิกาข้อมือ ซึ่งทางสถาบันกวดวิชาจะมีการรับรองผล โดยที่ผู้เข้าสอบจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคือ นาฬิกาเป็นเงิน 50,000 บาท แล้วหลังจากที่มีการประกาศผลสอบแล้ว ผู้เข้าสอบต้องชำระอีกเป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ซึ่งทางสถาบันกวดวิชามีการรับรองผลในการสอบทั้งสามคณะ ได้แน่นอน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มันสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของสถาบันกวดวิชา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง แต่ขาดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ซึ่ง 3 คณะดังกล่าวเป็นคณะที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั้งสิ้น หากจะกล่าวว่าทางสถาบันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงขนาดฉลาดใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยได้อย่างแยบยลเช่นนี้ อีกส่วนก็เป็นส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนต้องเป็นผู้ที่ชำระเงินตามที่ทางสถาบันกวดวิชาเป็นผู้เรียกเก็บในอัตราที่สูงลิบลิ่ว หากการทุจริตครั้งนี้สำเร็จ แน่ใจหรือว่าบุตรหลานจะสามารถเรียนได้ หากเรียนไม่ได้จะต้องมีการทุจริตอีกกี่ครั้ง ต้องถูกเรียกเก็บค่าทุจริตอย่างนี้เรื่อยไปจนจบ แล้วสุดท้ายเมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น แล้วตัวบุตรหลานเองจะหาความภูมิใจในตนเองได้อย่างไร ในเมื่อความสำเร็จในการศึกษาได้มาเพราะเงินที่พ่อแม่ทุ่มไป ไม่ใช่ความสามารถของตนเองเลย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรต้องย้อนกลับมามองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันทีมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งในการอยู่เป็นเพื่อน (ที่สอนให้เรารู้จักความก้าวร้าว) เป็นพี่เลี่ยง (เมื่อเวลาที่พ่อแม่ไม่อยากให้เราอยู่ใกล้) พ่อแม่เป็นเพียงเครื่องหารายได้ เพื่อปรนเปรอความต้องการของลูกหลานในทุกๆ เรื่องเท่านั้น ครอบครัวขาดการพูดคุย ถึงเหตุการณ์ในแต่ละวัน เพื่อการอบรมบ่มนิสัย และบ่มเพาะจริยธรรมให้กับบุตรหลานกันหรือเปล่า
ครูจา
Apr 03
เมื่อวาน…คงเป็นวันที่เด็กๆหลายคนดีใจและเด็กอีกหลายคนเสียใจ เพราะเป็นวันประกาศผลสอบเข้าเรียนต่อม.1ของทุกๆโรงเรียน..ครูขอแสดงความยินดีกับเด็กๆ ที่สอบได้ในรร.เรียนที่เลือก ที่ตั้งใจเอาไว้ …เก่งมากๆ..ที่สามารถฝ่าฟันผู้ลงสนามสอบเป็น1000คนเข้าไปเรียนได้สำเร็จ..แต่อีกมุมนึงครูอยากบอกว่า…การสอบเข้าไปได้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ และเนื้อหาที่ยากขึ้นตามลำดับของการเรียน ทั้งหมดคือการเปลี่ยนแปลงที่เด็กๆต้องเจอกับมัน โดยเฉพาะเนื้อหาของการเรียนที่เข้มข้นขึ้น ต้องการการตั้งใจเรียนที่มากขึ้น ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก..
….ส่วนคนที่พลาดหวัง..ไม่ได้เรียนในรร.ที่ตั้งใจไว้ ครูอยากบอกว่า..การเสียใจเป็นเรื่องปกติของการพลาดในสิ่งที่เราหวังเอาไว้..เสียใจได้แต่อย่าท้อ…เพราะยังมีอีกหลายรร. ที่ดีและพร้อมรองรับพวกหนูเข้าไปเรียนกัน การที่เราพลาดไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งสู้คนอื่นไม่ได้ บางคนพูดว่า..หนูโง่..อย่าว่าตัวเองอย่างนั้น..เพียงแต่..เรายังเตรียมตัวมาไม่มากพอ คนที่เตรียมตัวมาได้ดีกว่าย่อมได้เปรียบเรามากว่าจำความผิดพลาดนี้ไว้เป็นบทเรียนและปรับปรุงมันให้ดีขึ้น..
……………..เชื่อครูเถอะว่า….เรียนรร.ไหนก็เหมือนกัน ต่อให้สอบเข้าไปเรียนในรร.ที่เป็นอันดับต้นๆของประเทศแต่..หนังสือไม่อ่าน การบ้านไม่ทำ แบบฝึกหัดไม่ทบทวน วันๆเล่นแต่ ipad
เล่นแต่มือถือ เล่นแต่เกม ก็สอบตกได้เหมือนกัน..
………………แต่ถ้าหากเรียนในรร.ธรรมดา ไม่ได้มีชื่อเสียงเหมือนที่อื่นๆ แต่ตั้งใจเรียน หมั้นฝึกฝน ทบทวนเนื้อหา เตรียมความพร้อมเยอะๆ เกรด4 ไม่หนีไปไหน ไม่น้อยหน้าคนอื่นแน่นนอน....สถามบันคิดสแควร์ทุกคนพร้อมเป็นกำลังใจให้กับเด็กทุกคน..สู้กันต่อไปนะค่ะ..แล้วพบกันใหม่..บ้ายบาย
—
Mar 10
Posted by malinee on Tuesday Mar 10, 2015 Under เกร็ดความรู้
เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงของการสอบคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเข้าชั้น ป.1 , ม.1 หรือแม้กระทั่งการสอบเข้า ม.4 ของโรงเรียนทั้งประเทศ เนื่องจากเคยเขียนบทความถึงการสอบเข้าชั้น ป.1 มาแล้ว ครั้งนี้จึงขอเก็บตกการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 ในโรงเรียนต่างๆ
การสอบคัดเลือกเข้าชั้น ม.1 นั้นโดยปกติก็แยกออกเป็น 2 รอบคือรอบแรกเป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในห้องเด็กพิเศษ หรือ gifted และในรอบของการสอบคัดเลือกแบบธรรมดา ในช่วงปลายเดือนนี้
การสอบในรอบคัดเลือกเข้าห้อง gifted ของโรงเรียนส่วนใหญ่ การสอบจะมีเพียง 3 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ ซึ่งการออกข้อสอบของโรงเรียนส่วนใหญ่จะใช้ข้อสอบส่วนใหญ่จะต้องใช้ความรู้ขั้นพื้นฐานถึง ม.3 เด็กที่มีความสามารถผ่านเข้าเรียนได้ ก็จะเป็นเด็กที่มีการเตรียมตัวเรียนล่วงหน้า และทำข้อสอบมาเป็นปีๆ ซึ่งโรงเรียนจะได้เด็กที่มีการเตรียมตัวเรียนล่วงหน้าอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่เรียนอยู่ในระดับดีตามระดับชั้นที่เรียนก็จะพลาดโอกาสไป นี่คือแนวการศึกษาแบบประเทศไทย นั่นคือ ใครที่เรียนรู้ก่อนจะได้เปรียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนรู้ตามระดับจะไม่เก่ง
การสอบคัดเลือกในรอบปกติ จะมีการสอบวิชาหลัก 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ข้อสอบในชุดดังกล่าวจะมีข้อสอบส่วนใหญ่ที่ใช้จะใช้ความรู้พื้นฐานที่เรียนมามากกว่า ดังนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีจุดมุ่งหมายให้บุตรหลานสอบคัดเลือกเข้าในรอบ gifted หรือโรงเรียนกระแสต่างๆ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้ากันเป็น ปี 2 ปีเลยทีเดียว
ครูจา