จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554
รมว.ศึกษาธิการ เผยอาจเลื่อนการสอบ O-Net ไปอีก 2 สัปดาห์ เนื่องจากในบางพื้นที่ยังประสบอุทกภัย ระบุเพื่อให้โรงเรียนมีเวลามากขึ้น และไม่ต้องสอนชดเชยวันเสาร์-อาทิตย์ ลดความเหนื่อยและเครียดต่อเด็ก…

เมื่อ วันที่ 28 พ.ย. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการว่า ศธ.ได้หารือถึงการเตรียมแผนสำรองรองรับไว้กรณีที่อาจจะมีโรงเรียนบางแห่งไม่ สามารถเปิดภาคเรียนได้ทันในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ เพราะจากการประเมินเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คาดว่าจะมีโรงเรียนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้ในวันดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 29 พ.ย.นี้ สพฐ.จะรายงานข้อมูลที่ชัดเจนมาอีกครั้งว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่อาจจะต้อง เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปอีก 1 สัปดาห์

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้น พื้นฐาน (O-Net) ระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 และมัธยมศึกษาที่ 3 อีกรอบ จากเดิมที่ได้เลื่อนไปแล้ว 1 ครั้ง โดยนักเรียนชั้น ป.6 เดิมสอบวันที่ 1 ก.พ. 55 เลื่อนเป็นวันที่ 15 ก.พ. 55 นักเรียนชั้น ม.3 เดิมสอบวันที่ 2-3 ก.พ. 55 เลื่อนเป็นวันที่ 16-17 ก.พ. 55 และประกาศผลสอบในวันที่ 31 มี.ค. 55 ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ให้สอบตามปฏิทินเดิม คือวันที่ 18-19 ก.พ. 55 และประกาศผลสอบวันที่ 10 เม.ย. 55 โดยได้มอบให้ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ สพฐ.ไปหารือกันในเรื่องนี้ แต่มีแนวโน้มอาจขยับวันสอบ O-Net ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้โรงเรียนส่วนใหญ่มีเวลาจัดการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องสอนชดเชยใน วันเสาร์และอาทิตย์ เพราะนโยบาย ศธ.ต้องการให้โรงเรียนสอนชดเชยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ หากจำเป็นจริงๆ จึงจะสอนชดเชยในวันเสาร์ แต่ไม่ต้องการให้เรียน 7 วัน เพราะจะทำให้เด็กเหนื่อยเกินไป และเป็นการสร้างความเครียดให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง

“หากเลื่อนวันสอบ O-Net ออกไปอีก 2 สัปดาห์แล้ว จะมีเวลาเหลือเพียงพอให้โรงเรียนที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 13 ธ.ค.54 สามารถจัดการเรียนการสอนได้จบครบหลักสูตรโดยอาศัยเพียงการสอนชดเชยในวันปกติ ไม่ต้องสอนชดเชยในวันเสาร์ ยกเว้นบางโรงเรียนที่น้ำท่วมหนัก จำเป็นต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป ก็อาจจะต้องสอนชดเชยในวันเสาร์ตามความจำเป็น แต่จะไม่ให้สอนชดเชยในวันอาทิตย์เด็ดขาด และเมื่อเลื่อนวันสอบ O-Net ไปแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเลื่อนปฏิทินการรับนักเรียนของ สพฐ.ออกไปด้วย อย่างไรก็ตามกำหนดการสอบ O-Net ที่แน่นอน จะสามารถประกาศได้เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สทศ.ก่อน จากนั้น สพฐ.จึงจะสามารถประกาศปฏิทินการรับนักเรียนใหม่ได้” นายวรวัจน์ กล่าว.

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์
วันที่16 พฤศจิกายน 2554
น้ำยังไม่ลด ศธ.ตัดสินใจเลื่อนเปิดเทอมรอบที่ 3 เป็นวันที่ 6 ธ.ค. แต่ยืนยันไม่กระทบสอบโอเน็ตให้ต้องขยับตามไปด้วย เพราะโรงเรียนสอนชดเชยทัน ชี้หากต้องเลื่อนอีกหน มีหวังกระทบสอบโอเน็ต แอดมิชชั่น รับ ม.1 และ ม.4 แน่ ส่วน รร.ใน กทม.เลื่อนด้วยเปิดเทอม 1 ธ.ค.
สถานการณ์น้ำท่วมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะลดลง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตัดสินใจประกาศเลื่อนการเปิดเทอม 2/2554 ออกไปอีกครั้ง จากวันที่ 21 พ.ย. เป็นวันที่ 6 ธ.ค.54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ว่า สำหรับโรงเรียนที่ต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปคือ รร.ที่อยู่ในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และนครปฐม เขต 2 ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน, สามพราน, นครชัยศรี และพุทธมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติบางแห่งที่ขออนุญาตเปิดภาคเรียนก่อนหน้านี้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังมีปริมาณน้ำจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 6 ธ.ค.จะยังไม่กระทบกับปฏิทินการสอบโอเน็ต เพราะได้ประเมินแล้วว่าโรงเรียนยังสอนชดเชยได้ทัน แต่หากปริมาณน้ำยังไม่ลดและ ศธ.ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกครั้ง ก็คงส่งผลกระทบทำให้ต้องมีการปรับปฏิทินการศึกษาทั้งหมดแน่นอน
“สำหรับการเรียนชดเชยนั้น ผมได้สั่งการให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนชดเชยในวันเสาร์แบบเต็มวัน และชดเชยในวันเรียนธรรมดาด้วยการเพิ่มชั่วโมงเรียนปกติอีก 1 ชั่วโมง” รมว.ศธ.กล่าว
ทางด้านโรงเรียนสังกัด กทม. นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม.เปิดเผยว่า ทาง กทม.ได้สั่งให้ รร.ในสังกัด กทม.ทุกแห่งเลื่อนเปิดเทอมครั้งที่ 2 เป็นวันที่ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมให้สอนชดเชยจนครบหลักสูตรตอนเย็นหลังเวลาเลิกเรียนปกติวันละ 1 ชั่วโมง และสอนชดเชยวันเสาร์เป็นเวลา 11 วัน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผน (สนผ.) ไปจัดทำแผนรองรับ หากจำเป็นต้องเลื่อนเปิดเทอมไปหลังวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งจะมีผลทำให้ปฏิทินการศึกษาทั้งระบบต้องขยับตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้องรอมติที่ประชุมร่วมหลายฝ่ายวันที่ 16 พ.ย.ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ทั้งเรื่องของการรับนักเรียนปี 2555 การสอบต่างๆ รวมทั้งแอดมิชชั่นว่าจะปรับเลื่อนทั้งหมดหรือไม่
ความคืบหน้าการจัดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้น ม.1, ม.4 ของ รร.ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2555 นายชินภัทรกล่าวว่า ที่ประชุม กพฐ.ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ตนจะนำหลักเกณฑ์และแนวทางเบื้องต้นการรับนักเรียนเสนอที่ประชุมให้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.เสนอใช้ผลการสอบโอเน็ต สัดส่วนร้อยละ 20 ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงประมาณ 200 กว่าแห่ง ส่วนร้อยละ 80 เป็นคะแนนสอบของโรงเรียน 2.เสนอเพิ่มสัดส่วนห้องเรียนพิเศษใน รร.ที่มีอัตราแข่งขันสูง อาทิ หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม, มินิอิงลิชโปรแกรม เป็นต้น ในปีการศึกษา 2555 อีกร้อยละ 10 โดยเป็นสัดส่วนห้องเรียนพิเศษร้อยละ 30 ห้องเรียนธรรมดาร้อยละ 70 เพราะข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี มีนักเรียนแห่สมัครเรียนห้องเรียนพิเศษจนเกิดการแข่งขันในสัดส่วนการสมัครและรับที่ 3:1
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกณฑ์และแนวทางอื่นๆ เบื้องต้นยังเหมือนปีที่ผ่านมา อาทิ จำกัดจำนวนนักเรียนชั้น ม.1 ให้ไม่เกินห้องละ 50 คน, เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนอื่นๆ ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนขยายโอกาสสามารถสมัครเข้า ม.4 ในโรงเรียนแข่งขันสูงได้.

Tags : , , , , , , | add comments