มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ​ มีทั้งนักวิชาการ​ นักวิจัย​ จิตแพทย์เด็ก​ ออกมาแสดงความคิดเห็น​ต่างๆ​ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษ​ในบ้านเรา​ ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ​ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัย​แล้ว​ เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็น​ที่จะต้องเรียนพิเศษ​ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้​ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น​ ในช่วงของประถมปลาย​ ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน​ กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ​ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพ​เฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้​ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน​เดียวกันทั้งหมด​ คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน​ หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย​ ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน​ หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว​ ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง​ ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย​ สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษ​ให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์​มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป​ ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน​ การเรียนพิเศษ​ในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ​ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย​ เหตุผลเพียงเพราะ​ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

            ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว

            ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค)  , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต) และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน  การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้ แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแก้ไขได้             เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากที่เคยกล่าวถึงโรงเรียนในแนวต่างๆ  มาแล้ว คราวนี้เราลองมาสอดส่องโรงเรียนไทยที่มีทางเลือกหลากหลายให้กับพ่อ แม่  ผู้ปกครองในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ค่าเทอมของโรงเรียนอินเตอร์มีอัตราที่สูงลิ่ว ซึ่งมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่สามารถส่งเสริมบุตรหลานให้เรียนได้  ประกอบกับโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนมีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบ  Gifted ,EP และภาคปกติ  เรามาดูรายละเอียดของการเรียน EP ว่าแตกต่างจากภาคเรียนปกติอย่างไร

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็หวังว่าการส่งบุตรหลานเรียน EP  จะทำให้บุตรหลานได้มีความเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยอาจรู้เท่าไม่ถึงว่าแนวการเรียนการสอนเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ  EP จะมีการเพิ่มการเรียนการสอนวิชา  Math , Science , Social  Study  ซึ่ง ผู้ปกครองหลายๆ คนที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กก่อนที่จะเข้าเรียนในแนว EP  ส่งบุตรหลานเรียนอนุบาลในแนวไทย เข้าใจว่าเด็กๆ  จะสามารถปรับตัวได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่สามารถปรับตัวได้เลย เพราะหนังสือที่ใช้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ หลายๆ โรงเรียนเลือกใช้หนังสือจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งหนังสือที่ใช้เป็นหนังสือที่ดีมาก  แต่เราต้องอย่าลืมว่าภาษาอังกฤษของประเทศสิงคโปร์เป็นภาษาแม่ก็ว่าได้ ดังนั้นภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นแบบ  EFL  (English First  Language) ซึ่งเด็กไทยภาษาอังกฤษไม่ใช่ทั้งภาษาแม่และภาษาทางราชการ ทำให้เด็กเกิดปัญหา เพราะไม่ได้ถูกปูพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น พ่อแม่ ผู้ปกครองเองบางคนที่ไม่ติดเรื่องภาษา ก็ต้องติดกับเรื่องของการอธิบาย เพราะเค้าใช้วิธี   Singapore  Math ทำให้เกิดปัญหากับการเรียนคณิตศาสตร์

หลายๆ ครอบครัวช่วยบุตรหลานโดยการส่งให้เรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่ม  แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้ทำให้บุตรหลานเข้าใจการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น  เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย มุ่งเน้นให้เด็กเรียนไวยากรณ์  ท่องศัพท์เพื่อให้รู้หน้าที่ของคำ  แต่การเรียนคณิตศาสตร์จะมีศัพท์เฉพาะทาง เช่น perpendicular,  denominator, parallel, numerator, reciprocal เป็นต้น  กลายเป็นปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ดังนั้นการเลือกโรงเรียนนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาให้กับบุตรหลาน  แต่หากเด็กเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว ควรช่วยเค้าให้ถูกทาง เลือกเรียน Singapore Math เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้แล้วเพื่อไม่ให้ปัญหาค่อยๆ พอกพูนจนไม่สามารถแก้ไขได้ ร่วมกับการที่เวลาที่สอนในโรงเรียนปกติ 8 วิชา เพิ่มอีก 3 วิชาโดยมีเวลาเรียนเท่าเดิม กลายเป็นว่าภาษาไทยก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ วิชาการอะไรก็ไม่ได้สักด้านเดียว……

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

           ปัจจุบันนี้การศึกษาปฐมวัยของบ้านเรามีหลายหลายแนวการศึกษาให้เลือกมากมาย ทั้งแบบบูรณาการ  แบบมอนเตสเซอรี่ แบบวอลดอร์ฟ หรือแม้กระทั่งแบบเร่งเขียนอ่าน ซึ่งในหแต่ละแบบก็มีแนวการศึกษา หรือหลักแนวคิดที่แตกต่างกัน
การเรียนในแบบบูรณาการ จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง นั่นคือเรียนตามความสนใจของผู้เรียน เน้นความรู้แบบองค์รวมไม่ได้เน้นรายวิชา ซึ่งหมายความว่าการเรียนจะมีอยู่ภายใต้หัวข้อเดียวกัน และเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
          การเรียนแบบมอนเตสเซอรี่เป็นระบบการศึกษาที่เน้นให้เด็กๆใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมีระบบแบบแผนโดยเฉพาะเรื่องการฝึกให้เด็กมีระเบียบ วินัย และพัฒนาการทั้งความคิด อารมณ์ และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย โดยผ่านสื่อการเรียนการสอนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของมอนเตสเซอรี่
          การเรียนแบบวอลดอร์ฟ เป็นการเรียนที่ให้อิสระกับผู้เรียน เรียนผ่านการเล่น ฝึกให้เด็กได้รับประสบการณ์จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละวัน เสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
          จากแนวการเรียนการสอนที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้น มีทั้งข้อดี ข้อเสีย นั่นคือ ผู้ปกครองมีแนวทางเลือกที่เพื่อเหมาะสมกับลูกหลานมากขึ้น แต่ในบางครั้งหากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ อาจทำให้เด็กต้องพบกับปัญหาของการปรับตัวเมื่อต้องย้ายโรงเรียนเมื่อเด็กโตขึ้น 
 ดังนั้นควรมีการหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลของแนวการเรียนของสถานศึกษา ลักษณะการเรียนที่เหมาะกับเด็ก หรือแม้กระทั่งความต่อเนื่องในแนวการเรียนแต่ละแนว เพื่อให้เด็กมีความสุขในการเรียน และมีความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ในหน้าที่ของตนเองเมื่อโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments