วันนี้ครูdownloadมีเรื่องเล่าอีกแล้ว เรื่องมีอยู่ว่ามีเด็กแฝดคู่หนึ่งที่ถูกเลี้ยงด้วยพี่เลี้ยงคนละคนกัน แฝดผู้พี่ไม่มีปัญหาการเรียนใดๆ เลย ในขณะที่แฝดผู้น้องไม่ว่าจะมีการประเมินผลอย่างไร ไม่เคยได้คะแนนไล่เลี่ยกันซักที ซ้ำร้ายล่าสุด แฝดผู้น้องไม่สามารถผ่านเกณฑ์การประเมิน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เป็นลูกฝาแฝดจากพ่อแม่เดียวกัน

คราวนี้เรามาวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ผลการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เราสามารถตัดปัจจัยหลักเรื่องพันธุกรรมได้อย่างแน่นอน คราวนี้เรามาพิจารณาที่สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เนื่องจากการดูแลเด็กทั้งสองคนที่แตกต่างกันของพี่เลี้ยงแต่ละคน กลายเป็นปัจจัยหลักของการเรียนรู้ (ณ ที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์) ที่แตกต่างกันของทั้งคู่

ก่อนอื่น จะกล่าวถึงเนื้อหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ใน ประถม 1 ก่อน การเรียนยังไม่มีการคิดวิเคราห์โจทย์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เตรียมความพร้อมทางด้านภาษาก่อน เด็ก ๆ ทุกคนจะต้องเรียนรู้เรื่องการนับเพิ่ม นับลด แบบรูป ความสัมพันธ์ ซึ่งมีเพียงแต่เรื่องของการคำนวณเท่านัน ซึ่งเด็กๆ ที่ถูกปูพื้นฐานทางด้านจำนวน หรือการคำนวณ จะไม่มีปัญหาในการเรียนในชั้น ป.1 แต่เมื่อขึ้น ป.2 การเรียนคณิตศาสตร์จะต้องมีการคิด วิเคราะห์ โจทย์มากขึ้น ให้เด็กๆ วิเคราะห์ว่าต้องใช้วิธีใดในการแก้ไขโจทย์ปัญหาดังกล่าว และการวิเคราะห์โจทย์ก็จะซับซ้อนมากขึ้นๆ เมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น

หลังจากที่เรามองเห็นภาพรวมของการเรียนคณิตศาสตร์แล้ว เราย้อนกลับมาดูสิ่งที่แตกต่างของพี่น้องฝาแฝดคู่ดังกล่าว แฝดผู้พี่ มีพี่เลี้ยงที่เมื่อมีปัญหาในการแก้โจทย์ จะมีการติดต่อกับครูที่สถาบัน เพื่อขอคำชี้แนะ หรือวิธีการสอน โดยทางสถาบันย้ำว่าต้องให้ตัวเด็กเป็นผู้คิด วิเคราะห์ด้วยตนเอง ส่วนแฝดผู้น้อง เนื่องจากถูกเลี้ยงอยู่กับคุณยาย ซึ่งมีทีวีเป็นเพื่อน เมื่อน้องกลับจากโรงเรียน กิจกรรมทุกอย่างรวมไปถึงการบ้านก็อยู่หน้าทีวี เมื่อทำการบ้านช้า หรือคำที่เด็กๆ มักอ้างนั่นคือ “หนูทำไม่ได้” พี่เลี้ยงกลัวว่าจะไม่มีการบ้านส่งในวันที่กำหนด จึงคิดและวิเคราะห์โจทย์ หรือบางครั้งก็บอกคำตอบให้กับตัวน้องเลย สิ่งที่เกิดขึ้น แทนที่น้องจะค่อยๆ มีกระบวนการในการฝึกประสบการณ์ในการคิด และวิเคราะห์โจทย์จากการบ้าน (ซึ่งถือเป็นการทบทวนเนื้อหาที่เรียนในแต่ละวัน) ก็ขาดไป เมื่อสอบวัดความรู้ ก็ไม่มีทางที่เค้าจะสามารถคิด วิเคราะห์โจทย์ได้เลย และเมื่อนานวันเข้า สิ่งที่เค้าต้องฝึกมันยากขึ้นเรื่อยๆ การประเมินผลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะกลายเป็นปมที่ส่งผลให้เกิดทรรศนะคติที่ในเชิงลบต่อการเรียนในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็น่าจะพอสรุปได้แล้วว่า พันธุกรรม ส่งผลต่อการเรียนรู้ก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรจะมีการดูแล เอาใจใส่ในเรื่องการเรียนของบุตรหลานอย่างสมเหตุสมผล และมีขอบเขต เพื่อประโยชน์ของตัวบุตรหลานของท่านเอง

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments