math_clipart              ในการเรียนคณิตศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในแนวใด ๆ เด็กทุกคนจะต้องเริ่มต้นพื้นฐานการบวก ลบก่อน ต่อจากนั้นในช่วงระดับชั้นประถมปีที่ 2 ก็จะเข้าสู่เนื้อหาของการคูณ และ การหาร ซึ่งในเบื้องต้นเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจให้เด็กได้เข้าใจว่าการคูณนั้นคือการบวกเลขซ้ำ ๆ  และการหารคือการลบเลขซ้ำ ๆ กันนั่นเอง

              หลังจากการเรียนให้เข้าใจเรื่องของการคูณ-หาร แล้วเด็ก ๆ ก็จะต้องใช้สูตรคูณในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องการคูณ-หารเป็นพื้นฐานในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจะเห็นว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เด็กได้มีทัศนคติที่ดี หรือไม่กลัวคณิตศาสตร์นั้น เราจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้น้อง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น หากเราเริ่มต้นเร็ว เด็ก ๆ ก็จะไม่มีแรงกดดันเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเรียนโดยที่เขายังไม่ถูกเตรียมความพร้อมมา การท่องสูตรคูณ 12 แม่ในช่วงเวลาสั้น ๆ จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาถูกบีบให้ต้องจำในช่วงเวลาที่จำกัด  

               เช่นเดียวกับการเรียนจินตคณิต เมื่อเด็กสามารถจินตนาการการบวก-ลบ จนคล่องในระดับหนึ่งแล้ว การเรียนในขั้นต่อไปคือการเรียนคูณ-หาร ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องการใช้สูตรคูณ เด็กส่วนใหญ่ที่ถูกเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดีในเรื่องของการท่องสูตรคูณ จะสามารถเรียนรู้ และมีความเข้าใจการเรียนได้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงขั้นจินตนาการ เขาจะสามารถทำโจทย์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ไม่ได้ท่องสูตรคูณ จะไม่สามารถเรียนได้ เพียงแต่ประสิทธิผลที่ได้จะช้ากว่ามาก และอาจส่งผลให้เด็กมีความรู้สึกในเชิงลบกับการเรียนคูณ-หาร เนื่องจากเขาไม่สามารถท่องสูตรคูณได้  

               ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ ควรจะมีการเตรียมความพร้อมของลูกน้อยในช่วงปฐมวัย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานและสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับบุตรหลานในการเรียน หลังจากที่เขามีพื้นฐานการเรียนที่ดี ประกอบกับวัยที่โตขึ้นแล้ว เขาก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง โดยที่ความต้องการในการดูแลก็จะน้อยลงตามลำดับ

ครู จา

Tags : , , , , , , , | add comments

เลือกโรงเรียนให้ลูก (ตอนจบ) บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงโรงเรียนทางเลือกในแบบสุดท้ายที่เราเรียกกันว่า “Project based learning” (PBL) เป็นแนวที่มีความคิดพื้นฐานว่าการเพิ่มทักษะด้านวิชาการ (การอ่าน การเขียน) ควบคู่กับการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเพิ่มความสนใจในการเรียนของเด็กมากกว่าการท่องจำบทเรียน นอกจากนี้ยังฝึกให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์ภายใต้สภาวะวิกฤติ คิดอย่างมีระบบ มีการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม และมีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิชาการโดยไม่ใช่การท่องจำข้อมูลต่าง ๆ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น มีการระดมสมอง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีม มีการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นข้อโต้แย้ง หรือข้อสนับสนุนความคิดของตนเอง การเรียนในแนวนี้ทำให้เด็กต้องมีการค้นคว้า การอ่านเพิ่มเติมจากเนื้อหาในห้องเรียน และสุดท้ายคือการนำเสนอข้อมูลให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ การเรียนแบบ PBL ที่ดีจะต้องมีการตั้งหัวข้อที่น่าสนใจ (ครูต้องทำให้หัวข้อน่าสนใจ ในการค้นคว้าหาข้อมูล) มีการตั้งคำถามที่เป็นปลายเปิดเพื่อให้เด็กสืบหาข้อมูลในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และความท้าทายในการหาคำตอบ การเรียนในแนว PBL ก็น่าสนใจมิใช่น้อย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนในแนวนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ครูผู้สอนว่าจะสามารถคิดคำถามเพื่อก่อให้เกิดโครงงานเพื่อกระตุ้นให้เด็กต้องการหาความรู้ได้มากน้อยเพียงใด และการตั้งคำถามที่เป็นคำถามปลายเปิดนั้น ครูผู้สอนเองก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล หรือแหล่งความรู้ที่มากขึ้นและทันสมัยตลอดเวลา เพื่อที่ว่าเวลาเกิดการระดมสมอง หรือมีข้อโต้แย้งก็มีข้อมูลเพียงพอ สุดท้ายก็อยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เลือกโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ ได้ศึกษาข้อมูลของโรงเรียนในแต่ละแบบให้มากขึ้น และจะได้เลือกโรงเรียนในแบบที่ตนเองต้องการให้มากที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments