จากประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย เรามักพบว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้ที่คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้นมักได้รับการชื่นชมว่า บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่คิดนอกกรอบ ซึ่งหากเราสืบค้นกันจริงจังแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จโดยการคิดนอกกรอบเหล่านั้น ต้องตรากตรำ ค้นคว้า หาข้อมูล จนกระทั่งทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการเปลี่ยนสมมติฐานจากสิ่งที่คิดเดิมแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้บทสรุป หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้ากันเป็นเวลานาน

หลาย ๆ คนจึงคิดว่า การเลี้ยงดูเด็ก ไม่ควรจำกัดกรอบ หรือวิธีคิด หรือการคิดที่ตรงกันข้ามกับความคิดในสมัยเก่า ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีการศึกษาอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เด็กในรุ่นใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีวิธีคิดที่น่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง หากใครได้สัมผัสกับวิวัฒนาการของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักเห็นผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกระตือรือร้น ซึ่งนั่นหมายถึงความไม่พยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง  ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากทดลองที่มีความสลับซับซ้อน ต้องการสิ่งที่ได้มาง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือความพยายามใด ๆ  ………… น่าคิดว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

นักวิชาการหลาย ๆ คนกล่าวว่า การคิดนอกกรอบนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอ่านมาก ฟังมาก และรู้มาก  ซึ่งกว่าจะรู้มากก็ต้องฝึกให้ทักษะต่าง ๆ ทั้งการอ่านมาก คิดมาก ฟังให้มาก นั้นจะต้องผ่านกรอบของการฝึกฝนก่อน กระบวนการในการคิดนอกกรอบจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่คิดจากมุมที่ต่างไปจากเดิม (นั่นคือเราต้องมีความคิดเดิมของเราอยู่) , การคิดให้มีความหลายหลาย เหมือนการคิดแบบหมวก 6 ใบ (ซึ่งก็ต้องศึกษาก่อนและฝึกคิดเมื่อใส่หมวกแต่ละใบว่ามีแนวคิดอย่างไร) หรือประเด็นสุดท้ายคือคิดตรงข้ามกับความคิดเดิม (ยังไงก็ยังคงต้องมิความคิดเดิมอยู่ก่อน)

จะเห็นได้ว่า การคิดนอกกรอบนั้น เราสามารถที่จะฝึกให้เด็กคิดได้ ด้วยการที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการศึกษาข้อมูล อย่างถ่องแท้ หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือวิธีการอย่างจริงจัง อาจตกหลุมพรางของคำว่า “นอกกรอบ” กลายเป็น “การไร้วินัย”  ซึ่งมีหลายครอบครัวไม่สามารถแยกคำทั้งสองออกจากันได้

ครู จา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

        ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments