เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75 ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)  เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

            ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้

            หลายๆ คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย

            ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019 เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น ป.3,  ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์

 นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ และลดความกดดันในการแข่งขันลง แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน  

             โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1 ใน 10 เหมือนสิงคโปร์  รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้ หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา  ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

โรงเรียนไหนดี?

Posted by malinee on Tuesday Nov 27, 2018 Under เกร็ดความรู้

ในปัจจุบัน ทางเลือกของการศึกษามีอยู่หลากหลายแบบ ครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ก็จะส่งเสริมบุตรหลานให้ได้การศึกษาที่ดีที่สุด  หากตามข่าวการศึกษาบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ก็จะเบื่อหน่ายกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่ผู้ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งของผู้ดูแลกระทรวงศึกษา ก็ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับความทุ่มเทเอาใจใส่ของครูที่มีน้อยลง หวังแต่จะรับสอนพิเศษเพื่อให้ได้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมันในระบบการศึกษาไทยถูกบันทอนลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีความมั่นใจกับการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงส่งบุตรหลานเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง แทนที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อออกกำลังกาย หรือเพื่อเล่นซน ก็หมดไปกับการเรียน เป็นเหตุให้เด็กในยุคนี้ไม่มีประสบการณ์หรือทักษะด้านอื่น นอกจากการเรียน

การส่งบุตรหลาน เรียนพิเศษไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย เช่นในวัยอนุบาล พ่อแม่สามารถจะหากิจกรรมเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งทำได้ในบ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และคอยดูการเรียนในโรงเรียน แล้วเสริมหรือทบทวนเพื่อให้บุตรหลานมีความมั่นใจ และรักการเรียนรู้ ส่วนของประถมต้น เด็กๆ จะเริ่มมีการเรียนเรื่องความยาว น้ำหนัก ความจุ ทางบ้านก็ส่งเสริมให้เห็นของจริง เช่นการเลือกซื้อนม ให้ดูปริมาตรข้างกล่อง เปรียบเทียบขนาดกล่อง น้ำหนักของพ่อ แม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเอง แล้วเมื่อถึงบทเรียนที่เราเริ่มจะรู้สึกว่าไม่สามารถอธิบายได้ ค่อยหาตัวช่วยอื่น

สิ่งที่สำคัญของการเรียน คือทัศนคติของการเรียนไม่ว่าจะเรียนอะไร และครูคนแรกของลูกก็คือพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานมีทัศนคติอย่างไรกับการเรียน และยังทำให้ความเป็นครอบครัวแน่นแฟ้นมากขึ้น อย่าให้เครื่องมือทางเทคโนโลยีมาแทรกแซงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เพราะ ณ วันนึง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเติบโตอย่างมั่นใจว่าถึงอย่างไรเขาก็มีครอบครัวที่คอยสนับสนุน หรือเป็นกำลังใจเมื่อเขาเกิดท้อแท้ และอย่าให้ครูคนแรกของลูกเป็นคนอื่น เพราะไม่มีใครปรารถนาดีกับบุตรหลานเท่าพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว และอย่าคาดหวังว่าระบบการศึกษาของบ้านราจะได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนา เพื่อให้คนทุกคนมีการศึกษาที่ดีเทียบเท่ากันทั้งประเทศ …. คงไม่มีวันนั้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการหลายๆ ท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปติวหนักเป็นปี เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี การส่งให้เด็กติวเข้านั้น ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดหวังว่าเม็ดเงินที่เสียไป จะต้องทำให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีในสายตาของตนเอง

การติวเข้าโรงเรียนแนวสาธิต จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กในเรื่องของเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสถาบันต่างๆ มักสร้างสถานการณ์ในช่วงของการใกล้สอบจนบางครั้งมีเด็กบางคนเกิดอาการเครียด โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองยังส่งผลต่อเด็ก เมื่อเขาไม่ได้มีชื่อที่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งการไม่ได้รับเลือกเป็นนักเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มีผลต่อตัวเขา หรือความรู้สึกใดๆ เลย แต่ผู้ที่มีผลกับเขาคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนพู่กันที่แต้มสีสันลงบนความรู้สึกนึกคิดของเขามากกว่า หากส่งผ่านความผิดหวังไปที่เด็ก ก็เปรียบกับการแต้มสีดำ หรือเทา ทำให้ผ้าขาวเกิดจุด หรือรอยด่างดำ ซึ่งมันจะติดตัวเขาไปตลอด ความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของเขาไปเลย ซึ่งเด็กในวัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่จะต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบจอหงวน เขาควรได้เล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม เล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นเป็นกลุ่มยังส่งผลให้เขาได้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยในการเล่นอีกด้วย มันเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วการเล่นยังเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็ควรจะเป็นจิตรกรผู้แต่งแต้มสีสันอันสดใสให้กับเขา ชีวิตในวัยเด็กที่สดใส สนุกสนาน ให้ได้อยู่กับเขาได้นานที่สุด

แต่เมื่อโตขึ้น ในวัยที่เขามีความต้องการที่จะเลือกโรงเรียน แนวการเรียนของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เลือกทุกอย่าง รวมถึงปกป้อง จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกใดๆ เลย จริงๆ แล้วหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงมีหน้าที่รักเค้าเหมือนเดิม แต่เมื่อเค้าโตขึ้น ต้องฝึกให้เค้าได้มีทักษะด้านอารมณ์ ให้มากขึ้น ให้รู้จักอดทนอดกลั้นมากขึ้น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ แล้วให้เขาเป็นผู้เลือกชีวิตและทางเดินของเขาด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่ยอมรับในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาผิดหวัง เขาต้องยอมรับข้อผิดพลาด รู้จักความผิดหวัง ต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเรียน การเลือก และสุดท้ายคือจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกที่อาจผิดหวัง โดยมีพ่อแม่ เป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ หรือผิดหวัง ชื่นชมในความสำเร็จแม้เพียงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ข่าวการศึกษาในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ซึ่งมีนโยบายการรับนักเรียนในระดับต่าง ๆ โดยกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้มีการขยายห้องเพิ่ม ได้แก่ในระดับก่อนประถม ให้มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง ส่วนในระดับประถมและมัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะต้องมีการสอบคัดเลือก (การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น) และการเลื่อนชั้นของนักเรียนในโรงเรียนเดิมจาก ม.3  ขึ้น ม.4 ของเด็กหลายๆ คนที่เกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนก็มีกำแพงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

การออกนโยบายดังกล่าวจะให้โรงเรียนในสังกัดถือเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการผ่อนผันในปีการศึกษา 2561 นี้ เนื่องจาก สพฐ. มีความเข้าใจว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนการสอน

เมื่อได้รับข่าวสารดังกล่าว ครูเกิดคำถามขึ้นมากมาย จริงหรือที่จำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ สพฐ. สามารถแก้ไขในเรื่องของคุณภาพของการเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปีของการสอบคัดเลือก คือการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ใช้ปัจจัย ตำแหน่งหน้าที่การงาน  พร้อมกับการส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างหนักในสถาบันกวดวิชาต่างๆ ไหนว่าลุงตู่มีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กลายเป็นลดเวลาเรียนในโรงเรียน แต่เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ (วันเสาร์-อาทิตย์) นี่เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเรียนพิเศษลดลง วัยเด็กที่หายไป เป็นความหวังดีของพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงจุดประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในที่มีการแข่งขันสูง ไม่ใช่เพียงเพราะอยากมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพของครู อาจารย์ ผู้สอน จึงได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้บุตรหลานได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนนั้นหรอกหรือ ส่วนในอีกมุม โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของการแข่งขัน จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน กลายเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในแผนของการส่งบุตรหลานเลย ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ติดบ้านก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แน่ใจหรือว่าคุณภาพที่ได้นอกจากจะได้มาจากจำนวนนักเรียนเพียงอย่างเดียว หากเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องมีการควบคุมตัวแปรต้นทุกตัวที่ส่งผลกับการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงเลือกศึกษาปัจจัยทีละตัว เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สพฐ. ไม่ได้ควบคุมตัวแปรต้นเลย (คุณภาพของครู อุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนนักเรียนเลย) หากคุณภาพของครูหรือโรงเรียนอยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศ คงไม่มีแรงกระเพื่อมจากนโยบายในครั้งนี้รุนแรงนัก แล้ว สพฐ. มีแผนรองรับที่จะแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ผ่านการคัดเลือกแล้วหรือยัง

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

ในปัจจุบันถือว่าเป็นโลกแห่งความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะหาอะไรจะทำอะไรก็ง่ายดาย เช่นเดียวกัน ที่เรียนของลูกก็จะยากอะไร มีให้เลือกอยู่เยอะแยะไม่ว่าจะเรียนอะไร เดินสยามมีทุกชั้น ทุกวิชา

จริงอยู่ที่สถาบันกวดวิชามีมากมายหลากหลาย มีทั้งเรียนเดี่ยว เรียนกลุ่ม หรือแม้กระทั่งรับสอนตามบ้าน  ถ้าลูกเรียนวิชาไหนไม่รู้เรื่องก็ส่งไปเรียนตามสถาบันต่างๆ บางครั้งปัญหาของความไม่เข้าใจก็ได้รับการแก้ไข  แต่หลายๆ ครั้งปัญหาไม่อาจแก้ไขได้ บางครั้งปัญหาที่ต้องการการแก้ไข ไม่ใช่ปัญหาของการเรียน แต่เป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรม

ทำไมครูถึงบอกว่าปัญหาของการเรียนเกี่ยวกับปัญหาทางพฤติกรรม เนื่องจากเด็กหลายๆ คนถูกบ่มเพาะนิสัยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเกิดอะไรรอบตัว ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง จากการที่คิดแทน ตัดสินใจแทน หรือแม้กระทั่งการบ้าน รายงานแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตนเอง ร่วมกับการส่งความสุขให้กับบุตรหลานผ่านเกมส์ ทีวี การ์ตูน ซึ่งเป็นข้ออ้างว่าต้องการให้เขาได้พักสมองบ้าง

การบ่มเพาะดังกล่าวให้เวลาเพียงไม่ถึงสามเดือน เด็กก็จะมีบุคลิกเฉื่อย ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ มีโลกส่วนตัว กลายเป็นเด็กเรียนรู้ช้าในที่สุด ซึ่งเป็นเหตุให้ผลการเรียนตกต่ำลงเรื่อยๆ กว่าสัญญาณดังกล่าวจะส่งถึงผู้ปกครอง ก็ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากเด็กที่มีบุคลิกดังกล่าวไม่ใช่เด็กที่ป่วน หรือไม่เชื่อฟังครู  เป็นเด็กที่เงียบ เฉย ซึ่งการเรียนในโรงเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ครูจะเข้าใจว่าเป็นบุคลิกส่วนตัว ก็ปล่อยผ่านไป

เหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ทางสถาบันมักถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าจะแก้อย่างไร หรือเรียนอะไรดี จะช่วยได้ ครูตอบได้เพียงแต่ ไม่มีวิชาใดแก้พฤติกรรมที่บ่มเพาะจากทางบ้านได้ นอกจากการแก้พฤติกรรมในบ้านด้วยตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองเองเท่านั้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

            ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน

ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ   แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ

เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ

การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร

หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

stock-photo-happy-hard-working-kids-writing-an-exam-in-primary-school-534155374          ในยุคปัจจุบันภาพของเด็กๆ ตามสถาบันกวดวิขาในวันหยุดกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาไปเสียแล้ว ในขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สนับสนุนให้เด็กๆ เรียนมากจนเกินไป ส่งผลให้เกิดนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้การเรียนพิเศษนอกโรงเรียนยังคงเหมือนเดิม เรามาลองพิจารณาเด็กกลุ่มต่างๆ ที่เข้าเรียนตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ ซึ่งเราสามารถแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มแรก เด็กกลุ่มก่อนวัยเรียน จะเป็นกลุ่มที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องการเสริมทักษะและพัฒนาการในด้านร่างกาย หรือด้านภาษา เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมโดยการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อกลางให้เด็กได้เข้าใจคำศัพท์พร้อมกับการยืดเส้นยืดสาย การเรียนในกลุ่มนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ภาษาพร้อมกับกิจกรรมผ่านการเล่น ในวัยที่เด็กยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ควบคู่กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยไม่มีแรงกดดัน ทำให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุขสนุกสนาน

กลุ่มที่สอง กลุ่มปฐมวัย การเรียนในกลุ่มนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกระแสของสังคม สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือการส่งบุตรหลานเข้าติวสาธิต เหตุที่ว่าเป็นกระแสสังคม เนื่องจากเราจะเห็นได้จากจำนวนนักเรียนที่สมัคร เทียบกับจำนวนนักเรียนที่รับ ซึ่งการเรียนติวสาธิตนั้นจะเป็นการเรียนเป็นระยะเวลา 1 – 2 ปีในเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ที่จะเข้าสอบ การเรียนในแนวนี้ จะเครียดในช่วงของโค้งสุดท้ายก่อนสอบ เด็กหลายๆ คนถึงกับเกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มของเด็กประถมวัย การเรียนพิเศษในกลุ่มนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนสาธิตได้แล้ว เนื่องจากแนวของโรงเรียนดังกล่าวเป็นการเรียนในแนวบูรณาการ ไม่ค่อยมีการบ้าน ไม่ค่อยได้เรียน คุณพ่อคุณแม่ ก็เป็นกังวลว่าจะตามโรงเรียนอื่นได้อย่างไร จึงจัดตารางการเรียนวันหยุดให้กับน้องๆ ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของโรงเรียนเร่งเรียน โรงเรียนสองภาษา คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความกังวล กลัวว่าบุตรหลานจะไม่สามารถเรียนตามเพื่อนได้ทัน เนื่องจากจำนวนเด็กต่อห้อง มากกว่าตอนที่อยู่อนุบาลมาก

กลุ่มที่สี่ กลุ่มเด็กประถมปลาย เป็นกลุ่มที่ต้องย้ายโรงเรียนอีกครั้ง การเรียนในกลุ่มนี้ เพื่อการทบทวนเนื้อหาและ ฝึกทำแนวข้อสอบในแนวต่างๆ ที่หลากหลายกว่าการเรียนในโรงเรียนทั่วไป

กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มที่เป็นเด็กล่ารางวัลในสนามแข่งขันต่างๆ เราจะเห็นสนามแข่งขันทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลายๆ สถาบันเกิดขึ้นทั้งปี เด็กในกลุ่มนี้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว จึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนเพื่อการแข่งขันในสนามทั่วประเทศ

กลุ่มที่หก เป็นกลุ่มของเด็กมัธยม การเรียนในกลุ่มของเด็กมัธยม ส่วนใหญ่เกิดจาก คุณพ่อคุณแม่เริ่มไม่สามารถดูแลได้ จำเป็นต้องให้น้องๆ เข้าเรียนในสถาบันกวดวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเลือกแผนการเรียน และสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป

จากกลุ่มของเด็กต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น มันอาจสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง เช่น การเรียนในโรงเรียนไม่ดีพอหรือ หรือเกิดอะไรขึ้นกับความรับผิดชอบในตัวเด็ก หรือเกิดระบบการศึกษาของบ้านเราล้มเหลว จึงทำให้เด็กเกือบทุกคนที่มีโอกาส ต้องวิ่งหาที่เรียนจนกว่าจะจบการศึกษา หรือ อาจถึงตอนติวเพื่อสมัครสอบเข้าทำงานในหน่วยงานราชการจึงจะสิ้นสุด

Tags : , , , , , , , , , | add comments

BadGradeClipArtในช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะปรับพื้นฐานในการเรียนให้แก่บุตรหลาน หลายครั้งที่ทางสถาบันได้รับสายจากทางผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานของตนมา หลาย ๆ คนที่กำลังจะขึ้นชั้น ป.2 แต่เมื่อถามความเป็นไปของตัวน้อง กลับพบว่า ปัญหาจริง ๆ ของเด็กในการเรียน คือการอ่าน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมุ่งแก้ไขปัญหาของน้องในแต่ละวิชา ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มักเป็นวิชาแรก ๆ ที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญ โดยลืมไปว่า การเรียนในทุก ๆ วิชาของบุตรหลาน ต้องเริ่มที่การอ่าน (ภาษาไทย) เป็นหลัก หากไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของการอ่าน ไม่ว่าจะส่งบุตรหลานเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย หรือนานเพียงใด ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุด ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์ ครูสามารถอ่านโจทย์ให้เด็กได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การที่ครูเป็นผู้อ่านให้เด็กฟัง เด็กจะมีความเข้าใจได้ แต่เมื่อเด็กต้องอ่านโจทย์เอง การเว้นวรรคตอนที่ผิด ทำให้การตีความผิดเช่นกัน ดังนั้นการที่ส่งเด็ก ๆ เรียนในวิชาต่าง ๆ โดยที่ตัวเด็กนั้นขาดทักษะด้านการอ่าน ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่บุตรหลานได้ เปรียบเสมือนการเกาไม่ถูกที่คันนั่นเอง

Tags : , , , , , , , , , , | add comments

royalty-free-student-clipart-illustration-218642ในช่วงปิดภาคเรียน มักจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้ปกครอง  ที่พาน้องเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่มักพูดกันเป็นแนวเดียวกันว่า ลูกหลานลืมง่าย ช่วงสอบที่มีการทบทวนให้ก็ทำคะแนนออกมาได้ดี แต่เมื่อผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ให้ลองย้อนกลับมาทำแบบฝึกหัดอีกครั้ง กลับพบว่าเสมือนไม่เคยเจอแบบฝึกหัดดังกล่าวมาเลย  ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากในช่วงของการสอบไม่ว่าจะเป็นกลางภาค หรือปลายภาค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้อ่านหนังสือ เพื่อย่อยหรือย่นย่อความรู้ต่าง ๆ แล้วป้อนเข้าสู่การท่องจำของเด็ก สิ่งที่เค้าได้จึงเป็นเพียงตัวเลขในสมุดพกที่เป็นที่น่าพอใจของผู้ปกครอง แต่เมื่อทดสอบความรู้ที่ผ่านมา มันเปรียบเหมือนน้ำซัดหาดทรายที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ซักเท่าไร หากเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันที่เขาต้องสอบแข่งขัน ซึ่งงจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานในหลายวิชาที่ได้เรียนมา จะมีความรู้สึกว่าทำไมสิ่งที่บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลา มันได้อัตรธานหายไปหมดหลังจากที่เขาเดินออกจากห้องสอบนั้นเอง หากเรายังคงเป็นผู้ย่อยความรู้ และให้เขารับผิดชอบเพียงแค่ท่องจำในสิ่งที่ครูมีหัวข้อมาให้ ก็คงจะต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาตอนสอบแข่งขันแน่นอน

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

                        หากเราสังเกตกันดี ๆ จะพบว่าทุกวันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถทำอะไร หรือตัดสินใจอะไรได้เร็วขึ้น ไม่ว่าเราจะหันไปทางไหน ผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างเพศ ต่างวัยกัน จะพบว่าจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว นั่นคือโทรศัพท์มือถือ แต่บางครอบครัวมีมากกว่านั้น นอกจากมือถือแล้วยังมี iPad หรือ tablet  เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการหาข้อมูล การติดต่อสื่อสารถึงกัน ใน Social network นั่นเอง

เมื่อพิจารณากันดี ๆ แล้ว เราจะพบว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยนั้น เป็นดาบสองคม นั่นคือ หากผู้ใช้มีวุฒิภาวะ เขาก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ในทางกลับกันหากผู้ใช้ไม่มีวุฒิภาวะ ก็เป็นดาบที่หันกลับมาทำร้ายตนเองได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างที่เราเห็นกันจนชินตา หรือได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทนเลย  ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักการรอคอย  ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีความพยายาม   คำถามต่าง ๆ เหล่านี้มักออกมาจากปากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเค้าเหล่านั้น หากเรามามองย้อนกลับไปดี ๆ เราจะพบสาเหตุที่เป็นสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียว นั่นคือวิธีการเลี้ยงดูเขาเหล่านั้นแทบทั้งสิ้น

ทำไมการเลี้ยงดูของคนสมัยใหม่จึงเป็นสาเหตุหลักของปัญหา  หลาย ๆ ครอบครัวที่เราพบเห็นตามห้างสรรพสินค้า เรามักพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานในวันทำงาน เมื่อมีเวลาวันหยุดก็จะพาลูกไปตามโรงเรียนกวดวิชาเพื่อหวังให้เขาเหล่านั้นมีผลการเรียนดี มีอนาคตที่ดี ส่วนตนเองก็อยู่กับโทรศัพท์มือถือ ท่สามารถติดต่อสื่อสารผ่าน network ที่ทันสมัย ทำให้ตนเองมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใน Social network ที่สร้าง(ภาพให้ดูดี)ขึ้นมา ตลอดเวลา หลังจากเลิกเรียนกลับบ้าน ก็ส่งเกมส์ให้ลูกเล่น เพื่อเป็นการผ่อนคลายหลังเลิกเรียนอย่างเคร่งเครียดมาตลอดวัน และลูกยังสามารถอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้อย่างไม่อายใคร เพราะเราก็มี iPad เล่นเกมส์โน้นนี้เหมือนกัน

จากความคิด หรือทัศนคติของผู้ปกครองส่วนใหญ่ดังกล่าว มันเป็นการติดกับเทคโนโลยี แทนที่เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นภัยมหันต์ ทั้งกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งมีการสนทนากัน พูดคุยถึงปัญหา แบ่งปันความเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่น้อยลงเรื่อย ๆ และยังเป็นการบ่อนทำลายทั้งสมาธิ ความสามารถในการเรียนรู้ และบั่นทอนเวลาการฝึกทักษะต่าง ๆ ให้สั้นลงอีก ทำให้ช่วงเวลาที่เขาควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์ (จากพ่อแม่จากการพูดคุย) และทักษะการดำเนินชีวิต (ทักษะในการใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เรียนรู้กฎ กติกา มารยาทต่าง ๆ)

หากเลือกได้ระหว่าง 2 โปรโมชั่นคุณจะเลือกอะไร ระหว่าง 1. new iPad + ลูก(ติดเกมส์ ไม่เอาใจใส่ในการเรียน หรือเด็กพิเศษ)

หรือ 2. ครอบครัวที่ไม่มี iPhone  หรือ iPad + ความเป็นครอบครัวที่มีความสุข โดยมีลูกที่ไม่มีคำว่า เด็กพิเศษติดตามตัวตลอดเวลา

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments