วิชาที่ครูไม่ได้เรียน
Posted by malinee on Wednesday Aug 11, 2010 Under Uncategorizedจากไทยรัฐออนไลน์
วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2553
หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู หรือผู้ที่เรียนหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศศ.บ.) ครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) และการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในสาขาวิชาเอกต่าง ๆ เพื่อไปทำการสอนนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยทั่วไปแล้วผู้จบการศึกษาไปเป็นครูจะเน้นวิชาชีพครูเป็นสำคัญได้แก่ วิธีการสอน สื่อการสอน การวัดและประเมินผล เป็นต้น แต่วิชาที่สำคัญสำหรับการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีอันเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้เป็นครู บางครั้งเรียกว่าครูพันธุ์ใหม่ โดยส่วนมากแล้วผู้ที่เรียนวิชาชีพครูทั่วไปจะไม่ได้เรียนยกเว้นครูที่จบและสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น วิชาเหล่านั้นได้แก่ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และความมั่นคง เป็นต้น
วิชาเศรษฐศาสตร์
ครูส่วนมากไม่ได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่เข้าใจตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ทราบถึงนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ไม่เข้าใจระบบการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เช็คและการใช้บัครเครดิต การเป็นผู้บริโภคที่ฉลาด ทำให้ครูเหล่านี้ขาดความรอบคอบและไม่รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการทำธุรกิจของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ครูหลายคนตกเป็นเหยื่อเพราะความไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเหยื่อให้กับผู้ฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของครูบวกกับความใจดีมีเมตตาของครู การเป็นข้าราชการของครูที่มีเงินเดือนประจำ มีสวัสดิการจากรัฐในฐานะข้าราชการจึงอาจถูกนำไปใช้เป็นช่องทางของการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้ช่องว่างของความไม่รู้ของครูได้ ครูจึงถูกชักนำให้เป็นหนี้จำนวนมากซึ่งดูเหมือนจะมากกว่าวิชาอาชีพอื่นที่รับราชการเหมือนกันด้วยคุณวุฒิและเงินเดือนที่เท่ากัน
วิชากฎหมาย
กฎหมายเป็นกติกาของสังคม ครูต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นในสิ่งที่ถูกต้องทั้งศีลธรรมจรรยาและกฎหมายด้วย บางประเด็นปัญหาจะใช้เพียงแค่ความรู้สึก สามัญสำนึกของตัวครูเองไม่ได้ เพราะกฎหมายบ้านเมืองได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ครูควรยึดแนวทางของกฎหมายในการให้คำปรึกษาและตัดสินปัญหาต่าง ๆ การเจรจาและการต่อรองที่เกิดขึ้นทั้งในชั้นเรียนและในสังคมที่ครูมีอิทธิพลเกี่ยวข้องอยู่มาก ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานและการพัฒนาสังคมหรือชุมชนแวดล้อมที่ครูต้องเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับตำบล หมู่บ้าน หรือในชุมชนที่ครูเป็นสมาชิกอยู่จำเป็นที่ครูต้องรู้อย่างเป็นระบบในการเรียนวิชาชีพครู ไม่เพียงแต่หวังให้ครูใฝ่ศึกษาด้วยตนเองเท่านั้นเพราะกฎหมายถึงจะบัญญัติให้ทุกคนไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้เพียงเพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้กับทุกคน ไม่ให้ผู้ใดปฏิเสธกฎหมายเท่านั้นแต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้กฎหมาย สำหรับครูควรต้องรู้มากกว่าคนทั่วไป เพราะครูควรใช้หลักกฎหมายในการให้คำปรึกษากับชุมชน สังคม ลูกศิษย์ รวมทั้งในบางเวลาต้องทำหน้าที่ตัดสินปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ ด้วย
วิชาว่าด้วยความมั่นคง
การพยายามให้ครูเข้าใจเรื่องความมั่นคงโดยการให้ครูไปเข้ารับการฝึกอบรมด้านความมั่นคงนั้นยังดำเนินการไม่ทั่วถึง และมักจะถูกจำกัดไว้เฉพาะครูที่มีตำแหน่งบริหารเท่านั้น แต่ความจริงแล้วความมั่นคงนั้นอยู่ที่ความเข้าใจของครูผู้ที่ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับอนาคตของชาติอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นหลักสูตรในเรื่องของความมั่นคงที่เหมาะสมกับครูที่ปฏิบัติการอยู่นั้นต้องได้รับการสั่งสอนมาอย่างเป็นระบบตั้งแต่เป็นนักศึกษาในสาขาวิชาชีพครูจึงจะได้ผลดีกว่ามาทำการฝึกอบรมภายหลังเมื่อได้ตำแหน่งบริหารแล้ว ความมั่นคงในมิติของการทำหน้าที่ครูย่อมแตกต่างไปจากมิติของความมั่นคงในอาชีพ ทหาร ตำรวจ หรือ นักปกครอง ความมั่นคงในมิติของครูต้องมีการสั่งสมให้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการครอบงำทางความคิด วิชาการ หรือแม้แต่การได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาทางการศึกษา พัฒนาครู/อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย
การปรับหลักสูตรวิชาชีพครู
วิชาชีพครูที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่มีรายวิชาดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้รายวิชาเหล่านั้นอาจจะมีอยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปซึ่งเป็นรายวิชาที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนต้องเรียน แต่รายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปนั้นไม่เหมือนกันในแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีรายวิชาเหล่านั้นให้กับผู้เรียนก็ได้ การนำเสนอรายวิชาที่ครูไม่ได้เรียนนี้เพื่อต้องการให้มีการปรับปรุงหลักสูตรและเพิ่มรายวิชาหรือเนื้อหาสาระเหล่านี้เข้าไปให้กับผู้เรียนในสาขาวิชาชีพครูทุกหลักสูตร ซึ่งจะทำให้ครูมีคุณลักษณะและคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความรู้เท่าทันกับสถานการณ์ของประเทศและระบบเศรษฐกิจของโลกอยู่ตลอดเวลาไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาส รู้เท่าทันคน เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกศิษย์รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้อย่างถาวร
การเพิ่มรายวิชาดังกล่าวเข้าไปจากเดิมที่มีรายวิชาชีพครูอยู่จำนวนมากแล้วอาจกระทบถึงมาตรฐานวิชาชีพครูและไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ด้วยวิธีการปรับปรุงหลักสูตรแบบที่เป็นอยู่ แต่การเพิ่มรายวิชาดังกล่าวสามารถเพิ่มได้โดยเพิ่มเนื้อหาสาระของวิชาเหล่านั้นเข้าไปด้วยรูปแบบและกลวิธีต่าง ๆ ทั้งในรูปของชุดการเรียน บทเรียนสำเร็จรูป หรือสื่อการสอนร่วมสมัยอื่น ๆซึ่งนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการศึกษาได้อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์