May 14
การยุบ ควบรวมโรงเรียน ที่เหมือนจะไกลตัวเด็กกรุงเทพ
ปัจจุบันข่าวของการควบรวม โรงเรียนหนาหูขึ้น บางกระแสก็ว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ บางกระแสก็ออกมาคัดค้าน บางกระแสก็สนับสนุนกับการควบรวม เพื่อพัฒนาการศึกษาให้เป็นระบบ
ก่อนอื่นเรามาพิจารณาที่ต้นเรื่องก่อน เรื่องเริ่มต้นที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ยุบหรือรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ซึ่งมีประมาณ 14,000 โรงเรียน เหตุของการยุบรวมโรงเรียน เนื่องจากงบประมาณที่ให้ในแต่ละโรงเรียนคิดเป็นงบประมาณต่อหัวเด็ก ซึ่งถ้าจำนวนเด็กน้อย งบประมาณที่ให้ไปก็ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ สื่อการเรียนที่ดี ให้กับโรงเรียนได้ หากมีการยุบรวมโรงเรียน งบประมาณก็จะมากขึ้น และง่ายต่อการจัดการเรียนการสอน
เรื่องดังกล่าว หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่มีผลกระทบกับเด็กกรุงเทพเท่าไรนัก อาจเป็นความจริงที่เรื่องดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อเด็กกรุงเทพในระยะเวลาอันใกล้ แต่หากโรงเรียนในชุมชนถูกทำลาย ความผูกพันความสำนักรักบ้านเกิด ก็อาจลดน้อยลง ในอดีต เด็กชนบทจะเรียน หมู่บ้าน แล้วค่อยย้ายไปเรียนตามโรงเรียนประจำจังหวัดเมื่อเข้าสู่มัธยมศึกษา จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบระดับอุดมศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ก็จะมีความสำนึกต่อบ้านเกิดที่ตนเองเติบโต และใช้ชีวิตในวัยเด็ก มักจะนำความรู้ ความสามารถ กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตน หากเราตัดความสัมพันธ์ดังกล่าวออกไป ความผูกพัน อาธร ต่อบ้านเกิดย่อมจางหายไป หลังจากที่จบการศึกษาก็จะไปทำงานตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันกระจุกตัว แต่ในชนบท ก็จะมีประชากรน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่เหลือความทรงจำใด ๆ เลย
Nov 22
Posted by malinee on Tuesday Nov 22, 2011 Under ข่าวการศึกษา
จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์
วันที่16 พฤศจิกายน 2554
น้ำยังไม่ลด ศธ.ตัดสินใจเลื่อนเปิดเทอมรอบที่ 3 เป็นวันที่ 6 ธ.ค. แต่ยืนยันไม่กระทบสอบโอเน็ตให้ต้องขยับตามไปด้วย เพราะโรงเรียนสอนชดเชยทัน ชี้หากต้องเลื่อนอีกหน มีหวังกระทบสอบโอเน็ต แอดมิชชั่น รับ ม.1 และ ม.4 แน่ ส่วน รร.ใน กทม.เลื่อนด้วยเปิดเทอม 1 ธ.ค.
สถานการณ์น้ำท่วมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะลดลง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตัดสินใจประกาศเลื่อนการเปิดเทอม 2/2554 ออกไปอีกครั้ง จากวันที่ 21 พ.ย. เป็นวันที่ 6 ธ.ค.54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ว่า สำหรับโรงเรียนที่ต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปคือ รร.ที่อยู่ในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และนครปฐม เขต 2 ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน, สามพราน, นครชัยศรี และพุทธมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติบางแห่งที่ขออนุญาตเปิดภาคเรียนก่อนหน้านี้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังมีปริมาณน้ำจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 6 ธ.ค.จะยังไม่กระทบกับปฏิทินการสอบโอเน็ต เพราะได้ประเมินแล้วว่าโรงเรียนยังสอนชดเชยได้ทัน แต่หากปริมาณน้ำยังไม่ลดและ ศธ.ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกครั้ง ก็คงส่งผลกระทบทำให้ต้องมีการปรับปฏิทินการศึกษาทั้งหมดแน่นอน
“สำหรับการเรียนชดเชยนั้น ผมได้สั่งการให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนชดเชยในวันเสาร์แบบเต็มวัน และชดเชยในวันเรียนธรรมดาด้วยการเพิ่มชั่วโมงเรียนปกติอีก 1 ชั่วโมง” รมว.ศธ.กล่าว
ทางด้านโรงเรียนสังกัด กทม. นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม.เปิดเผยว่า ทาง กทม.ได้สั่งให้ รร.ในสังกัด กทม.ทุกแห่งเลื่อนเปิดเทอมครั้งที่ 2 เป็นวันที่ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมให้สอนชดเชยจนครบหลักสูตรตอนเย็นหลังเวลาเลิกเรียนปกติวันละ 1 ชั่วโมง และสอนชดเชยวันเสาร์เป็นเวลา 11 วัน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผน (สนผ.) ไปจัดทำแผนรองรับ หากจำเป็นต้องเลื่อนเปิดเทอมไปหลังวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งจะมีผลทำให้ปฏิทินการศึกษาทั้งระบบต้องขยับตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้องรอมติที่ประชุมร่วมหลายฝ่ายวันที่ 16 พ.ย.ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ทั้งเรื่องของการรับนักเรียนปี 2555 การสอบต่างๆ รวมทั้งแอดมิชชั่นว่าจะปรับเลื่อนทั้งหมดหรือไม่
ความคืบหน้าการจัดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้น ม.1, ม.4 ของ รร.ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2555 นายชินภัทรกล่าวว่า ที่ประชุม กพฐ.ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ตนจะนำหลักเกณฑ์และแนวทางเบื้องต้นการรับนักเรียนเสนอที่ประชุมให้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.เสนอใช้ผลการสอบโอเน็ต สัดส่วนร้อยละ 20 ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงประมาณ 200 กว่าแห่ง ส่วนร้อยละ 80 เป็นคะแนนสอบของโรงเรียน 2.เสนอเพิ่มสัดส่วนห้องเรียนพิเศษใน รร.ที่มีอัตราแข่งขันสูง อาทิ หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม, มินิอิงลิชโปรแกรม เป็นต้น ในปีการศึกษา 2555 อีกร้อยละ 10 โดยเป็นสัดส่วนห้องเรียนพิเศษร้อยละ 30 ห้องเรียนธรรมดาร้อยละ 70 เพราะข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี มีนักเรียนแห่สมัครเรียนห้องเรียนพิเศษจนเกิดการแข่งขันในสัดส่วนการสมัครและรับที่ 3:1
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกณฑ์และแนวทางอื่นๆ เบื้องต้นยังเหมือนปีที่ผ่านมา อาทิ จำกัดจำนวนนักเรียนชั้น ม.1 ให้ไม่เกินห้องละ 50 คน, เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนอื่นๆ ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนขยายโอกาสสามารถสมัครเข้า ม.4 ในโรงเรียนแข่งขันสูงได้.