Sep 08
มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย จิตแพทย์เด็ก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษในบ้านเรา ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัยแล้ว เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนพิเศษ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น ในช่วงของประถมปลาย ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน การเรียนพิเศษในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย เหตุผลเพียงเพราะ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..
Jun 23
หลายๆ
คนคงทราบว่ากระแสของเด็กในปัจจุบันจะเป็นเด็กพิเศษกันเพิ่มขึ้น หลายๆ
ครอบครัวก็มักระแวงว่าบุตรหลานของตนเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ บุตรหลานของเราเป็นเด็กเรียนรู้ช้าหรือทำไมเขามีพัฒนาการหรือการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
แต่ก็มีอีกหลายๆ ครอบครัวไม่ยอมรับว่าบุตรหลานของตนเป็นเด็กพิเศษ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่หล่อหลอมเด็กแต่ละคนเติบโตมา
มีปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ปัจจัยต่างๆ
ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์เพราะเป็นช่วงที่ลูกอยู่ในท้องนั้น
จะมีการแบ่งเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ ตลอดระยะเวลา 40 สัปดาห์
หากมีสิ่งที่มีผลมากระทบต่อแม่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ย่อมมีผลต่อต่อลูกที่เชื่อมโยงกันแน่นอน หลังจากที่เขาลืมตา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการดูแลเอาใจใส่ต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระตุ้นการพัฒนาทั้งสมอง
ร่างกาย และจิตใจของเด็กแต่ละคน
ช่วง 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
ให้ได้ทำงานอย่างสมบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย และการเข้าสังคม
ให้เข้าโรงเรียน หลังจากนั้นเป็นวัยที่เด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาล
หากเด็กถูกฝึกทักษะทางด้านกล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้ว
เด็กจะพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่เด็กหลายๆ ครอบครัวไม่ได้ใช้ช่วงเวลาใน 3
ขวบปีแรกเสริมพัฒนาการให้กับบุตรหลาน ทำให้เขามีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนๆ ทำให้เขาเกิดความไม่มั่นใจ
ไม่กล้าแสดงออก บ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัยที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จริงอยู่เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน
และเด็กทุกคนต้องมีลักษณะเด่นหรือความชอบด้านด้านหนึ่ง
ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องคอยกระตุ้นความเชื่อมั่น หรือพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่เพิ่มศักยภาพให้เขาได้เรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับเด็กในรุ่นเดียวกัน
อย่าปล่อยให้เค้ารู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อตั้งแต่เล็กๆ หมั่นสอบถามครูประจำชั้นถึงพัฒนาการด้านการเรียนในชั้นเรียนของเขา
อย่ายอมรับในทุกๆ เรื่องว่ามันคือ นิสัยของลูกเรา ทั้งๆ
ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่เราสร้างปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่ายอมรับอะไรง่ายๆ
โดยที่ยังไม่ได้เริ่มที่จะคิดแก้ไขอะไรเลย………
Jun 16
ครอบครัวในปัจจุบันเป็นครอบครัวที่มีลูกโทนเป็นส่วนใหญ่
พ่อแม่ผู้ปกครองจึงสรรหาทุกอย่างที่ดีที่สุดเพื่อให้บุตรหลานได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด
ทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่ ความปรารถนาดี คัดสรรสิ่งที่ตนคิดว่าเหมาะสมที่สุดให้กับเขา
จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้เขาได้รับความลำบากน้อยที่สุด
ในวัยที่เขาเข้าสู่วัยแห่งการเรียนรู้
หลายๆ ครอบครัวนอกจากจะเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานแล้ว ยังส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ
เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะการแสดง เพื่อให้เขาได้มีทางเลือกอื่นนอกจากการเรียนพิเศษด้านวิชาการ
เด็กหลายๆ คนเรียนด้วยความสนุกสนาน แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่เรียนทั้งน้ำตา
เพราะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับวิชาการที่อัดแน่นและกิจกรรมที่พ่อแม่จัดให้ในวันหยุด จนในที่สุดเด็กจะฝืนทำโดยที่ไม่มีความตั้งใจ
ไม่เอาใจใส่กับสิ่งที่ทำจนกลายเป็นนิสัย พ่อแม่ส่งให้เรียนอะไร ก็เรียน ไม่ขัดข้อง
แต่ไม่มีความตั้งใจ ซ้ำร้ายบางครอบครัวถึงกับต้องมีข้อแลกเปลี่ยนว่าถ้าทำสิ่งนี้จะได้สิ่งนั้นเป็นการตอบแทน
มันกลายเป็นว่าเด็กทำทุกอย่างเพื่อหวังผลตอบแทน โดยที่ไม่ได้มองถึงประโยชน์หรือความปรารถนาดีที่พ่อแม่พยายามปูทางให้ตนเองในอนาคตในเวลาที่เค้าต้องอยู่ด้วยตนเอง
จริงอยู่ในวัยเด็ก
พ่อแม่ต้องเลือกที่เรียน และกิจกรรมให้กับบุตรหลาน
แต่ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย อย่างน้อยให้เค้าได้เข้าไปทดลองเรียน
ให้มีส่วนร่วมว่าเค้าชอบ หรือไม่ชอบ การเรียนในแนวนั้นๆ
พ่อแม่เป็นผู้เลือกแต่ต้องให้เค้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
เมื่อเขาโตขึ้นให้เขาได้เลือกที่เรียนหรือกิจกรรมที่เรียนด้วยตัวเอง
ไม่ใช่พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด แล้วให้เขามีหน้าที่เป็นเพียงผู้ทำตาม
มิฉะนั้น หากถามว่าอนาคตเขาอยากเป็นอะไร เราจะได้คำตอบว่า ต้องถามพ่อกับแม่
เพราะเขาไม่เคยวางแผนในอนาคต หรือตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ลองนึกดูว่า
ถ้าวันนึงคุณจากโลกนี้ไป โดยที่เขาเป็นลูกโทน เขาจะมีใครเป็นคนเลือกทางให้เขา
ในเมื่อคุณเป็นคนเลือกทางให้เขาตั้งแต่เกิดจนคุณจากไป โดยเขาไม่เคยมีทางเลือกของเขาเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว……
Jun 03
จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเป็นยุค Globalization ซึ่งทั่วโลกสามารถสื่อสารและมีวิวัฒนาการส่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย
จึงทำให้ทุกๆ
วงการรวมไปถึงวงการการศึกษาที่มีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนจากประเทศต่างๆ
มาช่วยในการสอน หรือบางโรงเรียนในต่างประเทศก็มาเปิดเป็นโรงเรียนทางเลือกในบ้านเรามากมาย
ผู้ปกครองหลายๆ
คนที่มีบุตรหลานที่กำลังจะต้องเข้าโรงเรียน ก็มีโรงเรียนทางเลือกอยู่ มากมาย
แต่หากแยกกันจริงๆ แล้วมีเพียง 2 แนว คือ โรงเรียนในแนวเร่งเรียน
และโรงเรียนในแนวบูรณาการ ซึ่งความแตกต่างกันอยู่ตรงที่นโยบายของโรงเรียนในแนวบูรณาการคือ
การเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เร่งให้เด็กได้ขีดเขียน แต่ใช้กิจกรรมในการสอน
ส่วนในแนวของโรงเรียนที่เร่งเรียน ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเร่ง นั่นคือ
เด็กจะต้องเริ่มจับดินสอ ขีดเขียนหนังสือตั้งแต่ในวัยอนุบาล ซึ่งนโยบายแต่ละโรงเรียนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
โรงเรียนในแนวบูรณาการที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนในแนวอินเตอร์นั้น ซึ่งหลักๆ
แนวบูรณาการนี้เกิดจากหลักสูตรอังกฤษ หรืออเมริกัน
ซึ่งครูจะมีการพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วหลักสูตรที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้กับประเทศในแถบยุโรป
ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นจะดูแลบุตรหลานจนถึง 7 ปีแล้วจึงส่งเข้าเรียน
และจะสร้างกฎกติกาภายในบ้านให้เด็กต้องทำตาม ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง
ไม่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งเมื่อเขาเข้าสู่โรงเรียน
เขาจะเรียนรู้ที่จะทำตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และการเรียนการสอนจะเน้น creative thinking คือการให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์
คำถามเป็นคำถามปลายเปิดที่คำตอบไม่มีผิดไม่มีถูก
เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดของตนเอง ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก
ส่วนโรงเรียนในแนวเร่งเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนั่งเรียน
อ่านเขียนไม่วิ่ง ไม่ซน ไม่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น
แต่เน้นการแสดงวิธีทำที่ถูก หรือการหาคำตอบที่ถูกต้อง
โรงเรียนในบ้านเราหลายๆ
โรงเรียนก็นำเอาแนวบูรณาการมาปรับใช้ แล้วนำเป็นนโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียน
แต่ความแตกต่างของบ้านเราคือ ครูผู้สอนของบ้านเรา ตอนที่เขาเป็นเด็ก
เขาถูกสอนให้อยู่ในกรอบ ไม่มีการโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นอกจากนั้นครูในบ้านเราเน้นเรื่องการทำวิทยฐานะเพื่อปรับเลื่อนขั้นเพื่อความมั่นคงในอาชีพ
มากกว่าการทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้แล้วครอบครัวคนไทยค่อนข้างมองข้ามเรื่องกฎระเบียบ
หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ มีข้อแก้ตัวให้กับเด็กว่าเขายังเล็กอยู่ตลอดเวลา
กลายเป็นว่าเด็กถูกละเลยเรื่องการเรียนรู้ เพราะกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกนั้น
เป็นวิธีการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกอย่างได้ผลดี แต่แต่ทักษะการอ่านและการการเขียน
เป็นคนละทักษะ ทางบ้านต้องเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก เพราะการเขียนต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก
ซึ่งหลายๆ ครอบครัวจะมองข้าม ปล่อยเรื่องการเรียน
เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เด็กเขียนไม่ได้หรือใช้เวลามากกว่าปกติ
หรือเด็กบางคนจะไม่ยอมเขียนเลย เพราะไม่เคยชินกับการขีดเขียน
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียนจะรู้สึกเบื่อ หรืออาจถึงขั้นต่อต้าน เพราะมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ
ทำให้เด็กไม่ชอบการเรียน
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
ไม่ใช่ว่าโรงเรียนในแนวบูรณาการไม่ดี
เพียงแต่ว่าหากทางครอบครัวมีการเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็กให้กับบุตรหลาน
จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเขียน จะทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
แต่หลายๆ ครอบครัวที่ทิ้งทุกอย่างให้กับโรงเรียน เด็กก็จะมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป
แต่หากครอบครัวที่นอกจากทิ้งเรื่องเรียนให้กับโรงเรียน และครอบครัวเป็นผู้ส่งความสุข
(เกมส์ , ทีวี) ให้กับบุตรหลาน เขาจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
และจะกลายเป็นปัญหาในที่สุด
ดังนั้นก่อนที่จะเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน
เราควรเลือกให้เหมาะกับตัวเด็กและวิธีการดูแลบุตรหลานของเรา
อย่าทิ้งหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งให้กับใคร เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้
พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของเขาตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก
Apr 25
Posted by malinee on Thursday Apr 25, 2019 Under เกร็ดความรู้
ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย
ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก
แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง
การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ
จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ
ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว
ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย
แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค) , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต)
และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน
มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน
ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน
ซึ่งต้องใช้เวลา 1
ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น
จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่
เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ
สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา
หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง
จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ
เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่
ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ
ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ
หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ
อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล
เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้
แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนไม่สามารถแก้ไขได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง
ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า
โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า
หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น
Apr 18
Posted by malinee on Thursday Apr 18, 2019 Under เกร็ดความรู้
พูดถึงวิชาคณิตศาสตร์แล้ว เด็กๆ หลายคนไม่ชอบเท่าไรนัก แต่มันเป็นหนึ่งในวิชาหลักที่พวกเค้าจะต้องเรียนไปจนกว่าจะจบมัธยมต้น แต่กลับกลุ่มเด็กอีกหลายๆ คนที่เป็นกลุ่มของเด็กที่เรียกว่ามี sense ทางคณิตศาสตร์จะวิ่งเข้าใส่ ไม่ว่าโจทย์จะพลิกแพลงยังไง รูปแบบไหน เขาเหล่านี้ไม่เคยถอย คณิตศาสตร์เป็นอาหารสมองอันโอชะของเขาเหล่านั้น จากสถิติหลายๆ สำนักมักพบว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์ดี จะมีคะแนนวิทยาศาสตร์ดีด้วยเช่นกัน เด็กในกลุ่มนี้จะมีความโดดเด่นในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน มากกว่าเด็กปกติ โดยปกติเราจะพบเด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่มากนัก
สอนเด็กที่ไม่มี sense คณิตศาสตร์ให้มี sense ได้หรือไม่ ต้องบอกก่อนว่าการที่บุตรหลานของเราไม่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ทำให้เค้าเกิดทัศนคติทางด้านลบกับคณิตศาสตร์ ค่อยๆ
ให้เค้าได้เรียนรู้คณิตศาสตร์รอบตัวผ่านประสบการณ์จริง ถึงแม้เด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์หากเจอครูที่ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เสียไป
ก็อาจจะทำให้เขาเสียเวลาอยู่นานกว่าจะค้นพบตัวตนของตัวเอง
การฝึกฝนเป็นวิธีหนึ่งที่เพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ ทุกคน
ยิ่งฝึกมากความถนัดหรือทักษะก็มากขึ้นตามไปด้วย อาจจะจริงที่คนที่ไม่มี sense อาจต้องใช้เวลามากกว่า หรือแบบฝึกหัดที่มากกว่า
แต่เราก็สามารถฝึกให้เด็กทุกคนมีกระบวนการคิดให้เป็นระบบ
อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่ากังวลว่าบุตรหลานจะสู้กับเด็กคนอื่นไม่ได้
ความถนัดของคนแต่ละคนแตกต่างกัน คนทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน
หรือเก่งเท่ากัน สิ่งที่สำคัญคือ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่เปรียบเทียบบุตรหลานของตนเองกับเพื่อนคนอื่นๆ
มันเป็นเหมือนดาบ 2 คม ถ้าเค้าอยู่แนวหน้าของห้อง
เขาจะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่หากเค้าอยู่แนวกลางค่อนหลัง
เค้าจะรู้สึกว่าเขาสู้ใครไม่ได้ และไม่มีความภูมิใจในตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ
สร้างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก) หากเขาถูกทำลายด้วยคะแนน หรือวิชาที่เขาไม่ชอบ
เขาจะไม่มีทางค้นหาตัวเองเจอ ว่าเขาทำอะไรได้ดี ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำได้คือ
การให้กำลังใจในสิ่งที่เค้าทำเต็มที่ โดยไม่ควรคำนึงถึงผลว่ามันจะออกมาอย่างไร
และคอยสังเกตในสิ่งที่เขาทำได้ดี และส่งเสริมทางด้านนั้นๆ (ไม่ใช่เกมส์ online) เพราะในกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
เช่น เสื้อจะต้องมีทั้ง designer
, ช่างตัด , ช่างปัก
ซึ่งในแต่ละทีมไม่ได้ใช้พนักงานคนเดียวกันทำเลยแม้แต่อย่างเดียว
เพราะฉนั้นความถนัดหรือความชอบ ของเด็กแต่ละคน มันคือ sense ในแต่ละด้านที่เค้ามีแตกต่างกันไปเพียงเท่านั้นเอง…..
Apr 07
ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Mar 25
คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นยาขม
อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ปกครองเองในวัยที่ตนเองเป็นเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
หากมาพิจารณาคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงวัย
เราก็สามารถจะแก้ปัญหาให้กับบุตรหลานได้อย่างถูกจุดได้อย่างไม่ยากนัก เรามาดูวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยจะได้ส่งเสริมทักษะและพัฒนาการได้อย่างถูกต้องดังนี้
-เด็กในวัยอนุบาล
เป็นช่วงที่เรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เชื่อมโยงหน้าตา (ภาษาๆ ใหม่ของเด็กๆ) กับจำนวน และต่อยอดไปในเรื่องของค่าที่มากกว่า น้อยกว่า
การนับเพิ่ม นับลด ซึ่งใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ
กับการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้
คือทัศนคติกับการเรียน ครูผู้สอนมีผลที่สุดกับทัศนคติในการเรียนของเด็ก
-เด็กในวัยประถมต้น
สิ่งที่จำเป็นในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร
เด็กๆ จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องค่าประจำหลัก เพื่อให้เข้าใจการทดเลขเมื่อบวกเกิน
หรือการลบเลขแบบขอยืม ฝึกทักษะของการบวก ลบ จนคล่อง
ต่อจากนั้นควรเข้าใจถึงทฤษฏีพื้นฐานของการคูณ การหาร ซึ่งการท่องสูตรคูณ
ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงนี้ (ทางบ้านต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลักดันให้เด็กท่องสูตรคูณให้ได้)
-เด็กในวัยประถมปลาย
จะมีการเรียนรู้ลำดับขั้นปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ เรขาคณิต และการแก้สมการ
(ในชั้น ป.6) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความจำ(สูตร)ต่างๆ
รวมไปถึงการประยุกต์การแก้ไขปัญหาโจทย์ปัญหาที่มีการรวมเนื้อหาหลายๆ เรื่องให้เด็กๆ
ได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่สำคัญในวัยนี้
จะเป็นเรื่องของความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการตีความโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง
-เด็กในวัยมัธยม
การเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้จะเรียนในแบบที่ใช้ความรู้เดิมไม่เกิน 30% และจะเป็นความรู้ในแนวศาสตร์จริงๆ (Pure Mate) เด็กหลายๆ คนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มักเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้เสมอ
เนื่องจากการเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเลย แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ระดับนี้เป็นการเรียนที่ต้องใช้ในการต่อยอดเพื่อใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อด้วย
ดังนั้น
ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในแต่ละวัยของเด็กๆ นั้น
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตามติดการเรียนของบุตรหลาน
ก็จะได้แก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที และถูกจุด
เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานอยู่ในประถมปลายซึ่งมีปัญหาทางคณิตศาสตร์
มักคิดว่าปัญหาเกิดจากการคิดคำนวณ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปัญหาของเด็กประถมปลายเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์
โดยที่การวิเคราะห์โจทย์ผิดพลาด ส่งผลให้การคำนวณพลาดไปด้วย
ซึ่งการคำนวณพลาดเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น
ดังนั้นปัญหาคณิตศาสตร์แต่ละช่วงวัยควรแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้เด็กได้เรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีเข้าใจ
Mar 17
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ
1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75
ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)
เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ
แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก
และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด
เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง
บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม
และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้
หลายๆ
คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี
ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย
มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ
อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง
หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี
ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ
เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ
ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข
เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข
เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่
1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019
เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น
ป.3,
ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์
นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ
และลดความกดดันในการแข่งขันลง
แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน
โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1
ใน 10 เหมือนสิงคโปร์ รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง
ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ
พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก
โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้
หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา
ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้
Feb 05
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ของการสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจยังมีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง เรามาดูว่าการสอบ O-Net เป็นการสอบเพื่ออะไร และส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง
ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า O-Net กันก่อน ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Ordinary National Educational Test ซึ่งเป็นข้อสอบกลางที่ออกมาจาก สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดยจะมีการสอบ 8 กลุ่มสาระ ผลการสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก โดยคะแนนของเด็กแต่ละคนจะมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ เทียบขนาดของโรงเรียน เทียบคะแนนระดับจังหวัด และภูมิภาค หลักๆ แล้วการจัดการสอบเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นหลายๆ โรงเรียนจึงมีการเรียนเพิ่มโดยมีติวเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาสอนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ ส่วนหลายๆ โรงเรียนผลของการสอบประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ก็ไม่เห็นได้รับการแก้ไข หรือกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้เด็กมีคุณภาพของการเรียนการสอนมากขึ้น หากผลของการสอบไม่ได้มีผลกับทั้งตัวนักเรียน เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น การสมัครสอบอยู่ในช่วงเวลาที่ผลสอบยังไม่ออก และการสอบคัดเลือกของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระดับความซับซ้อนของการสอบในวิชาหลักจะมีความยากกว่าการสอบ O-Net อย่างมาก เด็กในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะมีระดับคะแนน O-Net ที่สูงมากใกล้เคียงกันหมด จึงไม่สามารถนำข้อสอบกลางชุดดังกล่าวมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายทะเบียนก็ยุ่งยากเกินกว่าที่จะนำคะแนนมามีส่วนในการคัดเด็กด้วย
ดังนั้นหากการสอบระดับชาตินี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดให้กับภาครัฐว่าโรงเรียนบางโรงจำเป็นต้องมีบุคลากรครูที่ต้องมีการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ก็หยุดใช้งบประมาณส่วนนี้ ที่ให้ผู้บริหารกระทรวงเดินทางต่างประเทศเพื่อดูงานการศึกษาในหลายๆ ประเทศอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับ งบประมาณที่ใช้ในการจัดสอบ มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ด้านการศึกษาในเรื่องอื่น เช่นการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง หรือสื่อการเรียนการสอนที่มีประโยชน์กับการเรียน ยังดีกว่าการทุ่มงบประมาณไปกับข้อสอบระดับชั้นละ 8 ฉบับกับผลที่เป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่น ที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอย่างแท้จริง