อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
การเรียนลูกคิดคืออะไร
Posted by malinee on Sunday Nov 7, 2010 Under ทฤษฎีลูกคิดมักมีคำถามมากมายว่า “เรียนลูกคิดเพื่ออะไร”
จุดประสงค์ของการเรียนลูกคิดนั้นมีหลายประการ แต่ในเบื้องต้นของการเรียนนั้นเพื่อปรับทัศนคติของการเรียนคณิตศาสตร์ การใช้ลูกคิดในการคิดคำนวณพบว่าเป็นที่รู้จกแพร่หลายในอดีต ซึ่งมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้แล้วการเรียนลูกคิดยังช่วยเพิ่มระดับของการจินตนาการ กระบวนการคิดโดยการวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และยังช่วยในเพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ (ในเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหา)
ในการเรียนลูกคิดในระดับที่ผ่านการฝึกฝนการใช้ลูกคิดจนชำนาญแล้ว หลังจากนั้นเด็กจะถูกฝึกให้มีการคำนวณโดยการจินตนาการเป็นเม็ดลูกคิดในระหว่างการคิดคำนวณ ซึ่งในการเรียนลูกคิดจะเป็นระดับคร่าว ๆ ดังนี้
1.ขั้นพื้นฐาน เป็นขั้นที่ให้เด็กมีการใช้งานลูกคิด โดยการฝึกฝนการดีดจนชำนาญในระดับนี้เด็กควรจะใช้เวลาในการฝึกฝนประมาณ 10 – 20 นาทีต่อวัน
2.กระบวนการซึมซับการจินตนาการ
หลังจากการฝึกฝน เด็กๆจะจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการในการพัฒนาการคิดคำนวณ โดยการจดจำภาพเม็ดของลูกคิดเข้าสู่สมอง เด็กจะได้เริ่มหัดคิดคำนวณอย่างง่าย ซึ่งเราจะเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “การดีดอากาศ”
3.ขั้นตอนการ จินตนาการ
เป็นขั้นตอนที่ เด็กจะสามารถคิดคำนวณได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ลูกคิดอีกต่อไป เด็กจะสามารถคำนวณ โดยอัตโนมัติ จากการจดจำของสมองได้โดยตรง (mental arithmetic) กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เด็กสามารถคิดคำนวณได้อย่างรวดเร็ว
อายุที่เหมาะสมในการเริ่มต้นเรียนลูกคิด?
ผลการศึกษาพบว่า เด็กจะมีความสามารถในการเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พบว่าเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 ขวบ มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีกว่าและเร็วกว่าเด็กที่อายุมากกว่า การเรียนจินตคณิตยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาสมองทั้งสองข้าง และยังเป็นการปลูกฝังและพัฒนาทัศนะคติในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับต่อไปอีกด้วย อายุที่เหมาะสมในการเริ่มต้นเรียน จะประมาณที่อายุ 4-5 ปีเป็นต้นไป