โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 มีนาคม 2554

ในศตวรรษที่ 21 โลกมีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็ก เพราะเป็นตัวต่อยอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหา ตัดสินใจ รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ หากเด็กขาดทักษะเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มาได้
      
       โดยทักษะข้างต้นนั้น วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ถือเป็นตัวสร้างพื้นฐานที่ดี หากนำมาใช้กับเด็กอย่างเหมาะสม แต่ทุกวันนี้กลับสวนทางกัน อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สะท้อนให้ฟังว่า ส่วนใหญ่แล้วคุณครู และพ่อแม่ยุคใหม่จะให้น้ำหนักไปที่เนื้อหาเพื่อการสอบแข่งขันมากกว่าการเรียนรู้ที่จะสอนเด็กให้คิดวางแผนและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
      
       “เรื่องใดก็ตามที่คนให้ความสำคัญ มันย่อมมีทั้งบวกและลบ ถ้าใช้ในทางบวก เด็กย่อมเรียนรู้อย่างถูกทางและพัฒนาไปได้ดี แต่ถ้าไม่ถูกทางก็เท่ากับเอาเด็กมาแข่งขันกัน พอเกิดการแข่งขันมาก ๆ เข้า เนื้อหาจึงกลายเป็นเรื่องหลักจนถูกมองแค่เพียงว่า วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ควรเรียนแค่ไหน ถึงจะสอบเข้า ป.1ได้” อ.ธิดาให้ทัศนะในงานวิชาการหัวข้อวิทย์-คณิตปฐมวัยสำคัญอย่างไรต่ออนาคตของชาติ จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
      
       เมื่อเป็นเช่นนี้ อ.ธิดา สะท้อนต่อไปว่า นอกจากเด็กจะเบื่อ และไม่สนุกกับการเรียนแล้ว เด็กยังจะขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล เช่น รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่ไม่รู้จักกระบวนการคิด หรือที่มาของคำตอบ ในจุดนี้เองอาจทำให้เด็กไหลไปตามกระแสของสังคมได้ง่าย
      
       ดังนั้น การสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในเด็กอนุบาล หรือเด็กปฐมวัย อ.ธิดา บอกว่า เด็กทุกคนพร้อมที่จะเป็นนักสังเกตที่ดี นักสำรวจตัวยง นักค้นคว้า ตลอดจนนักคิด และนักถาม ผู้ใหญ่ไม่ควรใส่เนื้อหาให้มากเกินไป และไม่ควรสกัดกั้นการเรียนรู้ของเด็กโดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น “อย่านะ อย่าเล่นนะ เดี๋ยวเลอะเทอะ” เพราะจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ถูกปิดกั้น ขาดการต่อยอดทักษะการคิดวิเคราะห์ และการเชื่อมโยงแบบมีเหตุและผล
      
       “พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกสังเกต และตั้งคำถาม เช่น ลูกเห็นอะไรลูก ลูกคิดว่าอย่างไร แล้วลูกอยากจะทำอะไรล่ะจ๊ะ อย่างลูกเห็นว่าวลอยได้ เด็กบางคนอยากจะทำว่าวขึ้นมา เราในฐานะพ่อแม่ควรสนับสนุน ด้วยการบอกไปว่า เอาสิลูก อยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรบอกได้เลยนะ เรามาลองทำกันดูไหม ทีนี้ก็เริ่มให้ลูกคิดหาอุปกรณ์ ลงมือทำ และทดลองไปพร้อม ๆ กัน ตรงนี้จะช่วยให้ลูกตื่นเต้นกับการค้นพบและอยากสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองต่อไป” อ.ธิดาให้แนวทาง
      
       ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองในประเด็นเดียวกันนี้ว่า การสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในเด็กปฐมวัยนั้น ครู และพ่อแม่ต้องใช้หลัก TLC กับเด็กโดย T (Tender) คือความอ่อนโยน L (Love) คือความรัก และ C (Care) คือ ความห่วงใย ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้หากใช้สอนเด็กอนุบาล หรือเด็กปฐมวัย พวกเขาจะมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
      
       “เด็กจะเรียนรู้วิทย์-คณิตได้ดี เราในฐานะครู และพ่อแม่ ต้องค่อย ๆ สอน เหมือนใส่เกลือลงไปทีละนิดทีละหน่อย โดยสอนได้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ใกล้ตัว เช่น นิทาน อย่างเรื่องกระต่ายกับเต่า สามารถนำวิทยาศาสตร์มาตั้งคำถามกับเด็กได้ อาทิ ความเร็วในการแข่งขัน หรือทำไมกระต่ายวิ่งเร็วกว่าเต่า เป็นต้น” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการยกตัวอย่าง
      
       ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผอ.สถาบันวิจัย และพัฒนาการเรียนรู้ จิตแพทย์ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสมองกับการเรียนรู้ของเด็กว่า การให้เด็กท่องจำ หรือเน้นใส่เนื้อหามากจนเกินไปจะเป็นตัวลดทอนประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กให้ต่ำลง ทางที่ดี ครู และพ่อแม่ควรให้เด็กลงมือทำจริงจากกิจกรรมสนุก ๆ ตลอดจนใช้สื่อภาพที่มีสีสัน สดใส เพราะการเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นการเล่นที่สนุก ท้าทายจะทำให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
      
       ท้ายนี้ ผอ.สถาบันวิจัย และพัฒนาการเรียนรู้ เน้นย้ำถึงครู และพ่อแม่ทุกท่านว่า การดึงวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์มาใช้สอนเด็กอย่างได้ผล หลักสำคัญที่สุดคือ ต้องแปลจากความรู้ที่อยู่ในกระดาษ (หนังสือ) ไปสู่ชีวิตจริงผ่านการปฏิสัมพันธ์ และการเล่นกับเด็ก ซึ่งหมายความว่า ทุก ๆ กิจกรรมควรเป็นการเล่นที่ไม่ใช่การสอน เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ในบรรยากาศที่สนุกสนานมากกว่าบรรยากาศจริงจังที่เคร่งเครียด หรือถูกควบคุมมากจนเกินไป
      
       ดังนั้น คงไม่มีพลังวิเศษใด ๆ ที่จะขับเคลื่อนให้ทุกการเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิภาพได้ดีเท่ากับ ความสุขในการเรียนรู้ อิสระในการคิด และการไม่ถูกกดดัน หรือว่าไม่จริงครับ

Leave a Reply