โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน, ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
จนถึงขณะนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังเลื่อนเปิดเทอมกันอยู่ด้วยสาเหตุของสภาวะมหาอุทกภัย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อไร และยังต้องเลื่อนเปิดเทอมต่อไปอีกหรือไม่

คนเป็นพ่อแม่ต่างก็เป็นกังวลเรื่องการศึกษาของลูกเป็นอย่างมาก บางคนที่อพยพไปอยู่ต่างจังหวัดก็ถือโอกาสให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่ต่างจังหวัดซะเลย รอให้โรงเรียนใน กทม.เปิดเทอมก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่ ด้วยเหตุผลหลากหลายเพราะไม่มีใครดูลูกบ้าง กลัวลูกอยู่เฉยๆ บ้าง เดี๋ยวลืมเรื่องวิชาการการเรียนหมด

ในขณะที่พ่อแม่ชาวกรุงจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวกันเพื่อจัดให้เด็กๆ ได้เรียนพิเศษในช่วงเวลาที่เลื่อนหยุดเทอม ด้วยเหตุผลเดียวกัน

แต่ก็มีพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่เลือกหนทางการศึกษาให้ลูกไปเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ โดยการอยู่กับธรรมชาติ…!!

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันเดินทางไปบ้านสวนสายลมจอย ณ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปพร้อมกับทริปเพื่อนผู้ฟังรายการวิทยุ เพื่อเดินทางเรียนรู้ร่วมกันเรื่องเกษตรอินทรีย์และการพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยตัวเองในศาสตร์ทางเลือก

ระหว่างการเรียนรู้ได้เจอะเจอเด็กๆ วัยใกล้เคียงกัน 4 คน ที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาลและวัยประถมต้น เป็นลูกเจ้าของบ้านสวนสายลมจอย 1 คน ที่เหลืออีก 3 คน เป็นเด็กกทม.ที่ผันตัวเองมาอยู่เชียงใหม่ กำลังวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน และคิดกิจกรรมเล่นกันได้อย่างน่าสนใจ

ขณะจดจ้องอยู่กับเด็กๆ สัมผัสได้ว่าเด็กเหล่านี้ไม่ใช่ลูกชาวบ้านละแวกนั้นเป็นแน่แท้ หลังจากพูดคุยจึงได้รู้ว่าเป็นเด็กเมืองกรุง ซึ่งตอนนี้ครอบครัวได้ปักหลักมาอยู่เชียงใหม่เป็นการถาวรแล้ว ด้วยเหตุผลที่มุ่งมั่นในเรื่องการศึกษาทางเลือกของลูก

ทั้ง 3 คน เป็นเด็กที่เคยอยู่ในโรงเรียนชื่อดังใน กทม.มาก่อน แต่ท้ายสุดครอบครัวกลับเลือกที่จะจัดการเรียนการสอนให้ลูกเอง และการมาบ้านสวนสายลมจอยก็เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง การเล่นแบบคลุกดินคลุกทราย ในทุกวันพุธถึงวันศุกร์

เด็กเหล่านี้มีความรู้เรื่องต้นไม้ เรื่องธรรมชาติค่อนข้างดี มีการคิดกิจกรรมการเล่นสารพัดรูปแบบ เอาใบกล้วยมาสร้างบ้าน การเอาดินเอาทรายมาประกอบรูปแบบการเล่นบทบาทสมมติ มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ที่น่าทึ่ง เวลาถามไถ่พูดคุยก็จะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เรียกว่าพกความมั่นใจอยู่เต็มตัว

ไม่มีใครตอบได้ว่าเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เด็กเหล่านี้มีทักษะเรื่องชีวิตบางด้านที่ดีกว่าเด็กเมืองแน่นอน จากนี้ก็อยู่ที่การต่อยอดของครอบครัวว่าจะเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบได้อย่างไร

แต่..คำถามของพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังหนีไม่พ้นว่าเด็กเหล่านี้จะอยู่อย่างไร แล้วจะกลับเข้าสู่ระบบได้ไหม มีการประเมินผลการเรียนรู้ได้หรือเปล่า

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) ตามมาตรา 12 ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่า “…นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
การศึกษาโดยครอบครัวจึงเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกรูปแบบหนึ่งที่ครอบครัวสามารถจัดได้ตามสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย โดยผู้ปกครองอาจเป็นผู้ดำเนินการในการจัดกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด ทั้งในเรื่องของหลักสูตร การจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผล หรืออาจใช้ระบบการจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย หรืออาจจะใช้ทั้งสามระบบผสมผสานร่วมกันก็ได้

ในต่างประเทศมีการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลมากมายหลายประเทศ ประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับและนิยมเป็นอย่างมาก เพราะจากการศึกษาโดยครอบครัว ได้แสดงให้เห็นว่าเด็กมีความสามารถเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียนได้อย่างชัดเจน

แต่ในบ้านเรา ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยผู้ที่เห็นด้วยกับระบบการจัดการศึกษาแนวนี้อาจมองว่าการจัดการศึกษาในระบบมีปัญหา ในเมื่อพ่อแม่มีโอกาสเลือกและปรับกิจกรรมให้สอดคล้องตามความถนัด ความสนใจของลูก สามารถพัฒนาลูกได้เต็มตามศักยภาพ เพราะกิจกรรมบางอย่างเด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในโรงเรียน แต่พ่อแม่สามารถเลือกสรรให้ได้ ที่สำคัญพ่อแม่จะมีเวลาอยู่กับลูกได้เต็มที่ ก็ตัดสินใจที่เลือกแนวการศึกษาทางเลือกนี้

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยอาจมองว่าเป็นการปิดกั้นเด็กให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมหรือไม่ หรือทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการปรับตัว ซึ่งอาจมีปัญหาในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อไป

แต่…โดยส่วนตัวดิฉันก็ไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในระบบอย่างเดียวที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต และการประสบความสำเร็จในชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ที่สารพัดกระดาษที่บอกเล่าว่าเด็กเรียนจบจากที่ไหน หรือสารพัดรางวัลที่บอกว่าเด็กได้รับรางวัลอะไรบ้างเท่านั้น

หลายสถานการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าการศึกษาในระบบอย่างเดียว เราจะได้เด็กพันธ์เดียวกันในโลกยุคหน้า ที่เน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว ทั้งที่การเรียนรู้ของคนเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และตลอดชีวิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่พวกเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้เรียนรู้ที่เข้าใจธรรมชาติ แต่เรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติ ด้วยเหตุผลของดัชนีชี้วัดความเจริญด้วยวัตถุมากกว่าเรียนรู้เรื่อง “ทักษะชีวิต”

เมื่อธรรมชาติเสียสมดุลและส่งสัญญาณแรงๆ ครั้งนี้ให้กับมนุษย์แล้ว น่าจะเกิดแรงเหวี่ยงแรงๆ กระตุกให้คนเรากลับมาให้ความสนใจเรื่องการอยู่กับธรรมชาติแบบเข้าใจให้ได้ และการเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้มีในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น เด็กต้องได้สัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่แค่ท่องจำในกระดาษอย่างเดียว

เด็กรุ่นใหม่ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติผสมผสานไปกับเรื่องวิชาการด้วย ซึ่งก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่…มิใช่หรือ..!!

ยังไม่ต้องสรุปว่าการศึกษาแบบไหนดีกว่ากัน แต่การเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิตต้องเริ่มที่โฮมสคูล ในความหมายที่ว่าพ่อแม่ต้องเป็นผู้เริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ของลูกค่ะ

Leave a Reply