เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ของการสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจยังมีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง  เรามาดูว่าการสอบ O-Net เป็นการสอบเพื่ออะไร และส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง

ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า O-Net กันก่อน ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก  Ordinary National Educational Test  ซึ่งเป็นข้อสอบกลางที่ออกมาจาก สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดยจะมีการสอบ 8 กลุ่มสาระ ผลการสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก โดยคะแนนของเด็กแต่ละคนจะมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ เทียบขนาดของโรงเรียน เทียบคะแนนระดับจังหวัด  และภูมิภาค หลักๆ แล้วการจัดการสอบเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นหลายๆ โรงเรียนจึงมีการเรียนเพิ่มโดยมีติวเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาสอนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ  ส่วนหลายๆ โรงเรียนผลของการสอบประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ก็ไม่เห็นได้รับการแก้ไข หรือกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้เด็กมีคุณภาพของการเรียนการสอนมากขึ้น หากผลของการสอบไม่ได้มีผลกับทั้งตัวนักเรียน เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น การสมัครสอบอยู่ในช่วงเวลาที่ผลสอบยังไม่ออก และการสอบคัดเลือกของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระดับความซับซ้อนของการสอบในวิชาหลักจะมีความยากกว่าการสอบ O-Net อย่างมาก เด็กในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะมีระดับคะแนน O-Net ที่สูงมากใกล้เคียงกันหมด  จึงไม่สามารถนำข้อสอบกลางชุดดังกล่าวมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายทะเบียนก็ยุ่งยากเกินกว่าที่จะนำคะแนนมามีส่วนในการคัดเด็กด้วย

ดังนั้นหากการสอบระดับชาตินี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของการเรียนการสอนในโรงเรียน  ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดให้กับภาครัฐว่าโรงเรียนบางโรงจำเป็นต้องมีบุคลากรครูที่ต้องมีการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ก็หยุดใช้งบประมาณส่วนนี้ ที่ให้ผู้บริหารกระทรวงเดินทางต่างประเทศเพื่อดูงานการศึกษาในหลายๆ ประเทศอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับ งบประมาณที่ใช้ในการจัดสอบ มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ด้านการศึกษาในเรื่องอื่น เช่นการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง หรือสื่อการเรียนการสอนที่มีประโยชน์กับการเรียน ยังดีกว่าการทุ่มงบประมาณไปกับข้อสอบระดับชั้นละ 8 ฉบับกับผลที่เป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่น ที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอย่างแท้จริง

Leave a Reply