แนะอุดมศึกษาต่อยอดโครงการพระราชดำริ
Posted by malinee on Monday May 9, 2011 Under Uncategorized, ข่าวการศึกษาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
เลขาฯมูลนิธิชัยพัฒนา ระบุ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ควรศึกษาต่อยอดโครงการพระราชดำริที่มีอยู่ ใกล้พื้นที่ใดก็เข้าไปที่จุดนั้น หากจัดระบบให้ดี นักศึกษาจะเป็นพลังมหาศาลในการช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศ…
จาก การระดมความคิดเห็นแนวทางเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชน โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนภาคเอกชน กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาดูงานที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี นั้น
ทาง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยสอนหนังสือแต่ในห้องเรียน ขณะที่เรามีศูนย์ศึกษาธรรมชาติตามแนวพระราชดำริเกือบครบทุก จังหวัด หากมหาวิทยาลัยนำนักศึกษาเข้าหาชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยที่คณะใดมีความเชี่ยวชาญด้านใด ก็ลงไปช่วยเหลือชุมชนด้านนั้น ขณะนี้เรามีนักศึกษาหลายแสนคน หากจัดระบบให้ดี จะเป็นพลังมหาศาล นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยต้องการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้โครงการพระราชดำริ โดยมีม.แม่โจ้และนิด้า เริ่มทำ แต่ต้องใช้เวลาหลายปี ซึ่งตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรศึกษาต่อยอดโครงการพระราชดำริที่มี อยู่ ใกล้พื้นที่ใดก็เข้าไปที่จุดนั้น สุดท้ายจะถึงจุดอิ่มตัว ที่สามารถจัดตั้งเป็นหลักสูตรประจำได้
ด้านดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนส่วนใหญ่คือคนวัยทำงานในชุมชนนั้น สามารถช่วยเหลืองานมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่พบคือ ดัชนีชี้วัดเป็นปฏิปักษ์กับหลักสูตรที่ใช้ความรู้ชุมชน โดยเมืองไทยเสพติดตัวชี้วัดอย่างไม่ลืมหูลืมตา เราจำเป็นต้องยกเลิกตัวชี้วัดที่ทำลายวิทยาลัยชุมชน เช่น การกำหนดว่าต้องเรียนในห้องเรียนกี่ชั่วโมงจึงคิดหน่วยกิตให้ หรือผู้สอนต้องมีวุฒิปริญญาโทและเอก จึงเข้าเกณฑ์ประเมิน หากไม่ยกเลิกตัวชี้วัดที่เหลวไหล สังคมไทยจะไม่ได้อะไรเลยจากวิทยาลัยชุมชน ม.ราชภัฏ และม.เทคโนโลยีราชมงคล
ขณะที่นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่จะเป็นหลักในการช่วยเหลืองานด้าน พัฒนาชุมชนคือนายอำเภอ แต่ไม่สามารถทำงานเต็มตัวได้ คนที่เหมาะสมน่าจะเป็นปลัดอำเภอ ที่ทำงานร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด พัฒนากรจังหวัด แต่ปัญหาที่พบคือ ข้อจำกัดของภารกิจดังกล่าว ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลงานข้าราชการ หากกำหนดชัดเจน จะเป็นการเปิดช่องให้หน่วยงานคัดเลือกคนที่เหมาะสมลงไปทำงาน ได้คล่องตัวมากขึ้น
ส่วนศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานมูลนิธิปิดทองหลังพระ กล่าวว่า ตนทราบดีถึงข้อจำกัดของคนทำงานดังกล่าว และจะหารือกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งกพร.ก็เข้าใจดีถึงเงื่อนไขดังกล่าวและพยายามหาทางแก้ไข อยู่