จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย

หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน  นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย

จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป

อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป

Leave a Reply