เรียนตัวต่อตัวแก้ปัญหาได้จริงหรือ?
Posted by malinee on Sunday Feb 8, 2015 Under เกร็ดความรู้บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่เข้าใจ หรือค่อนข้างอ่อน หลังจากที่ส่งไปเรียนตามสถาบันต่างๆ หลายสถาบันก็ยังไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของบุตรหลาน มักจะมีความคิดที่จะหาครูเพื่อสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัว ก่อนที่จะคิดแก้ปัญหาโดยการหาครูเพื่อมาสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัวนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีไหมว่าบุตรหลานของเรามีความจำเป็นในการเรียนแบบตัวต่อตัวเหมือนเด็กพิเศษหรือ เนื่องจากการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัวนั้น มักเหมาะกับการที่เด็กไม่สามารถเรียนรวมกับกลุ่มได้ มีสมาธิอยู่ในช่วงสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เหมาะกับเด็กที่เป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบในการเรียนอยู่ค่อนข้างตลอดเวลา
หากบุตรหลานไม่ได้เป็นเด็กพิเศษ การเรียนแบบตัวต่อตัวในมุมมองของครู แทบไม่ได้ส่งผลดีเลยในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูเคยเขียนบทความเรื่องที่ว่าทำไมเด็กบางคนไม่สามารถเรียนในกลุ่มใหญ่ได้ (ลองย้อนกลับไปดูได้นะคะ) การที่เด็กบางคนเรียนตามกลุ่มเพื่อนไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่าเขาจำเป็นต้องเรียนตัวต่อตัว เพียงแต่ว่าพื้นฐานและทักษะทางคณิตศาสตร์ของเขาไม่ทันกับกลุ่ม เนื่องจากความเข้าใจยังไม่สามารถเข้ากลุ่มที่เรียนไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งการเรียนคณิตศาสตร์ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้คือการเรียนที่ไม่ได้ไปพร้อมกันการเรียนเป็นการแบ่งกลุ่มเล็กๆ ที่มีเนื้อหาขึ้นอยู่กับเด็กและทักษะความเข้าใจของเด็กแต่ละคน ครูจะต้องทำความเข้าใจหรืออธิบายเนื้อหาให้กับเด็กก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ต้องปล่อยให้เขาทำแบบฝึกหัดในการแก้ไขปัญหา นอกจากเด็กจะเกิดทักษะ และมีกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แล้วยังเป็นการวัดความเข้าใจในบทเรียนที่ครูสอน ว่าเขามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แล้วการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ จะทำให้เด็กมีสังคม มีเพื่อน คอยกระตุ้นกันเองด้วย การเรียนแบบตัวต่อตัว ผู้ปกครองมักคิดว่าบุตรหลานจะได้รับความรู้ความเข้าใจเต็มชั่วโมง แต่ในทางกลับกันการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัว เป็นความจริงที่ครูจะต้องเป็นคนประกบเด็กตลอดเวลา ถ้าเด็กเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ก็จะไม่กล้าที่จะเริ่มคิดวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง ครูก็จะเป็นฝ่ายที่จะเริ่มชี้นำวิธีคิดให้เขา เช่นเดียวกับเด็กที่เฉื่อย เนื่องจากเป็นเด็กที่เฉื่อยจะไม่พยายามทำอะไรด้วยตนเองอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีความพยายามที่จะคิดเมื่อมีคนคอยช่วย กระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก็ไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเกิดปัญหาการเข้าสังคมด้วย เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นลูกคนเดียว โดยปกติก็มีปัญหาการเข้าสังคมอยู่แล้ว หากยิ่งจัดสรรการเรียนให้เป็นแบบตัวต่อตัว นอกจากปัญหายังแก้ไม่ถูกจุดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาด้านสังคมเพิ่มขึ้นอีกปัญหาด้วย
ครูจา